xs
xsm
sm
md
lg

หยิบตำราโบราณปัดฝุ่นใหม่ ธุรกิจทำเงินสไตล์พิพิธภัณฑ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTV ผู้จัดการรายวัน - อดีตที่ย้อนกลับไปสักประมาณ 50 ปีขึ้นไป สิ่งของเหล่านั้นเหมือนเป็นตำนาน ที่เมื่อกลับมาทำใหม่ เหมือนเป็นการทบทวน ภาพในอดีตให้ย้อนกลับมาอีกครั้ง และเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับคนรุ่นใหม่ได้ศึกษา ถึงเรื่องราวในอดีต

โดยเฉพาะหนังสือ และสมุดโบราณนั้น เป็นสิ่งเดียวที่สามารถบอกเล่าเรื่องราวในอดีตพร้อมคำอธิบายได้ดีกว่า สิ่งของโบราณอื่นๆ สำหรับร้านขายหนังสือ และสมุดโบราณ ของ “บ้านพิพิธภัณฑ์” ตั้งอยู่บนถนนพุทธมณฑล สาย 2 ใกล้ ตลาดนัดคลองลัดมะยม มีหนังสือ และสมุดที่ออกแบบตามแบบปกสมุดโบราณ ของแต่ละโรงเรียน ซึ่งบางแบบหาดูได้ยากมาก เพราะไม่ได้มีการเก็บรักษาเอาไว้

นายประยูร สงวนไพร ผู้ดูแลบ้านพิพิธภัณฑ์ เล่าว่า ทางบ้านพิพิธภัณฑ์ของเราได้ออกแบบและทำเลียนแบบสิ่งของเครื่องใช้โบราณขึ้นมาใหม่ เพื่อให้ผู้ที่ต้องการย้อนรำลึกถึงอดีต และเก็บไปเป็นของที่ระลึก หรือ ซื้อให้กับลูกๆ ได้รู้จักและเห็นว่าในอดีตมีการออกแบบสิ่งของเครื่องใช้กันอย่างไร ซึ่งกลายเป็นสิ่งแปลกใหม่สำหรับเด็ก จึงได้รับความเป็นสนใจเป็นพิเศษ

สำหรับบ้านพิพิธภัณฑ์ ได้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนของการแสดงของโบราณหายากที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป หรือบางชิ้นมีอายุถึง 100 ปี ที่ไม่ได้มีการผลิตแล้วในปัจจุบัน และส่วนที่เป็นร้านค้าจำหน่ายสินค้าโบราณที่ออกแบบและทำขึ้นมาใหม่ โดยเลียนแบบของโบราณ

"บ้านพิพิธภัณฑ์ แห่งนี้ เปิดให้ผู้เข้าชมมาประมาณ 8 ปี เกิดขึ้นมาจากผมเป็นคนชอบเก็บสะสมของโบราณ ร่วมกับเพื่อนเปิดพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ขึ้นมา โดยเริ่มจากรับบริจาคของเก่าที่เขาไม่ใช้กันแล้ว เราก็ค่อยเก็บสะสมมาเรื่อย จนปัจจุบันมีของเก่าที่มาแสดงเป็นจำนวนมาก และบางส่วนที่มีหลายชิ้น แบ่งขายให้กับคนที่ชื่นชอบและต้องการเก็บสะสม จึงเกิดเป็นร้านบ้านพิพิธภัณฑ์"

เนื่องจากคนส่วนใหญ่ที่เข้ามาชมที่บ้านพิพิธภัณฑ์ ต้องการของโบราณเหล่านี้ เพื่อนำไปเก็บเป็นที่ระลึก หรือบางคนอาจจะเคยใช้ แต่หาซื้อไม่ได้ และบางชิ้นเรามีชิ้นเดียวก็ไม่สามารถขายให้ได้ จึงได้เป็นที่มาของการทำของเลียนแบบออกมาจำหน่าย รายได้เพื่อใช้พัฒนาและดูแลบ้านพิพิธภัณฑ์

สำหรับสินค้าที่ผลิตออกมาจำหน่าย อาทิ เช่น ปกสมุดโบราณ หนังสือ โปสการ์ด ของเล่น สังกะสี ขนมกินเล่นของเด็ก ซึ่งในส่วนของขนมปัจจุบันก็ยังคงมีการผลิตอยู่ แต่เริ่มหาซื้อได้ยากขึ้น คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยได้เห็นกันแล้ว เช่น ขนมหมากฝรั่งตราแมว เป็นต้น

“ในส่วนของโปสการ์ด สมุดปกโบราณ หรือ ของเล่นสังกะสี เราจะไปว่าจ้างให้กับโรงงนที่ผลิตสินค้าเหล่านี้ ช่วยผลิตให้ สำหรับความเหมือนนั้นจะขึ้นอยู่กับวัสดุที่เราหาได้ เพราะวัสดุบางตัวเลิกผลิตไปแล้ว เช่น กระดาษสีน้ำตาลที่ไม่ผ่านการฟอกย้อม ปัจจุบันไม่มีการผลิตออกมาจำหน่ายแล้ว ทำให้ชิ้นงานบางชิ้นเลียนแบบออกมาได้ไม่เหมือน 100% ส่วนสีปัจจุบันการทำสีใช้เทคนิคสมัยใหม่ ทำให้สีออกมาคมเข้มกว่าของโบราณ แต่เราก็พยายามจะทำออกมาให้เหมือนที่สุด”

ส่วนราคาอิงกับรูปแบบสินค้าในปัจจุบัน เช่น สมุดปกโบราณ ราคาเหมือนกับการขายสมุดทั่วไป เพราะต้นทุนการผลิตเหมือนกับสินค้าที่ผลิตขายในปัจจุบัน สินค้าที่ทำเลียนแบบและมีอายุมากที่สุด ประมาณ 60 ปี เป็นสมุดแจกนักเรียนของโรงเรียนแห่งหนึ่ง ที่ปัจจุบันไม่มีการผลิต

กลุ่มลูกค้ามีหลากหลาย เช่น กลุ่มคนในวัยที่ได้เห็น และเคยใช้สินค้าชนิดนี้มาก่อน และกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน และชื่นชอบของโบราณ ต้องการเก็บสะสม บางคนซื้อเพราะมองเห็นว่าเป็นสิ่งแปลกใหม่ ไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน มีทั้งกลุ่มที่ซื้อใช้งานจริงและซื้อเพื่อเก็บสะสม

ปัจจุบันมีลูกค้าอยู่ทุกเพศ ทุกวัย ส่วนลูกค้าเพิ่มขึ้นทุกปี เพราะเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้ จึงมีการบอกกันแบบปากต่อปาก ลูกค้าที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากตลาดน้ำคลองลัดมะยมที่เปิดให้บริการขายสินค้าในช่วงวันหยุด เสาร์ – อาทิตย์ และ วันหยุดพิเศษ และตลาดน้ำคลองลัดมะยมเป็นที่รู้จักมากขึ้น ลูกค้าที่มาเดินตลาดน้ำก็แวะมาเที่ยวบ้านพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ด้วย

ส่วนสินค้าที่ขายดี จะเป็นกลุ่มหนังสือ นวนิยาย สมุด และของเล่น ราคาหนังสือ และสมุดเริ่มต้นที่ 20 บาท ไปจนถึงหลักร้อยบาท เช่นเดียวกับของเล่น ส่วนหนังสือโบราณ ราคาไม่ได้แตกต่างกันมาก เพราะส่วนใหญ่เราซื้อมาในราคาไม่แพง เพราะคนที่นำมาขายไม่ได้ใช้ประโยชน์ จึงขายให้ถูก และเราก็นำมาขายต่ออีกที่ โดยไม่ได้เอากำไรมาก

นายประยูร เล่าว่า ในส่วนของบ้านพิพิธภัณฑ์ มีการจำลองวิถีชีวิตของชาวตลาด ชาวเมืองยุค 2500 ตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป เช่น ร้านกาแฟ ร้านทอง ร้านหนังสือ ร้านขายของเล่น เป็นต้น ส่วนของที่นำมาแสดง เช่น ของใช้ต่างๆ ยารักษาโรค ของเล่น หนังสือ นวนิยาย ฯลฯ

ผู้สนใจเข้าชมและซื้อของบ้านพิพิธภัณฑ์ ได้ในวันเสาร์-อาทิตย์ ค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 30 บาท เด็ก 10 บาท

โทร.08-9666-2008,08-9200-2803 , www.houseofmuseums.org
กำลังโหลดความคิดเห็น