xs
xsm
sm
md
lg

สิงคโปร์‘รับมือ’การเมืองเปลี่ยนแปลง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รอยเตอร์ - วิกฤตเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน กำลังผลักไสให้สิงคโปร์เข้าสู่ภาวะถดถอยครั้งเลวร้ายที่สุด มิหนำซ้ำยังเผยให้เห็นประเด็นปัญหาต่าง ๆ ซึ่งกำลังท้าทายพรรคพีเพิลส์ แอคชั่น ปาร์ตี้ (พีเอพี) ที่ผูกขาดอำนาจการปกครองประเทศจวนจะครบครึ่งศตวรรษแล้วในเดือนนี้

พวกนักวิเคราะห์กล่าวว่า ความเสี่ยงต่าง ๆ ที่สิงคโปร์อาจต้องเผชิญในอนาคต มีทั้งความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง หลังหมดยุคของผู้นำอาวุโสทั้งหลาย, ความแตกแยกในพรรครัฐบาลที่อาจจะเกิดขึ้นมา, ตลอดจนภัยคุกคามจากภายนอก เช่น ความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้าน, และการแข่งขันกับประเทศศูนย์กลางอุตสาหกรรมการผลิตที่มีต้นทุนต่ำกว่าทั้งหลาย

"สิงคโปร์ไม่ได้มีเสถียรภาพและไม่ใช่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงไม่ได้เลยอย่างที่ใคร ๆ คิดหรอก" โรมัน สก็อตต์ จากบริษัทลงทุนภาคเอกชนแห่งหนึ่งในสิงคโปร์กล่าว อย่างไรก็ดี นักลงทุนรายนี้ยังมั่นอกมั่นใจกับโอกาสในระยะยาวของรัฐเล็ก ๆ แห่งนี้ แม้บอกด้วยว่า การโจมตีของกลุ่มก่อการร้ายและความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจะเป็นความเสี่ยงที่ใหญ่ที่สุด

"แม้แต่ในสิงคโปร์ ก็ไม่มีอะไรยั่งยืนตลอดกาล"

สิงคโปร์ได้รับยกย่องในฐานะเป็นแหล่งแห่งความน่าเชื่อถือ, ระบบราชการที่มีประสิทธิภาพ, และสภาพแวดล้อมยอกเยี่ยม แทบไม่มีนักลงทุนคาดว่าที่นี่จะเกิดความอกสั่นขวัญแขวน แม้จะอยู่ในภูมิภาคซึ่งเสถียรภาพสามารถพลิกผันสู่ความโกลาหลได้อย่างง่ายดาย

"ผมเสาะแสวงหาเมืองต่าง ๆ ทั่วโลก และตัดสินใจลงทุนในสิงคโปร์" จิม โรเจอร์ นักลงทุนสัญชาติอเมริกัน ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งกองทุนควอนตัม ฟันด์ กับพ่อมดการเงินอย่างจอร์จ โซรอส โดยโรเจอร์คาดว่า เงินดอลลาร์และปอนด์จะอ่อนค่าลง ขณะที่ตั้งความหวังว่า ดอลลาร์สิงคโปร์จะยังคงแข็งแกรง เนื่องจากความสามารถทางการเมืองและเศรษฐกิจ

**การสืบทอดอำนาจ**

เสถียรภาพของสิงคโปร์นั้น วางอยู่บนวิสัยทัศน์ของอดีตนายกรัฐมนตรีลีกวนยู ซึ่งทำหน้าบริหารประเทศตั้งแต่ปี 1959 หลังนำพาพรรคพีเอพีชนะการเลือกตั้งครั้งแรก และจากนั้นการเลือกตั้งทุกครั้งที่ผ่านมา พรรคนี้ก็ไม่เคยเพลี่ยงพล้ำเสียที่นั่งในสภาให้กับฝ่ายตรงข้ามเกิน 4 เก้าอี้

เมื่อเร็ว ๆ นี้ รัฐบาลสิงคโปร์เพิ่งเสนอที่จะให้ฝ่ายค้านได้ที่นั่งในสภาเพิ่มเติมขึ้นอีก อันเป็นความเคลื่อนไหวที่นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า อาจช่วยผ่อนคลายเสียงวิพากษ์วิจารณ์ แถมยังอาจทำให้ได้รับฟังแนวคิดใหม่ ๆ

นอกจากนั้นรัฐบาลก็ยังคงพยายามเฟ้นหาดาวเด่นรุ่งใหม่ ขณะที่พวกคนทำงานของรัฐบาลก็เริ่มที่จะพูดถึงสิงคโปร์ภายหลังลีกวนยู

คิชอร์ มาห์บูบานี อดีตทูตสิงคโปร์ประจำยูเอ็น มองว่ามีความเป็นได้ถึง 2 ใน 3 ที่สิงคโปร์จะเปลี่ยนผ่านอำนาจ "อย่างราบรื่นและแนบเนียน" ภายหลังลีกวนยู ทั้งนี้เขาให้เหตุผลว่า เพราะ แนวคิดค่านิยมต่าง ๆ ของผู้นำสิงคโปร์รุ่นแรกได้ "หยั่งรากลึกจนเป็นสถาบัน" โดยเฉพาะในเรื่องการต่อต้านการคอร์รัปชั่นตลอดมา นักการทูตอาวุโสรายนี้กล่าวในงานสัมมนาเมื่อเร็ว ๆ นี้

ทางด้านบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำของโลก ไม่ว่าจะเป็น ฟิตช์ เรตติ้งส์ หรือ มูดี้ส์ ก็ยังคงแสดงท่าทีว่าจะให้เครดิตเรตติ้งระดับสูงสุด คือ “AAA” แก่สิงคโปร์ต่อไป

"เรายังมองไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองแบบพลิกผันหรือไร้เสถียรภาพในสิงคโปร์อีก 10 ปี ข้างหน้า" วินเซนต์ ฮู จากฟิตช์ เรตติ้งส์ กล่าว

ขณะที่ ปิแอร์ ไกเยอโต ผู้อำนวยการจัดการด้านความเสี่ยงภาครัฐของ "มูดีส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส" บอกว่า เรตติ้งระดับ AAA ที่ให้กับสิงคโปร์ เป็นไปตามรากฐานทางการเงินอันแข็งแกร่ง, จุดยืนในการสนับสนุนภาคธุรกิจ ตลอดจนศักยภาพในการในการปรับตัวตามเงื่อนไขความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ

"เราไม่ได้มองว่าใครเป็นผู้ปกครองประเทศ หากแต่อยู่ที่วิธีในการปกครอง สำหรับสิงคโปร์แล้ว เรายังไม่เห็นเหตุผลที่ต้องเชื่อว่า จะเกิดความเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในเรื่องการมีหลักมีเกณฑ์สามารถคาดหมายได้ หากเกิดการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งผู้นำ"

ต่อให้อนาคตผู้นำสิงคโปร์เริ่มอ่อนข้อมากขึ้นต่อแรงกดดันของสาธารณชน หรือหันไปพึ่งพานโยบายประชานิยม ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะเกิดขึ้นในระยะเวลาเป็นปี ๆ ไม่ใช่แค่เป็นเดือน ๆ เขากล่าวเสริม

***ความหลากหลาย***

เมื่อต้องเผชิญกับภาวะขาลงของเศรษฐกิจโลก ทางการสิงคโปร์ก็เพิ่งจัดตั้ง "คณะกรรมการยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ" ซึ่งประกอบด้วยบรรดารัฐมนตรีและนักธุรกิจชั้นนำ เพื่อปรับรายละเอียดของแผนการเพื่อการเจริญเติบโตต่างๆ ให้เกิดความเหมาะสมยิ่งขึ้น โดยที่ยังคงตั้งจุดมุ่งหมายไว้ว่า สิงคโปร์จะยังคงเป็นศูนย์กลางของบริษัทนานาชาติและการค้า

สิงคโปร์นั้นกำลังพยายามเลิกพวกอุตสาหกรรมการผลิต โดยหันไปมุ่งพัฒนาพวกอุตสาหกรรมการบริการ เป็นต้นว่า การบริหารจัดการความมั่งคั่ง และการท่องเที่ยว โดยที่มีการอนุญาตให้สร้างสถานกาสิโน 2 แห่งที่กำหนดเปิดดำเนินการในปีหน้า

นอกจากนั้น สิงคโปร์ยังได้ว่าจ้าง ชิป กู๊ดเยียร์ อดีตซีอีโอของบีเอชพี บิลลิตัน ให้มาบริหารกองทุนเทมาเส็ก อันเป็นกองทุนเพื่อการลงทุนภาครัฐ แทนที่ โฮชิง ผู้เป็นภรรยาของนายกรัฐมนตรีลีเซียนลุง คาดหมายกันว่ากู๊ดเยียร์จะมองหาช่องทางลงทุนในภาคทรัพยากรธรรมชาติ หลังจากที่กองทุนนี้ต้องขาดทุนไปมากจากการลงทุนอย่างเป็นข่าวเอิกเกริกในพวกธนาคารตะวันตกเมื่อปีที่แล้ว จนทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ชาวสิงคโปร์ที่ห่วงใยเรื่องเงินออมของประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น