xs
xsm
sm
md
lg

กรุงศรี ออโต้ชี้รีไฟแนนซ์รถยังรุ่ง พร้อมขายผ่านBAYอีก2-3เดือน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - กรุงศรี ออโต้โชว์สินเชื่อรีไฟแนนซ์รถ "กรุงศรี คาร์ ฟอร์ แคช" ไตรมาสแรกมียอดปล่อยกู้ 2.5 พันล้าน จากเป้าทั้งปีที่ระดับ 1.1 หมื่นล้าน และเป็นยอดลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้น 22% พร้อมเร่งขยายตลาดรักษามาเก็ตแชร์อันดับ 1 สินเชื่อรีไฟแนนซ์ เพิ่มเปิดช่องทางขยายสินเชื่อผ่านสาขาแบงก์กรุงศรีฯ หลังได้รับอนุมัติจากแบงก์ชาติ คาดอีก 2-3 เดือนเริ่มดำเนินการได้ ด้านแบงก์ไทยพาณิชย์หันกลับมารุกสินเชื่อเช่ารถไตรมาส 3 หลังปรับระบบงานสนับสนุน-ไอทีเสร็จ

นายไพโรจน์ ชื่นครุฑ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อยุธยา แคปปิตอล ออโต้ ลีส จำกัด (มหาชน) หรือ กรุงศรี ออโต้ เปิดเผยว่า ในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา นับได้ว่ากรุงศรี คาร์ ฟอร์ แคช ประสบความสำเร็จในระดับที่น่าพอใจ เนื่องจากผู้บริโภคให้ความไว้วางใจเลือกใช้บริการ กรุงศรี คาร์ ฟอร์ แคช อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผลประกอบการในไตรมาสแรกเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ประมาณ 2,500 ล้านบาท และยังสามารถขยายฐานลูกค้าใหม่ได้สูงถึง 22% ส่งผลให้พอร์ตลูกค้ามีมากกว่า 110,000 ราย ด้วยสัดส่วนในกรุงเทพฯ 30% และต่างจังหวัด 70% พร้อมตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อปีนี้อยู่ที่ 11,000 ล้านบาท จากที่คาดว่าตลาดสินเชื่อรีไฟแนนซ์รถยนต์จะเติบโตได้ประมาณ 5%หรือคิดเป็นเป็นเม็ดเงินประมาณ 25,000 ล้านบาท

"แม้ว่าในไตรมาสแรกเราจะปล่อยกู้ได้ 2.5 พันล้าน เทียบกับเป้าที่ 1.1 หมื่นล้านแล้วอาจจะยังไม่ถึงเป้าดีนัก แต่สินเชื่อแบบนี้จะมีช่วงที่ปล่อยกู้ได้มากในช่วงไตรมาส 4 ซึ่งบริษัทคาดว่าในอีก 3 ไตรมาสที่เหลือน่าจะปล่อยกู้ได้ไตรมาสละ 3 พันล้าน เนื่องจากสินเชื่อรีไฟแนนซ์รถจะยังมีความต้องการค่อนข้างมาก เพราะผู้บริโภคยังต้องการเงินสดในยามขาดสภาพคล่อง เพื่อนำมาแบ่งเบาภาระอื่นๆ หรือใช้จ่ายยามฉุกเฉิน แต่ก็จะเป็นธุรกิจมีการแข่งขันที่มากเช่นกัน"

นอกจากนี้ ในฐานะที่ กรุงศรี คาร์ ฟอร์ แคช เป็นทั้งผู้บุกเบิกและผู้นำสินเชื่อเพื่อคนมีรถ จึงได้ปรับกลยุทธ์การดำเนินงานในเชิงรุกมากยิ่งขึ้น เพื่อรักษาตำแหน่งผู้นำธุรกิจรีไฟแนนซ์รถยนต์ ด้วยสัดส่วน 40% ในปีนี้ โดยมุ่งเดินหน้าสู่กลยุทธ์ "Market Shaper" หรือที่เรียกว่า "กลยุทธ์ผู้กำหนดทิศทางตลาด"อย่างครอบคลุมทุกความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น โดยจะยกระดับการให้บริการทั้ง 32 สาขาทั่วประเทศ เพื่อรักษาฐานลูกค้าเก่าและเพิ่มฐานลูกค้าใหม่ และการขยายช่องทางให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ เพื่อให้เข้าใจถึงความต้องการที่แท้จริงและเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายยิ่งขึ้น โดยปีนี้ ศูนย์ล้างรถวิซาร์ดกว่า 30 แห่งทั่วประเทศ ได้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรตัวแทนขายกับกรุงศรี คาร์ ฟอร์ แคช ซึ่งนับเป็นอีกก้าวของความสำเร็จในการขยายธุรกิจสินเชื่อเพื่อคนมีรถ เนื่องจากในช่องทางตัวแทนขายนี้ ยังสามารถขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ถึง 2 เท่า หรือจากเดิมจำนวน 250 ราย เพิ่มเป็น 500 ราย ภายในสิ้นปีนี้ และในปีนี้ได้ทุ่มงบการตลาดกว่า 120 ล้านบาท เพื่อทำการสื่อสารให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายให้มากที่สุด

นายไพโรจน์กล่าวอีกว่า ในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า บริษัทจะสามารถเพิ่มช่องทางในการขยายสินเชื่อได้อีก โดยจะสามารถเสนอผลิตภัณฑ์ผ่านสาขาของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ได้อีกช่องทางหนึ่ง ภายหลังได้รับอนุมัติจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมการด้านข้อมูลให้พนักงานที่จะเป็นผู้นำเสนอข้อมูล โดยผลิตภัณฑ์แรกจะเป็นส่วนของกรุงศรี คาร์ ฟอร์ แคชก่อน

สำหรับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)ของบริษัทในปัจจุบันยังคงทรงตัวอยู่ที่ระดับ 2% เนื่องจากบริษัทมีการบริหารความเสี่ยงที่ดี และพยายามจัดระบบติดตามหนี้สินให้รัดกุมยิ่งขึ้น โดยบริษัทก็จะพยายามรักษาสัดส่วนให้เอ็นพีแอลอยู่ในระดับดังกล่าวให้ได้ จากเอ็นพีแอลของระบบโดยรวมจะอยู่ที่ 2.5%

ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนสินเชื่อรถใหม่อยู่ประมาณ 50%ของพอร์ตรวม สินเชื่อรถมือสองและรีไฟแนนซ์ 45% และรถมอเตอร์ไซค์ 5% ซึ่งในปีนี้บริษัทพยายามจะเน้นสินเชื่อรถมือสองและรีไฟแนนซ์มากขึ้น เนื่องจากสินเชื่อรถใหม่ในปีนี้หดตัวตามภาวะเศรษฐกิจ

แบงก์หันรุกเช่าซื้อรถQ3

นางกรรณิกา ชลิตอาภรณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB เปิดเผยว่า ธนาคารเตรียมพร้อมที่จะรุกตลาดสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ในช่วงไตรมาส 3 นี้ โดยจะใช้ส่วนของสาขาที่มีอยู่ทั่วประเทศทำตลาด หลังจากช่วงที่ผ่านมาธนาคารได้ชะลอการปล่อยสินเชื่อรถยนต์ 1-2 ปี เพราะอยู่ระหว่างการปรับปรุงระบบงานสนับสนุน และระบบคอมพิวเตอร์ โดยปัจจุบันมีสินเชื่อประมาณ 60,000 ล้านบาท

ด้านนายปรีชา ภูขำ ประธานกรรมการ บริษัทเคทีบี ลีสซิ่ง จำกัด ในเครือธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB กล่าวว่า ในขณะนี้บริษัทลีสซิ่งซึ่งมีธนาคารถือหุ้นอยู่ได้มีการทำการตลาดกันมากขึ้น เนื่องจากยังมีต้นทุนการเงินที่ถูกเพราะได้รับการสนับสนุนจากธนาคารแม่ ส่วนลีสซิ่งรายย่อยในต่างจังหวัด ซึ่งต้องพึ่งพาแหล่งเงินทุนจากการกู้ธนาคารต่าง ๆ ทำให้มีต้นทุนการเงินที่สูงกว่า และไม่สามารถที่จะแข่งขันในด้านราคาได้ โดยเฉพาะสินเชื่อรถใหม่ทำให้ขณะนี้ลีสซิ่งรายย่อยได้ปรับตัวไปปล่อยสินเชื่อรถยนต์มือ 2 มากขึ้นแต่เมื่อลีสซิ่งขนาดใหญ่มุ่งเน้นเจาะตลาดตลาดรถยนต์มือ 2 เช่นกันจึงทำให้ลีสซิ่งรายย่อยเริ่มมีปัญหา บางแห่งก็เริ่มปิดตัวไปบ้างแล้ว ซึ่งเชื่อว่าในอีกไม่เกิน 5 ปีพวกลีสซิ่งรายย่อยในต่างจังหวัดคงหายหมด แต่ในส่วนลีสซิ่งมอเตอร์ไซด์น่าจะยังพออยู่ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น