xs
xsm
sm
md
lg

วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา – หยุดยาว!

เผยแพร่:   โดย: แสงแดด

“ปิดยาวกันอีกแล้วครับท่าน!” ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 4 กรกฎาคม ทอดยาวจนมาถึงวันนี้ คือวันพุธที่ 8 กรกฎาคม ปิดยาว 5 วันเต็มๆ ส่วนภาคเอกชนเริ่มทำงานวันนี้วันแรกแล้ว แต่ฟันธงได้เลยว่า จะมีผู้คนจำนวนมากฉวยโอกาส “ขอลาป่วย-ลากิจ” หรือ “โดดร่ม” หยุดยาวต่ออีก 2-3 วัน สิริรวมหยุดลากยาวถึง 9 วัน

ในกรณีดังกล่าวข้างต้น “แสงแดด” รำพึงรำพันมาโดยตลอดว่า “การหยุดยาว” ในลักษณะเช่นนี้ ต้องยอมรับความจริงว่า “ไม่ได้ก่อให้เกิดผลดีกับด้านการผลิตและผลงานใดๆ เลย” หรือเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า ไม่ก่อให้เกิด “Productivity” เนื่องด้วยทุกกิจกรรมและภารกิจหยุดหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ระบบการเงิน-การธนาคาร” ที่อย่างน้อย ไม่สามารถก่อให้เกิดธุรกรรมได้อย่างน้อยก็ 4 วันเต็มๆ

อย่างไรก็ตาม การหยุดงานยาวเช่นนี้ถึงหนึ่งสัปดาห์หรือ 10 วัน ก็เกิดขึ้นเช่นเดียวกัน ไม่ว่าในประเทศญี่ปุ่น ประเทศจีน หรือแม้กระทั่งในกลุ่มประเทศแถบสหภาพยุโรป แม้กระทั่งสหรัฐอเมริกา เพียงแต่ว่า ประเทศต่างๆ เหล่านี้ ไม่ค่อยมีการหยุดยาวปีละหลายครั้งอย่างบ้านเรา ที่ต้องขอเสียมารยาทกล่าวตามตรงว่า “เยอะมาก!” ในต่างประเทศสูงสุดก็เป็นเพียงปีละไม่เกิน 2 ครั้งเท่านั้น

ปิดยาวมาแล้วประมาณ 4 วัน แถมวันนี้อีก 1 วันสำหรับข้าราชการ แต่ขอย้ำอีกครั้ง เชื่อเถอะว่า ต้องมีผู้คนจำนวนมากพอสมควร “ขี้เกียจ-โดดร่ม” ทอดยาวจนถึงวันอาทิตย์ที่ 12 กรกฎาคม อย่างแน่นอน

ทั้งนี้ ยังโชคดีที่สภาวะเศรษฐกิจไม่ค่อยดีเลิศประเสริฐศรีมากมายนัก “ผลผลิต-ผลิตผล (Productivity)” จึงอาจไม่มีความจำเป็น ที่ไม่ว่าจะเร่งสร้างกันอย่างไร ก็คงไม่เกิดมรรคผลมากมายนัก แต่ถึงอย่างไรก็ดี การปฏิบัติงานโดยหลักการแล้ว “ฟันเฟือง-กลไก” ที่จำต้องเดินเครื่องในเชิงบริหารจัดการอยู่ตลอดเวลา เนื่องด้วย “การบริหารจัดการองค์กร” เป็น “งานกิจวัตร (Routine)” ไม่ว่าภาครัฐหรือภาคเอกชน จะต้องมีความต่อเนื่อง พูดง่ายๆ คือ “หยุดไม่ได้” ทั้งในด้านการบริหารงานบุคคล งบประมาณ การประสานงาน การติดต่อสื่อสาร เนื่องด้วยเป็นกิจกรรมประจำวันที่ต้องดำเนินการอยู่ตลอดเวลา

บ้านเมืองเราเป็นบ้านเมืองที่มี “กิจกรรมประเพณี” อยู่ตลอดเวลาแทบทั้งปีและทุกเดือน เนื่องด้วยประเทศไทยเป็นประเทศที่มีวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ยาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “สถาบันหลักของชาติ” ทั้งทางด้านสถาบันพระมหากษัตริย์ สถาบันศาสนา และสถาบันชาติ ที่ปัจจุบัน “ประชาชน” เริ่มมีบทบาทมากขึ้นกว่าเดิม

ประเด็นสำคัญ “พระราชพิธี” และ “ประเพณีเก่าแก่” ของไทยที่สืบทอดกันมายาวนาน ยังคงสามารถเรียกได้ว่า “จารีตประเพณี” ซึ่งคนไทยทุกระดับชั้นยึดถือเชื่อมั่น ปฏิบัติกันมานับหลายร้อยปี เริ่มตั้งแต่สมัยสุโขทัย สมัยกรุงศรีอยุธยา และสมัยรัตนโกสินทร์

ทั้งนี้ ถ้าเราลองศึกษาและพินิจพิจารณาในทางกลับกัน น่าจะดีใจเสียด้วยซ้ำว่า “พิธีกรรม” ต่างๆ เหล่านี้ ล้วนมีความสำคัญและความหมายอย่างมากกับสังคมวัฒนธรรมไทย ทั้งๆ ที่ปัจจุบัน สังคมยุคใหม่จะเปลี่ยนแปลงไป “คนรุ่นใหม่” อาจจะไม่ปลื้มกับพิธีกรรมโบราณเดิมๆ ที่ยึดถือปฏิบัติกันมาช้านาน แต่ก็ยังแน่นอนที่มี “วันหยุด” กันทีไรก็จะพลอย “เฮโรโสระพา” กับเขาด้วย

ในกรณีของ “วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา” นั้น ยิ่งเป็นปัญหาใหญ่มากขึ้นทุกวัน เนื่องด้วยคนรุ่นใหม่ไม่สามารถรู้และเข้าใจได้เลยว่า วันสำคัญทางพระพุทธศาสนามีวันอะไรบ้าง โดยไม่ต้องไปกล่าวถึง “การอธิบาย” ถึงความสำคัญของวันต่างๆ เหล่านั้น

แต่ในส่วนของ “วันเฉลิมพระชนมพรรษา” คนไทยทุกคนทุกรุ่นทุกเพศทุกวัย จะรู้และตระหนักดี พร้อมอธิบายได้ ซึ่งในกรณีนี้ ยังนับว่าเป็นโชคและบุญของสังคมไทย ที่คนไทยถ้วนหน้ายังสามารถอธิบายได้

ส่วนวันสำคัญทางพระพุทธศาสนานั้น ทั้ง “วันวิสาขบูชา-วันมาฆบูชา-วันอาสาฬหบูชา” ยังต้องอธิบายกันทุกปี แม้กระทั่ง “แสงแดด” เองยังต้องทบทวนทุกครั้งในการเขียนบทความ และ/หรืออธิบายถึงที่มาที่ไป กระนั้นก็ดี จะไปเอาอะไรกับบุคคลสามัญธรรมดาทั่วไป

ในกรณีของการเรียนรู้สำหรับวันสำคัญทางพระพุทธศาสนานั้น ทางกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงวัฒนธรรม ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเริ่มกำหนดเป็นนโยบายและแผนปฏิบัติงานอย่างจริงจังกับ “การเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ” เกี่ยวกับ “ประวัติศาสตร์” และ “วัฒนธรรม-ขนบธรรมเนียมประเพณี” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “วันสำคัญ” ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ “สถาบันหลัก” ของชาติ

ดังนั้น ก็ขอเริ่มด้วยวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่ผ่านมาคือ “วันอาสฬหบูชา” และ “วันเข้าพรรษา” ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร ตลอดจนนัยความหมายตลอดจนกิจกรรมที่ต้องปฏิบัติในวันสำคัญสองวันที่ผ่านมา เผื่อปีหน้าจะได้เรียนรู้กันได้

“วันอาสาฬหบูชา” หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ หรือเดือน 8 เนื่องในโอกาสคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระศาสนาครั้งแรก โดยแสดงปฐมเทศนา คือ ธัมมจักรกัปปวัตนสูตรเป็นผลให้เกิดมีพระสาวกรูปแรกขึ้นในพระพุทธศาสนา จนถือว่า เป็นวันแรกที่มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ครบเป็นองค์พระรัตนตรัย

พระพุทธเจ้า ทรงแสดงปฐมเทศนา (เทศกัณฑ์แรก) เนื้อหาว่าด้วยทางสายกลาง (มัชฌิมาปฏิปทา) นำไปสู่การบรรลุนิพพาน ฤาษีโกณฑัญญะ ได้บรรลุโสดาปัตติผล แล้วทูลขอบวชเป็นพระสาวกรูปแรกที่เป็นประจักษ์พยานในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในบรรดาประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา ที่ประกาศให้มีวันอาสาฬหบูชาและถือปฏิบัติมาจนกระทั่งปัจจุบัน

วันอาสาฬหบูชา ย่อมาจากคำว่า อาสาฬหบูรณมีบูชา แปลว่า การบูชาพระในวันเพ็ญเดือน 8 ถ้าปีใดมีเดือน 8 สองครั้ง ก็จะเลื่อนไปเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 หลัง

วันนี้ในครั้งพุทธกาลกว่า 2,500 ปีมาแล้ว เป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงปฐมเทศนา โปรดพระปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน กรุงพาราณสี ชื่อ ธัมมจักรกัปปวัตนสูตร ซึ่งมีอริยสัจ 4 หรือ ความจริงอันประเสริฐ 4 ประการได้แก่ 1. ทุกข์ ความไม่สบาย ไม่สบายใจ 2. สมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์ 3. นิโรธ ความดับทุกข์ 4. มรรค ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

กิจกรรมที่ควรปฏิบัติ 1. ร่วมทำบุญใส่บาตรและฟังเทศน์ที่วัดตอนเช้า 2. ในตอนเย็นและค่ำ พระภิกษุสามเณร ฆราวาสประชุมร่วมกันที่หน้าพระอุโบสถ ถือดอกไม้ธูปเทียนประนมมือสำรวมจิตเดินเวียนขวา 3. ประดับธงชาติ

“วันเข้าพรรษา” แปลว่า “พักฝน” หมายถึง พระภิกษุสงฆ์ต้องอยู่ประจำ ณ วัดใดวัดหนึ่งระหว่างฤดูฝน มีหน้าที่ต้องจาริกโปรดสัตว์ เผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนให้แก่ประชาชน พระพุทธเจ้าทรงวางระเบียบจำพรรษาพระภิกษุตลอด 3 เดือน ในฤดูฝน คือ เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี ถ้าปีใดมีเดือน 8 สองครั้ง ก็เลื่อนมาเป็นวันแรม 1 ค่ำ เดือนแปดหลัง และออกพรรษาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เว้นแต่มีกิจธุระเจ้าเป็นซึ่งเมื่อเดินทางไปแล้วไม่สามารถจะกลับได้ในเดียว ก็อนุญาตให้ไปแรมคืนได้คราวหนึ่งไม่เกิน 7 คืน เรียกว่า สัตตาหะ หากเกินกำหนดถือว่าไม่ได้รับประโยชน์แห่งการจำพรรษา จัดว่าพรรษาขาด

กิจกรรมในวันเข้าพรรษา 1.ร่วมกิจกรรมทำเทียนจำนำพรรษา 2. ร่วมกิจกรรมถวายผ้าอาบน้ำฝนและจตุปัจจัยแก่ภิกษุสามเณร 3.ร่วมทำบุญตักบาตรฟังธรรมเทศนารักษาอุโบสถศีล 4. อธิษฐานงดเว้นอบายมุขต่างๆ

ทีนี้เราคงรู้และเข้าใจกันแล้ว เพราะฉะนั้นจึงมีความจำเป็นต้องเก็บบทความนี้เอาไว้ศึกษาต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น