xs
xsm
sm
md
lg

ติวเตอร์ออนไลน์โดนใจวัยโจ๋ ทางเลือกใหม่สังคมบ้าเรียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สำหรับครูที่ไม่เคยเห็นหน้าค่าตาลูกศิษย์ และสอนผ่านอินเทอร์เน็ต ต้องถือว่าวูเฮียงชอล ทำเงินได้มากโขกับรายได้ต่อปี 4 ล้านดอลลาร์
วูไม่ได้สังกัดสถาบันใดที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบการศึกษาอย่างเป็นทางการ แต่ครูวัย 46 ปีผู้นี้เป็นติวเตอร์คณิตศาสตร์โรงเรียนกวดวิชาที่เก่งที่สุดคนหนึ่งในเกาหลีใต้ ประเทศที่หมกมุ่นเรื่องการเรียน โดยห้องเรียนบนเว็บของวูเป็นที่รู้จักแพร่หลายในหมู่วัยรุ่นที่เตรียมตัวเอนทรานซ์ เรียกว่าดังพอๆ กับรายการทีวีน้ำเน่าเลยทีเดียว
“ครูตามโรงเรียนมักกังวลกับการปลุกปั้นคนดีของสังคม แต่เราเน้นที่การทำให้นักเรียนทำคะแนนสอบได้ดีที่สุดภายในเวลาสั้นๆ นี่เองที่ทำให้เราเป็นที่ต้องการและเป็นที่นิยมแบบนี้” วูที่มีรายได้มากกว่านักเบสบอลระดับท็อปส่วนใหญ่ของแดนกิมจิบอก
วูเป็นหนึ่งในติวเตอร์ที่มีเพียงสิบกว่าคนที่ร่ำลือกันว่าช่วยให้ลูกศิษย์สอบได้คะแนนมากที่สุด
รายได้ของติวเตอร์เหล่านี้มาจากห้องเรียนออนไลน์ที่เข้าถึงได้ง่ายดายอย่างยิ่งในหนึ่งในประเทศที่เชื่อมโยงเครือข่ายไอทีทั่วถึงที่สุดในโลก ที่ซึ่งครัวเรือน 90% มีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงใช้กัน
วัยรุ่นเกาหลีใต้ส่วนใหญ่อยู่ในห้องเรียนวันละอย่างน้อย 10-12 ชั่วโมง เพื่อเตรียมตัวสอบเอนทรานซ์เข้าสู่มหาวิทยาลัยชื่อดัง เพราะเท่ากับเป็นใบเบิกทางสู่หน้าที่การงานที่ดี รวมถึงโอกาสดีๆ ในการเลือกคู่
ปีที่แล้ว นักเรียนราว 3 ใน 4 สมัครเรียนพิเศษหลังเลิกเรียน สำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า ผู้ปกครองหมดเงินไปกับโรงเรียนกวดวิชาและติวเตอร์ถึง 20.9 ล้านล้านวอน (16,330 ล้านดอลลาร์)
สำหรับห้องเรียนของวู มีนักเรียนจ่ายเงินเพื่อเข้าเรียนราว 50,000 คน
ความที่มีทั้งอารมณ์ขัน พูดจาตรงไปตรงมา ดุในบางครั้ง และที่สำคัญที่สุดชี้แนะวิธีหาคำตอบที่ถูกต้องสำหรับโจทย์เลขยากๆ ในข้อสอบเอนทรานซ์ จึงทำให้วูเป็นติวเตอร์ป๊อปปูลาร์ของนักเรียนออนไลน์
“ผมคิดว่าผมมั่นใจในตัวเขาได้จนถึงวันสอบ” ลูกศิษย์คนหนึ่งโพสต์ในเว็บ
ห้องเรียนออนไลน์ที่มีค่าใช้จ่ายถูกกว่าโรงเรียนกวดวิชา กลายเป็นส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่ายด้านการศึกษามาตรฐานที่พ่อแม่ต้องยอมเสีย
กระนั้น มีเสียงวิจารณ์ว่าความที่ติวเตอร์ออนไลน์มุ่งทำให้เด็กเอนทรานซ์ผ่าน เด็กจึงขาดแคลนทักษะในการวิเคราะห์ เช่น ในวิชาภาษาอังกฤษนั้น นักเรียนอาจทำข้อสอบไวยากรณ์ได้ดีกว่าคะแนนด้านการพูด
ระบบการศึกษาที่เต็มไปด้วยความกดดันยังถูกกล่าวหาว่าทำให้เกาหลีใต้มีอัตราการเกิดต่ำที่สุดในบรรดาประเทศพัฒนาแล้ว เพราะมีส่วนผลักดันให้บางคน โดยเฉพาะผู้ชายซึ่งเป็นช้างเท้าหน้าที่ต้องหาเลี้ยงครอบครัว เลือกที่จะไม่มีลูกเพื่อตัดค่าใช้จ่ายในการเล่าเรียน ซึ่งสำหรับบางคนถูกหว่านล้อมและกดดันจากภรรยาให้ส่งลูกไปเรียนเมืองนอกด้วยซ้ำ
“การเรียนตอนดึกอาจนำไปสู่ปัญหามากมาย รวมถึงการอดนอนที่ทำให้ประสิทธิภาพการเรียนรู้ลดลง และปัญหาสุขภาพ” วูอ็อกยัง จากกลุ่มปกป้องสิทธิ์เยาวชน เฮลท์ เอดูเคชัน ฟอรัม วิพากษ์
ในชุดมินิสเกิร์ต เสื้อตามแฟชั่นและรองเท้าบูต โรส ลี ดูคล้ายนักศึกษามหาวิทยาลัยมากกว่าหนึ่งในอาจารย์สอนภาษาอังกฤษที่มีรายได้สูงที่สุดในเกาหลีใต้
ลีที่เรียกตัวเองว่า ‘ราชินีภาษาอังกฤษ’ แต่ขอให้นักข่าวสัมภาษณ์เป็นภาษาเกาหลี คาดว่าจะทำรายได้ปีละกว่า 7 ล้านดอลลาร์ ส่วนใหญ่จากห้องเรียนออนไลน์
“เพราะประเทศเราขาดแคลนทรัพยากร พ่อแม่จึงรู้สึกว่าการศึกษาเป็นสิ่งที่ดีสุดที่จะมอบให้ลูก”
ลีไม่ค่อยมีเวลาใช้จ่ายเงินที่หามาได้มากนัก และบอกว่ารายได้ที่เธอมีอาจขึ้นหรือลงได้ง่ายๆ ในโลกที่ต้องพึ่งพิงการตอบรับของวัยรุ่นที่รู้กันว่าแปรปรวนเอาแน่นอนไม่ได้
“สงสัยว่าปาร์ตี้ของฉันคงต้องเริ่มหลังปลดเกษียณ”
กำลังโหลดความคิดเห็น