xs
xsm
sm
md
lg

‘หมู่บ้านไหมพรม’ ชมรมคุณยายนักถัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หมู่บ้านแห่งนี้มีทั้งโบสถ์ ผับ ร้านค้า โรงเรียน หอประชุม คฤหาสน์ขนาดใหญ่ที่มีสวนดอกไม้สวยงาม ศาลานั่งรอรถเมล์ที่มีวัยรุ่นนั่งเล่นอยู่ บ้านขนาดย่อมก่อด้วยอิฐแดงพร้อมดอกไม้และพืชสวนครัวล้อมรอบ
สิ่งทั้งหมดที่กล่าวมาอาจพบเห็นได้ทั่วไปในหมู่บ้านต่างๆ ของอังกฤษ ผิดแต่ว่าอาคารสถานที่ รวมถึงต้นไม้ดอกไม้และผู้คนที่กล่าวถึงเป็นผลิตภัณฑ์โฮมเมดจากฝีมือหญิงชรากลุ่มเล็กๆ ที่เริ่มต้นด้วยการนั่งถักไหมพรมกันไปคุยกันไปตั้งแต่เมื่อ 23 ปีที่แล้ว
แรกทีเดียวก็มีแค่บ้าน 2-3 หลัง หมู 2-3 ตัว แต่สุดท้ายกลับจบลงที่อาคารบ้านเรือนกว่า 60 หลัง ถังขยะ ห้องน้ำนอกตัวบ้าน ถังแก๊ส รถยนต์บนถนน และกระทั่งตู้โทรศัพท์สาธารณะ
ทุกวันเสาร์ หมู่บ้านไหมพรมที่จำลองจากหมู่บ้านเมอร์แชมในเคนต์ อังกฤษ จะถูกนำออกขายในหอประชุมของหมู่บ้าน ย่ายายนักถักและผลงานอันน่าภาคภูมิใจยังกลายเป็นข่าวทางทีวีและหนังสือพิมพ์อยู่เนืองๆ
จอยซ์ แมกโดแน็ก อดีตนักวิจัยด้านการตลาดวัย 82 ปี เล่าว่า จุดกำเนิดของหมู่บ้านไหมพรมเริ่มต้นขึ้นในปี 1986 จากบทความชิ้นหนึ่งในนิตยสารวูแมนส์ วีกลีย์ และสุภาพสตรีสูงวัยกลุ่มเล็กๆ ของเมอร์แชม อัฟเตอร์นูน คลับ ที่มีเวลาเหลือเฟือและมีไหมพรมอยู่ในมือ
“เราอ่านเรื่องราวของหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่สร้างแบบจำลองจากไหมพรม เราคิดว่าน่าจะลองดูบ้าง แต่ไม่เคยนึกว่ามันจะบานปลายใหญ่โตขนาดนี้”
ที่บอกว่าบานปลายเพราะคุณยายเหล่านั้นใช้เวลาหลายพันชั่วโมงถักทุกอย่างตั้งแต่ไก่จนถึงปล่อยไฟและหินสลักชื่อหน้าหลุมศพ
“คนที่ดูแลส่วนโบสถ์ ถักหลุมศพส่วนใหญ่ตอนไปนอนอาบแดดในสเปน” มาร์กาเร็ต โกลด์อัพ วัย 80 ปี เหรัญญิกของกลุ่มเล่า
ไม่ใช่แค่ฝีมือในการถักนิตติ้งอย่างเดียว แต่หมู่บ้านไหมพรมแห่งนี้ยังต้องอาศัยความละเอียดอ่อนในทุกด้าน สิ่งต่างๆ ทั้งหมดถูกย่อส่วนตามจริง ซึ่งจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มีรอน สเตด สามีผู้ล่วงลับของชีลา หนึ่งในสมาชิกรุ่นก่อตั้งของกลุ่ม
หน้าที่ของรอนคือถือกล้องตระเวนถ่ายถนนทุกสาย บ้านทุกหลัง ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่จริงในหมู่บ้าน และหลังจากหลายสัปดาห์ผ่านไปก็ได้งานประณีตศิลป์ออกมาอีกหนึ่งชิ้น นั่นคือโมเดลสามมิติจากกระดาษแข็งของอาคารบ้านเรือนและร้านค้าแต่ละหลัง
“เราถักจากโมเดลที่รอนทำมาให้ และหมดเวลาอีกมากกับการไปด้อมๆ มองๆ บ้านชาวบ้านทั้งด้านหน้าด้านหลังด้านข้าง เพื่อให้ได้สีตรงตามจริง” มาร์กาเร็ตเล่า
เมื่อแล้วเสร็จ หมู่บ้านไหมพรมถูกนำออกแสดงตามงานต่างๆ และสามารถระดมทุนให้หมู่บ้านได้ถึง 10,000 ปอนด์ แต่น่าเสียดายที่จำนวนสมาชิกของอัฟเตอร์นูน คลับค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ
“ตอนเริ่มต้นเรามีกัน 12 คน แต่ตอนนี้ส่วนใหญ่ล้มหายตายจากไปแล้ว” จอยซ์บอก
“คุณเห็นตู้โทรศัพท์ไหม? น่ารักนะ แต่คนถักไม่อยู่แล้ว..คนถักสนามคริกเก็ตนั่นก็ด้วย” มาร์กาเร็ตสำทับ
นั่นเป็นแค่ปัญหาหนึ่งเท่านั้น แค่จะยกหมู่บ้านไหมพรมออกมาจากลิ้นชักใหญ่ในหอประชุมของหมู่บ้านก็ยากเย็นเอาการ ไม่ต้องพูดถึงการซ่อมแซมปรับปรุงทุกส่วนให้ดูใหม่ตลอดเวลา ไหนจะการขนขึ้นรถไปโชว์ตามงานเทศกาลต่างๆ
“นอกจากเรื่องนี้แล้ว ฉันยังคิดว่าหมู่บ้านเราก็เปลี่ยนไปมาก ตอนนี้มีคนอยู่พันกว่าคน เราไม่รู้จักกันหมดเหมือนเดิมแล้ว หลายอย่างหายไปและมีเทคโนโลยีใหม่เข้ามาทดแทน
“คนรุ่นใหม่อย่างเช่นลูกสาวของฉันไม่อยากรู้เรื่องถักไหมพรม หลานๆ ยิ่งแล้วใหญ่ แค่เสื้อไหมพรมยังไม่ยอมใส่เลย พวกเขาชอบทีเชิ้ตมากกว่า ฉันเคยนั่งถักไหมพรมลายยากๆ แต่ตอนนี้เปลี่ยนมาเป็นดูทีวีดีกว่า” จอยซ์รำพัน
กำลังโหลดความคิดเห็น