xs
xsm
sm
md
lg

วัตถุประสงค์ชาติที่สำคัญยิ่งคือประเทศมั่นคง ประชาชนมั่งคั่ง

เผยแพร่:   โดย: ว.ร.ฤทธาคนี

เมื่อเอ็ดเวิร์ด มีด เอิร์ล(Edward Mead Earle) นักวิชาการชาวอเมริกัน เขียนหนังสือเรื่องผู้สร้างยุทธศาสตร์สมัยใหม่ (The Makers of Modern Strategy)ในค.ศ. 1943 ที่มีเป้าหมายในการนำเสนอแนวคิดในเชิงสร้างสรรค์ยุทธศาสตร์ชาติทุกมิติให้ประเทศสหรัฐฯ มั่นคง และประชาชนมั่งคั่ง ด้วยการรวบรวมทฤษฎีรัฐศาสตร์การทหารของนักรัฐศาสตร์ เช่น อเลกซานเดอร์ แฮมิลตัน นักสังคมศาสตร์ เช่น เอนเกิลส์และมาร์กซ์ นักเศรษฐศาสตร์ เช่น อดัม สมิธ นักวิทยาศาสตร์ เช่น อัลเบิร์ต ไอนสไตน์ และนักการทหาร เช่น โจมินีและเคลาสวิทซ์ หรือวิลเลียม มิทเชล ในเรื่องกำลังรบทางอากาศหรือมาฮานในเรื่องกำลังนาวี

นอกจากนี้เอ็ดเวิร์ด มีด เอิร์ล ยังได้แถลงแนวคิดนี้ ณ รัฐสภา เรื่องพลังอำนาจแห่งชาติ ได้แก่ พลังอำนาจทางการเมือง ทางเศรษฐศาสตร์ ทางสังคมจิตวิทยา ทางเทคโนโลยี และทางทหาร โดยสรุปว่า หากสหรัฐฯ มีความแข็งแกร่งทางการเมืองภายในประเทศตามระบอบประชาธิปไตย มีระเบียบรัฐศาสตร์และสังคมการเมืองที่เป็นระเบียบ มีความเสมอภาคเป็นธรรมด้วยระบบนิติรัฐ และมีความชอบธรรมทางการเมือง สังคมเศรษฐศาสตร์มีระเบียบ มีระบบการรักษาความเป็นธรรมในการทำธุรกิจ ถูกกฎหมาย และเป็นไปตามระบบการค้าเสรี สังคมจิตวิทยา เมื่อระบบการเมืองมีความชอบธรรมเป็นประชาธิปไตย และมีความเสมอภาค เป็นสังคมที่รัฐต้องดูแลทำให้ประชาชนมีความสุขสบายและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีด้วยระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน ทางด้านเทคโนโลยีนั้นรัฐให้ทุนสนับสนุนการวิจัยค้นคว้าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทุกด้านอย่างจริงจัง พอเพียงและต่อเนื่อง รวมทั้งมีกฎหมายลิขสิทธิ์ที่แข็งแกร่ง ทางด้านการทหารจะต้องมีกำลังรบและพลรบที่เข้มแข็งมาผสมผสานกันปกป้องรักษาผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ทั้งทางรูปธรรมและนามธรรม

แนวคิดของเอ็ดเวิร์ด มีด เอิร์ล ทำให้สหรัฐฯ สามารถกำหนดวัตถุประสงค์ของชาติได้อย่างชัดเจน เพื่อรักษาผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ทุกมิติ และมีอำนาจต่อรองกับชาติใดๆ ก็ตาม ที่ขัดผลประโยชน์กับสหรัฐฯ เช่น กรณีอดีตโซเวียตได้วางกำลังขีปนาวุธข้ามทวีปไว้ที่คิวบาจ่อคอหอยสหรัฐฯ ใน ค.ศ. 1962 เมื่อประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคนเนดี้ ยื่นคำขาดต่อประธานาธิบดีครูฟเซฟ ที่ยอมถอนขีปนาวุธภายใต้เงื่อนไขที่เสมอภาค โดยฝ่ายสหรัฐฯ ยอมถอนขีปนาวุธข้ามทวีปจากตุรกีเป็นการตอบแทน จึงมองเห็นว่าพลังอำนาจทางทหารมีส่วนทำให้มีการยอมรับข้อเสนอกันและกันโดยไม่ให้เกิดสงครามนิวเคลียร์

จากวัตถุประสงค์ประเทศมั่นคง ประชาชนมั่งคั่งของสหรัฐฯ ทำให้สหรัฐฯ เป็นประเทศเดียวขณะนี้ซึ่งมีงบประมาณทางทหารสูงสุด 607 พันล้านเหรียญสหรัฐมากกว่าจีนซึ่งเป็นที่สอง 4 เท่าตัว และนโยบายสหรัฐฯ ในด้านความมั่นคงง่ายๆ นั้นคือ สามารถทำสงครามได้สองแนวรบในเวลาเดียวกันเพื่อรักษาผลประโยชน์ทุกมิติ

ก่อนหน้าที่ เอ็ดเวิร์ด มีด เอิร์ล จะกระตุ้นเรื่องพลังอำนาจแห่งชาตินี้นั้น สหรัฐฯ ดำรงรักษาลัทธิสันโดษ ไม่ยุ่งกับสังคมโลกตะวันตก แต่เมื่อเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 1 เพราะผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ถูกทำลาย เมื่อเรือโดยสารเดินสมุทรลูซิทาเนียของอังกฤษ ซึ่งมีชาวอเมริกันเป็นผู้โดยสารกว่า 200 คน ถูกจมโดยเรือดำน้ำของกองทัพเรือเยอรมนี ทำให้สาธารณชนอเมริกันโกรธแค้น และกดดันให้รัฐบาลสหรัฐฯ ดำเนินการกับรัฐบาลเยอรมนี จนทำให้ประธานาธิบดี วูดโรว์ วิลสัน ประกาศสงครามกับเยอรมนีในปีเดียวกันกับที่รัฐบาลสยามในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงประกาศสงครามกับเยอรมนีใน พ.ศ. 2460 หรือ ค.ศ. 1917 โดยทรงมีความคิดร่วมกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเรื่องความไร้มนุษยธรรมของกองทัพเรือเยอรมนีที่ทำลายเรือโดยสารพลเรือน

เมื่อกองทัพสหรัฐฯ เข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 1 นั้น กองทัพสหรัฐฯ ไม่มีความพร้อมรบต้องขอยืมรถถัง ปืนใหญ่ และเครื่องบินรบจากประเทศฝรั่งเศส และอังกฤษ ทั้งๆ ที่สหรัฐฯ มีเทคโนโลยีสูงในด้านวิศวกรรม แต่ไม่ได้มีการเตรียมกองทัพ จึงทำให้กองทัพสหรัฐฯ ไม่มีระบบอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัย แต่กำลังพลอาสาสมัครมีความรู้ความสามารถ และมีหัวใจนักรบทำให้เกิดวีรบุรุษสงครามขึ้นมากมาย และเป็นบทเรียนให้กองทัพสหรัฐฯ รัฐบาลสหรัฐฯ และประชาชนตระหนักถึงความขาดความพร้อมของกองทัพสหรัฐฯ ทำให้บรรดานักยุทธศาสตร์เริ่มกดดัน จนกระทั่งเอ็ดเวิร์ด มีด เอิร์ล ได้แถลงในรัฐสภาจนนักการเมืองรัฐบาล และประชาชนเข้าใจถึงยุทธศาสตร์ชาติ จึงเกิดการเตรียมกองทัพอย่างรวดเร็ว จนในเวลาเพียง 21 ปีให้หลัง กองทัพสหรัฐฯ มีความพร้อมทุกระบบสงคราม ทั้งกำลังพล เทคโนโลยีและอาวุธยุทโธปกรณ์ รวมทั้งระบบกำลังพลและคลังอาวุธสำรองและเป็นผู้นำทำสงครามกับเยอรมนี

ดังนั้น แนวคิดในเรื่องวัตถุประสงค์ของชาติ นโยบายชาติ ยุทธศาสตร์ชาติ ยุทธศาสตร์ทหารซึ่งมีการขยายผลทำให้เกิดหลักนิยมทางทหาร และยุทธวิธีของกองทัพซึ่งเป็นเรื่องสากลที่ทุกชาติใช้ปฏิบัติ

ในระบอบประชาธิปไตยเรื่องวัตถุประสงค์ของชาตินั้น ประเด็นที่สำคัญยิ่งคืออำนาจอธิปไตยและบูรณภาพของชาติ เรื่องบูรณภาพนั้นที่แท้จริงคือ พื้นที่ประเทศที่จับต้องได้ทางกายภาพ และพื้นที่ของชาติเป็นแหล่งทรัพยากร เช่น ปราสาทพระวิหารเป็นแหล่งทรัพยากรทางอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งประเทศไทยต้องยอมเสียดินแดนในส่วนนี้เพราะแพ้คดีความประเทศกัมพูชา เมื่อประเทศกัมพูชายื่นฟ้องศาลโลกกรณีดินแดนปราสาทพระวิหารเป็นพื้นที่ทับซ้อน และในวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2505 ผู้พิพากษา 9 ใน 12 คน ลงมติพิพากษาให้ประเทศกัมพูชาได้ครอบครองเฉพาะตัวองค์ปราสาทเท่านั้น จึงไม่ต้องรบกันเพื่อแย่งชิงกัน หรือรบกันเพื่อป้องกันทรัพยากรแผ่นดินบริเวณนี้ แต่ก็ไม่วายที่ปัจจุบันยังคงมีการไม่เคารพในคำตัดสินหรือไม่มีความจริงใจในการปฏิบัติตามคำพิพากษา เพราะคำพิพากษากำหนดไว้ชัดเจนว่ากัมพูชาได้ครอบครองดินแดนส่วนไหนบ้าง ยกเว้นดินแดนที่ยังไม่มีข้อยุติอย่างเด็ดขาด จำเป็นต้องทิ้งไว้ให้เป็นพื้นที่ชนวนกันชน ไม่มีการครอบครอง แต่อาจร่วมกันดูแลและไม่มีการใช้เป็นแหล่งธุรกิจโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

ตามที่กล่าวไว้แล้ว เมื่อการกำหนดวัตถุประสงค์เป็นไปโดยปริยายตามความปรารถนาของคนทั้งประเทศในเรื่องบูรณภาพดินแดนที่จะต้องดำรงไว้ให้ได้ หรือไม่ยอมสูญเสียดินแดนแม้แต่นิ้วเดียว และรัฐบาลต้องกำหนดเป็นนโยบายในรัฐสภาและรัฐบาลจะต้องกำหนดยุทธศาสตร์ชาติให้ชัดเจนในเรื่องดินแดนและบูรณภาพ และยุทธศาสตร์ชาติถ่ายทอดสู่กองทัพเพื่อเตรียมกำลังพลและกำลังรบไว้เพื่อรองรับยุทธศาสตร์ในเรื่องดินแดน

การเตรียมกองทัพจึงเป็นเรื่องสำคัญเพื่อมิให้เกิดความขาดแคลน หรือรัฐบาลไม่มีเครื่องมือที่จะเอาชนะศัตรูได้ในเวลารวดเร็ว ไม่ให้เป็นสงครามยืดเยื้อเพราะเป็นการสูญเสียอย่างมหาศาลหากว่าต้องรบกันนานวัน และกองทัพจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบแต่ฝ่ายเดียวหรือหากแพ้ แม้ว่าปัจจุบันความเห็นของสังคมโลกจะต่อต้านสงคราม แต่ขณะนี้ภัยสงครามก็ไม่ห่างจากบ้านเรา เช่น กรณีเกาหลีเหนือกำลังท้าทายสังคมโลก และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท้าทายสหรัฐฯและจีน หากเกิดสงครามแล้วไทยจะต้องทำอย่างไร ประชาชนจะคิดอย่างไร จะให้รัฐบาลและกองทัพทำอะไรและอย่างไร เพราะหากเกิดสงครามแล้วภูมิภาคนี้จะต้องกระทบกระเทือนและเกี่ยวข้องด้วย ประเทศไทย และอาเซียนก็ไม่เว้นเหมือนกับในอดีตอย่างแน่แท้

                                   nidd.riddhagni@gmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น