xs
xsm
sm
md
lg

ชำแหละข้อตกลงลงทุนอาเซียน-เกาหลีบันเทิง-หนัง-สิ่งแวดล้อมไทยสบช่องลุย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ คาดอีก 2 เดือนความตกลงการลงทุนอาเซียน-เกาหลีใต้มีผลบังคับใช้ เผยอุตสาหกรรมบันเทิง ภาพยนตร์ และสิ่งแวดล้อมของไทยมีโอกาสไปลงทุนในเกาหลีใต้สูง แถมมีโอกาสดึงดูดการลงทุนเพิ่มขึ้น ระบุนักลงทุนจะได้รับการคุ้มครองเต็มที่ หากไม่ได้รับความเป็นธรรมสามารถฟ้องร้องได้

นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า นักลงทุนไทยมีโอกาสที่จะขยายการลงทุนไปยังเกาหลีใต้ได้เพิ่มขึ้น ทั้งการเข้าไปลงทุนโดยตรงหรือการร่วมทุน โดยเฉพาะในธุรกิจอุตสาหกรรมบันเทิง ภาพยนตร์ และสิ่งแวดล้อม หลังจากที่อาเซียน-เกาหลีใต้ ได้มีการลงนามความตกลงว่าด้วยการลงทุนไปแล้วเมื่อวันที่ 2 มิ.ย.ที่ผ่านมา และคาดว่าความตกลงจะเริ่มมีผลบังคับใช้ได้ในอีก 2 เดือนข้างหน้านี้

ขณะเดียวกัน ไทยมีโอกาสในการดึงดูดการลงทุนจากเกาหลีใต้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในสาขาอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า พลาสติก เซรามิกส์ เหมืองแร่ เคมีภัณฑ์ โลหะขั้นพื้นฐาน  

นางนันทวัลย์ กล่าวว่า นอกเหนือจากการเปิดเสรีด้านการลงทุน อาเซียนและเกาหลีใต้ จะต้องให้การส่งเสริมและความคุ้มครองการลงทุน โดยมีพันธกรณีให้รัฐบาลที่รับการลงทุนให้การคุ้มครองนักลงทุนที่เป็นภาคีภายใต้ความตกลงนี้มาลงทุนในประเทศที่รับการลงทุน โดยต้องปฏิบัติที่เป็นธรรมต่อนักลงทุน ให้มีการโอนเงินลงทุนอย่างเสรีให้การชดเชยความเสียหายแก่นักลงทุนในกรณีเกิดเหตุการณ์ไม่สงบ ให้การชดเชยในกรณีที่การลงทุนของนักลงทุนถูกเวนคืน และเปิดให้มีการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลและนักลงทุน

ยกตัวอย่างเช่น กรณีที่ นักลงทุนไทยไปลงทุนอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปในประเทศเกาหลีใต้ รัฐบาลเกาหลีใต้ต้องการเวนคืนที่ดินของนักลงทุนไทย รัฐบาลเกาหลีใต้จำเป็นต้องทำตามพันธกรณีที่ระบุไว้ในความตกลง คือ ต้องชดเชยค่าเวนคืนตามราคาตลาดอย่างยุติธรรม หรือในกรณีที่นักลงทุนเกาหลีมาลงทุนอุตสาหกรรมผลิตอิเล็กทรอนิกส์รัฐบาลไทยต้องไม่ขัดขวางเกาหลีใต้ในการโอนเงินโดยไม่มีเหตุจำเป็น แต่ถ้ารัฐบาลที่รับการลงทุนไม่ปฏิบัติตามพันธกรณีที่ระบุไว้ในความตกลง นักลงทุนมีสิทธิฟ้องรัฐบาลนั้นได้ตามกลไกที่ระบุ โดยสามารถฟ้องภายใต้ศาลภายในประเทศหรืออนุญาโตตุลาการได้แล้วแต่ตกลงกัน

สำหรับการลงทุนในไทย นักลงทุนจากประเทศภาคีจะต้องดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งก่อนที่จะได้รับการคุ้มครองอย่างเป็นทางการ คือ จะต้องขอใบรับรองการให้ความเห็นชอบการให้ความคุ้มครองการลงทุน (Certificate of Approval for Protection) จากคณะกรรมการให้ความเห็นชอบการให้คุ้มครองการลงทุนภายใต้ความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนระหว่างประเทศไทยกับประเทศต่างๆ หรือได้รับใบอนุญาตการประกอบธุรกิจจากรัฐมนตรี หรืออธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 หรือบัตรส่งเสริมจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือสัญญาสัมปทานจากหน่วยงานภาครัฐ

นางนันทวัลย์ กล่าวว่า ความสำเร็จของความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) อาเซียน-เกาหลีใต้ ที่ได้มีการเปิดเสรีครอบคลุมทั้งในด้านการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน ไม่เพียงแต่ทำให้การค้า การค้าบริการ และการลงทุนระหว่างอาเซียน-เกาหลีใต้ขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่จะเป็นผลดีที่จะนำไปสู่การเจรจาขยายความสัมพันธ์และการค้า การลงทุนระหว่างอาเซียน +3 (จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) และ +6 (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย) เร็วขึ้น ตามยุทธศาสตร์ที่ต้องการให้อาเซียนเป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุน รวมทั้งมีความมั่นใจในการทำธุรกิจกับภูมิภาคนี้

ปัจจุบันอาเซียนถือเป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ 5 ของเกาหลีใต้มีมูลค่าประมาณ 6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และอาเซียนเป็นแหล่งลงทุนอันดับ 3 ของเกาหลีใต้รวมมูลค่าประมาณ 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนไทย ปัจจุบันเกาหลีใต้มีการลงทุนในไทยมูลค่า 4.62 พันล้านบาท ลงทุนมากเป็นอันดับที่ 8 ของการลงทุนจากต่างชาติ
กำลังโหลดความคิดเห็น