xs
xsm
sm
md
lg

ทุเรียน

เผยแพร่:   โดย: ชัยอนันต์ สมุทวณิช

ฤดูนี้มีผลไม้ออกมามากมาย ทั้งมังคุด ลิ้นจี่ มะม่วง และที่สำคัญก็คือ ทุเรียน

ในบรรดาผลไม้ของไทยทั้งหลายนี้ ทุเรียนได้รับการยกย่องให้เป็น “ราชา” ของผลไม้ ส่วน “ราชินี” ของผลไม้นั้นได้แก่ มังคุด

ทุเรียนมีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า ดูริโอ ไซเบทินัล เมอร์เรย์ (Durio Ziberthinus Murray) โดย ดูริโอ เป็นชื่อสกุล (Genus) ไซเบทินัลเป็นชื่อชนิด (Species) และเมอร์เรย์เป็นชื่อผู้ค้นพบ

ทุเรียนเป็นผลไม้ที่มีในเมืองไทยมานานแล้ว โดยลาลูแบร์ ได้บันทึกเกี่ยวกับทุเรียนเมื่อสองร้อยกว่าปีว่า

“ดูเรียน ชาวสยามเรียกว่า ทูลเรียน เป็นผลไม้ที่นิยมกันมากในแถบนี้ แต่สำหรับข้าพเจ้าไม่สามารถทนต่อกลิ่นเหม็นอันรุนแรงของมันได้ ผลมีขนาดเท่าผลแตงมีหนามอยู่โดยรอบ ดูๆ ไปก็คล้ายกับขนุนเหมือนกัน มีเมล็ดมาก แต่เมล็ดขนาดใหญ่เท่าไข่ไก่ ซึ่งเป็นส่วนที่ใช้กิน ภายในยังมีอยู่อีกเมล็ดหนึ่ง ถือกันว่าสิ่งมีเมล็ดในน้อยยิ่งเป็นทุเรียนดี อย่างไรก็ตาม ในผลหนึ่งๆ ไม่เคยปรากฏว่ามีน้อยกว่า 3 เมล็ดเลย”

คำว่า “ดูเรียน” เป็นภาษามลายู มาจากคำว่า “ดูริ” แปลว่า หนาม

มีการนำทุเรียนจากจังหวัดนครศรีธรรมราช มาปลูกในกรุงเทพฯ ตั้งแต่ พ.ศ. 2318 และมีการทำสวนทุเรียนที่ตำบลบ้านกร่าง ในคลองบางกอกน้อยตนใน ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี ตั้งแต่ พ.ศ. 2397 ดังนั้น ทุเรียนที่ถือว่าดีที่สุดก็คือ ทุเรียนเมืองนนท์

เดี๋ยวนี้ทุเรียนเมืองนนท์หากินยาก แต่ละสวนก็ติดลูกน้อย ยิ่งทุเรียนก้านยาวที่ถือว่าเป็นยอดของทุเรียนแล้ว ยิ่งมีน้อย ปีที่แล้วมีก้านยาวลูกหนึ่งขายไปในราคา 15,000 บาท

แม้ทุเรียนเมืองนนท์จะเหลือน้อย เพราะน้ำท่วมต้นตายไปบ้าง โดยเฉพาะเมื่อน้ำท่วมใหญ่ปี 2485 ชาวสวนขายสวนกลายเป็นหมู่บ้านจัดสรรไปบ้าง แต่เราก็ยังมีทุเรียนก้านยาว และพันธุ์อื่นๆ กิน เพราะมีการเพาะพันธุ์ ขยายพันธุ์ไปยังจังหวัดอื่นๆ เช่น ระยอง จันทบุรี ตราด นครนายก และปราจีนบุรี ซึ่งแม้จะมีรสชาติและเนื้อไม่เนียนเท่า แต่ก็อร่อยไม่แพ้กัน ปัจจุบันมีทุเรียนมากถึง 227 พันธุ์ และมีการทำพันธุ์ใหม่ๆ ไว้ เช่น พันธุ์นวลทองจันทร์ที่ผสมระหว่าง “พวงมณี” กับ “หมอนทอง” เป็นต้น

พันธุ์ทุเรียนที่ปลูกในบ้านเรามี 6 กลุ่มใหญ่ด้วยกัน คือ กลุ่มกบมี 46 พันธุ์ เช่น กบตาขำ กบทองคำ กบแม่เฒ่า กบก้านเหลือง เป็นต้น

กลุ่มลวงมี 12 พันธุ์ เช่น ลวงทอง ชะนี ย่ำมะหวาด ชมพูศรี เป็นต้น แต่ชะนีจะเป็นที่นิยมมากที่สุด

กลุ่มก้านยาวมี 8 พันธุ์ เช่น ก้านยาว ก้านยาววัดสัก ก้านยาวสีนาก

กลุ่มกำปั่นมี 13 พันธุ์ เช่น กำปั่นเหลือง กำปั่นแดง ปิ่นทอง หมอนทอง ซึ่งเป็นที่นิยมมากที่สุด

กลุ่มทองย้อยมี 14 พันธุ์ เช่น ทองย้อยเดิม ทองย้อยฉัตร ทองใหม่

กลุ่มเบ็ดเตล็ดมี 81 พันธุ์ เช่น กะเทยเนื้อขาว กระดุมทอง บางขุนนนท์ พวงมณี

ทุเรียนอันดับหนึ่ง คือ “ก้านยาว” นั้น มีเนื้อละเอียดเนียนเหนียว เส้นใยของเนื้อมีน้อย ติดผลดี เนื้อเมื่อสุกจะไม่เละ สุกงอมแล้วเนื้อไม่แฉะ สีเนื้อสม่ำเสมอ เหลืองนวล

ชาวอินโดนีเซีย และมาเลเซีย ชอบทุเรียนที่มีเนื้อแฉะๆ ผู้หญิงอินโดนีเซียเชื่อว่า หากเอาน้ำเทลงในพูทุเรียนแล้วดื่ม จะทำให้ช่องคลอดกระชับ (เรื่องนี้จริงเท็จเพียงใด ผมไม่รับรอง แต่เพื่อนผู้หญิงอินโดนีเซียเล่าให้ผมฟัง)

เด็กๆ ผมได้กินทุเรียนบ่อย เพราะแม่ผมเป็นคนระยอง ต่อมาพ่อผมไปเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี เวลามีการประกวดทุเรียน ลูกไหนชนะเลิศก็จะมีคนเอามาให้ แต่พ่อผมไม่กินทุเรียน ดังนั้นแม่ผมก็ให้หลานคือ ยายพลอยกิน แม่ผมบิเข้าปากยายพลอยเพลิน จนยายพลอยไม่กินทุเรียนมาจนทุกวันนี้

ปีนี้ผมได้รับอนุญาตให้กินทุเรียนได้ 2 เม็ด แต่เป็นทุเรียนก้านยาวของสวนเมืองนนท์ ที่ยังหลงเหลืออยู่น้อยมาก เจ้าของสวนชื่อ “ป้าเปี๊ยก” ทุเรียนของป้าเปี๊ยกต่างกับสวนอื่นตรงที่ไม่ฉีดฮอร์โมน เมล็ดจึงสีเหลืองนวลสวย ขณะที่อื่นๆ เมล็ดจะสีขาว

ทุเรียนก้านยาวของสวนป้าเปี๊ยกมีเพียง 50 ลูก แต่ก็ยังติดผลมากกว่าปีที่แล้ว ผมได้กินก่อนเพราะบังเอิญลูกมันสุกตกลงมา ในงานวันทุเรียนจัดที่เซ็นทรัล รัตนาธิเบศร์ ในต้นเดือนมิถุนายนนี้ ป้าเปี๊ยกจะนำทุเรียนไปขาย และจะหมดก่อนเจ้าอื่น ราคาลูกละ 3,500-5,000 บาท แถมมีแบบ “คอมโบ” คือขาย 3 ลูกเล็ก กลาง ใหญ่อีกด้วย ราคา 3 ลูก 15,000 บาท

ใครชอบทุเรียนก็รีบไปหาซื้อเสียนะครับ เขามีขายหลายเจ้า อย่าลืมว่าของดีที่สุด คือ ของ “ป้าเปี๊ยก” ครับ

ก้านยาวที่พอจะทาบกับก้านยาวของป้าเปี๊ยกได้ คือ ก้านยาวจากตราดสวนของคุณอนันต์ อนันตกูล ฝากมาให้ผมทานครับ ใครอยากทานก็ถามไถ่กันเอาเองนะครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น