xs
xsm
sm
md
lg

มาร์คลั่นฝ่าวิกฤตสร้างศก.ใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“อภิสิทธิ์” เดินหน้าลุยฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจ ชี้หากผ่านพ้นได้จะนำพาประเทศมุ่งสู่สิ่งที่ดีพัฒนาศักภาพและจุดแข็งที่มีอยู่ให้หลุดพ้นวังวนแห่งอดีตเดิมๆ ย้ำการพัฒนาคนเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำเป็นอันดับแรกหนุนคนไทยให้รักการเรียนรู้ตลอดชีวิต ส่วนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรัฐและเอกชนจะต้องร่วมมือทำพร้อมกัน ระบุนักการเมืองต้องมีสำนึกและสปิริตอย่างเพียงพอแม้ไม่ได้บัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรลงในกฎหมายก็ตาม

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาหัวข้อ “วิกฤตโลกกับการขับเคลื่อนประเทศไทย” ในงานสัมมนา “สุชนสโมสร ... ร่วมขับเคลื่อนประเทศไทย” จัดโดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ณ ห้องเวิลด์บอลรูม โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ วานนี้ ว่า วิกฤตเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นในครั้งนี้รุนแรงและน่ากลัวกว่าครั้งวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 มากเนื่องจากผลกระทบเกิดขึ้นแทบทุกประเทศและเศรษฐกิจไทยผูกติดกับเศรษฐกิจโลก แม้ว่าจะมีการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศให้ฟื้นตัวแต่หากสภาพเศรษฐกิจทั่วโลกยังย่ำแย่อยู่ก็เป็นเรื่องยากที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวกลับมาเช่นเดิม
สำหรับโจทย์ในการขับเคลื่อของประเทศไทยนั้นมองว่าการอาสาเข้ามาแก้ปัญหาวิกฤตของประเทศไม่ได้เข้ามาเพียงแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้เป็นบวก หรือบ้านเมืองกลับสู่ภาวะปกติเท่านั้นแต่การที่จะขับเคลื่อประเทศไทยให้ก้าวต่อไปได้ต้องมีความกล้าและทะเยอทะยาน อย่าคิดแค่เพียงหลุกพ้นจากวิกฤตเท่านั้นต้องมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้มีสิ่งใหม่ที่ดีเกิดขึ้น ซึ่งมีสิ่งที่ต้องทำหลายอย่างโดยเมื่อมองย้อนกลับไป 7-8 ปีที่ผ่านมาที่ดูเหมือนเศรษฐกิจดีแต่ความเข้มแข็งของประเทศในหลายๆ ด้านถูกปล่อยปะละเลยมาโดยตลอด
“ที่ผ่านมาเราเชื่อมั่นในพื้นฐานต่างๆ ทั้งหลายที่ดีของเราที่แตกต่างจากคู่แข่งแต่เราจะภูมิใจเช่นนั้นอย่างเดียวไม่ได้จะต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงบางอย่างให้ดีขึ้น เพราะในขณะที่ประเทศไทยเป็นครัวของโลกเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลกแต่ทำไมจึงมีเกษจรากร ชาวไร่ ชาวนาออกมาประท้วงเรื่องราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ปัญหาที่ดินทำกิน ปัญหาหนี้สินและอื่นๆ อีกมากมาย” นายอภิสิทธิ์กล่าวและว่า คนเรามักคิดเพียงจะทำให้กลับไปที่เดิม ซึ่งไม่ได้ แต่ต้องดีกว่าเดิม เราต้องยอมเจ็บปวดบ้างในบางเรื่อง เพื่อให้ผ่านพ้นตรงนี้และมีความเข้มแข็งในวันข้างหน้า เราผ่านวิกฤติมากหลายครั้งทั้งการเมืองและเศรษฐกิจ แต่เรามีความสามารถในการปรับตัวและยืนยันว่าจะนำพาประเทศไปข้างหน้าให้ได้

ปฏิรูปคนหนุนเรียนรู้ตลอดชีวิต
สำหรับสิ่งแรกที่ต้องเร่งดำเนินการในการพัฒนาพื้นฐานของประเทศที่สำคัญมากคือ เรื่องคน โดยเฉพาะการปฏิรูปการศึกษาที่ได้ทำไปแล้วเมื่อปี 2541-2542 ซึ่งบางเรื่องดีขึ้นแต่ก็ไม่เป็นไปตามที่ฝันไว้โดยเฉพาะการเรียนฟรีที่รัฐธรรมนูญก็ได้กำหนดไว้ตั้งแต่ 12 ปีที่แล้วแต่รัฐบาลก็ละเลยไม่ได้มีการสานต่อเพื่อพัฒนาทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของประเทศไป
“จากนี้จะเพิ่มระดับการพัฒนาซึ่งนอกจากจะมองการศึกษาแค่ในโรงเรียนหรือสถานศึกษาจะหันมามองการพัฒนาสมองของคนสนับสนุนให้ครอบครัวมีการเลี่ยงดูกันในระดับพ่อ แม่ ลูก ไม่ใช่ตา ยาย เป็นคนเลี้ยงในชนบท หรืออยู่กับพี่เลี้ยง เพราะถือว่าไม่ใช่พื้นฐานที่ดีในการสร้างสังคมซึ่งรูปแบบการศึกษาที่เน้นการป้อนความรู้สาระมากเกินไปจนเด็กรับไม่ไหวหรือรับไหวก็ไม่สามารถนำไปใช้ทำอะไรก็จะเปลี่ยนรูปแบบไป” นายกรัฐมนตรีกล่าวและว่า จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกระบวนการคิดวิเคราะห์ เกิดการเรียนรู้ที่จะอยู่ในสังคมเข้าใจความแตกต่างและอยู่ร่วมกันได้รวมทั้งสนับสนุนให้คนสนใจที่จะเรียนรู้ตลอดเวลาและตลอดชีวิต
ในขณะที่การลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะด้านโลจิสติก ที่เชื่อมโยงไปถึงด้านเกษตร อุตสาหกรรม การบริการจะต้องปรับตัวกันครั้งใหญ่ ซึ่งในแผนกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น โดยด้านอุตสาหกรรมจะเพิ่มมูลค่าให้สินค้า เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและปรับทิศทางให้มีการใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น และในเรื่องการท่องเที่ยวนอกจากทรัพยากรธรรมชาติและมรดกของบรรพบุรุษที่มีอยู่แล้วสิ่งที่ต้องทำให้ดีขึ้นคือการบริหารจัดการระบบท่องเที่ยวของประเทศให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
“การทุ่มเทงบประมาณต่างๆ ของรัฐบาลสุดท้ายแล้วก็เป็นการทำเพื่อประชาชนไม่ว่าจะด้านใดก็ตาม ซึ่งนอกจากการดำเนินการของภาครัฐแล้วการลงทุนในโครงการต่างๆ จะต้องมีการดำเนินการร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนเนื่องจากการใช้เงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลทำให้เกิดข้อจำกัดทางด้านการคลังเกิดขึ้น ซึ่งวิธีการที่จะสามารถแก้ปัญหาได้ก็คือการร่วมงานกันกับเอกชนและทำด้วยความโปร่งใส” นายอภิสิทธิ์กล่าว

กระตุ้นต่อมจริยธรรมนักการเมือง
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า สิ่งที่ประชาชนเบื่อหน่ายการเมืองมากที่สุดคือความขัดแย้งและการทุจริต แม้การเมืองไทยจะมีพัฒนาการ แต่ยังหาความพอดีได้ยาก เพราะยังมีความสับสนตลอดเวลาในการนำหลักการมาใช้ โดยเฉพาะความสับสนระหว่างกระบวนการทางการเมืองกับกระบวนการทางกฎหมาย โดยเริ่มจากที่ฝ่ายการเมืองนำกระบวนการการเมืองอยู่เหนือกฎหมาย จึงเกิดความขัดแย้งรุนแรงมากขึ้น เมื่ออีกฝ่ายพยายามให้กฎหมายอยู่เหนือการเมือง จึงต้องทำเรื่องนี้ให้ชัดเจน ซึ่งสิ่งที่จะแก้ไขได้คือต้องมีสำนึกเป็นตัวกำกับ
“ผมแปลกใจว่าทำไมปัญหาอย่างนี้ไม่เกิดขึ้นในประเทศอื่น เช่น ที่อังกฤษ ส.ส.หลายคนที่มีปัญหาการเมืองก็ลาออกโดยไม่ต้องรอให้กระบวนการทางกฎหมายสิ้นสุด แต่ผมก็ยังหวังว่าในสังคมไทยจะมีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น เชื่อว่ามันจะไม่เกิดขึ้นเอง เราต้องช่วยกันทำให้มันเกิดขึ้น สิ่งสำคัญที่จะพัฒนาการเมืองคือต้องใช้กระบวนการสร้างปัญญา และนำเรื่องความร่วมมือมาเป็นตัวขับเคลื่อน เพื่อสร้างสำนึกและกระตุ้นให้เรามีจิตสำนึกในกระบวนการประชาธิปไตย จึงขอเรียกร้องทุกฝ่ายร่วมมือกัน” นายกรัฐมนตรี กล่าว

นายแบงก์ระบุเผชิญความท้าทาย
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)KBANK กล่าวว่า สถาบันการเงินกำลังเผชิญกับผลกระทบต่อรายได้ คุณภาพสินทรัพย์ และความท้าทายต่อการรักษาสมดุลในบทบาทของตนเอง เนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจส่งผลกระทบต่อธนาคารพาณิชย์ในหลายด้าน ทั้งความต้องการสินเชื่อ ปริมาณธุรกรรมทางการเงิน ความเสี่ยงด้านเครดิต ความเสี่ยงด้านตลาด ด้านปฎิบัติการและด้านสภาพคล่อง โดยมีสินเชื่อสุทธิของธนาคารพาณิชย์ไทยเติบโตลดลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจอย่างไรก็ตาม มองว่าที่ผ่านมาในปี 2540 ประเทศไทยได้ผ่านช่วงวิกฤตของสินเชื่อซึ่งเคยหดตัวลงแรง ทั้งจากความต้องการสินเชื่อของภาคธุรกิจที่ลดลง และการตัดหนี้สูญมาแล้ว ทั้งนี้คุณภาพสินทรัพย์ถดถอยลง สะท้อนจาก NPL ต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้น
“บทเรียนและข้อคิดในด้านการบริหารงานและการกำกับสถาบันการเงินมีทั้งโจทย์ระยะสั้นซึ่งเกี่ยวข้องกับความคาดหวังของทางการต่อบทบาทของธนาคารพาณิชย์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิ การผลักดันให้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และยกเลิกค่าธรรมเนียม แม้ภาคธุรกิจและครัวเรือนจะยังคงพึ่งพิงแหล่งเงินทุนในรูปแบบสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ในระดับสูง แต่ก็ลดลงจากอดีตมากสวนทางกับบทบาทตลาดทุนและตราสารหนี้ที่เพิ่มขึ้น”

แนะทางออกหาโอกาสในวิกฤต
นายประสารกล่าวว่า ขณะที่โจทย์ในระยะยาวที่ได้เรียนรู้จากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจในรอบนี้ คือ ปัญหาการปล่อยสินเชื่อที่ขาดความระมัดระวังและมีการผ่อนปรนเงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อมากเกินไป และปัญหาจากการพัฒนาตราสารทางการเงินที่มีโครงสร้างซับซ้อน รวมทั้งความเหมาะสมและประสิทธิภาพของเครื่องมือชี้วัดและบริหารความเสี่ยงด้านต่างๆ นอกจากนี้ยังมีเรื่องความเหมาะสมของการดำรงเงินกองทุน และประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ
สำหรับโอกาสทางธุรกิจสำหรับสถาบันการเงินแบ่งแยกเป็นหลายส่วน โดยในประเด็นที่อัตราดอกเบี้ยต่ำควรมีบริการที่ปรึกษาและจัดจำหน่ายหุ้นกู้สำหรับลูกค้าธุรกิจและมีการแนะนำผลิตภัณฑ์การออมและวางแผนการลงทุนเพื่อเพิ่มผลตอบแทนให้กับลูกค้ารายย่อย สำหรับความเสี่ยงทางธุรกิจของลูกค้าสถาบันการเงินควรเข้าไปบริหารความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ขณะที่ปัญหาด้านเงินทุนธนาคารควรมีผลิตภัณฑ์สินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องทางธุรกิจ รวมทั้งสินเชื่อรีไฟแนนซ์สำหรับลูกค้ารายย่อย ทั้งนี้ควรมีการเพิ่มโอกาสและต่อยอดทางธุรกิจของลูกค้าโดยการให้คำแนะนำในการซื้อขายสินทรัพย์และควบรวมกิจการ รวมทั้งการให้การศึกษาและฝึกอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพทางธุรกิจของลูกค้า.
กำลังโหลดความคิดเห็น