xs
xsm
sm
md
lg

พธม.ฟ้องกลับตร. : การต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

ในขณะที่ พธม.ทุกคนกำลังรอฟังผลการชี้มูลความผิดของ ป.ป.ช.ในกรณีที่ พธม.ถูกทำร้ายร่างกายให้ได้รับบาดเจ็บ และส่วนหนึ่งได้ถึงแก่ความตาย ว่ามีใครเข้ามาเกี่ยวข้องบ้าง และควรจะได้รับโทษสถานใดอยู่ด้วยใจจดใจจ่อ ด้วยอยากรู้อยากเห็นว่าบ้านนี้เมืองนี้ ประชาชนคนไทยผู้เสียภาษีและร่วมกันปกป้องผลประโยชน์ของประเทศโดยรวม จะได้รับการคุ้มครองป้องกันจากผู้ปกครองประเทศโดยมีกฎหมายเป็นเครื่องมือในการรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง และให้ความเป็นธรรมแก่ทุกคนโดยเสมอภาคตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญอยู่นั้น จู่ๆ พธม.ก็ได้รับข่าวร้ายเมื่อทางเจ้าหน้าที่ตำรวจฟ้อง พธม. 36 คน ด้วยข้อหา “ก่อการร้าย” ในกรณีที่ พธม.กลุ่มหนึ่งได้ไปปิดล้อมสนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิในช่วงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2551

ในทันทีที่ข่าวนี้ปรากฏออกมา ทำให้บรรดาท่านผู้รู้เรื่องกฎหมายหลายคนพากันงงกับข้อหา “ก่อการร้าย” ที่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้ง เพราะพิจารณาดูในแง่ของกฎหมาย และพฤติกรรมที่ พธม.แสดงออกแล้วมองไม่เห็นเหตุและผลอันใดที่จะแปลความได้ว่า การเดินขบวนเรียกร้องทางการเมืองที่ประชาชนทุกคนมีสิทธิกระทำได้ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้ก่อการร้ายได้อย่างไร ถ้าจะมองอย่างตรงไปตรงมาก็ตั้งข้อหาได้อย่างมากก็แค่บุกรุกสถานที่ราชการ และขัดขวางการจราจร ส่วนจะเลยเถิดไปถึงขั้นเป็นผู้ก่อการร้ายนั้น พูดได้เพียงว่าเป็นการตั้งข้อหาที่เกินจริง

และที่พูดเช่นนี้มิได้เป็นการพูดเลื่อนลอย หรือเข้าข้าง พธม.เพราะแม้แต่นายศรีราชา เจริญพานิช เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ยังกล่าวว่า “แม้ว่าการกระทำของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในการยึดสนามบินจะเป็นเรื่องที่ผิด ถือเป็นความเคลื่อนไหวที่เกินขอบเขตของรัฐธรรมนูญ แต่การตั้งข้อหาแกนนำ และแนวร่วมพันธมิตรฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ ถึงขั้นเป็นผู้ก่อการร้ายนั้นถือว่าเกินกว่าเหตุ เพราะพันธมิตรฯ แค่ชุมนุมอยู่ข้างนอก ไม่ได้เข้าไปในศูนย์บังคับการบิน จะถือว่าเป็นการตั้งข้อหาว่าก่อการร้ายไม่ได้ และข้อกล่าวหานี้เป็นข้อกล่าวหาทางการเมือง” นี่เป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างแห่งความเห็นที่ไม่เห็นด้วยกับการตั้งข้อหาก่อการร้าย และถ้ามีการสำรวจความคิดเห็นอย่างเปิดเผยจากคนทั่วๆ ไปที่พอจะมีความรู้เรื่องกฎหมาย ก็คงจะได้คำตอบทำนองเดียวกัน

ด้วยนัยแห่งความเห็นดังกล่าวข้างต้น พอจะทำให้มองเห็นการตั้งข้อหา พธม.ในครั้งนี้ว่ามีเลศนัยบางประการซ่อนเร้นยากที่คนทั่วไปจะเข้าใจได้ง่ายๆ

แต่อย่างไรก็ตาม ถ้ามองให้ลึกลงและกว้างออกไปถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตย้อนหลังไปถึงเหตุการณ์ชุมนุมขับไล่รัฐบาลภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในปลายปี 2548-2549 ก็พอจะมองเห็นสาเหตุแห่งการตั้งข้อหาที่ว่านี้ได้ไม่ยาก ทั้งนี้โดยอาศัยเหตุปัจจัยในเชิงตรรกะดังต่อไปนี้

1. รัฐบาลภายใต้การนำของอดีตนายตำรวจ ย่อมมีสายสัมพันธ์อันดีกับข้าราชการตำรวจในรุ่นเดียวกัน และรุ่นใกล้เคียง ดังนั้นจึงมิใช่เรื่องแปลกที่ข้าราชการตำรวจจะเข้าข้างรัฐบาล และพวกพ้องของรัฐบาลภายใต้การนำของอดีตนายกฯ ทักษิณ โดยอาศัยความเป็นเพื่อน ความเป็นพี่ และความเป็นน้องจากสถาบันเดียวกัน

2. อดีตนายกฯ ทักษิณ นอกจากเคยรับราชการเป็นตำรวจแล้ว ยังเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ มีความร่ำรวยมากพอที่จะใช้เงินเพื่อดึงข้าราชการเกือบจะทุกวงการเข้ามาช่วยเหลือเกื้อกูลเมื่อยามมีความจำเป็นต้องใช้อำนาจรัฐแก้ไขปัญหาให้แก่ตนเองและพวกพ้อง รวมไปถึงการตอบโต้อริศัตรูในทางลับด้วย

จากปัจจัย 2 ประการดังกล่าวข้างต้น เชื่อได้ว่าน่าจะมีส่วนให้แกนนำพันธมิตรฯ ถูกตั้งข้อหารุนแรงเกินกว่าเหตุได้ ส่วนว่าเมื่อตั้งข้อหาแล้วจะได้รับตามนั้นหรือไม่ประการใดนั้น เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรมในขั้นต่อไป นับตั้งแต่อัยการจะสั่งฟ้องตามข้อหานี้หรือไม่ หรือแม้กระทั่งอัยการสั่งฟ้องตามนี้ศาลจะประทับรับฟ้องหรือไม่ หรือแม้จะรับฟ้องจะตัดสินลงโทษหรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่ต้องรอดูกันต่อไป

แต่ที่น่าสังเกตและน่าประหลาดใจเป็นอย่างยิ่งก็คือว่า การเดินขบวนประเทศไหนในโลกที่ไม่ทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนโดยทั่วไปไม่มีให้เห็น จะมีให้เห็นก็เพียงความแตกต่างของประเภทแห่งความเดือดร้อน และความรุนแรงเท่านั้น และที่เป็นเช่นนี้ก็ด้วยเหตุและปัจจัยดังต่อไปนี้

1. โดยปกติแล้วการเดินขบวนเรียกร้องใดๆ จากรัฐบาล ก็จะต้องกดดันให้รัฐบาลเดือดร้อน และพบกับปัญหาบีบคั้นทางการเมืองเพื่อยินยอมทำตามเงื่อนไข

2. การกระทำตามข้อ 1 แน่นอนว่าถ้าเป็นเหตุการณ์ปกติและเป็นการดำเนินการเพื่อประโยชน์ของบุคคลใดบุคคลหนึ่งอันเป็นส่วนน้อยของสังคม ก็จะถูกสังคมส่วนใหญ่หรือโดยรวมลุกขึ้นมาต่อสู้ขับไล่ โดยที่รัฐไม่จำเป็นต้องออกมาจัดการ

แต่ที่การเดินขบวนก่อความเดือดร้อนเฉกเช่นที่ว่านี้ได้ ก็ด้วยคนส่วนใหญ่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยแก่ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการเรียกร้องเกิดขึ้นแก่ส่วนรวมเท่านั้น

เมื่อผลเป็นเช่นนี้ การกระทำผิดเล็กน้อย เช่น ขัดขวางการจราจร หรือแม้กระทั่งบุกรุกสถานที่ราชการ โดยไม่มีการทำลายทรัพย์สิน และทำร้ายร่างกายใครให้ได้รับบาดเจ็บ ดังเช่นกรณีบุกสนามบินของพันธมิตรฯ นั้น น่าจะมองข้ามไม่ถือว่าเป็นความผิดร้ายแรงดังที่ตำรวจตั้งข้อหา แต่ควรจะถือเป็นลหุโทษ เมื่อดูจากเจตนาและวิธีการที่พันธมิตรฯ ได้กระทำ

ไม่ว่าตำรวจจะตั้งข้อหาอย่างไร และพันธมิตรฯ ในฐานะผู้ต้องหาจะแก้ต่างอย่างไร เรื่องนี้ถ้ามองในแง่ของการเมืองแล้วควรจะแก้ด้วยการเมือง ไม่ควรแก้โดยการนำประเด็นทางกฎหมายหรือการนำอำนาจทางนิติศาสตร์มาใช้เพียงอย่างเดียว แต่ควรจะนำเอารัฐศาสตร์มาพิจารณาร่วมด้วย โดยมองที่เจตนาของการเดินขบวนเป็นหลักว่า ทำเพื่ออะไร และมุ่งให้เกิดประโยชน์แก่ใครเป็นที่ตั้ง อย่ามองว่าเป็นการขับไล่บุคคลเพื่อผลประโยชน์ของบุคคลเท่านั้น แต่ให้มองว่าเป็นการขับไล่ตัวการที่ก่อความเดือดร้อนให้แก่ประเทศชาติโดยรวม และต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลง โดยนำสิ่งที่ดี บุคคลที่ดีมาแทน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ในทางที่ดี หรือไม่ดีกว่าก็ไม่ควรจะเลวเท่าเดิม

ด้วยเหตุที่ว่ามานี้ การที่พันธมิตรฯ จะฟ้องกลับตำรวจถือได้ว่าเป็นการต่อสู้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในสังคมนั่นเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น