xs
xsm
sm
md
lg

ลูกหนี้รีไฟแนนซ์ได้เฮ! ค่าธรรมเนียมเหลือ0.5

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเฮดังๆ ธปท.เผยแบงก์พาณิชย์ยอมลดค่าธรรมเนียมรีไฟแนนซ์จากเดิม 2-3% เหลือ 0.5% เริ่มตั้งแต่เดือน มิ.ย.ถึงสิ้นปี เผยแบงก์เฉพาะกิจนำร่องไปก่อนแล้ว เผยความคืบหน้าศูนย์ประสานงานแก้ไขปัญหาการปล่อยสินเชื่อเดือนเดียวมียอดผู้ร้องเรียน 500 ราย แก้ไขปัญหา-ประสานงานส่งต่อให้แบงก์พาณิชย์แล้ว 300 ราย เล็งฟื้นสำนักปรับปรุงโครงสร้างหนี้สกัดปัญหาเอ็นพีแอล

นายสรสิทธิ์ สุนทรเกศ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า หลังจากที่สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐได้มีการยกเว้นค่าธรรมเนียมปรับปรุงโครงสร้างหนี้ (รีไฟแนนซ์) ให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ซึ่งส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์บางแห่งมีการพิจารณาลดค่าธรรมเนียมบ้าง แต่ล่าสุดธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบได้พร้อมใจกันลดค่าธรรมเนียมปรับปรุงโครงสร้างหนี้เหลือ 0.5% นับตั้งแต่เดือน มิ.ย.ถึงสิ้นเดือน ธ.ค.นี้ จากเดิมที่ธนาคารพาณิชย์ในระบบคิดในสัดส่วน 2-3% ถือเป็นการผ่อนคลายเงื่อนไขในการปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมากขึ้น

ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากประชาชนทั่วไปมีการร้องเรียนประเด็นนี้เข้ามามากที่ศูนย์ประสานงานแก้ไขปัญหาการปล่อยสินเชื่อ ทำให้ธปท.ได้มีการประสานงานและพูดคุยกับธนาคารพาณิชย์ในระบบเรื่องนี้และมีผลใหัลดค่าธรรมเนียมรีไฟแนนซ์ดังกล่าว โดยในปัจจุบันหลังจากที่ ธปท.เปิดศูนย์ฯ นี้มา 1 เดือน มียอดผู้ร้องเรียนเข้ามาทั้งสิ้น 500 รายพอดี ซึ่ง ธปท.ได้แก้ไขปัญหาไปแล้วประมาณ 300 ราย หรือคิดเป็น 60-70% ส่วนที่เหลือกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อไป

โดยผู้ร้องเรียนถึง 160 รายแจ้งว่าธนาคารพาณิชย์ไม่ปล่อยกู้ โดยอ้างหลักเกณฑ์ ธปท. ซึ่งประเด็นนี้เกิดความเข้าใจผิดของธนาคารพาณิชย์บางแห่ง โดยเฉพาะลูกหนี้ที่เป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) แล้วไม่สามารถปล่อยสินเชื่อ ซึ่ง ธปท.ได้มีการผ่อนปรนเรื่องนี้ให้แล้ว โดยให้พิจารณาโครงการที่ดีและมีศักยภาพมากกว่า นอกจากนี้ผู้ขอสินเชื่อมีคุณสมบัติไม่ครบถ้วน ซึ่ง ธปท.ได้ส่งเรื่องให้ธนาคารพาณิชย์ทบทวนและพิจารณาด้านศักยภาพของลูกค้าที่ขอสินเชื่อมากกว่า

ส่วนประเด็นอื่นๆ มีทั้งลูกค้าบัตรเครดิตต้องการขอวงเงินเพิ่ม แต่ไม่ได้รับอนุมัติ ซึ่งเกิดจากสาเหตุรายได้ไม่เพียงพอ โดย ธปท.เสนอให้ลูกค้านำหลักฐานที่แสดงว่ามีรายได้อื่นๆ เพิ่มเติมมาพิสูจน์ต่อธนาคารพาณิชย์ หรือกรณีที่ลูกค้าไม่สามารถผ่อนชำระขั้นต่ำ 10%ของหนี้ที่เหลือ ธปท.ก็แนะนำให้ลูกหนี้รายนั้นมาเจรจาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับธนาคารพาณิชย์แทน รวมทั้งกรณีที่ปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้วแต่ธนาคารพาณิชย์ไม่พิจารณา ลูกค้าติดปัญหาเครดิตบูโร ธนาคารพาณิชย์เข้มงวดมากเกินไป ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ธปท.ได้ประสานงานมาตลอดและภาพรวมเป็นที่น่าพอใจ

"ผู้ที่ร้องเรียนส่วนใหญ่เป็นลูกค้าของแบงก์ขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นธรรมดาที่ลูกค้าเขาเยอะก็มีปัญหาเยอะ แต่การจัดตั้งศูนย์ประสานงานฯ นี้ขึ้นมาไม่ได้เป็นช่องทางให้ลูกค้าสามารถเข้าหาแบงก์และขอเงินกู้ได้มากขึ้น แต่ต้องการรับทราบปัญหาและหาแนวทางแก้ไขปัญหานั้นๆ รวมถึงประสานงานในเรื่องต่างๆ ทั้งลดค่าธรรมเนียม การเร่งรัดปัญหาบางอย่างที่ติดขัดให้เร็วขึ้น หากจำนวนปัญหาการปล่อยสินเชื่อมีผู้ร้องเรียนกันหนาแน่นก็มีความเป็นไปได้ที่จะเลื่อนเวลาตั้งศูนย์นี้ให้มากกว่า 6 เดือน จากที่เคยคาดว่าจะตั้งศูนย์นี้มาแค่ระยะเวลาสั้นๆ"

ด้านนายเฉลิมชัย วงศ์ตั้งเจริญ หัวหน้าศูนย์ประสานงานฯ กล่าวว่า สถานการณ์การปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบันมีปัญหามากขึ้น โดยในช่วงที่ผ่านมาเฉลี่ยในแต่ละปี ธปท.จะได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการปล่อยสินเชื่อประมาณ 1,000 ราย แต่ในช่วงเศรษฐกิจแบบนี้ แค่เดือนเดียวก็มีคนร้องเรียนมาถึง 500 ราย ถือเป็นปริมาณที่เยอะ ซึ่งเรื่องนี้ ธปท.ต้องติดตามต่อไปว่าปัญหาจะเยอะเฉพาะในช่วงแรกๆ หรือไม่

ทั้งนี้ ผู้ที่ร้องเรียนเข้ามาที่ศูนย์ประสานงานฯ ส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องปรับปรุงโครงสร้างหนี้มากที่สุด 53 ราย เครดิตบูโร 44 ราย เอกสารไม่ครบ 28 ราย ธนาคารพาณิชย์ปฏิเสธสินเชื่อโดยไม่ได้แจ้งให้ทราบ 20 ราย และหลักประกันที่นำมาค้ำประกันสินเชื่อไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ประมาณ 10 ราย เป็นต้น

ฟื้นสำนักปรับปรุงโครงสร้างหนี้

ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า ขณะนี้ ธปท.กำลังอยู่ระหว่างศึกษาและตัดสินใจถึงความจำเป็นที่ควรจะมีการจัดตั้งสำนักปรับปรุงโครงสร้างหนี้หรือไม่ หลังจากที่ธนาคารพาณิชย์และประชาชนทั่วไปต้องการให้มีการตั้งสำนักปรับปรุงโครงสร้างหนี้ขึ้นมาช่วยเจรจาระหว่างลูกหนี้และเจ้าหนี้ โดยมี ธปท.เป็นตัวกลาง โดยยอมรับว่าสถานการณ์เอ็นพีแอลในตอนนี้ต่างกับปี 40 ที่ไม่ได้มีสูงมาก ขณะเดียวกันในช่วงนั้นลูกหนี้มีเจ้าหนี้หลายราย ต่างกับปัญหาปัจจุบันที่ลูกหนี้เป็นแค่รายย่อยและมีปัญหาแค่เจ้าหนี้รายเดียว อย่างไรก็ตามห่วงปัญหาเอ็นพีแอลในระบบเศรษฐกิจที่จะเพิ่มขึ้น จึงควรมีการแก้ไขปัญหาเหล่านี้แต่เนินๆ ทำให้ ธปท.อยู่ระหว่างชั่งน้ำหนักว่าควรจะมีสำนักปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในอนาคตหรือไม่

ธนาคารรัฐชี้แบงก์พาณิชย์ปรับตัว

นายเลอศักดิ์ จุลเทศ ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน กล่าวว่า ธนาคารใช้วิธีป้องกันการรีไฟแนนซ์โดยออกแคมเปญดอกเบี้ยคงที่ 3 ปี ปีที่ 1 ดอกเบี้ย 1.25% ปีที่ 2 MLR -2.0 ปีที่ 3 MLR – 0.50 ซึ่งลูกค้าอาจเห็นว่าหากรีไฟแนนซ์เพื่อมาใช้แคมเปญนี้ของธนาคารออมสินอาจคุ้มกว่าจึงมาใช้บริการ ส่วนการลดค่าธรรมเนียมดังกล่าวของธนาคารพาณิชย์เป็นกลไกที่พยามปรับตัว

นางจามรี เศวตจินดา รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) กล่าวว่า ในส่วนของ ธอส.ไม่มีการประกาศลดค่าธรรมเนียมไถ่ถอนสินเชื่อแต่จะพิจารณาเป็นรายๆ ตามความเหมาะสมที่ลูกค้าให้เหตุผลกับธนาคารดูว่าเขามีความจำเป็นเพียงใดในการขอไถ่ถอน เช่น กรณีที่ลูกค้าออกจากงานและได้รับเงินก้อนต้องการปิดบัญชีเพราะไม่สามารถผ่อนค่างวดระยะยาวได้ธนาคารก็จะพิจารณาอนุมัติตามความเหมาะสมเป็นกรณีไป.
กำลังโหลดความคิดเห็น