xs
xsm
sm
md
lg

ชี้พื้นฐานศก.อีสานยังแข็งเพราะมีท่องเที่ยว-อุตฯอาหารหนุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ หอการค้าไทย
ศูนย์ข่าวขอนแก่น-ผอ.ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศระบุวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ทำ SMEs ไทยเจ๊งกว่า 200 % ชี้พื้นฐานเศรษฐกิจอีสานยังแข็งเพราะมีธุรกิจท่องเที่ยวและแหล่งผลิตอาหารเป็นตัวค้ำยัน แนะผู้ประกอบการเร่งปรับตัว มุ่งเจาะตลาด-สร้างแบรนด์ให้แข็ง รับมือการแข่งขัน ย้ำอย่ามองข้ามตลาดเพื่อนบ้าน

ที่โรงแรมเจริญธานี ปริ้นเซส กรมพัฒนาธุรกิจการค้าร่วมกับองค์กรธุรกิจเอกชนหลายองค์กรจัดโครงการไทยช่วยไทย 2009 หนุนธุรกิจไทย สู้ภัยเศรษฐกิจโลก” AIS SMEs FORUM โดยมีผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อมในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นและใกล้เคียงเข้าร่วมจำนวนมาก

ผศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ หอการค้าไทย เปิดเผยว่าภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นคงเลี่ยงไม่พ้นที่ภาคธุรกิจจะได้รับผลกระทบ ส่วนจะกระทบมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับความพร้อมในการรับมือของแต่ละภาคส่วนธุรกิจ ซึ่งภาพรวมของไทยเองเศรษฐกิจติดลบ 3-4 % ส่งผลให้มีอัตราว่างงานภายในประเทศนับล้านคน โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs จากฐานข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าระบุว่าประสบปัญหาขาดทุนมากกว่า 200% ในจำนวนนี้รวมถึงผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคอีสานด้วย

กลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากคืออุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีในการผลิตสูง ทั้งโรงงานสิ่งทอ โรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเลคทรอนิคซ์ฯลฯ ซึ่งสินค้าเหล่านี้ต้องพึ่งตลาดส่งออกเป็นหลัก เมื่อเศรษฐกิจโลกตกต่ำ คำสั่งซื้อกำลังซื้อในตลาดก็หายไปด้วย

อย่างไรก็ตาม พื้นที่ภาคอีสาน แม้ว่ากลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตส่วนหนึ่งประสบปัญหาสภาพคล่องเพราะตลาดรองรับสินค้าหดตัว แต่เศรษฐกิจโดยรวมของภาคยังเดินหน้าต่อไปได้ เนื่องจากมีจุดแข็งของภาคธุรกิจท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมผลิตอาหารและภาคเกษตรช่วยค้ำยัน ถือว่าได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นไม่มากนัก สามารถประคองกิจการต่อไปได้ แต่ทั้งนี้ผู้ประกอบการเหล่านี้ต้องดำเนินกิจการต่อไปด้วยความระมัดระวังมากขึ้น พยายามรักษาฐานตลาดให้มั่น ลดต้นทุนที่ไม่จำเป็น เพื่อคงสภาพคล่องไว้

ผศ.ดร.อัทธ์แสดงความเห็นว่า ประเด็นปัญหาใหญ่ของผู้ประกอบการ SMEs ยังคงเป็นเรื่องของการทำตลาดที่ไม่มีความชำนาญพอหรือถูกมองข้ามความสำคัญไป ในภาวะที่การแข่งขันสูง ตลาดมีจำกัด ต้องตีโจทย์ให้แตกว่าสินค้าของตัวเองจะต้องมุ่งเจาะตลาดกลุ่มใดเป็นพิเศษ ต้องสร้างความชัดเจนของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย การวางตำแหน่งสินค้าและการสร้างแบรนด์ให้มีความชัดเจนและเข้มแข็งเป็นสิ่งจำเป็นมาก จะทำตลาดโดยรวมๆไม่ได้อีกแล้ว

ขณะเดียวกันการบริหารจัดการก็ต้องพัฒนา จะคิดเหมือนเถ้าแก่นั่งขายสินค้าอยู่กับที่เหมือนเดิมไม่ได้ ต้องนำระบบการจัดการที่มีประสิทธิภาพมาปรับใช้กับธุรกิจให้มากขึ้น ข้อมูลที่เท่าทันและเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่เป็นเครื่องมือที่จะมองข้ามไม่ได้

“ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในภาคอีสานยังมีข้อได้เปรียบอีกอย่างหนึ่ง คืออยู่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งลาว กัมพูชา หรือแม้แต่เวียดนาม ลองสำรวจและขยายฐานลูกค้าไปยังประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้บ้าง ดีกว่าจำกัดลูกค้าเดิมๆ เมื่อมีสินค้าอยู่แล้วก็ส่งไปขายในพื้นที่ที่มันน่าจะขายของได้”ผศ.ดร.อัทธ์กล่าวและแสดงความเห็นต่อว่า

สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ต้องพึงระวังในช่วงปีนี้ยังคงเป็นเรื่องของการเมืองภายในที่ยังไม่นิ่งพอ ทำให้นักลงทุนรายใหม่ไม่กล้าเข้ามาลงทุนหรือแม้แต่การขยายธุรกิจหรือการขยายลงทุนเพิ่มของผู้ประกอบการรายเดิมก็ไม่กล้าเสี่ยงเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีเรื่องของปัญหาราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับราคาเพิ่มขึ้นอีก น้ำมันถือเป็นสินค้าต้นทุนที่มีมีผลกระทบต่อการค้าการลงทุนมาก

ดังนั้นในภาวะที่เศรษฐกิจอยู่ในช่วงขาลงเช่นนี้ ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมต้องพยายามพึ่งตัวเองให้มาก อย่ารอแต่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาลเป็นหลัก เพราะนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐเป็นเพียงแค่ตัวช่วยเท่านั้น
ผศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ หอการค้าไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น