xs
xsm
sm
md
lg

จดหมายถึงทีวีไทย

เผยแพร่:   โดย: วริษฐ์ ลิ้มทองกุล

เรียน คุณเทพชัย หย่อง และเพื่อนๆ สื่อมวลชนชาวทีวีไทย

ผมนั่งเขียนจดหมายฉบับนี้ด้วยความรู้สึกไม่สบายใจอย่างยิ่ง หลังจากเมื่อช่วงเย็นวันพฤหัสบดีที่ 28 พฤษภาคม 2552 ที่ผ่านมา ผมได้รับฟังคำอภิปรายของคุณเทพชัย ในงานสัมมนาเรื่อง “สื่อและประชาธิปไตยในวิกฤต : บทบาทและความรับผิดชอบของสื่อ” ที่อาคารรัฐสภา 2

วันนั้นคุณเทพชัย ในฐานะผู้บริหารของทีวีไทยและตัวแทนของพนักงานทีวีไทย ได้กล่าววิเคราะห์ถึงบทบาทของสื่อในภาวะวิกฤตของบ้านเมืองและพาดพิงมาถึง กลุ่มเครือผู้จัดการ-เอเอสทีวี โดยตอนหนึ่งคุณเทพชัย กล่าวว่า

“ … มี 2-3 ท่านพูดถึงว่าทำไมคนไทยถึงได้หันไปหาสื่อที่เป็น จะเรียกว่าสื่อทางเลือก หรือสื่อเลือกข้างก็แล้วแต่ ที่เป็น ASTV และเป็น D-Station ถามว่าทำไมสื่อมวลชนที่เป็น Mainstream Media มันหายไปไหน ทำไมสื่อมวลชนทุกวันนี้ที่มีบทบาทอย่างมากเลยในการทำให้คนมีอารมณ์ ทำให้คนโกรธแค้น ทำให้คนชอบ/ไม่ชอบ เอาอะไร/ไม่เอาอะไร มันกลายเป็นสื่อที่เลือกข้าง มีสีของตนชัดเจนหมดเลย แต่สื่อที่ตามหลักการแล้วควรจะมีบทบาทสำคัญที่สุดในการทำให้ประชาชนมีความคิดเห็นที่ดี ที่ถูกต้อง และสามารถนำความคิดเห็น นำข้อมูลเหล่านี้มาโต้เถียงกันได้ ค่อนข้างที่บทบาทหายไปจากสังคมนี้มากทีเดียว กลับกลายเป็นสื่อสองขั้วเป็นคนกำกับความรู้สึก เป็นคนกำกับความเห็นของประชาชนค่อนข้างสูง”

ขณะที่อีกตอนหนึ่งก็กล่าวเพิ่มเติมว่า

“ผมคิดว่าเมืองไทยคงเป็นไม่กี่ประเทศในโลก ขณะนี้ที่ความรู้สึกความเห็นของ คนถูกกำหนดด้วยสื่อที่เลือกข้างแบบนี้ และผมคิดว่าระยะยาวแล้วอันตราย เพราะว่าทันทีที่ประชาชนมีความรู้สึกว่าสื่อที่พูดจาไพเราะเพราะพริ้ง มีเหตุมีผล ถกเถียงอย่างมีที่มาที่ไป มันไม่สนุกไม่ตื่นเต้นเหมือนกับสื่อที่มันสุดขั้ว ที่มันใช้ภาษาหยาบคาย ที่มันด่ากันฟังแล้วมันสะใจแล้วก็เชื่อเลย ผมคิดว่าถ้ามันเป็นอย่างนี้ออกไปนานวันมากขึ้น ผมคิดว่าอันตรายที่มีต่อประชาธิปไตยผมคิดว่ามีสูงแน่”

ด้วยความเคารพต่อคุณเทพชัย ในฐานะเป็นสื่อมวลชนอาวุโส ที่ผมติดตามผลงานเป็นประจำเมื่อครั้งท่านยังประจำการอยู่ที่ไอทีวีและเครือเนชั่น โดยเฉพาะในคอลัมน์หน้าหลังของหนังสือเนชั่นสุดสัปดาห์ อีกทั้งความเคารพรัก และนึกถึงเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ สื่อมวลชนที่เคยอยู่ใต้ชายคาผู้จัดการและเอเอสทีวี แต่ปัจจุบันได้ย้ายไปทำงานภายใต้การบังคับบัญชาของคุณเทพชัย

เมื่อก่อนสมัยท่านอยู่ไอทีวีและเนชั่น ผมไม่เคยตั้งข้อสงสัยกับความเป็นสื่อมืออาชีพของคุณเทพชัยเลย ทว่าคำพูดของคุณเทพชัยเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ทำให้ผมต้องกลับมาคิดใหม่ว่า จริงๆ แล้ว “ทีวีไทย” มองตัวเอง มองที่มาของตัวเอง มองแวดวงสื่อมวลชนไทยในขณะนี้และมองสถานการณ์บ้านเมืองว่าเป็นอย่างไร?

ก่อนอื่น ผมต้องถามคุณเทพชัยถึงคำจำกัดความของคำว่า สื่อกระแสหลัก หรือ Mainstream Media ที่ถูกกล่าวถึงในงานสัมมนาเสียก่อนว่า ใช้มาตรฐานอะไรวัด เรตติ้ง? วิธีการออกอากาศ? งบประมาณ? จำนวนบุคลากร? เจ้าของ? ประวัติศาสตร์? ผลกระทบต่อสังคม? หรือมาตรฐานส่วนบุคคล?

เพราะหากจะกล่าวกันอย่างตรงไปตรงมา หากจะวัดกันด้วยมาตรฐานของงบประมาณซึ่งมีที่มาเงินสนับสนุนจากภาครัฐและภาษีประชาชนปีละเกือบ 2,000 ล้านบาท และวิธีการออกอากาศแล้ว ทีวีไทยก็คงจะสามารถเป็น Mainstream Media ได้ไม่ยาก แต่หากวัดกันด้วยเรตติ้ง ประวัติศาสตร์ที่มาที่ไป และผลกระทบต่อสังคมแล้ว “ทีวีไทย” มิอาจเป็น Mainstream Media ได้เลย

กล่าวคือ ปัจจุบันเรตติ้งของทีวีไทยแทบจะทุกรายการนั้นอาจถือได้ว่าต่ำเตี้ยเรี่ยติดดินพอๆ กันกับช่องเอ็นบีทีในยุคคุณสาทิตย์ วงศ์หนองเตย และแทบจะไม่ได้สร้างนัยสำคัญอะไรให้กับสังคมวงกว้าง นอกจากการเป็นเวทีเพื่อสนองความใคร่ ความเชื่อและอีโก้ของคนในแวดวงองค์การพัฒนาเอกชนและแวดวงวิชาการบางคน ซึ่งเป็นพรรคพวก และคนแวดวงเดียวกันกับผู้บริหาร กรรมการ และพนักงานระดับสูงของทีวีไทยบางคน

เมื่อหันมามองในส่วนของประวัติศาสตร์และที่มาของทีวีไทย ......

ผมคิดว่าคุณเทพชัย และพนักงานทีวีไทยบางคนซึ่งแสดงทีท่ารังเกียจการรัฐประหาร รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร และบางส่วนแสดงทีท่าดูถูกดูแคลนกลุ่มพันธมิตรฯ และเพื่อนสื่ออย่างเอเอสทีวี เสียเต็มประดา ซึ่งพิสูจน์ได้จากคำพูดของคุณเทพชัย เมื่อวันที่ 28 พ.ค. ที่ผ่านมา

ในความเป็นจริงแล้ว คุณเทพชัยและชาวทีวีไทยเองคงหลงลืมไปว่า “ไทยพีบีเอส” และ “ทีวีไทย” นั้นได้รับอานิสงส์อย่างสูงจากการเคลื่อนไหวโค่นล้ม “ระบอบทักษิณ” ของภาคประชาชน คุณสนธิ ลิ้มทองกุล กลุ่มพันธมิตรฯ และการเผยแพร่ข่าวสารของเครือผู้จัดการและเอเอสทีวี

ที่น่าสนใจไปกว่านั้นก็คือ พวกเราอาจกล่าวได้อย่างเต็มปากว่า “ทีวีไทย” เป็น “ผลผลิต” ของการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 และทำคลอดด้วยน้ำมือของรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ โดยตรง เพราะถ้าหากไม่มีการรัฐประหาร 19 ก.ย. ก็จะไม่มีการยึดคลื่น UHF คืนจากบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) โดยสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ในปี 2550 ไม่มีการแปลงไอทีวีมาเป็นทีไอทีวี และไม่มีวันที่ พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 ที่เปรียบเสมือนเป็นบิดามารดรของ “ทีวีไทย” จะถูกนำมาบังคับใช้ได้

ที่กล่าวข้างต้น ผมมิได้มีความหมายว่า เมื่อทีวีไทยเกิดจากน้ำมือของรัฐบาลที่มาจากคณะรัฐประหารแล้ว ทีวีไทยจะต้องเชิดชูหรือรับใช้คณะรัฐประหาร แต่อย่างน้อยๆ คุณเทพชัยและคนทีวีไทยบางคนก่อนที่จะเอ่ยปากด่าผู้อื่นว่า “เป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อระบอบประชาธิปไตย” นั้นก็ควรที่จะหันมามองตัวเองบ้างว่า องค์กรของตัวเองนั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร และตึกอาคารที่ตัวเองทำงานอยู่นั้นชื่อเสียงเรียงนามว่าอะไร?

เพราะผมไม่อยากให้คนอื่นกล่าวหาได้ว่า คุณเทพชัย หรือคนทีวีไทยนั้นเป็น “คนลืมกำพืดตัวเอง” หรือเป็น “วัวลืมตีน”

ในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันที่เพื่อนสื่อทั้งหลายกำลังปากกัดตีนถีบ บ้างผู้บริหารต้องลดเงินเดือนตัวเอง บ้างลดเงินเดือนพนักงาน บ้างเลย์ออฟพนักงาน บ้างปิดตัวไปอย่างถาวร แม้แต่ฟรีทีวีที่ว่ารวยๆ ต้องแข่งกันหาโฆษณาอย่างแทบเป็นแทบตาย ผมถามจริงๆ ว่า คุณเทพชัยที่รับเงินเดือน 2-3 แสนบาท กับผู้บริหารทีวีไทยที่เสวยสุขจากเงินภาษีของประชาชนเดือนละเกือบ 150 ล้านบาท ไม่รู้สึกรู้สาอะไรบ้างหรือว่าตัวเองโชคดีและเป็นหนี้บุญคุณสังคมไทยมากขนาดไหน?

จริงๆ แทนที่คุณเทพชัยจะตั้งคำถามกับเพื่อนสื่อว่า “วันนี้ Mainstream Media หายไปไหน?” หรือดูถูกสติปัญญาของประชาชนคนรับสื่อด้วยคำพูดอย่างเช่น “ทำไมประชาชนถึงชอบดูสื่อทางเลือก-สื่อเลือกข้างมากกว่า Mainstream Media ดีๆ หรือสื่อพูดจาไพเราะอย่างทีวีไทย?”

ผมคิดว่าคุณเทพชัยควรถามตัวเองก่อนว่า ทีวีไทยทำอะไรเพื่อตอบแทนภาษีของประชาชนแล้วบ้าง และตัวเองจะทำให้ประชาชนหันมาดูทีวีไทยได้ยังไง?

พูดตามตรง ทุกวันนี้การที่ทีวีไทยใช้เงินภาษีปีละ 2,000 ล้านบาท แต่เปิดสถานีตี 5 ปิดสถานีเที่ยงคืน ก็ถือว่าเป็นการเอาเปรียบประชาชนและสังคมไทยมากพออยู่แล้วครับ!

ด้วยความนับถือ
วริษฐ์ ลิ้มทองกุล
3 มิถุนายน 2552

กำลังโหลดความคิดเห็น