xs
xsm
sm
md
lg

บ้านเมืองคล้ายกับกำลังล่มสลาย?

เผยแพร่:   โดย: สิริอัญญา

วันหยุดยาวหลายวัน พอมีเวลาได้หยิบหนังสือหนังหาเก่าๆ มาอ่าน และเกิดความสะดุดใจในหนังสือมูลบทบรรพกิจ ซึ่งเป็นแบบเรียนภาษาไทยที่ได้เรียบเรียงแต่งขึ้นไว้ในสมัยรัชกาลที่ 6 โดยพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย)

หนังสือแบบเรียนภาษาไทยที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในยุคนั้นและยุคหลังลงมา จนถึงราวพุทธศักราช 2490 ก็คือหนังสือมูลบทบรรพกิจนี้ โดยมีเรื่องที่เป็นแบบเรียนรวมอยู่ด้วยกันหลายเรื่อง

ในบทเรียนเกี่ยวกับการผสมอักษรสระในภาษาไทย ตั้งแต่แม่ ก.กา ถึงแม่เกย ได้รวบรวมเรียบเรียงเอาเรื่องราวที่แต่งไว้ในอดีตและในยุคสมัยนั้นแล้วตั้งขึ้นเป็นตัวอย่างเป็นแบบเรียนในการสอนภาษาไทยแก่เด็กๆ และหนึ่งในนั้นก็คือเรื่องกาพย์พระไชยสุริยา

เรื่องกาพย์พระไชยสุริยานี้ผู้แต่งคือสุนทรภู่ ได้แต่งขึ้นไว้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 แต่มารวบรวมเรียบเรียงเข้าเป็นแบบการเรียนการสอนภาษาไทยในสมัยรัชกาลที่ 6 โดยเป็นที่น่าสังเกตว่าสุนทรภู่นั้นมีความถนัดจัดเจนในการแต่งบทกวีที่เป็นกลอนแปด

แต่สำหรับเรื่องกาพย์พระไชยสุริยานั้น ได้แต่งขึ้นเป็นฉันทลักษณ์ที่เรียกว่ากาพย์ โดยว่ากันว่าเนื้อหาของเรื่องนี้ได้ผูกขึ้นโดยแฝงปริศนาคำทำนายทายทักเกี่ยวกับความเป็นไปของบ้านเมืองในกาลข้างหน้า

เป็นผลจากการที่สุนทรภู่ได้เสวนาคบหาและสนทนาในทางโหราศาสตร์กับพระมหาเถระองค์สำคัญในยุคนั้น จึงได้ทราบคำพยากรณ์ความเป็นไปในบ้านเมือง แต่ไม่อาจเขียนเป็นคำพยากรณ์โดยเปิดเผยได้ จึงได้แฝงไว้เป็นปริศนาในกาพย์พระไชยสุริยานี้เอง

เรื่องกาพย์พระไชยสุริยานั้นมีหลายตอน ตอนแรกเป็นแบบการเรียนการสอนแม่ ก.กา และในตอนนี้เองที่ว่ากันว่าได้แฝงปริศนาคำพยากรณ์ความเป็นไปของบ้านเมืองในกาลข้างหน้า

กาพย์พระไชยสุริยาตอนที่ใช้เป็นแบบการเรียนการสอนแม่ ก.กา นั้นมีเนื้อหา 3 ตอน เป็นเรื่องของห้วงระยะเวลา 3 ระยะ คือ

ระยะแรก เป็นห้วงระยะเวลาที่บ้านเมืองเจริญรุ่งเรือง ขุนนางข้าราชการตั้งตนอยู่ในสัตย์ในธรรม และราชอาณาจักรเป็นศูนย์กลางการค้ากับหลายภูมิภาค การทำมาค้าขายเจริญรุ่งเรือง บ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุข ไม่มีโจรผู้ร้ายหรือการเบียดเบียนข่มเหงกัน การทำมาหากินอุดมสมบูรณ์ ราษฎร์มีความมั่งคั่งและเป็นสุขถ้วนหน้า

กาพย์พระไชยสุริยาตอนนี้พรรณนาไว้ว่า

          “จะร่ำคำต่อไป             พอล่อใจกุมารา
ธรณีมีราชา                           เจ้าพาราสาวะถี
          ชื่อพระไชยสุริยา         มีสุดามเหสี
ชื่อว่าสุมาลี                            อยู่บูรีไม่มีภัย
          ข้าเฝ้าเหล่าเสนา           มีกิริยาอัชฌาสัย
พ่อค้ามาแต่ไกล                     ได้อาศัยในพารา
           ทำไร่เขาไถนา            ได้ข้าวปลาและสาลี”


ระยะที่สอง เป็นระยะที่คนชั่วมีอำนาจในบ้านเมือง คนดีไม่มีอำนาจในบ้านเมือง นักการเมืองและข้าราชการพากันฉ้อราษฎร์บังหลวงและมั่วสุมในกาม จนกระฉ่อนบ้านกระฉ่อนเมือง การโกงบ้านผลาญเมืองเป็นไปอย่างครึกโครม ได้ทรัพย์สินจากการทุจริตมาก็แอบไปฝากไปฝังไว้ในชื่อลูกชื่อเมียและญาติโกโหติกา

ในยุคที่สองนี้พระศาสนาเสื่อมโทรมลง ผู้คนพากันไปหลงใหลในวิชาไสยและการทรงเจ้าเข้าผี ตลอดจนการเก็งกำไรบุญ ผู้มีอำนาจสั่งสมบริวารชั่วทำการฉ้อฉลคนยากคนจน และข่มเหงทำร้ายคนยากคนจนถ้วนหน้า

กระบวนการยุติธรรมถูกทำลายลง ผิดถูกชั่วดีเลอะเลือนสูญหาย ขึ้นอยู่กับแรงสินบาทคาดสินบน ใครติดสินบาทคาดสินบนก็พ้นผิด คนผิดจึงลอยนวล คนดีกลับถูกกลั่นแกล้งใส่ร้ายลงโทษ

บรรดาคนดีทั้งหลายที่ยึดถือความสัตย์สุจริตถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกโง่เง่าเต่าตุ่น ผู้อาวุโสก็ถูกตำหนิติเตียนว่าเป็นคนบ้าบอคอแตก พระสงฆ์ก็ละเลยพระธรรมวินัย หันไปใช้การแหล่และร้องเพลงแทนการเทศนาอบรมสั่งสอนเวไนยสัตว์

คำสั่งสอนและประเพณีแต่โบราณถูกละเมิด บ้านเมืองเต็มไปด้วยคนหัวไม้ ขี้ฉ้อตอแหล เจ้าเล่ห์สับปรับ ไม่มีใครใส่ใจหรือเข้าใจใคร ต่างคนต่างถือเอาแต่ใจตนเองเป็นใหญ่

บรรดาผู้คุมกำลังก็ใช้อำนาจบาตรใหญ่ทำการทั้งปวงตามความพอใจ และไม่มีใครว่ากล่าวตักเตือนใครได้เลย

การฉ้อราษฎร์บังหลวงและการปล้นชาติปล้นแผ่นดินลุกลามไปทั่ว ใครมือยาวสาวได้สาวเอา ประชาชนชอกช้ำระกำใจ และถูกใช้อำนาจรัฐข่มเหงยำเยงทั่วทั้งแผ่นดิน

ปรากฏการณ์ที่เป็นผลมาจากคนชั่วมีอำนาจในบ้านเมือง คนดีไม่มีอำนาจในบ้านเมืองในระยะที่สองนี้ กาพย์พระไชยสุริยาพรรณนาไว้ว่า

          “อยู่มาหมู่ข้าเฝ้า                  ก็หาเยาวนารี
ที่หน้าตาดีดี                                 ทำมโหรีที่เคหา
          ค่ำเช้าเฝ้าสีซอ                  เข้าแต่หอล่อกามา
หาได้ให้ภริยา                             โลโภพาให้บ้าใจ

          ไม่จำคำพระเจ้า                   เหไปเข้าภาษาไสย
ถือดีมีข้าไท                                ฉ้อแต่ไพร่ใส่ขื่อคา

           คดีที่มีคู่                            คือไก่หมูเจ้าสุภา
ใครเอาข้าวปลามา                       เจ้าสุภาก็ว่าดี
           ที่แพ้แก้เป็นชนะ               ไม่ถือพระประเวณี
ขี้ฉ้อก็ได้ดี                                  ไล่ด่าตีมีอาญา

           ที่ซื่อถือพระเจ้า                   ว่าโง่เง่าเต่าปูปลา
ผู้เฒ่าเหล่าเมธา                              ว่าใบ้บ้าสาระยำ
           ภิกษุสมณะ                       เล่าก็ละพระสธรรม
คาถาว่าลำนำ                               เที่ยวเร่ร่ำทำเฉโก

           ไม่จำคำผู้ใหญ่                    ศีรษะไม้ใจยะโส
ที่ดีมีอะโข                                     ข้าขอโมทนาไป
            พาราสาวะถี                     ใครไม่มีปรานีใคร
ดุดื้อถือแต่ใจ                                ทีใครได้ใส่เอาพอ
            ผู้ที่มีฝีมือ                         ทำดุดื้อไม่ซื้อขอ
ไล่คว้าผ้าที่คอ                               อะไรล่อก็เอาไป

            ข้าเฝ้าเหล่าเสนา                  มิได้ว่าหมู่ข้าไท
ถือน้ำร่ำเข้าไป                              แต่น้ำใจไม่นำพา
            หาได้ใครหาเอา                 ไพร่ฟ้าเศร้าเหล่าอุรา
ผู้ที่มีอาญา                                    ไล่ตีด่าไม่ปรานี”


ระยะที่สาม เป็นระยะล่มสลายเพราะผลจากกรรมอันอุบาทว์ลามกที่บังเกิดขึ้นในบ้านเมือง ทำให้บ้านเมืองบอบช้ำ เสื่อมโทรม เสื่อมทรุด และในที่สุดก็ล่มสลายด้วยแรงกรรม

ในระยะที่สามนี้จะมีโรคห่าสารพัดมาคร่าชีวิตมนุษย์จนผู้คนล้มตายลงเป็นเบือ สมทบด้วยมีน้ำท่วมครั้งใหญ่ บ้านเมืองจมหายไปในน้ำ คนทั้งหลายต้องพากันหนีออกจากเมืองเอาตัวรอด

กาพย์พระไชยสุริยาตอนนี้พรรณนาความไว้ว่า

         “ผีป่ามากระทำ            มรณกรรมชาวบุรี
น้ำป่าเข้าธานี                       ก็ไม่มีที่อาศัย
         ข้าเฝ้าเหล่าเสนา          หนีไปหาพาราไกล
ชีบาล่าลี้ไป                          ไม่มีใครในธานี”


วิบากกรรมที่ทำไว้กับบ้านเมืองจึงบังเกิดเป็นสรรพวิบัติ สรรพโรค สรรพอุบาทว์ สรรพวินาศ และสรรพภัย จนผู้คนล้มหายตายจาก บ้านเรือนทรัพย์สินเสียหายสิ้น ผู้คนที่เหลือต้องอพยพหลบหนีภัยออกไปอยู่เมืองอื่น

ลองดูเอาเถิดว่าเหตุการณ์อันเป็นไปในบ้านเมืองของเราในวันนี้คล้ายหรือเหมือนกับความอันพรรณนาไว้ในกาพย์พระไชยสุริยาหรือไม่? แล้วเราจะทำอย่างไรกันดี?

ก็ไม่มีทางอื่นหรอก คนไทยต้องอยู่ในผืนแผ่นดินไทย ต้องปักหลักรวมจิตรวมใจ กำจัดคนชั่ว ล้างบ้านล้างเมืองให้สะอาด จึงจะพิทักษ์รักษาบ้านเมืองไว้ให้ลูกหลานดังปณิธานของบรรพบุรุษไทยสืบไป.
กำลังโหลดความคิดเห็น