xs
xsm
sm
md
lg

ถึงเวลาต้องตัดสินใจ!?!

เผยแพร่:   โดย: อุษณีย์ เอกอุษณีษ์

ใช้คอลัมน์ พระศุกร์เข้าพระเสาร์แทรก คุยเรื่องการเมืองบ้าง ข่าวสารบ้าง เรื่องพันธมิตรฯ บ้างมาได้พอสมควร วันนี้ขอคุยเรื่องใกล้ตัว เป็นประสบการณ์อันมาจากรายการใหม่ ที่ได้รับโอกาสอันดีจากผู้หลักผู้ใหญ่อย่างคุณสนธิ ลิ้มทองกุล และพี่ๆ อีกหลายท่านที่อยากให้เพิ่มมิติของข่าวต่างประเทศ ในผังข่าวเช้าซึ่งแน่นอนว่า อาจจะเป็นรสชาติใหม่สำหรับแฟนเอเอสทีวี และพันธมิตรฯ ที่ติดตามผลงานของทีมข่าวเอเอสทีวีแบบต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง ซึ่งคงจะมีทั้งที่ชอบ และไม่ชอบ

สำหรับการออกอากาศเดือนแรกของรายการ “รอบบ้านเรา” คงจะต้องมีการปรับเปลี่ยนไปอีกหลายอย่างให้มีองค์ประกอบเนื้อสาระที่กลมกลืน และเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ และก็เป็นความตั้งใจของทีมงานที่อยากจะให้อาหารจานนี้รับประทานได้ง่ายขึ้นถูกปากคนไทย ไม่มีเนยนมมากเกินไป และที่สำคัญให้ประโยชน์กับผู้ชมด้วย

ที่มาของชื่อรายการ “รอบบ้านเรา” ใครได้ฟังจะเชื่อหรือไม่ว่า มาจากความเมตตาของนายใหญ่แห่งบ้านพระอาทิตย์ จำได้ว่าตอนที่ดิฉันนำโครงสร้างรายการเข้าไปเสนอ ดิฉันเพียรพยายามประดิษฐ์ถ้อยคำให้ดูอินเตอร์สมเป็นรายการข่าวต่างประเทศ แต่ท้ายที่สุดกลับได้พบว่า คำไทยๆ และฟังดูง่ายๆ อย่าง “รอบบ้านเรา” ที่คุณสนธิตั้งให้ สามารถสะท้อนความหมายการเชื่อมโยงข่าวสารการต่างประเทศกับเรื่องไทยๆ ได้อย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการเมืองแบบไทยๆ นักการเมืองแบบไทยๆ ฮั้วแบบไทยๆ เพื่อนำไปเปรียบเทียบกับประสบการณ์ต่างประเทศ

เพราะโลกวันนี้ไร้ซึ่งเขตรั้วกั้น ล้วนถูกเชื่อมโยงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันหมดแล้ว ดังนั้นจึงไม่แปลกที่หลายครั้งประสบการณ์การเมืองเก่า และความต้องการการเมืองใหม่เหมือนๆ กัน ทั้งในอินเดีย ญี่ปุ่น หรือแม้แต่อังกฤษ ประเทศแม่แบบประชาธิปไตย ก็ล้วนเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ สำหรับประเทศไทย มองเทศแล้วย้อนดูไทยกรณีล่าสุดที่ดิฉันสนใจมาก ในวาระที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เตรียมจะขอเสียงเพื่อนพ้องน้องพี่ของเรา เพื่อหารือว่าถึงเวลาหรือยังที่จะสานต่อการเมืองภาคประชาชนไปสู่การจัดตั้งพรรคการเมืองเพื่อไปเคลื่อนไหวในระบบ จนถึงตอนนี้ทุกท่านอาจจะมีคำตอบในใจ หรือคำตอบในกระดาษที่จะถือมาในวันอาทิตย์นี้

แต่เหนือสิ่งอื่นใด ประสบการณ์ในกรณีคล้ายกันที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ น่าจะพอให้ข้อมูลเพิ่มเพื่อจะนำไปสู่การคิดต่อได้ว่า พลังของภาคประชาชนในแบบที่มีมาทั้งส่วนที่เจตนาจะสานต่อไปสู่การเป็น “พรรคการเมืองของประชาชน” กับแบบที่คงไว้ซึ่งการเป็น “ขบวนการภาคประชาชนเหมือนเดิม” มีจุดอ่อนจุดแข็งอย่างไร และนำมาปรับใช้ให้เป็นแบบไทยๆ ได้อย่างไรบ้าง

ในวันศุกร์นี้ ซึ่งตรงกับช่วงเวลาของการตีพิมพ์คอลัมน์นี้เช่นกัน รายการรอบบ้านเรา เวลา 08.30 – 09.30 น.จะนำเสนอประสบการณ์เคลื่อนไหวของขบวนการโซลิดาริตี้ ในประเทศโปแลนด์ ซึ่งมีจุดเริ่มต้นการเคลื่อนไหวจากการเรียกร้องของสหภาพแรงงานนอกระบบที่ได้รับความร่วมมือจากประชาชนทุกสาขาอาชีพ ก่อนที่จะเติบโตไปสู่การเคลื่อนไหวที่สามารถล้มพรรคคอมมิวนิสต์โปแลนด์ลง และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองให้กลายเป็นประชาธิปไตยได้ในที่สุด

โดยในด้านการเคลื่อนไหวภาคประชาชน ขบวนการโซลิดาริตี้ได้รับความชื่นชมในฐานะที่สามารถสร้างความแข็งแกร่งให้กับภาคประชาสังคมได้ ท่ามกลางการปิดกั้นของรัฐบาลคอมมิวนิสต์ จนกระทั่งนายเลช วาเลนซ่า ผู้นำการเคลื่อนไหวได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพในปี 1983

ดร.ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้ทัศนะเกี่ยวกับการ Solidarity movement ไว้ในหนังสือชื่อ ‘New Social movements’ ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่ อย่างน่าสนใจ โดยมองว่า ความสำเร็จของขบวนการโซลิดาริตี้ในตอนนั้นมาจากความเข้าใจของผู้เคลื่อนไหว ที่หมายจะเรียกร้องอย่างเข้าใจขีดจำกัดของตัวเองโดยไม่มุ่งหมายที่จะล้มล้างหรือช่วงชิงอำนาจรัฐ กล่าวคือ เพียงต้องการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนเพิ่มขึ้น ภายใต้ระบบที่เป็นอยู่ ในรูปของสหภาพแรงงานเสรี แต่ไม่ได้ต้องการจะให้มีการจัดตั้งพรรคการเมือง และการปกครองแบบรัฐสภา ซึ่งจะต้องล้มล้างรัฐบาลคอมมิวนิสต์เสียก่อน

ขณะเดียวกับที่ solidarity movement เองก็มีผู้นำที่ชาญฉลาดอย่าง เลช วาเลนซ่า ในการจะใช้สื่อมาเป็นตัวช่วยในการเคลื่อนไหว ใช้การเผยแพร่รูปภาพ และเรื่องราวการต่อสู้ของภาคประชาชนต่อกรกับปืนของรัฐบาลคอมมิวนิสต์

แต่ในขณะเดียวกัน บทเรียนจากการสูญเสียสถานภาพของขบวนการโซลิดาริตี้ เมื่อเข้าสู่วังวนทางการเมือง ก็น่าจะนำมาศึกษาเช่นกัน โดยเฉพาะบทเรียน หลังอดีตประธานาธิบดี เลช วาเวนซ่า และผู้นำสหภาพแรงงานเสรีโซลิดาริตี้ ล้มเหลวในการบริหารประเทศ และเมื่อมีการตั้งพรรคการเมืองของขบวนการแรงงานเสรีโซลิดาริตี้ก็ยังไม่ปรากฏความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของพรรค แต่มีพรรคอื่นในแนวสังคมประชาธิปไตยที่ได้รับความนิยมมากกว่า

ขณะที่อีกตัวอย่าง ที่รายการรอบบ้านเรา จงยกมาเปรียบเทียบ คือ แนวทางการเมืองของพรรคกรีน ในเยอรมนีที่มีการเคลื่อนไหวบนอุดมการณ์เพื่อสันติภาพ และสิ่งแวดล้อมที่ผ่านหน้าประวัติศาสตร์การต่อต้าน การประท้วง การเรียกร้องต่อผู้มีอำนาจ ด้วยวิธีคล้ายๆ กัน ก่อนจะจัดตั้งเป็นพรรคการเมือง และส่งผู้สมัครลงชิงชัยในการเลือกตั้ง เหมือนกัน แต่เส้นทางพรรคกรีนของเยอรมนีต้องใช้เวลาทั้งสิ้น 19 ปี หรือเกือบ 2 ทศวรรษนับแต่ลงสู่สนามเลือกตั้ง ถึงจะมีโอกาสได้ร่วมจัดตั้งรัฐบาลในสมัย นายกรัฐมนตรีแกร์ฮาร์ด ชโรเดอร์ โดยมีโอกาสอยู่ร่วมรัฐนาวาลำนี้ตั้งแต่ปี 2541 – 2548 และก็ไม่ได้มีโอกาสในฐานะพรรคนำด้วย

แต่อย่างไรก็ดี แม้การเคลื่อนไหวของพรรคกรีนในเยอรมนีจะไม่หวือหวาเมื่อเทียบกับเส้นทางการเคลื่อนไหวของโซลิดาริตี้ แต่ก็มีข้อน่าสนใจคือ ทุกครั้งที่มีการสำรวจความนิยมในพรรคกรีน แม้ว่าจะไม่ได้รับการจัดตั้งรัฐบาลแต่ก็พบว่า ยังคงได้รับเสียงสนับสนุนจากฐานเสียงดั้งเดิมเสมอต้นเสมอปลายตลอดมา เหตุผลหนึ่งเป็นเพราะ พรรคมีจุดยืน หรืออุดมการณ์พรรคเหนียวแน่นในการเดินหน้าต่อต้านสงคราม สร้างความยั่งยืนให้กับสภาพแวดล้อม แม้จะต้องขัดคอกับกลุ่มทุนเจ้าของอุตสาหกรรมใหญ่ๆ หรือแม้กระทั่งกลุ่มแรงงาน และคนรากหญ้า ที่มองว่าตนได้รับผลกระทบจากการเคลื่อนไหวของพรรคกรีน ที่มีจุดยืนต่อต้านการพัฒนาทุกรูปแบบที่สร้างผลเสียต่อธรรมดา จนทำให้ตัวเลขว่างงานสูงขึ้น

ไม่แน่ว่า การตัดสินใจของพันธมิตรฯ ในวันที่ 24 พฤษภาคมนี้ อาจจะไม่เหมือนเสียทีเดียวกับตัวอย่างทั้งสองด้านข้างบน และก็เป็นไปได้ที่พันธมิตรฯ อาจจะสร้างตัวอย่างใหม่บนเส้นทางการเมืองขึ้นมาเองได้ ไม่ว่าจะในหรือนอกสภา แต่ทั้งหมดล้วนต้องขึ้นอยู่กับความตั้งใจของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในการจะสร้างการเมืองใหม่ขึ้นมาให้ได้ และสิ่งที่จะต้องยึดให้มั่นก็คือ ไม่ว่าจะมีพรรคหรือไม่มีพรรค เราล้วนต้องมีความมุ่งหวังสู่การเมืองใหม่ในใจเสมอ .....
กำลังโหลดความคิดเห็น