xs
xsm
sm
md
lg

เอกภาพกองทัพคือวินัย

เผยแพร่:   โดย: ว.ร.ฤทธาคนี

ในวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2495 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชฯ พระราชทานพระราชหัตถเลขาแก่ทหารบก เนื่องในวันกองทัพประจำปี 2496 ซึ่งขณะนั้นคือวันที่ 25 มกราคม มีใจความว่า “ทหารพึงสำนึกในเกียรติอันสูงของตน ที่เป็นผู้มีหน้าที่คุ้มครอง และรักษาไว้ซึ่งเอกราชของประเทศชาติ และมั่นอยู่ในความสัตย์และวินัยของทหาร ตามนัยพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงจัดระเบียบกองทัพบกไทยให้เข้ารูปตามสมัยนิยม ที่ได้พระราชทานไว้ในคราวทรงรับคทาทหารบก เมื่อ พ.ศ. 2446 ซึ่งมีพระราชดำรัสไว้ด้วยว่า

“ทหารเป็นผู้แปลกกว่าโจร ก็เพราะเป็นผู้มีความสัตย์ ถือมั่นในธรรมของทหารคือใช้ศาสตราวุธในการรักษาชาติ ศาสนา และบ้านเมือง มีความกล้าหาญ ไม่คิดแก่ความยากและชีวิต” ดังนี้ ฉะนั้น ขอให้ทหารทั้งหลายจงสังวร และมั่นอยู่ในคุณธรรมที่ว่านั้นให้จงมาก เพื่อความเจริญรุ่งเรืองแห่งกองทัพบกไทย”

หากเมื่อเข้าใจถือมั่นในธรรมของทหารแล้ว ย่อมรู้ว่าวินัยทหารก็คือธรรมหนึ่งของทหาร เพราะเป็นกรอบหน้าที่รับผิดชอบ ความมุ่งมั่นในอุดมการณ์ชาติโดยไม่คำนึงถึงลาภ ยศ สรรเสริญ รวมทั้งสละได้แม้ชีวิต และในกรอบธรรมของทหารนี้ วินัยยังเป็นกฎหมายที่ให้โทษอีกด้วยหากไม่อยู่ในกรอบธรรมของทหาร

ปัจจุบันกองทัพไทยยึดถือวินัยทหาร 9 ประการ หากไม่ปฏิบัติตาม ก็ถือว่าผิดวินัยได้แก่ ขัดขืน หลีกเลี่ยงหรือละเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาเหนือตน ไม่รักษาระเบียบการเคารพระหว่างผู้ใหญ่ ผู้น้อย ไม่รักษามรรยาทให้ถูกต้องตามแบบธรรมเนียมของทหาร ก่อให้แตกความสามัคคีในหมู่ทหาร เกียจคร้านละทิ้งหรือเลินเล่อต่อหน้าที่ราชการ กล่าวคำเท็จ ใช้กิริยาวาจาไม่สมควรหรือประพฤติไม่สมควร ไม่ตักเตือนสั่งสอนหรือลงทัณฑ์ผู้ใต้บังคับบัญชาที่กระทำผิดตามโทษานุโทษ และสุดท้ายเสพเครื่องดองของเมาจนถึงเสียกิริยา

นอกจากนี้ กองทัพไทยยังมีแนวอันเป็นลักษณะและหลักการของความเป็นผู้นำทางทหารให้ยึดถือปฏิบัติคือ ลักษณะของการเป็นผู้นำทางทหาร 14 ข้อ เช่น ความกล้าหาญ ความเด็ดขาด ความอดทน ความซื่อสัตย์ ความยุติธรรม และความรู้ เป็นต้น ส่วนหลักการเป็นผู้นำทางทหาร 13 ข้อ เช่น แสวงหาความรับผิดชอบ ทำตัวเป็นตัวอย่าง ใช้หน่วยปฏิบัติภารกิจตามขีดความสามารถที่มีอยู่ ความจงรักภักดี และความไม่เห็นแก่ตัว เป็นต้น

หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทหารโดยคำแนะนำ และการยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร เป็นกฎหมายใช้บังคับทหารว่าด้วยยุทธวินัย และการลงอาญาทหารฐานละเมิดยุทธวินัยตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2476 และเป็นแนวทางปฏิบัติจนถึงปัจจุบัน

นอกจากกฎหมายฉบับนี้แล้ว ยังมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่นอีกได้แก่ ประมวลกฎหมายอาญาทหารเป็นกฎหมายที่ตราขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พ.ศ. 2455 เป็นกฎหมายที่กำหนดลักษณะโทษ และความผิดทางอาญาเพื่อลงโทษเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร ซึ่งจะมีความผิดทั้งทางกฎหมายบ้านเมืองและกฎหมายทหาร

ประเด็นเรื่องวินัยต่างๆ แล้ว “ความผิดฐานขัดคำสั่ง” ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ เพราะทุกองค์กร “คำสั่ง” ถือว่าเป็นกลไกขับเคลื่อนกิจกรรมขององค์กรให้บรรลุวัตถุประสงค์ และการขัดขืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรงเพราะองค์กรไม่สามารถบรรลุความสำเร็จได้ และทหารเชื่อว่าคำสั่งเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดเพราะวัตถุประสงค์หลักของกองทัพ คือ ชัยชนะ หากทหารขัดคำสั่งแล้วชัยชนะจะเกิดขึ้นได้อย่างไร

ความผิดฐานขัดคำสั่งที่ถือว่าเป็นความผิดต่อประมวลกฎหมายอาญาทหารนั้น ตามมาตรา 4 บัญญัตินิยามศัพท์คำว่า คำสั่ง หมายถึง “บรรดาข้อความที่ซึ่งผู้บังคับบัญชาทหารผู้ถืออำนาจอันควรเป็นผู้สั่งไปโดยสมควรตามกาลสมัย และชอบด้วยกฎหมาย อันมีระยะเวลากำหนดของคำสั่งที่ชัดเจน”

ความละเอียดอ่อนของ “คำสั่ง” คือ “ต้องชอบด้วยกฎหมาย” คือ การกระทำของทหารต้องอยู่ในกรอบของกฎหมายที่ตราไว้และมีรายละเอียดชัดเจน และทหารมีสิทธิที่จะล่วงรู้ว่าการปฏิบัตินั้นต้องได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายนั้นๆ และมีผู้รับผิดชอบการกระทำของทหาร

กฎหมายโดยทั่วไปแล้วจะประกอบด้วยหลักธรรม สร้างขึ้นโดยความชอบธรรม อยู่ในกรอบของศีลธรรม เพราะจะไม่มีกฎหมายใดอนุญาตให้ผู้หนึ่งผู้ใดกระทำการละเมิดสิทธิเสรีภาพ ความเป็นมนุษย์และเบียดเบียนทำร้ายใครได้เลย แต่กฎหมายอนุโลมให้กระทำการป้องกันตัวได้ หากมีภัยคุกคามถึงชีวิตปรากฏและกระทำการอยู่ตรงหน้า

จากบันทึกประวัติศาสตร์กองทัพไทยตั้งแต่อดีตกาลมาแล้ว นัยเอกภาพของกองทัพนั้นขึ้นอยู่กับอุดมการณ์รักชาติ ปกป้องชีวิต ทรัพย์สินของวงศ์ตระกูล ครอบครัว ญาติพี่น้อง และความจงรักภักดีต่อราชบัลลังก์ จนเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน พ.ศ. 2475 ความคิดของทหารเปลี่ยนแปลงไปตามกาล และอิทธิพลจากภายนอกตามทฤษฎีการเมืองที่สำแดงนัยสิทธิเสรีภาพบุคคลมากขึ้น

อุดมการณ์รักชาติของทหารหลัง พ.ศ. 2475 ไม่เปลี่ยนแปลงทหารยังคงยอมตายเพื่อรักษาเอกราชอธิปไตยของชาติ แต่เกิดอุดมการณ์ทางการเมืองว่าด้วยเรื่องเสรีภาพในความคิด ความเสมอภาค และความยุติธรรม จึงเกิดการสู้รบกันเองระหว่างทหาร เมื่อมีความคิดอ่านต่างกันทางการเมือง และเมื่อมีฝ่ายที่พ่ายแพ้ก็ถูกจับในข้อหาเป็นกบฏ เช่น กบฏบวรเดช กบฏแมนฮัตตัน กบฏวังหลวง กบฏเสนาธิการ และกบฏเมษายน 2524 เป็นต้น

จึงเห็นได้ว่า “คำสั่ง” ก็ยังมีความศักดิ์สิทธิ์เพราะทหารถือว่า “คำสั่ง” ของผู้บังคับบัญชามีความชอบธรรมเสมอ เพราะเขาเห็นว่าอุดมการณ์ตรงกันกับเขาจึงปฏิบัติตาม แต่ถ้าไม่เห็นด้วยหรือเห็นว่าคำสั่งขาดความชอบธรรม ก็เว้นไม่ปฏิบัติหรือแปรพักตร์ไปเข้ากับอีกพวกหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นมาแล้วในประวัติการรัฐประหารและการกบฏ

แต่มีตัวอย่างของการตีความคำสั่งที่ขัดต่อกฎหมาย และหลักธรรมสังคม คือ กรณีที่พล.ท.ประเสริฐ ธรรมศิริ อดีตแม่ทัพภาคที่ 1ไม่เห็นด้วยกับการใช้กำลังประหัตประหารกันเองและได้เปิดเผยกับหนังสือพิมพ์สยามรัฐหลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2416 ว่า จอมพลถนอม กิตติขจร ได้อ้อนวอนตนนาน 4 ชั่วโมง ขอให้ตนส่งทหารเพิ่มออกไปปราบปรามประชาชน โดยจอมพลถนอม ได้อ้างว่าประชาชนส่วนใหญ่ที่ชุมนุมกันที่ถนนราชดำเนินในวันนั้น เป็นพวกผู้ก่อการร้าย แต่พล.ท.ประเสริฐ บอกปฏิเสธว่า ตามข่าวกรองที่ได้รับ พวกที่ชุมนุมกันนั้น ไม่ใช่เป็นพวกผู้ก่อการร้าย แต่เป็นเด็กนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน จึงไม่สามารถที่จะปล่อยให้คนไทยด้วยกันต้องฆ่ากันเองได้

ในการปฏิเสธนี้ พล.ท.ประเสริฐ ได้ออกลาดตระเวนด้วยตัวเอง เพื่อให้เห็นจริงๆ ว่า สถานการณ์เป็นอย่างไร และพบว่าที่นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนออกมาต่อต้านกันมากมายนั้น เพราะความโกรธแค้นแทนเพื่อน และไม่ใช่ผู้ก่อการร้ายแน่นอน

สำหรับกำลังทหารต่างจังหวัดที่มาตามคำสั่ง พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร นั้น พล.ท.ประเสริฐ ได้สั่งเก็บอาวุธให้หมด และได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตขอใช้สวนอัมพร อันเป็นเขตพระราชฐานเป็นที่พักกองทหารเหล่านั้น และมีคำสั่งมิให้ออกข้างนอกอย่างเด็ดขาด และให้กลับคืนที่ตั้งปกติในต่างจังหวัดในวันรุ่งขึ้น

ข้อพิจารณาของพล.ท.ประเสริฐ ธรรมศิริ นั้น เห็นได้ชัดว่าเป็นคำสั่งไม่ชอบธรรม ขาดข้อมูลที่เป็นจริง และเป็นคำสั่งที่ผิดกฎหมายเพราะ พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร ไม่มีอำนาจสั่งการให้ทหารต่างจังหวัดเข้ากระทำการ แม้ว่าได้รับแต่งตั้งจากรัฐบาลก็ตาม และอุดมการณ์ทางการเมืองของพล.ท.ประเสริฐ ธรรมศิริ คือ “ผมขอยืนยันว่า ตราบใดที่ผมยังมีชีวิตอยู่ ผมจะไม่ยอมให้ทหารมาฆ่าประชาชนอย่างแน่นอน”

ส่วนทหารเรือที่เฝ้าสังเกตการณ์ในแม่น้ำเจ้าพระยา ก็เห็นเป็นทำนองเดียวกันว่า ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้น เต็มไปด้วยนักศึกษา และประชาชน ไม่มีวี่แววของผู้ก่อการร้ายตามอ้าง จึงไม่ปฏิบัติตามคำสั่งรัฐบาลจอมพลถนอม ซึ่งในที่สุดจอมพลถนอมและพวกก็หมดอำนาจไปโดยปริยาย และปฏิบัติตามคำขาดของพล.อ.กฤษณ์ สีวะรา ที่ให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และให้เดินทางออกนอกประเทศ

เป็นเรื่องที่แปลกอย่างยิ่ง เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ขึ้นที่กรุงเทพมหานคร แต่ก่อนหน้านี้ที่สหรัฐฯ มีเหตุการณ์สังหารนักศึกษาสหรัฐฯ ที่มหาวิทยาลัยเคนท์ สเตท โดยกลุ่มทหารพิทักษ์มลรัฐ (National Guards) เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม ค.ศ. 1970 หรือพ.ศ. 2513 มีนักศึกษาตาย 4 คน จากการยิง 67 นัด นักศึกษามหาวิทยาลัยเคนท์ สเตท ประท้วงกรณีรัฐบาลนิกสันส่งกองทัพบุกเข้าเขมร

และในวันที่ 30 ตุลาคม ค.ศ. 1972 หรือพ.ศ. 2515 กองทัพบกอังกฤษสังหารผู้ประท้วงชาวคาทอลิกตาย 13 คนที่ต่อต้านรัฐบาลอังกฤษที่บอกไซด์ เมืองแดรี่ แคว้นไอร์แลนด์เหนือ

ทั้งสองเหตุการณ์นี้ทหารทั้งสองชาติให้การว่าเป็นการยิงป้องกันตัวเอง และปัจจุบันเหตุการณ์ที่มหาวิทยาลัยเคนท์ สเตทนั้น มีนักศึกษาที่รอดชีวิตต้องการเปิดคดีใหม่ ส่วนที่อังกฤษการสอบสวนของรัฐสภายังไม่จบสิ้น แต่คาดว่าคณะกรรมาธิการสอบสวนของลอร์ดซาวิลล์ จะนำข้อเท็จจริงเสนอต่อสภาในปี 2009 นี้ให้ได้

ทั้งกองทัพบกอังกฤษซึ่งมีอำนาจตามกฎหมายไอร์แลนด์เหนือ และกองกำลังพิทักษ์มลรัฐของสหรัฐฯ ซึ่งมีธรรมนูญมาตรา 10 ให้อำนาจไว้ชัดเจน แต่ความละเอียดอ่อนของผู้บังคับบัญชาที่ขาดวิจารณญาณ และความรู้ความเข้าใจเรื่องธรรมสังคม ส่วนกองทัพอังกฤษนั้นมีความลำเอียงและต่อต้านชนกลุ่มน้อยคาทอลิกอยู่แล้วเพราะคิดว่าพวกนั้นเป็นแนวร่วมผู้ก่อการร้าย IRA และสนับสนุนพวกโปรเตสแตนต์

จึงสรุปได้ว่าความคิดอ่านของกองทัพที่เจริญทางสังคมจิตวิทยา การเมือง รัฐธรรมนูญที่แข็งแกร่งในเรื่องสิทธิเสรีภาพ ซึ่งทหารรู้ดีและมีประสบการณ์ทางทหารเช่นนี้มากมายก็ไม่วายที่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้เมื่อทหารขาดหลักธรรมสังคม

บทเรียนเหล่านี้เชื่อว่านายทหารบกไทยปัจจุบันได้ศึกษากันอย่างละเอียด และมีการประยุกต์ยุทธวิธีที่นิยมฝึกอบรมกันในประเทศตะวันตกให้เข้ากับสังคมไทย และสอดคล้องกับจิตวิทยาสังคมไทย

ดังนั้น เหตุการณ์การสลายกลุ่มเสื้อแดงในช่วงสงกรานต์เดือด 2552 นั้น กองทัพบกมีบทเรียน มีผู้บังคับบัญชาที่เคยผ่านตำแหน่งผู้บัญชาการกองกำลังรักษาสันติภาพในติมอร์ตะวันออกซึ่งกว่าจะได้ไปต้องผ่านการทดสอบอย่างเข้มข้นจากสหประชาชาติ นายทหารรุ่นใหม่ๆ เข้าใจหลักธรรมสังคม และอดสูกับภาพลักษณ์ของทหารที่ปฏิบัติการใช้กำลังสลายฝูงชนในอดีตจนสังคมรังเกียจ ทหารประจำการปัจจุบันมีทั้งทหารเกณฑ์ และทหารที่สมัครเข้ารับใช้ชาติ ระดับความรู้ และสติปัญญาก็ก้าวทันโลกยุคข้อมูลข่าวสาร จึงคงไม่มีใครคิดที่จะทำร้ายประชาชนแล้วตกเป็นจำเลยภายหลัง

รัฐบาลเองก็มีสติและวิจารณญาณในการออกคำสั่ง และมีคนรับผิดชอบ ผู้สื่อข่าวทั้งไทยและต่างประเทศก็มีจรรยาบรรณในการออกข่าว เพราะนักข่าวทั้งมีสังกัดและอิสระต่างออกล่าข่าว หากเลือดประชาชนคนเสื้อแดงไหลลงพื้นดินเพราะน้ำมือทหารแล้ว ข่าวคงจะประโคมไปทั่วโลก เพราะว่ามีนักข่าวต่างประเทศทั้งมีสังกัดและประเภทมือปืนรับจ้าง หรือปาปารัสซีอยู่เป็นโขลง พร้อมที่จะถล่มกองทัพบกไทยและประเทศไทยตามความปรารถนาของทักษิณ

จึงขอให้เลิกสงสัยกองทัพบกไทยได้แล้ว ไม่มีใครมีความคิดไดโนเสาร์อีกต่อไปแล้ว เพราะทหารก็มีหัวใจ ผมไม่อยากให้ทหารน้อยใจ และไม่ปฏิบัติหน้าที่ห้ามทัพ “คนใส่เสื้อสี” หรือพวกคิดทำร้ายชาติในอนาคต จนเกิดการล้มตายอย่างไร้ระบบ คือ ใครอยากฆ่าได้ก็ฆ่า เป็นอนาธิปไตยมิคสัญญี

                                                   nidd.riddhagni@gmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น