xs
xsm
sm
md
lg

รบ.สหรัฐฯเสนอระเบียบคุมตราสารอนุพันธ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี – คณะรัฐบาลสหรัฐฯเมื่อวันพุธ (12) เสนอระเบียบใหม่ในการกำกับดูแลการซื้อขายตราสารอนุพันธ์ อันเป็นเครื่องมือทางการเงินที่มีความซับซ้อน ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งที่นำไปสู่วิกฤตการเงินของโลกเมื่อปีที่แล้ว

ระเบียบใหม่มีเป้าหมายที่จะป้องกันมิคสัญญีทางการเงินที่เกิดขึ้นหลังจากสถาบันการเงินขนาดใหญ่หลายแห่งล้มครืนลงจากการค้าตราสารอนุพันธ์ โดยที่เห็นได้ชัดก็คือ วาณิชธนกิจ เลห์แมน บราเธอร์ส ในขณะที่บริษัทเอไอจี ก็ประสบภาวะขาดทุนมหาศาลจนราคาหุ้นดิ่งเหว และตกจากอันดับบริษัทประกันภัยใหญ่ที่สุดในโลกเพราะขนาดสินทรัพย์เหลือไม่ถึงครึ่งของระดับเดิม

ระเบียบที่นำเสนอโดยกระทรวงการคลังนี้ เรียกร้องให้กำหนดเงื่อนไขด้านเงินทุนสำหรับบริษัทที่ค้าตราสารอนุพันธ์ นอกจากนี้ยังกำหนดให้ตราสารประเภทเหล่านี้จำนวนมาก จะต้องซื้อขายผ่านทางกิจการที่มีการกำหนดระเบียบควบคุมเอาไว้

ในปัจจุบันแต่ละวันจะมีการค้าตราสารอนุพันธ์เป็นมูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งมีทั้งประเภทที่เป็นสัญญาตราสารฟิวเจอร์ และสัญญาออปชั่นต่าง ๆ โดยจำนวนมากทีเดียวซื้อขายกันนอกตลาดที่มีกฎระเบียบคุมเข้ม

ตราสารอนุพันธ์ประเภทที่มีการกล่าวขวัญกันถึงว่า เป็นต้นเหตุแห่งวิกฤตมากที่สุด ก็คือ เครดิต ดีฟอลต์ สวอป (credit default swap) ซึ่งเป็นตราสารที่รับประกันว่าหากมีหลักทรัพย์บางชนิดที่ผู้ซื้อเครดิต ดีฟอลต์ สวอป ถือเอาไว้ เกิดเสียหายไป ผู้ซื้อก็จะได้รับเงินทดแทนจากบริษัทที่ออกตราสารนี้ วอร์เรน บัฟเฟตต์ซึ่งเป็นตำนานของนักลงทุนสหรัฐฯถึงกับเรียกตราสารชนิดนี้ว่า “อาวุธการเงินที่มีอำนาจการทำลายล้างสูง”

เมื่อปีที่แล้ว ระบบการเงินของสหรัฐฯเกือบจะพังทลายลงมา หลังจากที่เอไอจีและเลห์แมน บราเธอร์สน่าจะขาดทุนหลายล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯจากตราสารซับไพรม์ที่ขาดสภาพคล่องโดยสิ้นเชิงแล้ว

นอกจากนั้น ความเคลื่อนไหวของรัฐบาลสหรัฐฯคราวนี้ ยังเป็นการสานต่อผลการประชุมสุดยอดกลุ่มจี 20 เมื่อต้นเดือนเมษายน ซึ่งได้ให้คำมั่นกันไว้ในเรื่องการคุมเข้มตลาดการเงินของโลก เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอย และฉุดลากให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะทรุดตัวรุนแรงอีกในอนาคต

คำแถลงของกระทรวงการคลังกล่าวว่า ระเบียบใหม่นี้มีเป้าหมายที่จะแก้ไข “ความอ่อนแอและช่องโหว่มากมาย” ในระบบการเงิน นอกจากนี้ยังระบุอีกว่าพวกบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ตลอดจนหน่วยงานกำกับดูแล “ไม่เข้าใจ หรือไม่ได้คิดรับมือ” ความเสี่ยงจากตราสารอนุพันธ์ขึ้นมาตรวจสอบ จวบจนกระทั่งเกิด “ความเสียหายอย่างใหญ่หลวง” อันนำไปสู่การสูญเสียความเชื่อมั่นของระบบการเงินทั้งหมด

โดยทางทฤษฎีแล้ว ตราสารอนุพันธ์เป็นเครื่องมือที่มุ่งจะลดความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในระบบการเงิน ด้วยการเสนอให้หลักประกันความผันผวนด้านราคา รวมทั้งการไม่ชำระหนี้ทั้งปวง แต่มิคสัญญาทางการเงินที่เกิดขึ้นในปีที่แล้ว แสดงให้เห็นว่า “ความเสี่ยงอันมหาศาลของตลาดตราสารอนุพันธ์นั้น กลับไม่ได้รับการสนใจจากทั้งผู้กำกับดูแลและผู้เล่นในตลาดแม้แต่น้อย”

ดังนั้นระเบียบใหม่จึงถูกร่างขึ้นโดยมีเป้าหมายที่จะ “ก่อให้เกิดความโปร่งใสมากขึ้น รวมทั้งสร้างกฎเกณฑ์ให้กับตลาดเหล่านี้”

กระทรวงการคลังสหรัฐฯบอกด้วยว่าจะร่วมมือกับประเทศอื่น ๆ “เพื่อส่งเสริมการใช้กฎระเบียบที่คล้ายคลึงกันนี้ทั่วโลก”
กำลังโหลดความคิดเห็น