xs
xsm
sm
md
lg

“อสมท”ทบทวนต่อสัญญา10ปีช่อง3เมินทรูวิชั่นส์เสนอชดเชยเงิน79ล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน – ประชุมบอร์ด ยังเคลียร์เรื่องทรูไม่สำเร็จ ล่าสุดตั้งอนุกรรมการหารือโดยเฉพาะ เน้นเรื่องข้อกฏหมาย ก่อนส่งหนังสือเห็นชอบต่ออัยการ แม้ทรูเทเงินชดเชยกว่า 79 ล้านบาท หลังผิดสัญญาออกจากตลาดหลักทรัพย์ “คลื่นซี้ด”โดนเล็งจับผิด หลังจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับ อสมท ปลายปีก่อน ด้านช่อง3 ยื่นเรื่องขอต่อสัญญาเพิ่มอีก 10 ปี นับจากปี 53 ที่สัญญาจะหมดลง

นายนัที เปรมรัศมี ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และรองประธานกรรมการ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การประชุมบอร์ด อสมท วานนี้ (28 พ.ค.) มีทั้งสิ้น 6 วาระ โดยวาระที่สำคัญๆ ได้แก่ เรื่องของทรูวิชั่นส์ ที่จากการประชุมบอร์ดครั้งก่อน ได้มีการนำเรื่องของทรูวิชั่นส์ กลับมาทบทวนอีกทั้งในทุกกรณีไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการโฆษณาได้หรือเรื่องของการผิดสัญญาที่ออกจากตลาดหลักทรัพย์นั้น
ล่าสุด ทางคณะกรรมการบอร์ด อสมท ได้มีมติมอบหมายให้นายอรรถชัย บุรกรรมโกวิท รองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และกรรมการ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดูแลและจัดตั้งอนุกรรมการขึ้นมาดูแลเรื่องทรูวิชั่นส์โดยเฉพาะอย่างละเอียดและรอบคอบ ซึ่งจะมีการประชุมหารือกันในวันที่ 5 มิ.ย.ที่จะถึงนี้ พร้อมทั้งนำเรื่องมาเสนอต่อที่ประชุมบอร์ด อสมท ครั้งต่อไปในวันที่ 25 มิ.ย.
โดยเฉพาะในกรณีเรื่องทรูวิชั่นส์ผิดสัญญา ออกจากตลาดหลักทรัพย์ พร้อมทั้งเรื่องของการยื่นเสนอเม็ดเงินชดเชยที่ 79 ล้านบาท ต้องพิจาณาดูความเหมาะสมและตัวเลขที่นำเสนอมาด้วย จากปัจจุบันที่ อสมท ยังไม่ได้ตกลงยอมรับจำนวนเงินดังกล่าว ขณะที่การโฆษณาก่อนขออนุญาตก็เป็นประเด็นสำคัญ รวมไปถึงเรื่องการขออนุญาตโฆษณาได้ ที่ยังรอมติจากทางอัยการอยู่ ซึ่งทางอนุกรรมการชุดดังกล่าวจะต้องดูรายละเอียดด้วยทั้งหมด
นายนัที กล่าวต่อว่า วาระการประชุมครั้งนี้ ยังมีเรื่องของกรณี ที่ทางอสมทได้ทำการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน ดำเนินธุรกิจวิทยุ บริหารคลื่น เอฟ.เอ็ม 97.5 เมกกะเฮิร์ต หรือคลื่นซี๊ดและดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้อง กับทางกลุ่มของนายธีรภัทร์ สัจจกุล เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.2551 นั้น โดยทางอสมท ถือหุ้น 49% และทางกลุ่มนายธีรภัทร์ ถือหุ้น 49% และกลุ่มอื่นๆอีก 2% ภายใต้ทุนจดทะเบียนกว่า 100 ล้านบาทนั้น
ทางคณะกรรมการบอร์ด อสมท ได้ตั้งข้อสงสัย และสอบถามไปยังสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ถึงการร่วมทุนดังกล่าว ว่าเข้าข่ายผิดต่อกฎหมายหรือไม่นั้น ซึ่งคำตอบที่ได้กลับมา ทางสคร.มองว่าไม่ผิดต่อหลักการ แต่ขอให้ทางการร่วมทุนครั้งนี้ ดำเนินไปตามหลักการ 4 ข้อ คือ 1.บริษัทดังกล่าวจะต้องดำเนินการโดยไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดี 2.ขอให้มีพนักงานอสมท
เข้าไปร่วมงานในบริษัทดังกล่าวด้วย เพื่อเป็นการพัฒนาศักยภาพการทำงานของพนักงานต่อไป 3. ให้กรรมการบอร์ด อสมท เป็นผู้พิจารณาเรื่องค่าตอบแทนที่บริษัทใหม่นี้จะต้องมอบให้ อสมท และ4.เรื่องของงบการลงทุนต่างๆ ได้ขอให้ อสมท ดำเนินไปตามกฏหมาย
นอกจากนี้วาระการประชุมครั้งนี้ ทางช่อง3 ยังได้ยื่นหนังสือ ขอต่อสัญญาเพิ่มอีก 10 ปี นับจากปี 2553 ที่สัญญาจะหมดวาระลง ทั้งนี้เดิมทางช่อง3 ได้ต่อสัญญาครั้งสุดท้ายไปเมื่อปี 2532 โดยในขณะนั้น ยังไม่มีพรบ.ร่วมทุนเกิดขึ้น ซึ่งสัญญาครั้งนั้น มีรายละเอียดกล่าวถึงการต่อสัญญาไปได้อีก 10 ปี หากทางช่อง3 ไม่ได้ทำผิดต่อสัญญา แต่พอมีเรื่องของ พรบ.ร่วมทุนเข้ามาส่งผลให้การยื่นเรื่องของต่อสัญญาออกไปอีก 10 ปีนี้ครั้งนี้ จะต้องนำเรื่องดังกล่าวมาพิจาณาอย่างรอบคอบก่อนจะมีมติเห็นชอบหรือไม่ในครั้งต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น