xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.วุฒิฯ จี้รื้อสัมปทานขุมทรัพย์ก๊าซ-น้ำมัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ควรต้องคิดถึงการวางกรอบกติกาในกิจการพลังงานใหม่ เพื่อไม่ให้ประชาชนถูกเอาเปรียบ
ข่าวเชิงวิเคราะห์ "ธรรมาภิบาลระบบพลังงานไทย" โดย ..... ทีมข่าวพิเศษ

(ตอนจบ)ไล่รื้อสัมปทานขุมทรัพย์ก๊าซ-น้ำมัน

ASTVผู้จัดการรายวัน - ขุมทรัพย์น้ำมันและก๊าซฯ ถือเป็นสาธารณสมบัติคนไทยทั้งชาติเป็นเจ้าของจึงควรต้องมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายบริหารจัดการผ่านกลไกรัฐสภาหรือลงประชามติเพื่อประโยชน์สูงสุดตกแก่ประเทศชาติและประชาชน ไม่ใช่ปล่อยให้รัฐมนตรีพลังงานมีอำนาจล้นฟ้าผูกขาดการตัดสินใจยกสัมปทานให้นักวิ่งเต้นที่ยอมทุ่มใต้โต๊ะแลกกับการจ่ายให้หลวงแค่จิ๊บๆ ต่ำกว่าพม่า เวียดนาม หรือจะปล่อยให้ยักษ์ใหญ่ ปตท. ขูดเลือดชาวบ้านต่อไปตราบนานเท่านาน

การบริหารจัดการขุมทรัพย์พลังงานทั้งน้ำมันและก๊าซฯซึ่งมีอยู่มหาศาล ซึ่งเป็นผลประโยชน์ของประเทศและประชาชนทุกคนไม่ได้วางอยู่บนหลักธรรมาภิบาล คือ การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมทั้งความโปร่งใส ตรวจสอบได้
อำนาจการตัดสินใจด้านพลังงานของประเทศไทย ทั้งการอนุมัติสัมปทานปิโตรเลียม การสำรวจปิโตรเลียม ไปจนถึงการกำหนดนโยบายต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อประชาชนอย่างกว้างขวาง กลับเป็นสิทธิ์ขาดของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โดยคำแนะนำของคณะกรรมการปิโตรเลียม หรือขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีในบางกรณีที่จำเป็นเท่านั้น

ประเด็นนี้เป็นเรื่องสำคัญที่คณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา มีคิดเห็นและเสนอแนะ ดังนี้ 

1) ประเด็นเรื่องการบริหารจัดการและกำกับดูแลทรัพยากรธรรมชาติด้านปิโตรเลียม

ด้วยน้ำมันดิบและก๊าซฯ เป็นทรัพยากรธรรมชาติด้านพลังงานของประเทศ ซึ่งถือเป็น สมบัติสาธารณะที่ประชาชนทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน ดังนั้น รัฐบาลต้องสร้างกลไกให้ประชาชนชาวไทยมีสิทธิในการมีส่วนร่วมที่จะกำหนดนโยบายใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการนำทรัพยากรธรรมชาตินี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนผู้เป็นเจ้าของทรัพยากร โดยประชาชนต้องมีสิทธิที่จะได้รับรู้ข้อมูลที่ครบถ้วนและถูกต้อง

ทั้งนี้ จากการศึกษาข้อมูลของกระทรวงพลังงาน พบว่า ช่วงเดือนเม.ย. 2551 ประเทศไทยมีการผลิตน้ำมันดิบ (รวมคอนเดนเสทซึ่งใช้กลั่นได้เหมือนน้ำมันดิบ) ได้มากถึง 36 ล้านลิตรต่อวัน จากการขุดเจาะรวม 3,689 หลุม

ข้อเท็จจริงนี้ชี้ให้เห็นว่า ไทยมีผลผลิตพลังงานภายในประเทศในปริมาณสูง แต่คนไทยกลับต้องซื้อน้ำมันในราคาตลาดโลก จึงมีคำถามว่า การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติด้านปิโตรเลียมที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ ชาติและประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุดจริงหรือไม่ พลังงานที่ขุดได้จากแผ่นดินไทยหายไปไหน ใครได้ประโยชน์จากแหล่งพลังงานเหล่านี้ 

รัฐบาลควรทบทวนนโยบายด้านสัมปทานปิโตรเลียมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นการแบ่งผลประโยชน์ระหว่างรัฐและเอกชน ทั้งสำหรับสัมปทานใหม่และการต่ออายุสัมปทาน เนื่องจากส่วนแบ่งรายได้ที่รัฐบาลไทยได้รับในปัจจุบันอยู่ในระดับที่ต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ตัวอย่างเช่น พม่า เวียดนาม มาเลเซีย บรูไน และอินโดนีเซีย หรือประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ เช่น คาซักสถาน กาน่า โรมาเนีย อินเดีย และปากีสถาน โดยรัฐบาลไทยเรียกเก็บค่าภาคหลวงจากผู้รับสัมปทานในอัตราต่ำเพียงร้อยละ 5-15 จากปริมาณที่ขุดเจาะและบวกภาษีเงินได้เท่านั้น

อัตราดังกล่าวจะยิ่งต่ำมากขึ้นไปอีกเมื่อเทียบกับประเทศที่มีแหล่งพลังงานในประเทศสูง เช่น โบลิเวีย ซึ่งรัฐจะได้รับสูงถึงร้อยละ 82 ของรายได้จากยอดการผลิตก๊าซธรรมชาติ ในคาซักสถาน รัฐได้จากน้ำมันดิบร้อยละ 80 ของปริมาณที่ขุดเจาะ

รัฐอาบูดาบีในประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กำหนดให้กำไรของบริษัทขุดเจาะน้ำมันถูกจำกัดอยู่ที่ 1 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และรัสเซีย รัฐจะได้รับประโยชน์สูงร้อยละ 90 ของยอดขายเมื่อราคาน้ำมันดิบสูงกว่า 25 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เป็นต้น (แหล่งข้อมูล: http://www.ualberta.ca/PARKLAND/research/perspectives/EgySuperPower07OpEd.htm)

2) ประเด็นเรื่องนโยบายและกลไกตลาดในธุรกิจน้ำมันและโรงกลั่น

การกำหนดให้น้ำมันสำเร็จรูปอิงราคานำเข้าจากต่างประเทศเท่ากับเป็นการกีดกันไม่ให้เกิดกลไกตลาดเสรีภายในประเทศที่แท้จริง ซึ่งขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 84(1) และ (5) แห่งราชอาณาจักรไทย ที่สนับสนุนระบบเศรษฐกิจแบบเสรีและเป็นธรรมโดยอาศัยกลไกตลาด ดังนั้น จึงมีข้อเสนอว่า

หนึ่ง รัฐบาลควรปล่อยให้ราคาน้ำมันเป็นไปตามกลไกตลาดเสรีที่แท้จริงมากกว่าการปล่อยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอ้างถึงกลไกตลาด แต่ในความเป็นจริงกลับมีการกำหนดสูตรราคาที่ทำให้ผู้บริโภคเสียประโยชน์ รวมถึงสร้างบรรยากาศที่มุ่งไปสู่การผูกขาด ซึ่งขัดกับหลักรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน

รัฐควรส่งเสริมธุรกิจการกลั่นน้ำมันให้มีการแข่งขันสมบูรณ์ โดยไม่ปล่อยให้บริษัทธุรกิจน้ำมันแห่งใดแห่งหนึ่งมีการควบรวมกิจการบริษัทน้ำมันหรือถือหุ้นในบริษัทน้ำมัน อันจะส่งผลให้เกิดการครอบงำบริษัทและผูกขาดธุรกิจได้

สอง เพื่อให้สินค้าพลังงานมีการแข่งขันตามกลไกตลาดเสรีอย่างแท้จริง รัฐควรดำเนินการปฏิรูปธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันให้มีผู้ประกอบการที่หลากหลาย โดยรัฐบาลควรบังคับใช้ "พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2552" อย่างจริงจัง และไม่ควรให้รัฐวิสาหกิจที่ไม่ได้เป็นของรัฐบาล 100 เปอร์เซ็นต์ ดำเนินธุรกิจในลักษณะผูกขาด

ปัจจุบัน ปตท. ได้รับการยกเว้นในเรื่องนี้เนื่องจากถูกนับว่าเป็นรัฐวิสาหกิจตามมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.งบประมาณ พ.ศ. 2502 ซึ่งถือว่าได้รับการยกเว้นตามมาตรา 4 ข้อ 2 ของ พ.ร.บ.ดังกล่าว จึงทำธุรกิจการกลั่นน้ำมันมิได้มีการแข่งขันอย่างแท้จริง ผู้บริโภคจึงตกอยู่ในฐานะเสียเปรียบ

สาม การกำหนดให้คนไทยจ่ายราคาน้ำมันเทียบเท่าราคานำเข้าจากสิงคโปร์เป็นการสร้างกลไกตลาดเทียมที่เปิดโอกาสให้โรงกลั่นสามารถขายน้ำมันให้คนไทยในราคาที่แพงขึ้นกว่าที่ควรจะเป็น และเป็นการทำลายกลไกการแข่งขันที่เคยมีในอดีต ทั้งยังกีดกันการเกิดกลไกตลาดในประเทศอีกด้วย

รัฐจึงควรส่งเสริมการใช้กลไกตลาดที่อิงอุปสงค์และอุปทานของน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศ โดยเมื่อกลไกดังกล่าวเข้าสู่จุดที่มีประสิทธิภาพด้วยการแข่งขันที่สมบูรณ์แล้ว ราคาน้ำมันจะลดลงจากที่รัฐกำหนดให้อิงราคานำเข้าจากสิงคโปร์ไปสู่ราคาที่ใกล้เคียงราคาส่งออก ซึ่งจะทำให้น้ำมันถูกลงประมาณ 1-3 บาทต่อลิตร โดยราคาส่งออกนี้จะกลายเป็นเพดานขั้นต่ำของราคาน้ำมันในประเทศเมื่อกลไกตลาดในประเทศทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ

การอิงราคาส่งออกไปสิงคโปร์ยังสอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ว่าประเทศไทยมีการกลั่นน้ำมันดิบล้นเกินจนต้องส่งออกมาเป็นเวลายาวนานกว่า 11 ปีแล้วโดยในปี 2551 พลังงานเป็นสินค้าส่งออกมูลค่าสูงลำดับที่ 4 ของไทย

นอกจากนี้ หากคนไทยต้องซื้อหาน้ำมันที่กลั่นในประเทศในราคาเท่ากับการซื้อจากโรงกลั่นในต่างประเทศ รัฐก็ควรยกเลิกการกลั่นน้ำมันในประเทศเพราะนอกจากราคาจะมิได้ถูกลงแล้ว ยังส่งผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมของไทยอีกด้วย
สี่ รัฐบาลควรพิจารณากำหนดช่วงของค่าการตลาดที่เหมาะสมทั้งค่าการตลาดขั้นต่ำและเพดาน เพื่อป้องกันการค้ากำไรเกินควร และเปิดโอกาสให้เกิดการแข่งขันของผู้ให้บริการจำหน่ายน้ำมันอย่างเป็นธรรม ทั้งยังป้องกันการทุ่มตลาดของผู้ค้ารายใหญ่ที่เป็นเจ้าของโรงกลั่น (หมายเหตุ- ค่าการตลาดที่เหมาะสมประมาณ 1.00 - 1.50 บาทต่อลิตร)

นโยบาย LPG ต้องคิดใหม่

รัฐบาลควรทบทวนการกำหนดราคาก๊าซแอลพีจีโดยให้ตั้งอยู่บนหลักของความเป็นธรรมต่อประชาชน ผู้เป็นเจ้าของทรัพยากร ทั้งนี้เพราะ

หนึ่ง ผลผลิตก๊าซแอลพีจีจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติทั้งหมดใช้วัตถุดิบ คือก๊าซธรรมชาติจากแหล่งในประเทศไทยที่รัฐได้ผลประโยชน์น้อยมาก ทำให้ต้นทุนจริงในการผลิตไม่ขึ้นกับราคาตลาดโลก อีกทั้ง การผูกขาดท่อส่งก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยของปตท. มีผลให้ ปตท. สามารถผูกขาดธุรกิจโรงแยกก๊าซไปโดยปริยาย

ดังนั้น การนำนโยบายอิงราคาตลาดโลกมาใช้จะทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อคนไทยผู้เป็นเจ้าของทรัพยากรธรรมชาติและเท่ากับเปิดโอกาสให้บริษัทพลังงานตักตวงผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติของคนไทยอย่างเต็มที่

นอกจากนี้ ผลผลิตแอลพีจีจากโรงกลั่นน้ำมันก็ใช้วัตถุดิบส่วนหนึ่งคือ ก๊าซธรรมชาติเหลวและน้ำมันดิบจากในประเทศเช่นกัน (หมายเหตุ ผลผลิตก๊าซแอลพีจีจากโรงแยกก๊าซมีปริมาณใกล้เคียงกับความต้องการใช้ก๊าซของภาคประชาชน)

สอง การอนุญาตให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ใช้รายใหญ่ซื้อก๊าซแอลพีจี โดยใช้ราคาที่อ้างอิงกับราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ซึ่งต่ำกว่าราคาแอลพีจีในตลาดโลกนั้น จะทำผู้ใช้ที่เป็นประชาชนเสียเปรียบ

เนื่องจากถึงแม้ประชาชนจะซื้อแอลพีจีในราคาควบคุมหน้าโรงกลั่นที่ 10.996 บาทต่อกก. หรือคิดเป็นประมาณ 318ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน (อัตราแลกเปลี่ยนเท่ากับ 34.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ) แต่หนี้สินที่เกิดจากส่วนต่างของราคาควบคุมกับราคาตลาดโลกเมื่อมีการนำเข้าแอลพีจี ผู้ค้าก๊าซก็เรียกเก็บจากกองทุนน้ำมันฯ ซึ่งเป็นเงินของประชาชน

ในขณะที่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกลับไม่ต้องจ่ายส่วนต่างระหว่างราคาที่ตนเองซื้อแอลพีจีในประเทศกับราคาตลาดโลกเลย ทำให้ประชาชนเป็นผู้แบกรับภาระการนำเข้าแอลพีจีแต่เพียงผู้เดียว รัฐจึงควรปรับเปลี่ยนหลักการโดยพิจารณาถึงหลักธรรมาภิบาลมากกว่าที่เป็นอยู่

สาม รัฐบาลควรแยกการกำหนดราคาก๊าซแอลพีจีที่ใช้ในภาคธุรกิจ คืออุตสาหกรรมและปิโตรเคมี ออกจากราคาก๊าซสำหรับภาคประชาชน ทั้งการใช้ในครัวเรือนและการใช้ในยานยนต์

ด้วยเหตุว่าก๊าซแอลพีจีส่วนใหญ่ผลิตจากวัตถุดิบในประเทศที่คนไทยทุกคนเป็นเจ้าของ ในขณะที่ภาคธุรกิจใช้ก๊าซแอลพีจีเพื่อสร้างผลกำไรทางธุรกิจและส่วนใหญ่เป็นการผลิตเพื่อการส่งออก ซึ่งเปรียบเสมือนการนำทรัพยากรธรรมชาติของไทยไปขายให้ต่างประเทศใช้ในราคาถูก

ดังนั้น ภาคธุรกิจจึงควรจะรับภาระราคาก๊าซตามราคาตลาดโลก ขณะที่ภาคครัวเรือนและยานยนต์เป็นการใช้ก๊าซเพื่อวัตถุประสงค์ในการดำรงชีวิต ประชาชนจึงควรต้องได้รับการปกป้อง คุ้มครอง และดูแลในฐานะเจ้าของทรัพยากรธรรมชาติจึงจะถูกต้องเป็นธรรม



น้ำมัน-ก๊าซฯประชาชนคือเจ้าของ

น้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติคือ ทรัพยากรธรรมชาติด้านพลังงานเป็นสมบัติสาธารณะที่สำคัญของชาติ ดังนั้นในหลายประเทศทั่วโลกจึงกำหนดให้การตัดสินใจด้านพลังงานของชาติเป็นอำนาจโดยตรงของประชาชนผ่านการลงประชามติ หรือผ่านรัฐสภา ซึ่งก็คือตัวแทนประชาชน

เช่น กรณีการให้สัมปทานพลังงานใหม่ของสหรัฐอเมริกาในอ่าวเม็กซิโก รัฐสภาจะต้องเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบ นอกจากนี้สภาคองเกรสของสหรัฐฯ ยังมีอำนาจยับยั้งการตัดสินใจของเอกชนในด้านพลังงาน เช่น กรณีที่บริษัทยูโนแคลต้องการขายกิจการให้แก่บริษัทในประเทศจีนนั้น ในที่สุดก็ถูกยับยั้งจากสภาคองเกรสและสั่งให้ขายบริษัทยูโนแคลแก่บริษัทเชฟรอน ซึ่งเป็นบริษัทของสหรัฐฯ แทน หรือกรณีการให้ต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจพลังงานในประเทศเม็กซิโก กฎหมายกำหนดว่าจะต้องมีการทำประชามติเสียก่อน

ข่าวเชิงวิเคราะห์ “ธรรมาภิบาลระบบพลังงานไทย” โดย...ทีมข่าวพิเศษ

(1) ปตท.โก่งราคาน้ำมัน-ก๊าซ สูบกินถึงติดรวยสุดในโลก

(2) บิ๊ก ขรก.เอื้อ ปตท.ขัด รธน.-ผิดอาญา ม.157

(3)"ขรก.เพื่อ ปตท."รวยอู้ฟู่ โบนัส-เบี้ยประชุม


(4)"บิ๊กไฝ ปตท."ถ่างขาควบ 6 บริษัทฟันปีละ 22 ล้าน

(5)ปตท.ขูดค่าส่งก๊าซฟันกำไรปีละ 2 พันล้าน

(6)ปมพิรุธเล่ห์ ปตท.ขึ้นค่าส่งก๊าซ

(7)เลิกผูกขาด-ห้าม ขรก.เพื่อ ปตท.
กำลังโหลดความคิดเห็น