xs
xsm
sm
md
lg

ขนส่งผ่านน้ำโขงวูบ-ออเดอร์จีนหาย เรือสินค้าจอดสนิทร่วมครึ่งร้อย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ออเดอร์จากจีนหายต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 51 ทำให้เรือสินค้าจำนวนมาก ต้องจอดรอสินค้าหน้าท่าเรือเชียงแสน
เชียงราย – ออเดอร์จีนหายต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 51 ล่าสุดกระทบธุรกิจเดินเรือในแม่น้ำโขง ต้องจอดรอสินค้าหน้าท่าเรือเชียงแสนหลายสิบลำ หนีปัญหาขนส่งสินค้าขาเดียว ชิปปิ้งชายแดนเชียงแสนครวญเป็นครั้งแรกในการค้าไทย-จีน ที่ยอดสั่งสินค้าวูบ จากเดิมที่ไม่เคยได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจ หรือเศรษฐกิจไทยใด ๆ ทั้งสิ้น สวนทางการส่งสินค้าผ่านR3a ขณะที่ผู้ประกอบการไทย-จีนตั้งโต๊ะกระชับสัมพันธ์

รายงานข่าวจาก จ.เชียงราย แจ้งว่า แม้การค้าชายแดนด้าน อ.เชียงของ จ.เชียงราย จะขยายตัวขึ้น หลังเส้นทาง R3a ส่วนหนึงของถนน คุน-มั่ง กงลู่ เชื่อมไทย-ลาว-จีน ก็ตาม แต่รอบสัปดาห์นี้พบว่าสถานการณ์การค้าชายแดนด้าน อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เกิดภาวะซบเซาลงกะทันหัน โดยพบว่าเรือสินค้าจำนวนมากกว่า 40-50 ลำ ต่างจอดเรียงรายอยู่ที่บริเวณท่าเรือเชียงแสนแห่งที่ 1 ภายในเขตเทศบาล ต.เวียงเชียงแสน โดยไม่มีการขนส่งสินค้าคึกคักเหมือนเดิม

นักธุรกิจค้าชายแดนที่เชียงแสนให้เหตุผลว่าสาเหตุที่ไม่มีการขนส่งสินค้าไม่ได้มาจากปัญหาน้ำแห้งขอดจนเดินเรือไม่ได้เหมือนที่ผ่านมา เนื่องจากปัจจุบันเป็นฤดูน้ำหลาก ซึ่งปริมาณน้ำเพียงพอ แต่สาเหตุมาจากไม่มีคำสั่งซื้อหรือออออเดอร์มาจากตลาดที่มณฑลหยุนหนัน จีนตอนใต้ ซึ่งเป็นตลาดหลักของไทยเป็นหลัก

นายอรรภัณฑ์ รังษี ประธานชมรมพ่อค้าชายแดน อ.เชียงแสน กล่าวว่า การค้าชายแดนที่เชียงแสนเป็นการค้ากับจีนตอนใต้เป็นหลัก แต่ปรากฏว่าตั้งแต่ไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2552 หรือต้นเดือน ตุลาคม 2551 เป็นต้นมาพบว่าสถานการณ์การค้าลดลงอย่างต่อเนื่องแม้จะเข้าสู่ช่วงฤดูน้ำหลาก ซึ่งไม่มีผลกระทบต่อการเดินเรือสินค้าแล้วก็ตาม โดย 3 เดือนแรกของปีงบประมาณนี้มีการส่งออกไปจีนมูลค่า 1,799.74 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนกว่า 29% และตั้งแต่เดือน มกราคม-มีนาคม2552 มีมูลค่า 1,035.09 ล้านบาท ลดลงกว่า 15% และเดือน เมษายน-มิถุนายน พบว่ามีการส่งออกแล้ว 1,143.46 ล้านบาท ลดลงอีก 4%

สภาวะเช่นนี้ถือว่ามีความซบเซาและส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการค้าชายแดนอย่างหนัก เพราะเมื่อไม่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจก็ไม่มีการค้าขายทำให้ไม่มีรายได้ และต้องมีการยกเลิกการจ้างลูกจ้างโดยเฉพาะบรรดากรรมกรจำนวนมากที่ไปทำงานขนส่งสินค้าที่ท่าเรือเชียงแสนจนก่อให้เกิดปัญหาสังคมตามมา

ทั้งนี้สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะดังกล่าวมาจาก 2 เรื่องคือเรื่องความผันผวนของค่าเงินหยวนในประเทศจีน ทำให้พ่อค้าจีนยังไม่มีการสั่งซื้อสินค้าจากไทย เพราะต้องรอให้เงินหยวนคงที่ก่อน และอีกความต้องการสินค้าภายในตลาดของจีนชะลอตัวลงทำให้ไม่มีออเดอร์กลับมายังประเทศไทย

เมื่อไม่มีออเดอร์กลับมามีแต่ความต้องการขายทำให้เรือสินค้าไม่มีการขนส่งสินค้าไปยังจีนตอนใต้ ซึ่งอยู่ห่างจากท่าเรือเชียงแสนประมาณ 380 กิโลเมตร เพราะเมื่อส่งสินค้าไปแล้วไม่มีสินค้าขากลับก็จะไม่คุ้มทุนเนื่องจากเสี่ยงต่อการตีเรือเปล่ากลับมาจึงเป็นผลทำให้เรือสินค้าจอดเรียงรายกันอยู่ตามริมฝั่งและบริเวณท่าเรือกว่า 40-50 ลำดังกล่าว

นางเกศสุดา สังขกร รองเลขาธิการฝ่ายการค้าชายแดน หอการค้า จ.เชียงราย และชิปปิ้งที่ท่าเรือเชียงแสน กล่าวว่า การค้าชายแดนที่เชียงแสนช่วงนี้เกิดภาวะซบเซาอย่างหนักเพราะไม่มีออเดอร์ แต่เนื่องจากต้องค้าขายกันตามเครดิตเดิมทำให้บางครั้งก็ตีรถเปล่าเพื่อรับสินค้าขาเดียวโดยไม่มีสินค้าขาไป

ขณะที่ น.ส.กาญจนา เซี่ยง ชิปปิ้งจากบริษัทพี.เอ็กซ์ อิมพอร์ทเอ็กซ์พอร์ท จำกัด กล่าวว่า ภาวะซบเซาเช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนจึงทำให้ผู้ประกอบอาชีพที่ชายแดนได้รับความเดือดร้อนโดยถ้วนหน้ากัน

รายงานข่าวแจ้งอีกว่าสำหรับการค้าไทย-จีน ลุ่มแม่น้ำโขงตอนบนเป็นการค้าที่ยังไม่เป็นระบบเหมือนการค้าที่ท่าเรือแหลมฉบังหรือท่าเรือน้ำลึกกรุงเทพฯเนื่องจากยังไม่มีระบบการโอนเงินจากธนาคารหรือไม่มีแอลซี แต่จะใช้การค้าแบบเชื่อใจหรือแลกเปลี่ยนสินค้าเป็นหลัก โดยผู้ประกอบการค้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนจีนที่ตั้งบริษัทชิปปิ้งที่เชียงแสนจะนำเข้าและส่งออกสินค้าโดยนำสินค้าจากประเทศไทยไปแลกกับสินค้าจีน ซึ่งสินค้าไทยส่วนใหญ่จะเป็นยางพารา ลำไยอบแห้ง ฯลฯ ส่วนสินค้าจีนจะเป็นผลไม้ ผัก ฯลฯ

ผู้ประกอบการทั้ง 2 ฝ่าย จะคำนวณมูลค่าให้เท่าๆ กันเมื่อนำสินค้าไปถึงฝั่งอีกประเทศหนึ่งก็จะนำไปจำหน่ายเพื่อให้ได้เม็ดเงินในจำนวนที่ต้องการ หรือบางครั้งใช้วิธีการโพยก๊วนซึ่งสลับซับซ้อนมากกว่า

ทั้งนี้ในอดีตที่ผ่านมาการค้าชายแดนด้าน อ.เชียงแสน หรือที่ อ.แม่สาย มักจะไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกหรือภายในประเทศไทยมากนัก ดังนั้นครั้งนี้จึงนับเป็นครั้งแรกที่ผู้ประกอบการต่างออกมาแสดงความกังวลดังกล่าว กระนั้นในส่วนของการค้ากับ สปป.ลาว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคและวัสดุก่อสร้างไปป้อนโครงการก่อสร้างที่เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ยังคงดำเนินไปตามปกติ

ทั้งนี้ เมื่อเร็วๆนี้ คณะกรรมการเพื่อโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ (คสศ.) หอการค้า 10 จังหวัดภาคเหนือร่วมกับ จ.เชียงราย จัดการประชุมสัมมนาเรื่อง "เมืองคู่มิตรสานสัมพันธ์สี่เหลี่ยมเศรษฐกิจไทย-จีน" ที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานนานาชาติเชียงแสน อ.เชียงแสน โดยมีนายรัชกฤช สถิรานนท์ หัวหน้างานยุทธศาสตร์การพัฒนา จ.เชียงราย เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนา โดยนายพัฒนา สิทธิสมบัติ ประธาน คสศ. นายวิรุณ คำภิโล ประธานหอการค้า จ.เชียงราย นำคณะนักธุรกิจชายแดนเข้าร่วมหารือกับนักธุรกิจจีนครบครัน
คสศ.-หอ 10 จังหวัดเหนือเปิดวงถก“พม่า ลาว จีน” เตรียมพร้อมรับ“คุน–มั่ง กงลู่”-ลอจิสติกส์ 4 ชาติ
เชียงราย – กลุ่มนักธุรกิจ 10 จังหวัดภาคเหนือ – คสศ. ตระเวนเปิดเวทีประชุมร่วม “พม่า-ลาว-จีน” หวังกระชับความสัมพันธ์ระดับท้องถิ่น เพิ่มโอกาสในการพัฒนาการค้า การลงทุน รองรับโครงการคมนาคมเชื่อม 4 ชาติหรือ 4 เหลี่ยมเศรษฐกิจ เตรียมตัวรับถนน-สะพานคุน-มั่ง กงลู่ เผยวงหารือนัดแรกกับ สปป.ลาว มีภาคธุรกิจจากหลายแขวงตอนเหนือเข้าร่วมถกเพียบ พร้อมเตรียมหารือร่วม “จีน-พม่า”ต่อต้นเดือนหน้า ขณะที่ผู้ว่าฯเตรียมควงแขนสารพัดหน่วยแจงแผนพัฒนาระบบคมนาคมทั้งทางบก-ทางน้ำ-ระบบรางของเชียงรายวันนี้(30 มิ.ย.)
กำลังโหลดความคิดเห็น