ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ – ประธานหอการค้าเชียงใหม่คนใหม่ชี้เศรษฐกิจหด ธุรกิจส่งออกกระทบหนัก เหตุออเดอร์สั่งซื้อจากต่างประเทศหาย คาดลากยาวถึงสิ้นปี ขณะที่การท่องเที่ยวซบเซาต่อเนื่อง โดยคาดว่าปีนี้การท่องเที่ยวจะประสบกับซูเปอร์โลว์ซีซัน พร้อมกับเตรียมเสนอภาครัฐเสริมสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการบรรเทาผลกระทบ พร้อมจัด “เชียงใหม่ แกรนด์เซลล์” กระตุ้นท่องเที่ยว เน้นกลุ่มเป้าหมายคนไทย
นายณรงค์ คองประเสริฐ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่คนใหม่ กล่าวถึงภาพรวมภาวะเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงใหม่ตลอดไตรมาสแรกที่ผ่านมาของปี 2552 ว่า มีการหดตัวอย่างมาก ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก รวมทั้งปัจจัยต่างๆ ภายในประเทศ โดยธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเพื่อการส่งออกและภาคการท่องเที่ยว เป็นธุรกิจที่เห็นผลกระทบค่อนข้างชัดเจนที่สุด ซึ่งในส่วนของการส่งออกนั้น เมื่อย่างเข้าสู่ช่วงไตรมาสที่ 2 เริ่มเห็นชัดว่าออเดอร์การสั่งซื้อจากต่างประเทศที่ตามปกติจะมีเข้ามาหายไปเกือบหมด
การที่ไม่มีการสั่งซื้อจากต่างประเทศเข้ามา ส่งผลกระทบอย่างมากต่อผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก เพราะภาคการส่งออกมีธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอยู่มากมาย รวมทั้งปัจจุบันภาคเศรษฐกิจไทยก็ยังคงต้องพึ่งพาการส่งออกถึงประมาณร้อยละ 70 ทั้งนี้ยกตัวอย่างการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในนิคมอุตสาหกรรมลำพูน ที่ได้รับผลกระทบในเรื่องไม่มีการสั่งซื้อจากต่างประเทศเช่นกัน ซึ่งมีการประเมินเบื้องต้นว่าทำให้มีคนงานที่จะต้องได้รับผลกระทบจากการเลิกจ้างราว 12,000 คน และผลกระทบนี้น่าจะลากยาวไปตลอดทั้งปี
ส่วนธุรกิจการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ภาวะการท่องเที่ยวอาจจะไม่ใช่เฉพาะที่จังหวัดเชียงใหม่เพียงแห่งเดียวเท่านั้น เพราะมีผลกระทบไปทั่วประเทศและคาดว่าการท่องเที่ยวจะซบเซายาวไปจนถึงสิ้นปีก็เป็นได้ ซึ่งตลอดช่วงที่ผ่านมาผู้ประกอบการท่องเที่ยวต่างทำได้เพียงพยายามประคับประคองธุรกิจให้อยู่รอดให้ได้ด้วยวิธีการต่างๆ เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะชาวต่างชาติลดลงอย่างมาก
ทั้งนี้ในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้ประกอบการต่างคาดหวังกันว่าการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่จะกลับมามีความคึกคักอีกครั้งก็ปรากฏว่า เกิดเหตุการณ์กลุ่มคนเสื้อแดงเชียงใหม่ชุมนุมประท้วงทางการเมืองด้วยการปิดถนน ทั้งถนนท่าแพในตัวเมืองและการปิดถนนซูเปอร์ไฮเวย์ ขึ้นมาอีก ทำให้การท่องเที่ยวไม่คึกคักอย่างที่คาด เพราะนักท่องเที่ยวไม่กล้าที่จะเดินทางเข้ามาในจังหวัดเชียงใหม่ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวคนไทยที่นิยมการขับรถยนต์ส่วนตัวท่องเที่ยว
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีการประเมินว่า ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงไปจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 30-40 และอัตราการเข้าพักโรงแรมมีเพียงประมาณร้อยละ 50 เท่านั้น จากที่คาดว่าน่าจะมีถึงร้อยละ 80 ขณะที่การซื้อขายของฝากและของที่ระลึก ที่ตามปกติจะมีความคึกคักอย่างมากในช่วงนี้น่าจะลดลงไปอย่างน้อยร้อยละ 50 ทั้งนี้โดยภาพรวมแล้วคาดว่าทำให้จังหวัดเชียงใหม่ต้องขาดรายได้ที่ควรจะได้รับจากการท่องเที่ยวในช่วงสงกรานต์ไปประมาณ 200 ล้านบาท
“การท่องเที่ยวของเชียงใหม่ตอนนี้ถือว่าค่อนข้างน่าเป็นห่วงมากทีเดียว เพราะช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาซบเซามาก ทั้งๆ ที่ยังไม่ย่างเข้าสู่ช่วงโลว์ซีซันเลย จึงมีความเป็นห่วงว่าการท่องเที่ยวช่วงโลว์ซีซันของเชียงใหม่ปีนี้ที่กำลังจะมาถึงในเดือนหน้านี้ อาจจะซบเซาอย่างหนักจนถึงขั้นที่เรียกได้ว่าซูเปอร์โลว์ซีซัน ซึ่งคงจะส่งผลกระทบอย่างมากและเป็นวงกว้าง” นายณรงค์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม นายณรงค์ บอกว่า ถือว่าจังหวัดเชียงใหม่ยังมีความโชคดีอยู่บ้างที่ในช่วงเดือนเมษายนนี้มีเม็ดเงินจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ทั้งโครงการเช็คช่วยชาติ โครงการจ่ายเบี้ย อสม. และโครงการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ถูกอัดฉีดเข้าในในจังหวัดเชียงใหม่ประมาณ 700 ล้านบาท จึงพอจะเป็นปัจจัยที่ช่วยพยุงภาวะเศรษฐกิจในพื้นที่เชียงใหม่ได้ในระดับหนึ่ง
สำหรับแนวทางการช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า เบื้องต้นมองว่า ปัญหาที่ผู้ประกอบการประสบเหมือนกันหมดเป็นเรื่องของการขาดสภาพคล่องทางการเงินที่จะนำมาใช้หมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ โดยเป็นผลมาจากการที่รายได้ลดลงไปมากตลอดช่วงที่ผ่านมาหลายเดือน ซึ่งหากยังประสบปัญหานี้อยู่คงหลีกเลี่ยงไม่ไหวที่จะส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน
ดังนั้น จึงเห็นควรว่าน่าจะมีการเสริมสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการ ซึ่งทราบว่าที่ผ่านมารัฐได้อัดฉีดเม็ดเงินราว 1 แสนล้านบาทเพื่อช่วยเหลือผ่านทางสถาบันการเงิน แต่ยังขาดการประชาสัมพันธ์ที่ดีทำให้ผู้ประกอบการยังเข้าถึงการช่วยเหลือดังกล่าวได้ไม่มากนัก
ทั้งนี้ หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ เตรียมเสนอที่จะให้มีการจัดมหกรรมการให้ความช่วยเหลือทางการเงินเพื่อเสริมสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการในช่วงเดือนมิถุนายนนี้
ขณะเดียวกัน หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ยังได้ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ผู้ประกอบการกว่า 300 ราย และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เตรียมจัดโครงการ “เชียงใหม่ แกรนด์เซลล์” ในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมนี้ เพื่อช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวด้วยการจำหน่ายสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยว รวมทั้งสินค้าอื่นๆ จากผู้ประกอบการในราคาพิเศษ มีกลุ่มเป้าหมายหลักเป็นนักท่องเที่ยวชาวไทย ซึ่งเป็นการจัดที่สอดคล้องกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยที่จะ “ไทยแลนด์ แกรนด์เซลล์” โดยคาดหวังว่าน่าจะส่งผลดีในการช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่ได้
ในส่วนของการสนับสนุนจากภาครัฐเพื่อพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพการแข่งขันทางเศรษฐกิจให้แก่จังหวัดเชียงใหม่ในระยะยาวนั้น ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ แสดงความเห็นว่า น่าจะถึงเวลาแล้วที่ควรจะต้องมีการปรับปรุงโครงสร้างระบบขนส่งของเชียงใหม่และภาคเหนือ ทั้งการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าเข้าออกจากจังหวัดเชียงใหม่ โครงการที่หอการค้าเชียงใหม่พยายามผลักดัน คือการขนส่งระบบรางที่มีประสิทธิภาพ อย่างเช่นรถไฟรางคู่ความเร็วปานกลาง ที่สามารถขนส่งผู้โดยสารระหว่างกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ โดยใช้เวลาเพียงประมาณ 6 ชั่วโมง และสามารถขนส่งสินค้าได้ในปริมาณมากกว่า
ทั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบันต้องยอมรับว่าช่องทางการขนส่งผู้โดยสารโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวเข้ามาสู่เชียงใหม่ ยังมีค่อนข้างจำกัดอยู่เพียงแค่ทางถนนและทางอากาศเท่านั้น ซึ่งยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการเดินทางได้อย่างเพียงพอ ทั้งๆ ที่จำนวนห้องพักโรงแรมที่มีอยู่มีมากพอที่จะรองรับนักท่องเที่ยวได้อย่างสบาย ขณะที่การขนส่งสินค้าปัจจุบันที่ยังต้องใช้รถบรรทุกเป็นหลักก็มีต้นทุนสูงกว่าการขนส่งด้วยระบบถึง 10 เท่า ทำให้ต้นทุนการขนส่งสินค้าของผู้ประกอบการในเชียงใหม่ รวมทั้งภาคเหนือมีความเสียเปรียบมากและยากที่จะทำการแข่งขันได้ ซึ่งหากสามารถผลักดันให้เกิดการพัฒนาการขนส่งระบบรางได้เป็นผลสำเร็จ เชื่อว่าจะส่งผลดีอย่างมากต่อทั้งการส่งเสริมการท่องเที่ยวและการขนส่งสินค้าของทั้งภาคเหนือและจังหวัดเชียงใหม่
“ทุกวันนี้ระบบการขนส่งในประเทศไทยมีการใช้ระบบรางเพียงประมาณ 2% เท่านั้น ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก และทำให้ต้นทุนการขนส่งของผู้ประกอบการสูง จึงยากที่จะทำการแข่งขันได้ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือ ถือว่าตรงนี้เป็นจุดที่เสียเปรียบอย่างมาก ดังนั้น หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่จึงมีความพยายามที่จะผลักดันให้เกิดการพัฒนาการขนส่งระบบรางที่มีประสิทธิภาพในภาคเหนือให้ได้ ด้วยการร่วมมือกับหอการค้าในภาคเหนือ ซึ่งแม้จะเป็นโครงการที่ภาครัฐจะต้องใช้เงินลงทุนสูง แต่เชื่อว่าผลตอบแทนที่ได้รับจะมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจอย่างแน่นอน” ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าว