xs
xsm
sm
md
lg

เปิดผลสอบสัญญาทาสช่อง 3 (ตอนที่ 4) รายได้ก้าวกระโดดแต่จ่ายคงที่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในการบริหารรายได้ กลุ่มมาลีนนท์สามารถกำหนดจำนวนรายได้ที่จะแสดงในงบการเงินของบริษัทที่เกี่ยวข้องภายในกลุ่มโดยอาศัยการซื้อขายระหว่างกัน ในทำนองเดียวกัน ในการบริหารทรัพย์สิน กลุ่มมาลีนนท์สามารถกำหนดให้บริษัทย่อยบริษัทหนึ่งได้รับกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน ขณะที่บริษัทที่เกี่ยวข้องอื่นสามารถใช้ทรัพย์สินนั้นในการดำเนินงานโดยการเช่าระหว่างกัน
จากงบการเงินของบีอีซีนับจากปี 2530 ถึงปี 2548 เทียบกับเหตุการณ์ทางธุรกิจที่เกิดขึ้นจริง ข้อมูลที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง จำนวนรายได้ และอัตราการเติบโตของรายได้ของบีอีซี ในช่วงปี 2530 ถึง 2548 สามารถสรุปได้ดังนี้
ช่วงปี 2530 – 2532 ก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาครั้งที่ 3 มีผลบังคับใช้ รายได้เฉลี่ยต่อปีโดยประมาณ 298 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตเฉลีย่ของรายได้ประมาณ 9%
ช่วงปี 2533 - 2536 หลังการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาครั้งที่ 3 มีผลบังคับใช้และก่อนปรับโครงสร้างใหญ่เพื่อรวมกิจการกับบีอีซีเวิลด์ รายได้เฉลี่ยต่อปีประมาณ 684 ล้านบาท อัตราการเติบโตเฉลี่ยของรายได้ 30%
ช่วงปี 2537 – 2539 ระหว่างการปรับโครงสร้างใหญ่และรวมกิจการกับบีอีซีเวิลด์ (บีอีซีเวิลด์เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เดือน พ.ย. 2538 ) รายได้เฉลี่ยต่อปีประมาณ 1,391 ล้านบาท อัตราการเติบโตเฉลี่ยของรายได้ 22%
ช่วงปี 2540 – 2542 เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ รายได้เฉลี่ยต่อปีประมาณ 1,331 ล้านบาท อัตราการเติบโตเฉลี่ยของรายได้ ติดลบ 10%
ช่วงปี 2543 – 2548 ฟื้นตัวหลังวิกฤตเศรษฐกิจ รายได้เฉลี่ยต่อปีโดยประมาณ 2,167 ล้านบาท อัตราเติบโตเฉลี่ยของรายได้ 15%
จากข้อมูลดังกล่าวเป็น่ที่น่าสังเกตว่า ก่อนปี 2533 (ก่อนที่การแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาครั้งที่ 3 จะมีผลบังคับใช้ ) รายได้ของบีอีซีมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยประมาณร้อยละ 9 แต่ว่านับจากปี 2539 ( หลังจากการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาครั้งที่ 3 มีผลบังคับใช้จนถึงปีหลังจากที่บีอีซีเวิลด์เข้าจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ) รายได้ของบีอีซีเติบโตแบบก้าวกระโดด ( เฉลี่ยประมาณร้อยละ 30 ในช่วงปี 2533 ถึงปี 2536 และร้อยละ 22 ในช่วงปี 2537 – 2539 )
ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ถึง 2542 แม้ว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยของรายได้จะติดลบ หากแต่จำนวนรายได้เฉลี่ยต่อปีของบีอีซียังสูงถึง 1,331 ล้านบาท หลังจากวิกฤตเศรษฐกิจ ( ปี 2543 – 2548 ) รายได้ของบีอีซีมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยประมาณร้อยละ 15 ในขณะที่รายได้เฉลี่ยต่อปีประมาณ 2,167 ล้านบาท
จากข้อมูลนี้ได้ข้อสังเกตุว่า กลุ่มมาลีนนท์ประสบความสำเร็จในการเพิ่มมูลค่าการลงทุนจากการวางกลุยุทธ์ระยะยาวที่ชาญฉลาด กลยุทธ์ดังกล่าวจะประสบความสำเร็จไม่ได้ หากบีอีซีไม่ได้ทำการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาครั้งที่ 3 กับ อสมท
ในแง่ของธุรกิจ เริ่มต้นจากการเตรียมบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในการทำราคาหุ้นให้เพิ่มสูงขึ้น กลุ่มบริษัทจำเป็นต้องแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการหารายได้ แต่สัญญาเดิมที่ทำไว้กับ อสมท กำหนดให้บีอีซีต้องจ่ายค่าตอบแทนในอัตราร้อยละ 6.5 จากรายได้ทั้งสิ้น ( ซึ่งทำให้ค่าตอบแทนขยายตัวไปพร้อมกับรายได้ ) กลุ่มมาลีนนท์จึงจำเป็นต้องแก้ไขสัญญาเกี่ยวกับวิธีคำนวณค่าตอบแทนที่จ่ายให้ อสมท และเพื่อเป็นการประกันการหารายได้ในระยะยาว กลุ่มมาลีนนท์จำเป็นต้องยืดอายุสัญญาออกไปให้นานที่สุด และทำให้การบอกเลิกสัญญามีโอกาสเป็นไปได้น้อยที่สุด
กลยุทธ์สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การจัดโครงสร้างกลุ่มบริษัท โดยกำหนดให้บีอีซีเวิลด์ ทำหน้าที่บริษัทใหญ่ควบคุมบริษัทที่เกี่ยวข้องทุกบริษัท รวมถึงบีอีซี ทั้งนี้เพื่อความคล่องตัวในการดำเนินงานและการบริหารทรัพย์สิน เนื่องจากบีอีซีมีข้อตกลงที่จะโอนทรัพย์สินดำเนินงานให้ อสมท ดังนั้น กลุ่มมาลีนนท์จึงจำเป็นต้องแก้ไขสัญญาให้บีอีซีสามารถเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้นหรือทำการเพิ่มทุนได้โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจาก อสมท เพื่อที่บีอีซีเวิลด์จะสามารถซื้อหุ้นบีอีซีในอัตราร้อยละ 99.99 ก่อนแปลงสภาพเป็นบริษัทจดทะเบียน ในขณะที่บีอีซียังคงสภาพเป็นบริษัทจำกัดต่อ่ไป

ความถูกต้องโปร่งใสในการปฎิบัติตามสัญญาด้านค่าตอบแทน

จากข้อมูลที่แสดงให้เห็นถึงการเติบโตแบบก้าวกระโดดของรายได้ของบีอีซีภายหลังการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาครั้งที่ 3 ( จากร้อยละ 9 ไปเป็น ร้อยละ 30 ) อาจทำให้ตั้งข้อสังเกตุได้ว่า การอนุมัติให้แก้ไขสัญญาน่าจะเกิดขึ้นอย่างไม่สมเหตุสมผล เนื่องจากธุรกิจการส่งโทรทัศน์สีเป็นธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนสูง โดยเฉพาะเมื่อดำเนินการภายใต้ตลาดผูกขาดที่กำลังขยายตัว อย่างไรก็ตาม การพิจารณาย้อนกลับไปในอดีตอาจไม่สามารถอธิบายถึงเหตุผลในการตัดสินใจแก้ไขสัญญาในขณะนั้น ดังนั้นคณะทำงานจึงได้ทำการค้นคว้าถึงที่มาของการแก้ไขสัญญาในปี 2532
โดยในปี 2532 ร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาทำการศึกษาข้อเสนอของบีอีซีเพื่อให้คำเสนอแนะถึงความเหมาะสมในการแก้ไขสัญญาตามข้อเสนอนั้น โดยมีนายสงวน ตียะไพบูลย์สิน กรรมการ อสมท เป็นประธานคณะทำงาน หลังจากที่ได้รับคำเสนอแนะจากคณะกรรมการ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้นำเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเมื่อวนที่ 18 เมษายน 2532 และได้รับการอนุมัติให้แก้ไขเพิ่มเติมสัญญาในวันที่ 2 พฤษภาคม 2532
เหตุผลหนึ่งที่คณะกรรมการพิจารณาข้อเสนอของบีอีซี ให้ความสนับสนุนในการแก้ไขการจ่ายค่าตอบแทนจากอัตราร้อยละไปเป็นจำนวนตายตัวตามค่าตอบแทนขั้นต่ำที่ต้องจ่าย ( ตามที่ระบุไว้ในการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาครั้งที่ 2 ) เนื่องจากนับตังแต่ ปี 2521 เป็นต้นมา บีอีซีไม่เคยมีรายได้มากพอที่จะต้องจ่ายค่าตอบแทนให้ อสมท เกินกว่าจำนวนค่าตอบแทนขั้นต่ำที่ตอ้งจ่าย
คณะทำงานได้ทำการคำนวณค่าตอบแทนที่บีอีซีจ่ายให้ อสมท ในระหว่างปี 2530 – 2532 ( ทุกปีที่สามารถเก็บข้อมูลได้ ) และนำมาเปรียบเทียบกับค่าตอบแทนขั้นต่ำที่ต้องจ่ายตามที่ระบุไว้ในการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาครั้งที่ 2 ที่ทำขึ้นในปี 2525 ซึ่งผลที่ได้จากการคำนวณสามารถสรุปได้ดังนี้
ปี 2530 รายได้ทั้งสิ้น 272,476,982 บาท โดย 6.55 ของรายได้ทั้งสิ้นจะเท่ากับ 17,711,003 ล้านบาท โดยค่าตอบแทนขั้นต่ำตามสัญญาเท่ากับ 17,715,610 บาท
ปี 2531 รายได้ทั้งสิ้น 299,055,950 บาท โดย 6.55% ของรายได้ทั้งสิ้นจะเท่ากับ 19,438,636 บาท โดยค่าตอบแทนขั้นต่ำตามสัญญาเท่ากับ 19,487,171 บาท
ปี 2532 รายได้ทั้งสิ้น 321,616,573 บาท โดย 6.5% ของรายได้ทั้งสิ้นจะเท่ากับ 20,905,077 บาท โดยค่าตอบแทนขั้นต่ำตามสัญญากับ 21,435,888 บาท
ข้อมูลที่คำนวณออกมานี้ ยืนยันได้ว่า ค่าตอบแทนที่คำนวณจากร้อยละ 6.5 ของรายได้ทั้งสิ้น มีจำนวนน้อยกว่าค่าตอบแทนขั้นต่ำที่ต้องจ่ายในทุกปีที่ทำการเปรียบเทียบ ด้วยสาเหตุนี้ บีอีซี จึงไม่เคยจ่ายค่าตอบแทนให้ อสมท เกินกว่าจำนวนขั้นต่ำที่ต้องจ่ายยตามที่ระบุไว้ในสัญญา แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ค่าตอบแทนที่คำนวณได้ ( ร้อยละ 6.5 ของรายได้ ) มีจำนวนใกล้เคียงกับค่าตอบแทนขั้นต่ำที่ต้องจ่ายอย่างน่าสงสัย ( 17.7-17.7 ล้านบาท ในปี 2530 , 19.4-19.4 ล้านบาท ในปี 2531 และ 20.9 – 21.4 ล้านบาท ในปี 2532 ) โดยเฉพาะเมื่อจำนวนค่าตอบแทนขั้นต่ำเหล่าน้นัได้กำหนดขึ้นตั้งแต่ปี 2525 ห้าปีก่อนที่รายได้จะเกิดขึ้นจริง
นอกจากนั้นแล้วข้อมูลรายได้ของบีอีซีเก็บจากงบการเงินที่ตรวจสอบโดยนายโชติศักดิ์ โชติกวณิก เลขทะเบียน 562 ซึ่งคณะทำงานได้ทำการค้นคว้าพบว่า นายโชติศักดิ์ทำการตรวจสอบงบการเงินของบีอีซีตั้งแต่ปี 2530 ถึงปี 2537 ยกเว้นปี 2534 ที่นายโชติศักดิ์ถูกพักใบอนุญาตการเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาตตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน 2534 ถึงวันที่ 5 กันยายน 2535 การที่นายโชติศักดิ์ถูกสั่งพักใบอนุญาตเริ่มต้นปี 2534 ทำให้สันนิษฐานได้ว่า การพักใบอนุญาตของนายโชติศักดิ์เกิดจากการกระทำผิดในระหว่างปี 2530 – 2532 หรือไม่
ตามปรกติแล้วการสั่งพักใบอนุญาตของผู้สอบบัญชีนั้นมักมีสาเหตุมาจากการที่ผู้สอบบัญชีไม่ได้กระทำการตรวจสอบงบการเงินที่ตนลงลายมือชื่อรับรองหรือไม่ได้กระทำการตรวจสอบงบการเงินที่ตนลงลายมือชื่อรับรองตามมาตรฐานวิชาชีพอย่างครบถ้วนทำให้งบการเงินที่ได้รับการตรวจสอบนั้นขาดความน่าเชื่อถือ
กำลังโหลดความคิดเห็น