xs
xsm
sm
md
lg

ศึกษาวิถีชีวิตจีนยูนนานบ้านยาง แหล่งทัวร์OTOPแห่งใหม่ของไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน – เส้นทางท่องเที่ยวหมู่บ้าน OTOP ตามนโยบายของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทยนั้น ทางกรมฯ ได้พยายามสำรวจหมู่บ้านท่องเที่ยว OTOP อย่างต่อเนื่องทั่วทุกภูมิภาคของไทย หวังสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านในชุมชน ล่าสุดภาครัฐฯ ได้พัฒนาบ้านยาง ต.แม่งอน อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว OTOP ให้คนไทยได้ศึกษาวัฒนธรรม วิถีชีวิต ของชาวจีนยูนนานที่อพยพมาจากประเทศจีนในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ.2496 ทหารจีน (กองพล 93-95) และประชาชน ได้อพยพเข้ามาประเทศไทย โดยใช้เส้นทางดอยอ่างขาง (ปัจจุบันคือ บ้านหลวง) และย้ายถิ่นมาที่บ้านยาง ซึ่งแม้ชื่อจะธรรมดา ไม่คุ้นหูคนไทยมากนัก แต่หมู่บ้านแห่งนี้กลับอยู่ในสายพระเนตรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมายาวนาน ทีทุกคนในหมู่บ้านล้วนสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่พระองค์ได้เข้ามาพลิกฟื้นผืนดินที่เต็มไปด้วยไร่ฝิ่น ให้กลายเป็นสวรรค์ของพืช ผัก ผลไม้ เมืองหนาว เช่น สตรอเบอรี่ มะเขือเทศ ลูกพลับ ลิ้นจี่ ลูกสาลี่ ลูกท้อ และผักสลัดต่างๆ สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนแห่งนี้เป็นอย่างมาก

บรรยากาศบ้านวังยาง ถือเป็นชุมชนที่โดนเด่นในเรื่องวัฒนธรรมที่ยังคงเอกลักษณ์ความเป็นชาวจีนยูนนานไว้ได้อย่างเหนียวแน่น ไม่ว่าจะเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ ของทั้ง 3 ศาสนา คือ พุทธ คริสต์ อิสลาม ที่อยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์ รวมถึงสถาปัตยกรรมบ้านเรือนรูปแบบจีน และอาหารการกิน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทางกรมการพัฒนาชุมชนเชื่อว่า จะเป็นการเปิดมุมมองใหม่ๆ ด้านการท่องเที่ยวหมู่บ้าน OTOP ให้กับนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี

ส่วนสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจ นอกจากสภาพบ้านเรือน การใช้ชีวิตของชาวบ้านแล้ว ล่าสุดได้มีพิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ ๑ (ฝาง) เกิดขึ้น เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ของบ้านยาง โดยเป็นพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้พัฒนาพื้นที่แห่งนี้เป็นศูนย์การเรียนรู้ในรูปแบบของพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต (living SITE MUSEUM) โดยรวบรวมและนำเสนอองค์ความรู้ผ่านนิทรรศการ วัถุสะสม หลักฐานทางประวัติศาสตร์ เพื่อแสดงให้เห็นถึงกระบวนการแก้ไขปัญหาและพัฒนาประเทศแบบบูรณาการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นการต่อยอดจากโรงงานหลวงสำเร็จรูปที่ ๑ (ฝาง) หลังจากที่ทำหน้าที่แปรรูปผลผลิตทางการเกษตรมาอย่างต่อเนื่องนาน 30 ปี

ในขณะที่แหล่งท่องเที่ยวเพื่อศึกษาธรรมชาติ ได้แก่ น้ำตกบ้านยาง ที่ใช้เวลาเดินเพียง 20 นาที, โรงหมอ / แปลงสมุนไพร สถานีอนามัยพระราชทานแห่งแรกของตำบลแม่งอน, โรงไฟฟ้าพลังน้ำ และแปลงสาธิต สถานที่รวบรวมพันธุ์พืชบางชนิด โดยเป็นตัวอย่างวัตถุดิบที่ส่งเข้าโรงงานหลวง เพื่อสาธิตวิธีการเพาะปลูกและดูแลรักษาอย่างถูกวิธีแก่เกษตรกรและผู้สนใจ ส่วนแหล่งท่องเที่ยวเพื่อศึกษาวัฒนธรรม ได้แก่ โรงเรียนสอนภาษาจีน ซึ่งเมื่อเข้ามาเยี่ยมชมจะให้บรรยากาศเหมือนอยู่เมืองจีนเลยทีเดียว, ศาลเจ้าแม่กวนอิม, บ้านดิน, มัสยิด, สาลเจ้าบ้าน สถานที่ซึ่งเทพเจ้าของหมู่บ้านสถิตย์อยู่ เพื่อปกปักรักษาชุมชนให้สงบร่มเย็น, โบสถ์คริสต์ และตลาดสด ซ.งหากนักท่องเที่ยวได้ลองไปนั่งจิบกาแฟในตลาดนี้แล้วจะรู้ว่าเสน่ห์ของหมู่บ้านจีนยูนนานอยู่ไหน

อาหารตามแบบฉบับของชาวจีนยูนนาน เป็นอีกหนึ่งที่นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาด คือ ขาหมูหมั่นโถว สุกี้ยูนนาน (ร้าน เจ๊เหมย 08-1366-3010, ร้านอาหลาง 08-4175-1791, 08-6586-1968 )หรือภาษาถิ่นเรียกว่า หยูหนานโห่วโกว ซึ่งสูตรเด็ดการใส่เครื่องเคราลงในหม้อสุกี้ใบโต ที่ต้องนำเข้ามาจากจีนเท่านั้น สนนราคาชุดละ 1200-1700 บาท (สำหรับรับประทาน 10-15 คน) ภายในหม้อประกอบไปด้วยเครื่องปรุง 10 อย่าง โดยจัดวางเป็น 10 ชั้น เริ่มจากชั้นล่างคือ ผักกาดเขียวปลี ที่แม้จะเป็นผักสุกง่าย แต่ใส่ลงไปก่อนเพื่อให้ได้กลิ่นหอมของผัก, ไก่กระดูกดำ ที่ดำถึงกระดูก,เผือก, ฟองเต้าหู้, ไข่ม้วน, เห็ดหอม, สาหร่าย,หน่อไม้แห้ง, แฮม ยูนนาน ซึ่งชาวบ้านจะทำกินเองหมูชุบแป้งมันทอด และหมูบดผสมเครื่องเทศที่ปั้นเป็นก้อนกลม ดูไปก็ไม่ต่างจากลูกชิ้นหมูที่คนกรุงคุ้นเคย ซึ่งเทคนิคการกินต้องกินเป็นชั้น ๆ จนไปถึงชั้นล่าง เพื่อจะได้ลิ้มรสเครื่องปรุงครบทุกชนิด ซึ่งกินแล้วต้องยกนิ้วให้ในความช่างคิด ช่างสรรหามากินของชาวบ้าน และเป็นอาหารที่เข้ากับอากาศที่เย็นฉ่ำตลอดปีของดอยอ่างขาง

สำหรับเมนูอื่นๆ ที่ขึ้นชื่อไม่แพ้กัน คือ ไก่ดำภูเขาไฟ (โทร. 08-1030-4464, 08-6654-5998) ที่ใช้เนื้อไก่ผัดกับเครื่องเทศ ราดด้วยเหล้าวอดก้า (Vodka) และจุดไฟ สร้างสีสันให้กับมื้ออาหารได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังมีผัดหมี่ยูนนาน และไข่ทอดม้วนไส้หมูสับ ที่นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาด

บ้านวังยาง นับเป็นหมู่บ้านที่น่าค้นหา และเรียนรู้วัฒนธรรมวิถีชีวิตที่สบงสุข และเป็นหมู่บ้านที่เดินทางไม่ยาก และเป็นหมู่บ้านที่อยู่ไม่ไกลจากดอยอ่างขางมากนัก โดยออกจากจ.เชียงใหม่ มุ่งหน้าสู่ อ.ฝาง ใช้ทางหลวงหมายเลข 107 ระยะทาง 150 กม. ถึงแยกอ่างขางแล้วเลี้ยวซ้ายเข้าไปอีกเพียง 18 กม. ก็ถึงแล้ว หรือสอบถามข้อมูลได้ที่สำนักงานชุมชนอำเภอฝาง 0-5345-1570 หรือที่ www.baanyang-chiangmai.com
กำลังโหลดความคิดเห็น