xs
xsm
sm
md
lg

สดุดีวีรสตรี ‘25 ปีไม่มีท้อถอย’ ต้านบ.บุหรี่มอมเมาชาวเอเชีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี – จูดิธ แม็กเคย์ ยึดฮ่องกงเป็นหัวหาดประกาศศึกกับบุหรี่ เพื่อสุขภาพของคนเอเชียมาจนวันนี้ล่วงเลยมา 25 ปีแล้ว
แม็กเคย์ผลักดันกฎหมายที่เข้มงวดขึ้น รวมถึงการขึ้นภาษีสรรพสามิตบุหรี่ ล็อบบี้เพื่อให้มีการแบนโฆษณาบุหรี่ และโน้มน้าวรัฐบาลในฮ่องกง ลาว จีน เวียดนาม และประเทศส่วนใหญ่ในเอเชีย ให้ออกมาตรการควบคุมการสูบบุหรี่
เธอร่างกฎหมายต่อต้านการสูบบุหรี่ฉบับแรกในมองโกเลียหลังยุคโซเวียตในห้องพักโรงแรมคืนสุดท้ายที่เดินทางไปสำรวจสถานการณ์ที่นั่น ท่ามกลางความเคลือบแคลงว่าเธอเป็นสายลับที่อเมริกาส่งไป
ความสำเร็จของแม็กเคย์มาจากความสามารถในการโน้มน้าวคนที่มีอำนาจในมือที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงซึ่งสามารถช่วยชีวิตผู้คนได้ และเธอมีความสุขกับการค้นหาช่องทางการทำงานจากระบบการปกครองที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย
“นั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่ฉันเคลื่อนไหวอย่างขมักเขม้นในช่วงทศวรรษ 1980 เพราะทันทีที่มีประชาธิปไตย คุณจะมีเอกสารปกขาวปกเขียว มีการทำประชาพิจารณ์ โน่นนี่ไม่รู้จบ” นักต่อสู้หญิงเหล็กวัย 65 ปี ที่เป็นที่ปรึกษาอาวุโสด้านนโยบายขององค์การอนามัยโลก (ฮู) มากว่าสิบปี บอก
แน่นอนว่าการผลักดันของแม็กเคย์เป็นที่จับตาของอุตสาหกรรมบุหรี่ กระทั่งครั้งหนึ่งสมาคมการค้ายาสูบยกให้เธอเป็น 1 ใน 3 บุคคลอันตรายที่สุดในโลก
แม็กเคย์ถูกขู่ฟ้องร้อง และกระทั่งถูกขู่ฆ่าจากกลุ่มส่งเสริมการสูบบุหรี่ แต่เจ้าตัวไม่เคยท้อถอย
ช่วงหลายปีมานี้ ความพยายามของเธอเป็นที่ประจักษ์ เธอได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จากควีนเอลิซาเบธเมื่อปีที่แล้ว และรางวัลอื่นๆ อีกมากมาย
ที่สำคัญที่สุด ขณะนี้ แม็กเคย์เป็นหัวหอกส่งเสริมกลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านการสูบบุหรี่ระดับมืออาชีพในเอเชียที่กำลังเติบโตชัดเจน โดยได้การสนับสนุนจากมูลนิธิของนายกเทศมนตรีไมเคิล บลูมเบิร์กแห่งนิวยอร์ก
มูลนิธิดังกล่าวให้การสนับสนุนแม็กเคย์ในการทำงานในมูลนิธิปอดโลก เพื่อรณรงค์ลดการสูบบุหรี่ในกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางถึงต่ำ โดยโฟกัสที่เอเชียเป็นหลัก
“บลูมเบิร์กนำแนวทางการจัดการทางธุรกิจเข้าสู่การเคลื่อนไหวเพื่อควบคุมการสูบบุหรี่ นี่ไม่ใช่ทางเลือกที่มีการกำหนดเส้นตายเหมือนกับแนวทางของนักวิชาการและรัฐบาลบางแห่ง
“แต่คุณได้รับมอบหมายงานในการควบคุมการสูบบุหรี่ ซึ่งก่อนหน้านี้คงไม่มีใครจ้างคุณมาทำแบบนี้”
แม็กเคย์เกิดในยอร์กเชียร์ อังกฤษ และไปเรียนปริญญาตรีสาขาการแพทย์ในเอดินเบิร์ก สก็อตแลนด์ ที่นั่นเธอเป็นสิงห์อมควันอยู่พักหนึ่ง แต่แค่ไม่กี่เดือนก็ต้องเลิกเพราะเพื่อนร่วมห้องเป็นโรคหอบหืด
หลังจากนั้น แม็กเคย์ย้ายไปฮ่องกงและทำงานในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง แต่ความสุขในการช่วยชีวิตคนเริ่มมอดลงเมื่อเธอตระหนักว่า คนไข้มากมายที่เข้ามารับการรักษามีปัญหาจากการสูบบุหรี่
“เราเคยพูดกันขำๆ ว่าแผนกผู้ป่วยชายไม่เคยมีคนที่ไม่สูบบุหรี่เลย ทุกคนที่เข้ามาไม่เป็นมะเร็งก็โรคหัวใจหรือโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง หรือตกเลือดจากแผลในลำไส้เล็กส่วนต้น”
แม็กเคย์ที่เพิ่งเสร็จสิ้นการทำรายงานการศึกษาปัญหาความรุนแรงภายในครอบครัวในเอเชียก่อนหน้านี้ เริ่มเขียนคอลัมน์เกี่ยวกับปัญหาสุขภาพสตรีให้หนังสือพิมพ์เซาธ์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ โดยหนึ่งในประเด็นแรกๆ ที่เธอจับคือการสูบบุหรี่
หนึ่งในบริษัทบุหรี่รายใหญ่แห่งหนึ่งถึงกับเตรียมเอกสารฟ้องร้องแม็กเคย์ โดยกล่าวหาว่ากลุ่มรณรงค์ต่อต้านการสูบบุหรี่ในฮ่องกงไม่ใช่ตัวแทนที่แท้จริงของผู้บริโภคและไม่มีความน่าเชื่อถือ
เมื่อเอกสารดังกล่าวรั่วไหลถึงมือ แม็กเคย์บอกว่าช็อกและโมโหมาก
“บางครั้งฉันต้องบอกว่า บริษัทแห่งนั้นทำให้การควบคุมการสูบบุหรี่ได้ผลเร็วขึ้น” เธออธิบายว่าเพราะการกระทำของบริษัทดังกล่าวช่วยเน้นย้ำว่า เอเชียมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อแผนการขยายตัวของบริษัทบุหรี่ยักษ์ใหญ่
“เพราะถ้าพวกเขาสามารถโน้มน้าวให้ผู้ชายเอเชียหันมาสูบบุหรี่แบรนด์นอก และชักชวนให้ผู้หญิงเอเชียลุกขึ้นมาสูบบุหรี่ พรุ่งนี้ทุกคนในอเมริกาเหนือเลิกบุหรี่ได้เลย โดยที่ไม่กระทบรายได้ของพวกเขาแม้แต่นิดเดียว”
แม็กเคย์กลายเป็นนักเคลื่อนไหวเต็มตัว โดยเป็นตัวแทนของที่ประชุมต่างๆ ในเอเชีย (“มีคนที่ทำงานนี้อย่างจริงจังในเอเชียเพียงคนเดียวเท่านั้น” เธอเคยพูดถึงตัวเองแบบนี้) ให้ข้อมูลแก่รัฐบาล และผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลง แม้เป็นเพียงในเชิงสัญลักษณ์ก็ตาม
เธอโน้มน้าวให้รัฐบาลกัมพูชาแบนการโฆษณาบุหรี่ระหว่างรายการทีวีสำหรับเด็ก แม้จริงๆ แล้วทีวีเขมรจะไม่มีรายการประเภทที่ว่าก็ตาม แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการต่อยอดที่ตอนนี้เธอบอกว่ากำลังขยายออกไปเรื่อยๆ
“เมื่อเร็วๆ นี้จีนเพิ่งแบนตู้ขายบุหรี่อัตโนมัติ ฉันไม่แน่ใจว่ามีใครได้เห็นตู้ขายบุหรี่ที่นั่นหรือเปล่า”
จอห์น ครอฟตัน นักรณรงค์จากอังกฤษที่เป็นผู้ค้นพบวิธีรักษาวัณโรคเป็นคนแรก และเป็นที่ปรึกษาของแม็กเคย์ บอกว่า “ผมชื่นชมในพลัง แรงบันดาลใจ และทักษะในการจัดการกับผู้คนของเธอ รวมทั้งการอุทิศตัวเพื่อปกป้องโลกจากพฤติกรรมที่อันตรายที่สุด”
แม็กเคย์ยังไม่มีวี่แววว่าจะรามือ แม้ถึงวัยที่ต้องปลดเกษียณแล้วก็ตาม แต่เธอก็ระมัดระวังที่จะไม่ไปจิกกัดหรือกดดันภาครัฐมากเกินไป
“ฉันไม่ได้ทำงานด้วยการไปสั่งให้ใครทำอะไร แต่จะบอกว่า ‘สิ่งที่คุณคิดอาจเป็นก้าวต่อไปสำหรับจีนได้ไหม?’ ฉันปล่อยให้คนในประเทศเหล่านั้นคิดและตัดสินใจกันเอง”
กำลังโหลดความคิดเห็น