xs
xsm
sm
md
lg

ไอแบงก์ขยายบอนด์แสนล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ไอแบงก์เล็งออกพันธบัตร 1 หมื่นล้านบาทเตรียมสภาพคล่องไว้รองรับการขยายสินเชื่อครึ่งปีหลัง เล็งรับรีไฟแนนซ์หนี้ครู ตำรวจหลังมีกระแสตอบรับดีจากประชาชนทั่วไป พร้อมระดมทุนผ่านกองทุนสาธารณูปโภคอีก 1 แสนล้านให้รัฐบาลนำไปใช้ด้านสังคม

นายธีรศักดิ์ สุวรรณยศ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย(ไอแบงก์) เปิดเผยว่า ธนาคารมีแผนจะระดมทุนผ่านพันธบัตรวงเงินรวม 1 หมื่นล้านบาทภายในปีนี้เพื่อใช้ในการปล่อยสินเชื่อทั้งสินเชื่อปกติ และสินเชื่อตามนโยบายของรัฐบาลในการช่วยเหลือผู้ประกอบการและประชาชนรายย่อย โดยคาดว่าจะออกพันธบัตรจำหน่ายให้ประชาชนทั่วไป 5 พันล้านบาทและจำหน่ายให้สถาบันการเงินอีก 5 พันล้านบาท เบื้องต้นคาดมีอายุ 5 ปี ต้นทุนน่าจะอยู่ที่ระดับ 4% สูงกว่าพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็งของรัฐบาล ส่วนระยะเวลาการออกน่าจะเป็นช่วง 2-3 เดือนหลังจากนี้โดยจะดูไม่ให้ออกมาชนกับพันธบัตรของรัฐบาลที่น่าจะทยอยออกตามมาอีก

ทั้งนี้ มองว่าสภาพคล่องในระบบซึ่งมีประมาณ 1.7 ล้านล้านบาทยังเพียงพอให้เข้าไปไประดมทุน แม้ว่ารัฐบาลจะออกพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็งไปแล้ว 8 หมื่นล้านบาทก่อนหน้านี้ ส่วนต้นทุนในระดับ 4 %แม้จะสูงกว่าของรัฐบาลก็ยังสามารถรับได้ โดยธนาคารจะนำไปใช้ในการปล่อยสินเชื่อรายย่อยในช่วงครึ่งปีหลัง เช่น การรีไฟแนนซ์หนี้บัตรเครดิตและหนี้นอกระบบอัตราดอกเบี้ย 7% ก็จะได้ส่วนต่างแล้วประมาณ 3% ถือว่าเป็นระดับที่พออยู่ได้ โดยจะกำหนดให้ระยะเวลาสอดรับกับการผ่อนชำระคือระยะเวลา 5 ปี เช่นเดียวกัน

"แม้ธนาคารจะมีแผนเพิ่มทุน 6 พันล้านบาทแต่ขณะนี้ยังไม่ได้รับเงินเข้ามา จึงต้องเตรียมพร้อมระดมทุนผ่านการออกพันธบัตรด้วยประมาณ 1 หมื่นล้านบาท เพราะนอกจากสินเชื่อซับน้ำตาที่กำลังดำเนินการอยู่ก็จะขยายไปสู่สินเชื่ออื่นๆ ด้วยทั้งการรีไฟแนนซ์หนี้บัตรเครดิตและหนี้นอกระบบของครูและข้าราชการตำรวจด้วยหลังจากที่มีประชาชนทั่วไปสนใจขอกู้เข้ามาแล้วประมาณ 600 ล้านบาท " นายธีรศักดิ์ กล่าว

นอกจากนี้ธนาคารยังได้รับมอบหมายจากกระทรวงการคลังให้ตั้งกองทุนเพื่อระดมทุนใช้ในกิจการด้านสาธารณูปโภคและสวัสดิการสังคม โดยเป็นการพันธบัตรตามหลักศาสนาอิสลามหรือ ซูกุก วงเงิน 1 แสนล้านบาท เป็นการระดมทุนในประเทศ 5 หมื่นล้านบาทและระดมทุนจากกลุ่มประเทศในตะวันออกกลางอีก 5 หมื่นล้านบาท เพื่อให้รัฐบาลนำเงินไปใช้ลงทุนด้านสาธารณสุข เช่น สร้างโรงพยาบาล จัดซื้อเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์

โดยเงิน 1 แสนล้านบาทนี้อยู่นอกเหนือจากการกู้เงินตามแผนกระตุ้นเศรษฐกิจโครงการไทยเข้มแข็ง 2 หรือเอสพี 2 เนื่องจากรัฐบาลเห็นการจัดสรรงบประมาณด้านสาธารณสุขหรือด้านสังคมนี้ค่อนข้างน้อยและการเบิกจ่ายเงินงบประมาณอาจไม่ทันการ จึงให้ธนาคารใช้ศักยภาพที่มีระดมทุนผ่านพันธบัตรซูกุก ซึ่งจากการสอบถามความต้องการลงทุนซื้อพันธบัตรดังกล่าวในตะวันออกกลางนั้นถือว่ามีกระแสตอบรับค่อนข้างดี อีกทั้งน่าจะสอดรับการแนวนโยบายของธนาคารที่ต้องการดึงกลุ่มทุนจากตะวันออกกลางเข้ามาร่วมถือหุ้นด้วย 10% เพื่อเป็นตัวกลางในการดึงเงินจากกลุ่มนักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศไทย แต่ทั้งนี้คงขึ้นอยู่กับนโยบายของกระทรวงการคลังด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น