xs
xsm
sm
md
lg

ภารกิจพาณิชย์ : TESCO-EU

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว “แสงแดด” มีภารกิจสำคัญร่วมเดินทางเป็นแมลงหวี่ตัวเล็กๆ ไปร่วมสังเกตการณ์กับ “คณะกระทรวงพาณิชย์” ที่ประเทศอังกฤษ และประเทศเบลเยียมกับประเทศลักเซมเบิร์ก (Luxembourg) ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศของสหภาพยุโรป

การเดินทางร่วมไปกับคณะกระทรวงพาณิชย์ในครั้งนี้ “บทบาท-ภารกิจ” สำคัญคือ ความพยายามที่จะเจรจาทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ ของกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป โดยเฉพาะกรุงบรัสเซลส์ (Brussels) เป็นเมืองหลวงของประเทศเบลเยียม (Belgium) และไม่สำคัญเท่ากับเป็น “เมืองหลวง-ศูนย์กลาง” ของกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป (EU : European Union)

ความสำคัญของกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม คือเป็น “ศูนย์กลาง (Center)” ของทั้ง “รัฐบาลสหภาพยุโรป” และ “รัฐสภาสหภาพยุโรป” ที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า “EU. : Government– EU. Parliament” ซึ่งมีความสำคัญในการบริหารจัดการและกำหนดทั้งทิศทางนโยบาย ตลอดจนกฎเกณฑ์ ระเบียบข้อบังคับ ในการที่จะบริหารภายในกลุ่มประเทศสมาชิก ซึ่งมีทั้งหมด 27 ประเทศสมาชิก พร้อมทั้ง “การค้าการขายระหว่างประเทศ (Internationa Trade)” ที่ว่ากันตามความเป็นจริงแล้ว กรณีการค้าการขายระหว่างประเทศ เป็น “นโยบาย-หลักการ” สำคัญของกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป

มาที่กรุงบรัสเซลส์ในครั้งนี้ ภารกิจหลักของ “คณะผู้แทน” จากกระทรวงพาณิชย์เพื่อมาศึกษา พร้อมทั้งแสวงหาโอกาสในการกำหนดทิศทาง พร้อมทั้งกรอบเจรจาที่น่าจะเกิดขึ้นในการเจรจาจริงๆ จังๆ ภายใน 3-6 เดือนต่อจากนี้ ในกรณีของสินค้าภาคการเกษตร ส่วนสินค้าด้านอื่นๆ อาทิ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องเรือน เครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น น่าจะคืบหน้าได้ยากเพื่อการส่งออก เนื่องด้วยสภาวะเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปโดยทั่วไป ยังไม่ดีและติดลบประมาณร้อยละ 2-2.5 ในปี 2009 นี้

ดังนั้น สินค้าเกษตร น่าจะเป็นสินค้าที่ประเทศไทยยังมีโอกาสทำมาค้าขายได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม “การเจรจาเบื้องต้น” ในครั้งนี้ ของคณะผู้แทนยังคงต้องเจรจาอีกหลายรอบ เพื่อจะเปิดช่องทางให้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

“ความเขี้ยว” ของคณะผู้แทนจาก “คณะกรรมการสหภาพยุโรป (EU Commission)” ต้องขอย้ำว่า “เขี้ยวมาก!” เนื่องด้วยการเจรจาทุกกรณีต้อง “ยื่นหมู ยื่นแมว” หรือภาษาละตินคือ “Quit Pro Quo!” ที่แปลว่า “การแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ระหว่างกัน” พูดภาษาชาวบ้านง่ายๆ หมายความว่า “ไม่มีอะไรฟรีในโลกนี้!” ถ้าเราจะค้าขายอะไร จะต้องมีข้อเจรจาสินค้าที่แลกเปลี่ยนกัน มิฉะนั้น จะไม่สามารถเจรจาตกลงกันได้!

ความจริงที่ต้องยอมรับเลยว่า “อุตสาหกรรมการส่งออก” ที่สร้างรายได้หลักให้กับประเทศไทยนั้น ภายในปี 2009 ตลอดไปจนถึงปี 2010 เราจำต้องทนกลืนว่าจะไม่สามารถดำเนินได้เหมือนในอดีต จริงๆ แล้วทั่วโลกประสบปัญหาเหมือนกันหมดจาก “วิกฤตเศรษฐกิจโลก”

แต่ประเด็นสำคัญสำหรับสภาวการณ์เช่นนี้ ประกอบกับนโยบายของกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป โดยเฉพาะ “รัฐบาล-รัฐสภาสหภาพยุโรป” ใหม่เอี่ยมอ่องที่เพิ่งผ่านการเลือกตั้งไปเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน ที่ผ่านมา น่าเชื่อว่า “นโยบาย-มาตรการกีดกันทางการค้า” หรือ “Protectionism” จะเข้มข้นมากขึ้น หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ กรณีการค้าการขาย จะมีการกำหนดกฎเกณฑ์ ระเบียบข้อบังคับที่ “เข้มงวด” มากขึ้น ทั้งในกรณีของ “สาธารณสุข (Health)” ที่ต้องปราศจากเชื้อโรคและสารพิษ ตลอดจน “ภาษีศุลกากร-การยกเว้นภาษี” และ “การรับการยกเว้นนำเข้า” หรือ “GSP”

จากข้อมูล และการประชุมร่วมกันของคณะผู้แทนจากกระทรวงพาณิชย์ ทั้งในประเทศอังกฤษกับสหภาพยุโรป “สินค้าเกษตร” น่าจะเป็น “สินค้าหัวหอก” ที่สามารถส่งออกจากประเทศไทยได้ดีที่สุด เนื่องด้วย “การบริโภค” และ “ความต้องการ” ของสินค้าเกษตรไทย ยังสามารถส่งออกสู่สหภาพยุโรปได้มาก ไม่ว่าจะเป็นพืชผักผลไม้ และบรรดาสัตว์ปีก โดยเฉพาะไก่

ดังที่กล่าวไว้แล้วข้างต้นว่า สินค้าเครื่องนุ่งห่ม และ/หรือแฟชั่นนั้น หรือแม้กระทั่ง เฟอร์นิเจอร์เครื่องเรือน ไม่น่าจะเป็นสินค้าที่ความต้องการมากเหมือนในอดีต เพราะสภาวะเศรษฐกิจ แต่สินค้าเกษตรนั้น ยังสามารถขายได้ เนื่องด้วยมนุษย์ต้องรับประทาน ซึ่งเป็นปัจจัยขั้นพื้นฐาน

ทั้งนี้ “สินค้าเกษตร” ต้องได้การรับรอง “มาตรฐาน” ที่สูงมาก จากกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ถ้าได้การรับรองผ่านมาตรฐานด้านสุขอนามัยและสาธารณสุข สินค้าเกษตรไทยก็สามารถขายได้ทั่วโลก

ประเด็นปัญหาที่ประสบพบเจอคือ “ความไม่มั่นใจ” ของกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป จากการฟังการบรรยายและประชุมร่วมกันของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหภาพยุโรปกับฝ่ายกระทรวงพาณิชย์ไทย ว่า “ความจริงใจ” ในการเปิดกว้างรับสินค้าเกษตรไทยจะเป็นเช่นไร หรือว่าเพียงแค่ “ปากบริการ” หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า “Lip Service!”

อย่างไรก็ตาม ผลของการประชุมเบื้องต้น มีความคืบหน้าพอสมควร ที่จะพยายามผลักดันสินค้าเกษตรเข้ามาจำหน่ายในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ทั้งพืชผักผลไม้ และโดยเฉพาะ “ไก่สดแช่แข็ง” ที่เราถูกหยุดให้มาจำหน่ายในสหภาพยุโรปประมาณ 3 ปีแล้ว เหตุผลสำคัญก็เพราะ “โรคไข้หวัดนก” ที่ระบาดในเอเชีย

“กลุ่มสหฟาร์ม” ภาคเอกชนได้ร่วมเดินทางมากับคณะของกระทรวงพาณิชย์ เพื่อจะเจรจาให้มีการอนุญาตนำ “ไก่สด” เข้ามาได้อีก ทั้งนี้ “กลุ่มเจริญโภคภัณฑ์” หรือ “กลุ่มซีพี” ก็เป็นภาคเอกชนรายใหญ่ ที่นำเข้าไก่มาขายกับกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปเช่นเดียวกัน และก็ยังมีบริษัทค้าไก่ ส่งเข้ามาจำหน่ายประมาณ 3-4 บริษัทเช่นเดียวกัน แต่ “สหฟาร์ม” และ “เจริญโภคภัณฑ์” จะเป็นสองอันดับยักษ์ใหญ่ในการจำหน่ายไก่ในสหภาพยุโรป

“ไก่ปรุงสุก” เท่านั้น ที่สามารถนำมาขายได้ในสหภาพยุโรป แต่ต้องแปรสภาพหลากหลายรูปแบบ ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า “ขายดี!” ได้รับการตอบรับอย่างมาก เพียงแต่ไก่สดเท่านั้น ที่ยังเป็นปัญหาอยู่ ทั้งๆ ที่ตามหลักเกณฑ์ของกลุ่มประเทศอียูกำหนดว่า ถ้าเลย 90 วัน ที่ปราศจากโรคไข้หวัดนกในฟาร์มไก่ สามารถที่จะให้อียูมาตรวจสอบและส่งไก่ออกมาขายในกลุ่มประเทศอียูได้ แต่วันเวลาก็ผ่านไปโดยยังไม่ถึงขั้นตอนของการเริ่มต้นเจรจาแต่อย่างใด

ว่ากันตามความเป็นจริงแล้ว ปัญหาทั้งหลายทั้งปวง เราจะมาโทษฝ่ายอียูอย่างเดียวคงไม่ได้ เนื่องด้วยสาเหตุสำคัญเกิดจากฝ่ายไทยเราเอง ที่ยังไม่ได้เริ่มต้นการประสานงานแต่อย่างใด โดยเฉพาะ “การกดดัน-การผลักดัน” จากทั้ง “กระทรวงพาณิชย์” และโดยเฉพาะ “กระทรวงเกษตรและสหกรณ์”

กระทรวงหลักๆ ที่มีหน้าที่สำคัญในการเริ่มต้นที่จะประสานงานหนึ่งล่ะ พร้อมทั้งหาข้อมูล และสองเริ่มกำหนดทิศทางและหลักการในการเจรจากับอียูจะต้องเป็น “กระทรวงพาณิชย์-กระทรวงเกษตรฯ-กระทรวงการต่างประเทศ”

จากการที่คณะผู้แทนจากกระทรวงพาณิชย์ได้บุกเบิกมาเริ่มประมวลปัญหา และหาแนวทางร่วมกันระหว่าง “กระทรวงพาณิชย์” และ “รัฐบาลของสหภาพยุโรป” กับภารกิจครั้งนี้ ซึ่งต้องยอมรับว่า “รัฐมนตรีฯ พาณิชย์ พรทิวา นาคาศัย” ได้กำหนดให้คณะทีมที่ปรึกษาและข้าราชการระดับสูงของกระทรวงฯ มาเป็นทีมประสานงานเบื้องต้น เพื่อสามารถก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวและเดินหน้าต่อไปได้

“บริษัท เทสโก้โลตัสฯ (TESCO LOTUS)” ประเทศไทย ได้เริ่มบุกเบิกนำผลไม้ 6-7 ชนิด อาทิ เงาะ ลิ้นจี่ มะม่วง แก้วมังกร และมังคุด กับ “ห้างซูเปอร์มาร์เก็ต เทสโก้ (TESCO)” ที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ มีทั้งชาวเอเชียที่ทำมาหากินและพักอาศัยอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ตลอดจนชาวอังกฤษเอง โปรดปรานบริโภคผลไม้ไทย โดยเริ่มต้นที่จำนวนปริมาณ 50,000 ตันต่อปี และจะเพิ่มปริมาณมากขึ้นในอนาคต โดยมิได้หวังผลตอบแทนใดๆ เพียงเพื่อต้องการช่วยระบายผลไม้ไทยสู่อังกฤษ

“แสงแดด” ได้มีโอกาสพบปะสนทนาพูดคุยกับ “เจ้าของร้านอาหารไทย” และ “ผู้นำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค” จากประเทศไทย ปรากฏว่า ปริมาณจำนวนมากถึงแสนตัน (ประมาณหลักล้านกิโลกรัม) ไม่ว่าจะเป็น เครื่องปรุงอาหาร ของแห้ง ผักสด “ร้านอาหารไทย” เป็นที่นิยมมากของชาวต่างชาติ ทั่วทั้งสหภาพยุโรป ในกรุงบรัสเซลส์มีหนึ่งถนนที่ขายอาหารไทยประกบคู่กับอาหารเวียดนาม แต่ตั้งชื่อเป็นไทย ตกแต่งด้วยของไทยๆ แต่ปรากฏว่า เจ้าของเป็นชาวต่างชาติเกือบร้อยละ 90

ปัญหาสำคัญ ของสินค้าเกษตรไทยคือ “ผักสด” โดยเฉพาะ “ใบมะกรูด” ที่นำเข้าได้เฉพาะแช่แข็ง สดๆ ห้ามนำเข้าเด็ดขาด แม้กระทั่ง ใบกะเพรา และใบโหระพา นำเข้าสดได้ แต่ก็ต้องประสบปัญหาเยอะ

“ไก่สด” ยังเป็นปัญหาใหญ่ ที่ไม่สามารถนำเข้าได้ โดยมีมูลค่าประมาณเกือบ 50,000-60,000 ล้านบาทต่อปี ถ้าการเจรจาบรรลุเป้าหมายภายในปี 2552 (2009) นี้ หรืออาจจะเกือบหนึ่งแสนล้านบาทต่อปี

ดังนั้น บทบาทของกระทรวงพาณิชย์ในครั้งนี้ จึงมีความสำคัญอย่างมากกับการเริ่มก้าวเดินหน้าเพื่อ “สินค้าเกษตรไทย” เพื่อพี่น้องเกษตรกรไทย เนื่องด้วยสินค้าอื่น มิอาจส่งออกได้มากมายนัก

ต้องช่วยกันผลักดัน และขอขอบคุณ “เทสโก้ (TESCO)” ที่เพียรพยายามหาหนทางช่วยเจรจากับรัฐบาลอังกฤษ ในการนำเข้าใบมะกรูดสด และไก่สดเช่นเดียวกัน

“แสงแดด” สบโอกาสสังเกตการณ์กับกระทรวงพาณิชย์ในครั้งนี้ต้องบอกว่า “คุ้ม!”
กำลังโหลดความคิดเห็น