xs
xsm
sm
md
lg

วาระไข้หวัดใหญ่-วาระของชาติ

เผยแพร่:   โดย: สุวิชชา เพียราษฎร์

เมื่อวานนี้ คุณหมอพิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข พร้อมทีมงานหลายคนมาเยี่ยมกองบรรณาธิการ ASTVผู้จัดการถึงที่บ้านพระอาทิตย์

คุณหมอบอกว่า ได้รับมอบหมายให้เป็นตัวแทนของกระทรวงมารับฟัง และแลกเปลี่ยนความเห็นของสื่อในการควบคุมสถานการณ์ไข้หวัดใหญ่ 2009 ที่ระบาดอย่างหนักในขณะนี้

ผมมีโอกาสได้ต้อนรับและพูดคุยกับคุณหมอ ฟังคุณหมอเล่าสถานการณ์และความเป็นไปของโรคที่ตกเป็นข่าวพาดหัวในหนังสือพิมพ์และสื่อต่างๆ มาต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนมานี้ บอกตรงๆ ว่า ผมเองมีความรู้เรื่องทางการแพทย์น้อยมาก แต่ก็พยายามขวนขวายหาข้อมูลเกี่ยวกับไข้หวัดมรณะนี้เท่าที่จะทำได้มาตลอด พอได้ข้อมูลในอีกแง่หนึ่งในฐานะผู้ปฏิบัติงานอย่างข้าราชการเช่นคุณหมอ ทำให้รู้สึกว่า ดูท่ารัฐบาลต้องทำงานหนักกว่าที่ผ่านมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

คุณหมอพิพัฒน์ ยอมรับว่า ขณะนี้การทำงานของหน่วยงานราชการที่มีหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องนี้ถูกมองว่า ท่าดีทีเหลว เพราะไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้โดยมีผู้ป่วยที่ติดเชื้อหวัดเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่มีคนตายรายวัน 1 รายบ้าง 2 รายบ้าง และ บางวันเพิ่มสูงถึง 3 ราย ผิดกับช่วงต้นๆ ทีแรกมีข่าวว่า ไข้หวัดได้ระบาดเข้ามาถึงประเทศไทย ช่วงนั้นรัฐบาลตื่นตัวและวางมาตรการเข้มข้นจนได้รับคำชม

เมื่อมียอดผู้ป่วยและตายมากขึ้นเป็นลำดับ จากความเชื่อมั่นกลายเป็นความไม่มั่นใจ และหวาดผวาตามมา

เหตุที่เป็นเช่นนี้ คุณหมออธิบายว่า ข้อมูลที่ใช้ประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์เกี่ยวกับโรคนี้เป็นเรื่องใหม่ แรกๆ หน่วยงานรัฐประเมินกันว่าเชื้อตัวนี้น่าจะรุนแรง ประกอบกับข้อมูลจากต่างประเทศขณะนั้นก็บ่งชี้ว่าอันตราย การกำหนดมาตรการต่างๆเพื่อรับมือและจัดการจึงเข้มข้น แต่ต่อมาข้อมูลเปลี่ยนปรากฏว่าเชื้อไวรัสตัวนี้แม้แพร่กระจายเร็วแต่ไม่อันตรายมากนัก การรณรงค์ป้องกันและควบคุมจึงย่อหย่อนลงมาโดยเบนเป้าหมายให้คนตระหนักถึงการดูแลตัวเองเท่านั้น

ต่อเมื่อมีคนเริ่มตาย และยอดผู้ป่วยเพิ่มสูงจนน่าแปลกใจ จากการวิเคราะห์ข้อมูลจึงพบว่า มาตรการที่ทำอยู่ไม่เพียงพอต้องเปลี่ยนใหม่อีกครั้ง แต่ปัญหาก็คือ คนเริ่มไม่เชื่อมือรัฐบาลแล้ว

ขณะเดียวกันรัฐบาลเองก็ไม่รู้จะสื่อสารให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลได้อย่างไรว่า ลำพังกินของร้อน ใช้ช้อนกลาง หรือวิ่งสู้หวัดนั้นไม่สามารถทำให้ตัวเองรอดจากไวรัสไข้หวัดอันตรายนี้ได้

หนทางเดียวและเป็นวิธีที่ดีที่สุดขณะนี้คือ รณรงค์สร้างสุขอนามัยด้วยการล้างมือให้สะอาด และคาดหน้ากากให้เป็นนิสัย

การคาดหน้ากากให้เป็นนิสัยทั้งคนเป็นหวัด หรือไม่เป็น ถือเป็นมาตรการป้องกันตัวเองเบื้องต้น เพราะไข้หวัดใหญ่ 2009 แตกต่างจากไข้หวัดนก หรือโรคซาร์ส ที่เคยเป็นโรคใหม่และแพร่ระบาดมาก่อนหน้าแต่สามารถควบคุมได้โดยเร็ว เพราะแพร่ระบาดจากคนสู่คนได้ช้ากว่า แต่ไข้หวัดใหญ่ 2009 มีจุดพิเศษคือแพร่ได้เร็ว แค่ไอจามในรถไฟฟ้า หรือแหล่งที่มีผู้คนชุมนุมกันหนาแน่น เชื้อหวัดก็จะฟุ้งกระจายติดกันโดยง่าย

ส่วนในทางรักษาเมื่อรู้ตัวว่าป่วยก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ หลังจากมีไข้หรือสงสัยก็ควรพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย หากติดเชื้อจะได้รับการรักษาได้ทันท่วงที โดยยาต้านไวรัสที่ใช้รักษากันอยู่มีข้อจำกัดซึ่งจะได้ผลจริงๆ ก็ต่อเมื่อผู้ป่วยถูกตรวจพบว่าติดเชื้อนรกนี้แค่ไม่เกิน 2 วันหลังจากนั้นก็เสี่ยงที่จะไม่ได้ผล

กล่าวได้ว่า มาตรการป้องกันและควบคุมรักษาโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่จากนี้ไปจะได้ผลหรือไม่อย่างไรฝากความหวังไว้ที่ “ความรู้ความเข้าใจ” ของประชาชนเป็นหลัก

พวกเรานั่งฟังคุณหมอเล่าอุปสรรคและปัญหาในการดูแลควบคุมโรคก็มีทั้งเห็นด้วยกับคุณหมอพิพัฒน์ในหลายประเด็น แต่บางประเด็นเราก็เรียนกลับไปด้วยความเป็นห่วงว่า เราเห็นการทำงานของรัฐบาลไม่ต่างจากสายตาของชาวบ้านร้านช่องเท่าไหร่นัก คือ เรายังไม่เห็นความจริงใจเอาใจใส่ของรัฐบาลต่อเรื่องนี้

ผมเรียนคุณหมอไปว่า ประชาชนรู้สึกสับสนระหว่าง ‘ข้อเท็จจริง’ และ ‘ความรู้สึก’ เราแทบไม่ได้เห็นการใช้เวลาโทรทัศน์แห่งประเทศไทยช่อง 11 หรือกระทั่ง ทีวีไทย ที่พวกเราจ่ายภาษีให้ปีละหลายพันล้านบาทเป็นเวทีให้ข้อมูล ให้ความรู้เรื่องนี้เลย

เราเห็นแต่ภาพนักการเมืองอาศัยวาระบนความหวาดผวาวิตกกังวลของประชาชนสร้างภาพหาเสียง

เราเห็นแต่ภาพนักการเมืองเยี่ยมดารา เสนอหน้าไปคอนเสิร์ตดังๆ เพียงเพื่อพีอาร์ตัวเอง

ทำไมรัฐบาลไม่ใช้สื่อของตนเองเป็นวาระแก้วิกฤตเรื่องนี้ นั่นเป็นข้อคิดเห็นของเราต่อคุณหมอเลขาฯ คณะกรรมการ อ.ย.

จากนั้นคุณหมอและคณะก็เดินทางกลับ พร้อมกับมอบหน้ากาก และเจลล้างมือให้กอง บก.ได้ใช้งาน...

ผมเห็นหน้ากากแล้วก็อดประหวัดคิดถึงใครคนหนึ่งที่คาดหน้ากากไปตรวจการวิจัยวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2009 เมื่อวันก่อนไม่ได้

ไข้หวัดมรณะระบาดมานานหลายเดือนแล้ว ผมยังไม่เคยเห็นนายกฯ จริงจังในเรื่องนี้ นอกจากนั่งประชุมใน ครม.ตามงานรูทีน ผมยังไม่เคยเห็น คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นั่งหัวโต๊ะกำชับกำกับบัญชาการด้วยตนเองเป็นวาระเร่งด่วนของชาติอย่างแท้จริง

ตรงกันข้ามเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ผมรู้สึกหดหู่แทนญาติผู้เสียชีวิตจากโรคร้ายนี้ แทนผู้ป่วยและผู้จะป่วยอีกหลายรายในวันข้างหน้า เมื่อมองเห็นภาพข่าวในทีวีที่ทำร้ายความรู้สึกกันอย่างแรง

ภาพหนึ่งคุณชวน หลีกภัย ที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์นั่งหัวโต๊ะเป็นประธานประชุมวอร์รูมสู้ภัยไข้หวัดใหญ่ 2009 ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัส คุณชวนไม่ได้มีตำแหน่งในรัฐบาล และเป็นวันเสาร์ที่คนในวัยอย่างท่านควรมีวันพักผ่อนสบายๆ

อีกภาพหนึ่ง เป็นนายกฯ นั่งรถอีแต๋น ผ้าขาวม้าคาดพุงโบกมือหยอยๆ ใบหน้าโปรยยิ้มให้กับประชาชนเสื้อสีน้ำเงินที่มายืนต้อนรับที่ จ.บุรีรัมย์ ตามที่นายเนวิน ชิดชอบ และรมว.โสภณ ซารัมย์ จัดให้

อะไรคือ เรื่องเร่งด่วน อะไรคือ วาระของชาติ? ผมไม่กล้าและบังอาจถามนายกฯหรอกครับ.

ท่านผู้อ่านสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพิ่มเติมได้ที่ เอ็มบล็อก http://mblog.manager.co.th/suwitcha67 หรือ E-mail suwitcha@manager.co.th
กำลังโหลดความคิดเห็น