xs
xsm
sm
md
lg

อัจฉริยะปัญญาอ่อน ‘มนุษย์ไอพ็อด’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สามสิบปีที่แล้ว ดีเร็ค พาราวิชินี อยู่ท่ามกลางความเป็นและความตาย
ไม่เคยมีทารกคนใดที่คลอดก่อนกำหนดถึง 14 สัปดาห์ในโรงพยาบาลรอยัล เบิร์กเชียร์รอดชีวิต พี่สาวฝาแฝดของเขาเสียชีวิตทันทีที่คลอดออกมา เมื่อดีเร็คตามออกมาในอีกไม่กี่นาที แพทย์สันนิษฐานว่าเขาคงไม่รอดเช่นเดียวกัน
แต่นาทีที่แมรี่ ผู้เป็นแม่ถอดใจ เธอก็ได้ยินเสียงอุแว้อย่างอ่อนแรงและเบาที่สุด
สามทศวรรษให้หลัง ดีเร็คไม่ได้สงบเงียบแบบนั้นอีกต่อไป แต่เขาทำให้ผู้ฟังลุกขึ้นยืนปรบมือครั้งแล้วครั้งเล่า ด้วยพรสวรรค์ในการเล่นเปียโนชนิดที่ต้องเรียกว่าฟ้าประทาน เพราะนอกจากจะตาบอด อ่านอักษรเบรลไม่ได้แล้ว เขายังเป็นออทิสติก
เมื่อได้ยินคอร์ดที่มีโน้ตสิบตัว นักดนตรีมืออาชีพส่วนใหญ่จะบอกได้แค่ห้า แต่สำหรับดีเร็ค เขาบอกได้ทั้งสิบ
เขาไม่ต้องอาศัยโน้ตเพลง เพราะธนาคารข้อมูลในสมองบรรจุเพลงอยู่นับพัน และเพียงฟังครั้งเดียว เขาสามารถเล่นตามได้ทันที กระทั่งครูผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาดนตรีให้เรียกขานเขาว่า ‘มนุษย์ไอพ็อด’
เพราะความที่คลอดก่อนกำหนด ดีเร็คจึงตาบอด ออกซิเจนที่ถูกดูดไปใช้เพื่อฟื้นชีวิตเมื่อคลอดทำให้เส้นเลือดบางจุดในตาขยายผิดปกติ และจอประสาทตาเสียหาย
และความที่ตาบอด ดีเร็คจึงอ่านโน้ตเพลงไม่ได้ เช่นเดียวกับอักษรเบรล โชว์ทุกครั้งจึงกลั่นออกมาจากสมองล้วนๆ
แม้มีพรสวรรค์ทางดนตรีเหลือล้น แต่ทักษะในการพูดของดีเร็คกลับมีจำกัด เขาพูดได้ พูดชัดเจนและเสียงดัง แต่ความสามารถในการคิดไม่ได้โตตามวัยไปด้วย เขาต้องเลียนคำพูดของคนอื่น เปลี่ยนคำถามเป็นประโยคบอกเล่า เช่น ถ้ามีคนถามว่า ‘คุณรู้จักเพลงสโมค เก็ตส์ อิน ยัวร์ อายส์ไหม?’ เขาจะตอบว่า ‘ใช่ ผมรู้จักเพลงสโมค เก็ตส์ อิน ยัวร์ อายส์’ เป็นต้น
ความคิดของดีเร็คจะอยู่ที่อนาคตที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่นาทีหรือไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า ไม่มากไม่น้อยไปกว่านั้น แต่มุมมองระยะสั้นต่อชีวิตก็ทำให้เขาไม่ต้องกังวลอะไรมากนัก
สำหรับคนพิการ นี่อาจเรียกได้ว่าเป็นโอกาสที่ฟ้าประทานให้พรสวรรค์ที่แอบซ่อนอยู่ได้ปลดปล่อยออกมาและเปิดเผยสู่สายตาคนมากมาย ความดีความชอบนี้คงต้องยกให้วินิเฟรด เดลี ที่เสียชีวิตไปเมื่อ 12 ปีที่แล้ว ที่คอยดูแลดีเร็คตั้งแต่แบเบาะ
วินิเฟรดดูแลสมาชิกครอบครัวฝั่งแม่ของดีเร็ค ที่เป็นน้องสาวของแอนดริว ปาร์กเกอร์ โบว์ล อดีตสามีของคามิลลา ดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์ มาหลายชั่วอายุคน
เธอเป็นคนแรกที่สังเกตเห็นสิ่งพิเศษในตัวดีเร็คที่ขณะนั้นอายุเพียง 20 เดือน และตัดสินใจไปลากออร์แกนไฟฟ้าจากห้องใต้หลังคาของบ้านพาราวิชินีในเบิร์กไชร์มาให้เด็กชายตัวน้อย
เริ่มแรก ดีเร็คใช้ทั้งกำปั้น ฝ่ามือ และมะเหงกทุบแป้นคีย์บอร์ดเล่นทั้งวัน แต่เมื่อผ่านไปเขาค่อยๆ ใช้นิ้วมือไล่ขึ้นลงบนแป้นอย่างมีจังหวะ
วันหนึ่ง ลิบเบ็ต พี่สาวของดีเร็ค วิ่งจี๋ไปที่ห้องนอนพ่อแม่และประกาศเสียงดังว่า “เร็วค่ะ ไปดูดีเร็คกัน เขากำลังเล่นเพลงสวดที่เราเคยร้องกันในโบสถ์”
ศาสตราจารย์อดัม ออกเคลฟอร์ด จากมหาวิทยาลัยโรแฮมป์ตัน ที่สอนดีเร็คมา 26 ปีเต็ม สันนิษฐานว่าความหลงใหลในรูปแบบนามธรรมของเสียง ประกอบกับเวลานับพันชั่วโมงที่ได้ยินเพลงในช่วง 20 เดือนแรกของชีวิต ซึ่งไม่มีเรื่องของการต้องทำความเข้าใจมาเกี่ยวข้อง ทำให้เกิดการเชื่อมต่อพิเศษระหว่างเซลล์ประสาทนับล้านๆ เซลล์ และการเชื่อมต่อนั้นเองที่อยู่เบื้องหลังความสามารถทางดนตรีที่มีพัฒนาการเกินกว่าอายุจริงหลายเท่า
หากความรักของวินิเฟรด ผู้ที่ชอบร้องเพลงและช่างเจรจาระหว่างการอุ้มชูดูแล เป็นตัวกระตุ้นให้ทักษะของดีเร็คเปิดเผยออกมา ก็คงต้องบอกว่าศาสตราจารย์ออกเคลฟอร์ดคือผู้ควบคุมและหลอมรวมพรสวรรค์ของเด็กชายจนทำให้เกิดคอนเสิร์ตดีๆ จากฝีมือของดีเร็ค
“ผู้ชายคนนี้เป็นเหมือนนักบุญ ผมพยายามให้เงินแต่เขาปฏิเสธทุกครั้ง จนผมต้องพยายามยัดเยียดเป็นค่าน้ำมันให้” นิก พาราวิชินี พ่อของดีเร็คที่เป็นนายแบงก์ในเวลส์ เล่า
ทั้งคู่พบกันครั้งแรกที่ลิงเดนลอดจ์ ซึ่งเป็นโรงเรียนสอนคนตาบอดที่จอร์จ เชียริง นักเปียโนตาบอดชื่อดัง เคยเข้าเรียนในทศวรรษ 1920 ศาสตราจารย์ออกเคลเฟอร์ดสอนเทคนิคดนตรีให้ดีเร็ค แต่สิ่งที่ไม่ได้สอนคือ ความปรารถนาในการเล่นดนตรีให้ดังที่สุดเท่าที่จะดังได้
ถึงวันนี้ ศาสตราจารย์ออกเคลฟอร์ดยังคงอยู่เคียงข้าง คอยส่งสัญญาณเมื่อต้องขึ้นเพลง แตะหลังแตะไหล่ให้กำลังใจ และกระซิบบอกให้ดีเร็คลุกขึ้นโค้งให้คนดู
ข่าวพรสวรรค์ของดีเร็คแพร่หลายอย่างรวดเร็ว เขาขึ้นคอนเสิร์ตครั้งแรกขณะอายุเพียง 7 ขวบ หลังจากนั้นเขาขึ้นเวทีโชว์อย่างต่อเนื่องทั้งที่อังกฤษและประเทศอื่นๆ รวมถึงถูกนำเรื่องราวไปถ่ายทอดในสารคดีสองรายการ
ตอนอายุ 10 ขวบเขาได้รางวัลชิลเดร้น แชมเปี้ยน อะวอร์ดจากเจ้าหญิงไดอะนา ที่ไม่ได้แสดงอาการตะขิดตะขวงใจแต่อย่างใดทั้งที่รู้ว่าดีเร็คเป็นหลานชายของคามิลลา ผู้ที่ทำให้ชีวิตสมรสของพระองค์กับเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์คลอนแคลนในตอนนั้น ซ้ำทรงพระสรวลเมื่อดีเร็คบอกว่าจะเล่นเพลง ‘เล็ตส์ คอลล์ เดอะ โฮล ติง ออฟฟ์’
ปัจจุบัน ดีเร็คอยู่ระหว่างการทัวร์คอนเสิร์ตร่วมกับวงออร์เคสตรา 20 ชิ้น
ทางด้านศาสตราจารย์ออกเคลฟอร์ด หลังจากประสิทธิ์ประสาทวิชาให้มากว่า 20 ปี ขณะนี้ เขากำลังพยายามหาคำตอบว่าอัจฉริยภาพของชายหนุ่มที่บกพร่องทางสมองและการมองเห็นผู้นี้มีที่มาที่ไปอย่างไร
“การวิจัยก่อนหน้านี้ระบุว่า ทารก 1 ใน 10,000 คนจะเกิดมาพร้อมพรสวรรค์ทางดนตรี และทารก 40% ที่คลอดก่อนกำหนดมีพรสวรรค์นี้ ข้อมูลสองส่วนนี้เกี่ยวโยงกัน และดูเหมือนความสามารถของสมองในด้านการแสดงเหตุผลเป็นคำพูดหรือทักษะการเข้าสังคมจะสูญหายไปกลายมาเป็นพรสวรรค์ทางดนตรีแทน”
เพราะรู้ว่าดีเร็คมีความสามารถในการแสดงอารมณ์จำกัด ด้วยเหตุนี้ ในโมงยามที่วินิเฟรดรู้ดีว่าเหลือเวลาอยู่อีกไม่มากนัก เธอจึงปรารภกับศาสตราจารย์ออกเคลฟอร์ดว่า “เขาคงไม่คิดถึงฉันหรอก”
วินิเฟรดคิดถูก ดีเร็คจำเธอได้แต่ไม่ได้ร้องไห้วันที่เธอจากไป ว่าที่จริงเขาเคยร้องไห้น้อยมาก แม้แต่ตอนที่เจ็บป่วย
“เขาไม่เคยบอกใครเวลาไม่สบาย แต่อาจจะพูดอย่างสุภาพว่า ‘ผมกินยาแก้หวัดได้ไหมครับ?’” สุกี้ พาราวิชินี แม่เลี้ยงของดีเร็ค (พ่อแม่แยกทางกันเมื่อเขาอายุ 5 ขวบและแต่งงานใหม่ทั้งคู่) เล่า
แต่พรสวรรค์ในการเล่นเปียโนของเขาไปไกลกว่าพัฒนาการด้านอารมณ์มากนัก และไม่ว่าในสมองของเขาจะมีความมหัศจรรย์ใดแฝงอยู่ ที่แน่ๆ เมื่อนั่งอยู่หน้าเปียโน ดีเร็คจะผ่อนคลายสบายใจที่สุด
เมื่อขึ้นเวทีโดยมีศาสตราจารย์ออกเคลฟอร์ดเป็นพี่เลี้ยงนำทาง จังหวะก้าวของเขาค่อนข้างลังเล มือบิดกางเกงยุกยิก แต่ทันทีที่นั่งลงและนิ้วทั้งห้าพรมลงบนคีย์ มือของเขาจะผ่อนคลาย บางครั้งศรีษะโยกตามจังหวะเพลงเหมือนที่เราเคยเห็นศิลปินตาบอด เช่น สตีวี วอนเดอร์ และเรย์ ชาร์ลส์ เป็นไม่มีผิดเพี้ยน และดีเร็คปล่อยตัวปล่อยใจไปกับการบรรเลงเปียโนราวกับว่าเขาเกิดมาเพื่อสิ่งนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น