xs
xsm
sm
md
lg

วิชามารกดดันประมูลข้าว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“เจ๊วา” เล่นบท“สีทนได้” เดินหน้าหาความชอบธรรมประมูลขายข้าว เสนออัยการสูงสุดตีความยกเลิกขายข้าวได้หรือไม่ วงในเผยพาณิชย์มั่นใจเลิกสัญญาไม่ได้ แฉเบื้องหลังม็อบข้าวปิดถนนป่วนหลายจังหวัดเป็นผลงานของก๊วนการเมืองใหญ่ตั้งโต๊ะถกนายทุนโรงสีที่ฮ่องกงตั้งแต่ 29 พ.ค.ก่อนสั่งโรงสีในเครือข่ายทั่วประเทศหยุดรับจำนำทันที หวังกดดันครม.ยอมผ่านเงื่อนไขผลประโยชน์ประมูลข้าว-เพิ่มโควต้าจำนำ ด้าน “มาร์ค” มึนโยนปัญหาเข้าถก กขช. วันนี้ หาข้อสรุป พร้อมกดไฟเขียวระบายสินค้าเกษตรผ่านฉลุย

นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ ได้เสนอเรื่องสัญญาการขายข้าวในสต๊อกรัฐบาลให้กับผู้ส่งออกที่ชนะการประมูลทั้ง 17 ราย ไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อให้พิจารณาตีความว่าสัญญาที่ได้เซ็นไปแล้วนั้นสามารถยกเลิกได้หรือไม่ เพราะที่ผ่านมา มีข้อกังขาเกิดขึ้นมาก โดยเฉพาะการขายขาดทุนจึงต้องการทำเพื่อให้เกิดความสบายใจต่อทุกฝ่าย
“วันนี้พูดกันเป็นกระแสมาก โดยมองว่าการระบายข้าวครั้งนี้ขาดทุนเป็นตัวตั้ง ถามว่าขายขาดทุนมั้ย มันขาดทุนอยู่แล้ว ต้องยอมรับ ส่วนจะมีเรื่องอื่นหรือไม่เห็นได้ตามสื่อ แต่เรายืนยันว่าการขายข้าว ณ เวลานั้น เป็นราคาที่ดี เราก็ว่าเราทำถูก แต่เมื่อมีข้อกังขา ก็เสนออัยการสูงสุดตีความ ยกเลิกได้ ไม่ได้ เพราะเมื่อครม.เองก็ยังมีข้อกังขา ก็ต้องทำให้เกิดความชัดเจน และยืนยันว่าการทำงานไม่ลำบาก เพราะสีทนได้”นางพรทิวากล่าว
ทั้งนี้ หากผลการตีความออกมาอย่างไร ก็ต้องปฏิบัติตามนั้น ซึ่งอาจจะออกมาทั้งยกเลิกได้และยกเลิกไม่ได้ และจะนำเสนอให้ครม.พิจารณาต่อไป ส่วนในระหว่างนี้ เอกชนที่ชนะการประมูลข้าวคงต้องรอเพื่อให้เกิดความชัดเจนออกมาก่อน แต่หากใครจะฟ้องร้อง ก็เป็นสิทธิ์ที่ทำได้ เพราะสัญญาได้เซ็นกันไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม การระบายข้าวในครั้งนี้ ราคาที่ขายถือเป็นราคาที่พอรับได้ เพราะขณะนี้ราคาตลาดได้เริ่มปรับตัวลดลงอีก และเชื่อว่าในการระบายข้าวครั้งต่อไป ราคาอาจจะไม่ดีเท่านี้ เนื่องจากขณะนี้อินเดียได้ยกเลิกการห้ามการส่งออกข้าวแล้ว และกำลังจะกลับมาส่งออก ทำให้ราคาข้าวในตลาดโลกปรับตัวลดลง
นางพรทิวากล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) วันนี้ (4 มิ.ย.) จะมีการหารือกันถึงแนวทางการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปรัง หลังจากที่โครงการรับจำนำใกล้จะเต็มโควตา 4 ล้านตัน และยังมีข้าวในมือเกษตกรเหลืออยู่อีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นอำนาจของกขช. ว่าจะดำเนินการอย่างไร จะรับจำนำต่อหรือใช้วิธีการอื่นโดยกระทรวงพาณิชย์พร้อมที่จะให้ข้อมูลทั้งหมด
นายฉัตรชัย ชูแก้ว โฆษกกระทรวงพาณิชย์ (ฝ่ายการเมือง) กล่าวว่า การส่งให้อัยการสูงสุดตีความเพื่อให้เกิดความชัดเจน ซึ่งหากผลออกมาอย่างไรก็ต้องว่าไปตามนั้น แต่ในกรณีที่เอกชนที่ชนะการประมูลแล้วมีการขนข้าวออกไปบางส่วนแล้วนั้น หากผลตีความออกมาว่าเลิกประมูลได้ ก็ต้องคืนข้าว คืนเงินกัน แต่หากเลิกไม่ได้ ก็ต้องปฏิบัติตามสัญญาต่อไป ส่วนในระหว่างนี้หากเอกชนจะฟ้องร้องก็เป็นสิทธิ์ของเอกชน หากเห็นว่ามีการทำผิดสัญญาระหว่างกัน
รายงานข่าวจากกรทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า การเสนอให้อัยการสูงสุดตีความ เพราะกระทรวงพาณิชย์ประเมินแล้วว่าการตีความจะออกมาว่าไม่สามารถยกเลิกสัญญาได้ เพราะเป็นสัญญาที่ได้เซ็นกันไว้แล้ว และมีผลบังคับใช้ตามสัญญา โดยกรณีที่จะมีการยกเลิกสัญญาได้ ก็ต่อเมื่อเอกชนไม่ปฏิบัติตามสัญญาเท่านั้น แต่ในการขายข้าวครั้งนี้ เอกชนทุกรายพร้อมที่จะปฏิบัติตามสัญญาและบางรายได้มีการนำเงินมาวางค้ำประกัน รวมทั้งพร้อมที่จะจ่ายเงินแล้ว
รายงานข่าว แจ้งว่า ภายหลังจากเกิดปัญหาการประมูลข้าวดังกล่าว นายนาคม ธีรสุวรรณวิจักร รักษาการผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า ได้ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งแล้ว โดยนายวิวัฒน์ เลาหพูนรังษี ประธานคณะกรรมการองค์การคลังสินค้า (บอร์ด อคส.) เข้ามานั่งควบเป็นผู้รักษาการ ผอ. อคส. แทน

แฉเบื้องหลังม็อบข้าว

รายงานข่าว แจ้งว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มชาวนาในหลายพื้นที่ทั้งเชียงใหม่ เชียงราย รวมทั้งเครือข่ายชาวนาในจังหวัดอื่น ๆ ในภาคเหนือตอนล่าง – ภาคกลาง ที่มีการชุมนุมปิดถนนกดดันรัฐบาลให้ขยายโครงการรับจำนำข้าวนาปรัง รวมทั้งไม่ให้นำระบบประกันราคาเข้ามาใช้แทนการจำนำเพราะชาวนาไม่มีโรงอบมีภาระในการจัดเก็บนั้น
ความจริงแล้ว เรื่องนี้มีการวางแผนกันระหว่างกลุ่มการเมืองที่มีผลประโยชน์ในเรื่องประมูลข้าวของรัฐบาล ที่ว่ากันว่า มีรัฐมนตรีและนักการเมืองที่เกี่ยวข้องหลายคน ไปหารือร่วมกันกลุ่มทุนโรงสีในเครือข่ายที่ฮ่องกง ตั้งแต่ 29 พ.ค. ที่ผ่านมา
หลังจากนั้น ก็มีคำสั่งให้โรงสีทั่วประเทศหยุดรับจำนำ จุดชนวนให้ชาวนาออกมาเดินขบวนประท้วง สร้างเงื่อนไขให้ปั่นป่วนเพื่อต่อรองกับพรรคแกนนำรัฐบาลให้การประมูลข้าวผ่านความเห็นชอบจาก ครม. และเพิ่มโควต้าการรับจำนำข้าวให้กับชาวนา ซึ่งวงการค้าข้าวตั้งข้อสังเกตว่า ข้าวที่นำมาจำนำเต็มโควต้าเร็วเพราะมีข้าวเวียนเทียนเข้ามา รวมทั้งมีการนำข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาสวมสิทธิ์ด้วย
สำหรับการเคลื่อนไหวของชาวนาที่อ.แม่สาย อ.เชียงแสน และอ.แม่จัน ที่ชุมนุมปิดถนนปิดถนนพหลโยธินบริเวณหน้าศาลเจ้ากิ่วทัพยั้ง หมู่ 1 ต.แม่จัน อ.แม่จัน แม้จะสลายตัวไปแล้ว แต่ยังคงประสานงานกันอย่างใกล้ชิดเพื่อกดดันคณะรัฐมนตรีที่จะประชุมพิจารณาเรื่องการขยายโครงการรับจำนำออกไปอีกหรือไม่ เมื่อวานนี้ (3 มิ.ย.) หลังจากตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมาโรงสีทั้ง 10 แห่งที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำกับรัฐบาลได้งดรับข้าวจากชาวนาทั้งหมดโดยอ้างว่าหมดโควตาแล้ว ทำให้ราคาข้าวตามท้องตลาดตกต่ำเหลือเพียงกิโลกรัมละ 6.30-7.30 บาทเท่านั้น
ตามแผนกดดัน แกนนำในพื้นที่ อ.พาน นำโดยนายอำพล เวียงสิมา แกนนำกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ อ.พาน มีกำหนดจะไปปิดถนนสายเชียงราย-พะเยา ตรง ต.แม่เย็น อ.พาน ซึ่งเชื่อมกับ อ.แม่ใจ จ.พะเยา ขณะเดียวกันแกนนำในพื้นที่ อ.แม่สรวย ก็จะปิดถนนสายเชียงราย-เชียงใหม่ ในพื้นที่ อ.แม่สรวยด้วยเพื่อกดดันการประชุม ครม. ดังกล่าว ทั้งนี้ ได้มีการประสานให้ทางกลุ่มเกษตรกรพื้นที่ อ.แม่สาย อ.เชียงแสน และ อ.แม่จัน ซึ่งเพิ่งจะปิดถนนที่ อ.แม่จัน ให้ร่วมปิดถนนที่จุดเดิมด้วย
แกนนำกลุ่มชาวนาในพื้นที่ อ.แม่สาย อ.เชียงแสน และ อ.แม่จัน คนหนึ่งกล่าวว่า เรื่องนี้ได้ประสานกันระหว่างแกนนำทุกพื้นที่อย่างลับๆ ไปแล้วว่าพวกเราจะปิดถนนพร้อมกันทุกจุดในตอนบ่ายของวันที่ประชุม ครม. ถือเป็นการปิดถนนสายหลักทุกจุดของขาเข้าออกเมืองสายสำคัญทั้งไป จ.พะเยา และไป จ.เชียงใหม่
สำหรับกลุ่มชาวนาที่มีกำหนดให้ปิดที่ อ.แม่จัน เหมือนเดิมนั้นอาจจะขอรอดูสถานการณ์ไปพรางก่อนโดยจะไม่ออกมาปิดทันทีเหมือนที่ อ.พาน และ อ.แม่สรวย แต่จะรอฟังผลการประชุมคณะรัฐมนตรีก่อนหากผลออกมาไม่เป็นไปตามข้อเรียกร้องก็คงจะพากันออกมาปิดถนนที่จุดเดิมพร้อมๆ กับพี่น้องทั้ง 2 อำเภอดังกล่าว
รายงานข่าวแจ้งว่า กลุ่มชาวนาใน จ.เชียงราย ได้ยื่นข้อเสนอให้พิจารณา 4 ข้อคือ 1.ให้ขยายระยะเวลาการจำนำข้าวนาปรังโดยไม่จำกัดจำนวนไปจนถึงวันที่ 31 ก.ค.นี้ 2.ไม่ให้นำมาตรการประกันราคามาใช้เพราะชาวนาไม่มีโรงอบข้าวเองและเคยเกิดปัญหามาแล้วทุกปี 3.ให้มีการสร้างโรงสีและโรงอบของรัฐบริการประชาชนในพื้นที่ อ.แม่สาย อ.แม่จัน และ อ.เชียงแสน และ 4.ให้ตั้งจุดรับจำนำมันสัมปะหลังใน 3 อำเภอดังกล่าว
สำหรับราคารับจำนำที่รัฐบาลดำเนินการที่ผ่านมาก่อนงดรับจำนำเพิ่มเติมคือข้าวจ้าว 5% ความชื้นไม่เกิน 15% ราคาตันละ 11,800 บาท ข้าวเหนียวคละความชื้นไม่เกิน 15% ราคาตันละ 9,000 บาท แลข้าวเหนียว 10% เมล็ดยาวความชื้นไม่เกิน 15% ราคาตันละ 10,000 บาท แต่หากความชื้นทุกประเภทมากก็ลดหลั่นราคาไปตามลำดับ

ชาวนาชม.-ลำพูนปิดถนน

ส่วนที่ จ. เชียงใหม่ กลุ่มชาวนาในพื้นที่ จ.เชียงใหม่และลำพูน ที่เป็นสมาชิกสมาพันธ์เกษตรกรเชียงใหม่-ลำพูน ประมาณ 300 คนนำโดยนายจำรัส ลุมมา ประธานสมาพันธ์ฯ ได้รวมตัวชุมนุมและทำการปิดถนนซูเปอร์ไฮเวย์เชียงใหม่-ลำปาง ทั้งขาเข้าและขาออก บริเวณแยกวงแหวนรอบนอก ซึ่งอยู่ในเขตอำเภอสารภี จ.เชียงใหม่ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดรับจำนำข้าวนาปรังของชาวนาในพื้นที่ทั้ง 2 จังหวัด ที่ยังตกค้างอยู่
ประธานสมาพันธ์เกษตรกรเชียงใหม่-ลำพูน กล่าวว่า การชุมนุมเรียกร้องในครั้งนี้เพื่อให้รัฐบาลเปิดรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังของชาวนาเชียงใหม่และลำพูน ที่ยังเหลือตกค้างอยู่หลังที่ปิดรับจำนำตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.โดยเชียงใหม่ได้รับจัดโควตารับจำนำเพียงประมาณ 5,000 ตันเท่านั้น ทั้งที่มีปริมาณผลผลิตข้าวกว่า 40,000 ตัน ทำให้ชาวนาถูกพ่อค้าคนกลางกดราคารับซื้อเหลือกิโลกรัมละ 4.8 บาทเท่านั้น ขณะที่ต้นทุนตกกิโลกรัมละ 7-8 บาท จึงต้องการให้รัฐบาลเปิดรับจำนำข้าวเปลือกที่ยังอยู่ในมือชาวนาทั้ง 2 จังหวัดโดยไม่จำกัดโควตา หากไม่ได้รับคำตอบจะปักหลักชุมนุมยืดเยื้ออาจจะมีการเคลื่อนไปปิดถนนในจุดอื่นอีก
ล่าสุดทางกลุ่มผู้ชุมนุมได้ยอมเปิดถนนให้รถสัญจรไปมาได้ตามปกติแล้ว

“มาร์ค” ยอมรับจำนำข้าวยังมีปัญหา

นาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงผลการประชุมครม.เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. ในการจัดการกับสินค้าเกษตร ว่า มีเรื่องการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้น ประการที่สอง การรับจำนำข้าวนาปรัง ซึ่งมีปัญหาว่า ขณะนี้การเปิดรับจำนำเต็มโควตาหรือเกือบเต็มแล้ว และมีบางพื้นที่ข้าวเพิ่งออกมา อีกทั้งหน่วยงานต่างๆ แจ้งประชาชนรับทราบว่า จะไม่รับจำนำ จึงเกิดปัญหาขึ้น ฉะนั้นครม.จึงมอบอำนาจให้คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ซึ่งนัดประชุมในวันที่ 4 มิ.ย. เพื่อให้ได้ข้อยุติว่าจะขยายเท่าไหร่อย่างไร ซึ่งวงเงินตามที่ครม.ได้อนุมัติไว้จำนวน 1 แสน 3 หมื่นล้าน เต็มแล้ว ต้องพิจารณาในการเพิ่มวงเงินตรงนี้ด้วย ซึ่งจะได้ข้อยุติในวันศุกร์ที่ 6 มิ.ย. ส่วนข้าวนาปี ยังเห็นชอบโครงการนำร่องเรื่องข้าวหอมมะลิ จำนวน 2 แสนตันที่ทุ่งกุลา โดยจะให้กระทรวงการคลัง และกระทรวงพาณิชย์เข้าไปดูเรื่องระบบการแทรกแซงในส่วนที่เหลือ
ส่วนเรื่องการประกันราคาข้าว นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า จะทำกำลังให้รวบรวมตัวเลขมาทั้งหมดว่าในแต่ละปีรูปแบบการแทรกแซงที่เปลี่ยนแปลงไปใครได้ประโยชน์ และได้ประโยชน์อย่างไร จะได้ชี้ให้เห็นว่าถ้าปรับตามแนวทางใหม่ ถ้าเลือกแนวทางไหนก็แปลว่า แนวทางนั้นจะแนวทางซึ่งหากใช้เงินเท่าเดิมแต่จำนวนคนที่ได้ประโยชน์ต้องเพิ่มขึ้น
การประกันราคาเกษตรกรทุกคนจะได้เงินที่เพิ่มมากกว่าเดิมหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวยืนยันว่า ถ้าทำเหมือนกรณีมันสำปะหลัง หมายความว่าเกษตรกรทุกคนจะได้ ซึ่งจะต่างกับกรณีทีผ่านมาเวลารับจำนำกับและกำหนดโควต้า หมายถึงคนที่ได้ประโยชน์หมายความว่าคนที่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ ส่วนคนที่เหลือตอนหลังแทบจะไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย เพราะว่าตัวโครงการจำนำไม่สามารถดึงราคาขึ้นมาได้
ส่วนจะมีการเวียนเทียนหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวถามว่า ระบบไหน ถ้าเป็นระบบจำนำขณะนี้ต้องมีการตรวจสอบจุดที่รับจำนำต่างๆ และมีความพยายามที่จะกระจายให้เต็มโควตาระดับจังหวัดบ้าง และปริมาณสูงสุดในแต่ละรายจะเข้ามา ต้องมีการตรวจสอบ ส่วนการระบายสินค้าเกษตรที่ประชุมได้เห็นชอบตามที่คณะกรรมการชุดของนาย สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ เป็นประธานคณะกรรมการได้ดำเนินการไป

“กอร์ปศักดิ์”จี้ตรวจสอบเวียนเทียนข้าว

นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุม ครม.ถึงโครงการระบายสินค้าเกษตร ที่จะนำเข้าสู่การพิจารณาของครม.ว่า เป็นไปตามที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯได้หารือไว้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
สำหรับม็อบเกษตรกร ที่มีการเคลื่อนไหวในภาคเหนือขณะนี้เพื่อให้จำนำข้าวต่อนั้น รองนายกฯ กล่าวว่า โดยปกติอยู่ดี ๆ เราจะไม่ไปประกาศหยุดรับจำนำ เพราะโควตายังมีเหลืออยู่ แต่ตนไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้น แต่คิดว่าน่าจะมีข้อยุติ
“มันไม่ใช่ราคาจำนำ เวลานี้กลายเป็นว่ารัฐจะต้องซื้อข้าวทั้งหมด ซึ่งปริมาณข้าวนาปรังเดิมที่มีไม่มาก แต่วันนี้กลายเป็นมีจำนวนมาก ซึ่งไม่รู้ว่ามีการเวียนกันหรือไม่ กระทรวงพาณิชย์ก็ต้องรับผิดชอบเข้าไปตรวจสอบให้ชัดเจน” รองนายกฯ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อเป็นเช่นนี้มีแนวคิดที่จะยกเลิกระบบการรับจำนำหรือไม่ นายกอร์ปศักดิ์ กล่าวว่า คงทำไม่ได้ในขณะนี้ เพราะระบบของการประกันไม่ว่ารูปแบบไหนจะต้องเริ่มก่อนฤดูกาล ไม่ใช่มาเริ่มขณะที่ข้าวออกมาแล้ว เพราะฉะนั้นระบบการประกันรายได้ของเกษตรกรเขาต้องรู้ล่วงหน้า เราจะมาทำกลางคันคงไม่ได้ ต้องทำเรื่องเก่าให้จบไปก่อน
เมื่อถามว่าขณะนี้รัฐบาลมีเงินพอที่จะแก้ปัญหานี้หรือไม่ นายกอร์ปศักดิ์ กล่าวว่า เงินไม่ค่อยมีหรอกเพราะภาษีก็เก็บได้น้อย แต่รัฐบาลไม่จนปัญหาหรอก ทำได้อยู่แล้ว ซึ่งเงินที่จะใช้ดูแลรักษาประมาณ 2 พันล้าน แต่เงินที่จะให้เกษตรกรก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง อย่างไรก็ตามขณะนี้เริ่มมีข้าวเข้ามาเยอะเราก็ต้องรีบระบายออกไป ซึ่งหลักเกณฑ์ในการระบายวันนี้คงได้ข้อยุติ หลังจากนั้นกระทรวงพาณิชย์ก็สามารถเดินหน้าได้เลย
กำลังโหลดความคิดเห็น