xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯปฏิเสธ"ไฟเขียว"ยิวโจมตีอิหร่าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี - รัฐบาลสหรัฐฯ ออกมาปฏิเสธในวันจันทร์ (6) ว่าไม่ได้ให้ไฟเขียวแก่อิสราเอลในการโจมตีอิหร่าน และไม่ได้กำลังพิจารณาเปลี่ยนแปลงแผนการเข้าคบค้าพัวพันในทางการทูตกับสาธารณรัฐอิสลามแห่งนี้แต่อย่างใด ในขณะที่อิหร่านยืนยันจะตอบโต้การโจมตีที่จะเกิดขึ้น "อย่างเด็ดเดี่ยวและเจ็บปวด"
อาลี ลาร์ริจานี ประธานรัฐสภาของอิหร่าน ซึ่งเคยเป็นผู้แทนของประเทศในการเจรจาเรื่องนิวเคลียร์ด้วย ได้กล่าวเตือนว่า เตหะรานจะถือเป็นความรับผิดชอบของสหรัฐฯ หากอิหร่านถูกโจมตี เพราะเมื่อวันอาทิตย์(5) โจ ไบเดน รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ระบุว่าสหรัฐฯ จะไม่เข้าไปบงการว่าอิสราเอลจะดำเนินการกับโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านอย่างไร
ลาร์ริจานีกล่าวในระหว่างเยือนกาตาร์ว่า อิหร่าน "จะถือว่าชาวอเมริกันจะต้องรับผิดชอบหากอิสราเอลใช้กำลัง" เพราะอิหร่านเห็นว่าอิสราเอลจะไม่มีทางลงมือ "หากไม่ได้รับไฟเขียว" จากสหรัฐฯ และเขายังเตือนด้วยว่าอิหร่านจะตอบโต้การโจมตีด้วยการกระทำที่ "เด็ดเดี่ยวและสร้างความเจ็บปวดอย่างยิ่ง"
ทว่า เอียน เคลลี โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวถึงคำพูดของไบเดนว่า ถึงแม้จะดูเหมือนเป็นการเปิดไฟเขียวให้อิสราเอลโจมตีอิหร่าน แต่ "ผมไม่ต้องการเห็นการให้ไฟเขียวกับการใช้กำลังทหารไม่ว่าจะรูปแบบใดๆ อย่างแน่นอน"
อย่างไรก็ตาม เขาพูดย้ำประเด็นของไบเดนที่ว่าสหรัฐฯ ถือว่าอิสราเอลเป็น "ประเทศที่มีอธิปไตย" จึงมีสิทธิที่จะตัดสินใจในเรื่องการทหารด้วยตนเอง
"เราจะไม่เข้าไปแทรกแซงการดำเนินการใดๆ ของอิสราเอล" เคลลีเสริม "และเราสนับสนุนให้เกิดความมั่นคงในอิสราเอล เราเข้าใจถึงความวิตกกังวลอย่างมากของอิสราเอลเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน"
ทั้งนี้ในวันอาทิตย์ (5) ไบเดนให้สัมภาษณ์เครือข่ายโทรทัศน์เอบีซีว่า "อิสราเอลสามารถตัดสินใจได้เองในเรื่องผลประโยชน์ของประเทศ รวมทั้งเรื่องที่เกี่ยวกับอิหร่านหรือประเทศอื่น เพราะอิสราเอลเป็นประเทศที่มีอธิปไตยประเทศหนึ่ง"
"เราไม่สามารถเข้าไปสั่งการใดๆ ในประเทศที่มีอธิปไตยว่าเขาจะต้องทำอะไรหรือไม่ทำอะไร ถ้าหากประเทศนั้นๆ ตัดสินใจแน่วแน่แล้วว่าตนเองกำลังเผชิญกับภัยคุกคามอยู่" ไบเดนเสริม
แต่พลเอกไมค์ มุลเลน ประธานคณะเสนาธิการทหารผสมของสหรัฐฯ ก็ให้สัมภาษณ์ในวันเดียวกันว่า การโจมตีอิหร่านด้วยกำลังทหารจะเป็นอันตราย แม้ว่าทางเลือกการตัดสินใจดังกล่าวจะไม่ควรตัดทิ้งไปก็ตาม
ส่วนประธานาธิบดีบารัค โอบามา กล่าวว่าเขาต้องการเห็นความคืบหน้าในการใช้วิธีการทางการทูตกับอิหร่านภายในสิ้นปีนี้ แม้ว่าจะไม่ได้ยกเลิกแนวคิดที่จะใช้ "มาตรการตามลำดับ" กับอิหร่าน ซึ่งรวมทั้งการเพิ่มการคว่ำบาตรหากอิหร่านยังคงเดินหน้าโครงการนิวเคลียร์ต่อไป
ขณะที่นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล ซึ่งเป็นผู้นำสายเหยี่ยว ก็ระบุเช่นกันว่า อิสราเอลไม่ได้ตัดทิ้งแนวคิดที่จะใช้กำลังทหารโจมตีอิหร่าน
อย่างไรก็ตาม ไตรตา ปาร์ซี ประธานสภาแห่งชาติชาวอเมริกันเชื้อสายอิหร่าน วิจารณ์คำพูดของไบเดนว่า "ไม่ได้เป็นประโยชน์กับผู้ที่กำลังพยายามแสวงหาวิธีการเปลี่ยนแปลงอย่างสันติในอิหร่าน"
แต่เขาระบุด้วยว่าการตีความคำพูดของไบเดนว่า เป็นการเปลี่ยนทิศทางนโยบายก็เป็นสิ่งที่ไม่ถูกเช่นกัน แม้ว่ารัฐบาลสหรัฐฯ จะมีแผนการรับมือกับสถานการณ์ในปัจจุบัน "อย่างขึงขังขึ้น" ก็ตามที
ส่วนซูซาน แมโลนีย์ อดีตผู้เชี่ยวชาญด้านอิหร่านประจำกระทรวงการต่างประเทศ เห็นว่าคำพูดของไบเดนไม่ใช่เรื่องใหม่ และไม่ได้เป็นการส่งสัญญาณว่าสหรัฐฯ จะมีการปรับทิศทางนโยบายแต่อย่างใด
กำลังโหลดความคิดเห็น