ศูนย์ข่าวภูเก็ต- รองนายกรัฐมนตรี “กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ” ยืนยันรัฐบาลพร้อมสนับสนุนและส่งเสริมความร่วมมือในกรอบ IMT-GT โดยเฉพาะทางด้านการท่องเที่ยวและฮาลาล พร้อมดันให้ภูเก็ตเป็นฮับท่องเที่ยวที่จะส่งต่อนักท่องเที่ยวไปยังมาเลย์-อินโดฯ ด้วยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานประเดิมศูนย์ประชุมฯเป็นโครงการแรกได้งบสร้างแน่กลางปีหน้า ส่วนฮาลาล รัฐบาลจัดสรรงบประมาณดำเนินการแล้ว
วานนี้ (27 พ.ค.) ที่โรงแรมรอยัล ภูเก็ต ซิตี้ อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุมร่วม 3 ฝ่าย ครั้งที่ 27 แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT) หรือ The 27 IMT-GT Joint Business Council Meeting) ระหว่างวันที่ 27-28 พฤษภาคมนี้ โดยสภาธุรกิจชายแดนใต้ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ต และองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ตเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ซึ่งมีผู้ประสานงานทั้งภาครัฐและเอกชนทั้ง 3 ประเทศเข้าร่วมประชุมประมาณ 350 คน
นายกอร์ปศักดิ์ กล่าวว่า รัฐบาลยืนยันที่จะสนับสนุนและส่งเสริมกรอบความร่วมมือ IMT-GT เพราะการพัฒนาประเทศ จะต้องดำเนินการเป็นกลุ่มประเทศ เช่น ที่เห็นได้ชัดเจนคือความร่วมมือของประเทศในกลุ่มอาเซียน ซึ่งจะส่งผลดีต่อสมาชิก ไม่ว่าจะเป็นด้านการลงทุน การผลิต และการท่องเที่ยว โดยเฉพาะทางด้านการท่องเที่ยวจะเกิดประโยชน์ต่อคนทุกระดับในสังคม
การประชุมในกรอบความร่วมมือ IMT-GT เป็นความร่วมมือที่เกิดขึ้นครอบคลุม 14 จังหวัดภาคใต้ 10 จังหวัดของอินโดนีเซีย และ8 รัฐของมาเลเซีย โดยให้ประเทศที่มีจุดแข็งแต่ละด้านเป็นแกนหลักในการประสานด้านนั้นๆ อย่างกรณีของไทยเรานั้นรัฐบาลให้ความสำคัญ ด้านการท่องเที่ยวและการพัฒนาอาหารฮาลาล ในกรอบความร่วมมือ IMT-GT
“ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว ถือว่าเป็นความร่วมมือที่ก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันได้ทั้ง 3 ประเทศ นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยวที่ภูเก็ตสามารถเดินทางต่อไปเที่ยวยังมาเลเซียและอินโดนีเซีย ซึ่งทำให้เกิดประโยชน์ร่วมกันอย่างเห็นได้ชัด” นายกอร์ปศักดิ์ กล่าวและว่า
รัฐบาลจะเข้ามาสนับสนุนในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานให้เกิดขึ้นที่จังหวัดภูเก็ต อย่างกรณีของโครงการก่อสร้างศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติที่ภูเก็ต มีความชัดเจนแล้วว่าจะได้รับงบประมาณเงินกู้รอบ 2 และสามารถก่อสร้างได้ภายในกลางปี 2553
ส่วนเรื่องของผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาล นายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้งตนให้เป็นประธานคณะกรรมการฮาลาลของไทย ซึ่งจะมีการหารือการส่งเสริมและสนับสนุนฮาลาลให้เกิดขึ้น เพราะฮาลาลไม่ได้มีเฉพาะในเรื่องของอาหารเพียงอย่างเดียว ยังรวมถึงด้านอื่นๆอีกด้วยไม่ว่าจะเป็นการขนส่ง โรงแรม ซึ่งรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณในการดำเนินการเรื่องนี้แล้วด้วย
นายกอร์ปศักดิ์ ยังกล่าวถึงความเข้มแข็งของความร่วมมือในกรอบ IMT-GT ว่า ความร่วมมือดังกล่าวจะเข้มแข็งหรืออ่อนลงไปบ้างก็มาจากภาวะเศรษฐกิจโลก และที่สำคัญที่สุดขึ้นอยู่กับความร่วมมือของทั้ง 3 ประเทศ ที่จะผลักดันเรื่องที่เกิดประโยชน์ร่วมกันให้เห็นเป็นรูปธรรม
ด้านนายธนารักษ์ พงษ์เภตรา ประธานสภาธุรกิจชายแดนใต้ กล่าวว่า การประชุมกรอบความร่วมมือ IMT-GT ในระดับสภาธุรกิจที่ภูเก็ตครั้งนี้ ประเทศไทยมีเรื่องที่นำเสนอผลักดันเข้าสู่การหารือด้วยการผลักดันให้ภูเก็ตเป็นฮับหรือศูนย์กลางการท่องเที่ยวที่จะส่งต่อนักท่องเที่ยวไปยังมาเลเซียและอินโดนีเซีย
อย่างที่ทางรองนายกรัฐมนตรี นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ ได้กล่าวว่าศูนย์ประชุมฯจะเกิดขึ้นที่ภูเก็ตอย่างแน่นอน ภูเก็ตก็จะเปลี่ยนตัวเองเป็นศูนย์กลางการประชุม การค้า และการท่องเที่ยว ก็จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามามากขึ้น และนักท่องเที่ยวกลุ่มเหล่านั้นที่เข้ามาภูเก็ตก็สามารถที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวต่อยังเมืองต่างๆ ของทั้งมาเลเซียและอินโดนีเซีย ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงที่จะขายท่องเที่ยวร่วมกันเป็นแพกเกจ เหมือนกับเมื่อพูดถึงสแกนดิเนเวียก็ต้องนึกถึงหลายประเทศ
นอกจากนี้ ภูเก็ตยังมีศักยภาพและความพร้อม ในการเป็นศูนย์กลางเรื่องของการดูแลสุขภาพ และเป็นศูนย์กลางในการที่จะสนับสนุนและส่งเสริมการอบรมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์อีกด้วย เมื่อนักซอฟต์แวร์เหล่านั้นเข้ามาภูเก็ตก็สามารถเดินทางต่อไปท่องเที่ยวยังมาเลเซียและอินโดนีเซียได้อีกด้วย
ในส่วนของฮาลาล นายธนารักษ์ กล่าวว่า พื้นที่หลักที่จะส่งเสริมให้เกิดขึ้นในพื้นที่สงขลาและภาคใต้ตอนล่าง ซึ่งไทยมีความได้เปรียบเรื่องของวิทยาศาสตร์ที่ทางจุฬาฯดำเนินการอยู่แล้ว โดยในส่วนของฮาลาลจะมีการผสมผสานระหว่างด้านวิทยาศาสตร์ที่ไทยมีความพร้อมกับด้านศาสนาที่มาเลเซียและอินโดนีเซียมีอยู่แล้ว เมื่อผสมกันได้ก็จะทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องของฮาลาลฟูด โดยผลักดันให้สงขลาเป็นพื้นที่หลักในการผลิตอาหารฮาลาล ซึ่งจะส่งผลสืบเนื่องไปถึง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย
นอกจากนี้แล้วในการประชุมครั้งนี้จะมีการหารือเรื่องไม้ยางพาราที่เริ่มมีการกีดกันทางการค้าระหว่างไม้ที่มาจากการปลูกกับไม้ที่มาจากป่า เป็นต้น
นายธนารักษ์ กล่าวในตอนท้ายว่า กรอบความร่วมมือ IMT-GT ที่ดำเนินการเป็นรูปธรรมในขณะนี้ ยังเป็นความร่วมมือที่เกิดขึ้นในระดับการค้าชายแดนเป็นส่วนใหญ่ แต่เรามีเป้าหมายที่จะผลักดันให้เกิดความร่วมมือที่เป็นนานาชาติมากกว่านี้
ขณะที่นายเศรษฐพันธ์ พุทธานี ผู้อำนวยการททท.สำนักงานภูเก็ต กล่าวว่า โดยศักยภาพของภูเก็ตถือว่ามีความพร้อมมากในการที่จะเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวในกรอบความร่วมมือ IMT-GT เมื่อนักท่องเที่ยวเดินทางมาภูเก็ตก็สามารถที่จะเดินทางต่อไปยังอินโดนีเซียและมาเลเซียได้สะดวก ทั้งทางรถยนต์และเครื่องบิน โดยเฉพาะมาเลเซียมีเที่ยวบินทั้งจากกัวลาลัมเปอร์และปีนังเข้ามา