xs
xsm
sm
md
lg

วันพระพุทธเจ้า…บอกอะไรแก่มนุษย์?

เผยแพร่:   โดย: สิริอัญญา

วันวิสาขบูชากำลังจะมาถึงอีกครั้งหนึ่งแล้ว ในปีนี้จะตรงกับวันศุกร์ที่ 8 พฤษภาคม 2552 ซึ่งเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 เป็นวันคล้ายวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า พระบรมศาสดาของชาวพุทธ

ดังนั้นจึงเป็นอันว่าเทศกาลวิสาขบูชาก็มาถึงแล้ว ในฐานะชาวพุทธจึงควรที่จะได้น้อมรำลึกถึงวันสำคัญนี้ เพื่อให้ได้ประโยชน์จากการที่วันสำคัญเช่นนี้เวียนมาบรรจบครบรอบในอีกปีหนึ่ง

และประโยชน์ที่ว่านี้ ความจริงก็มิได้มีเฉพาะแก่ชาวพุทธเท่านั้น หากเผื่อแผ่กว้างออกไปถึงมวลมนุษยชาติ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ ศาสนา หรือถิ่นฐานใด เพราะต่างก็เป็นผู้ที่ร่วมเกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งสิ้น

เมื่อมนุษย์เป็นเพื่อนผู้ร่วมเกิดแก่เจ็บตายด้วยกันหมดทั้งสิ้นแล้ว ถึงแม้จะมีความต่างกันบ้างในเรื่องอื่นๆ ก็เป็นเรื่องเล็กๆ เป็นเรื่องอดิเรก เป็นเรื่องปลีกย่อย หาได้มีเนื้อหาหรือนัยสำคัญทางความเป็นจริงเลย เป็นแค่สิ่งที่สมมติและยึดถือกันจนทำให้มองข้ามความสำคัญที่สุดของชีวิต คือความเป็นเพื่อนผู้ร่วมเกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งสิ้น

จึงควรที่เราท่านทั้งผองจะได้ทำใจน้อมรำลึกว่าวันสำคัญยิ่งใหญ่ที่ได้เวียนมาถึงนี้ได้บอกอะไร และให้ประโยชน์อะไรแก่มวลมนุษย์บ้าง

เพราะเมื่อทราบและเข้าใจสิ่งที่วันสำคัญยิ่งใหญ่นี้ได้บอกกล่าวป่าวประกาศก้องไปทั้งโลก และเห็นถึงประโยชน์อันยิ่งใหญ่ที่จะบังเกิดมีแก่ทุกชีวิตแล้ว ก็ย่อมน้อมรับเอาประโยชน์นั้นมาไว้กับชีวิตของตน และผู้คนแวดล้อม ตลอดจนสังคมหมู่มากได้อีกด้วย

วันวิสาขบูชาเป็นวันรำลึกถึงวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระตถาคตเจ้า ซึ่งทั้งสามเหตุการณ์นี้ล้วนเกิดขึ้นในวันเพ็ญ 15 ค่ำ เดือน 6 ในขณะที่พระจันทร์โคจรอยู่ในกลุ่มดาววิสาขะ จึงได้ชื่อว่าเป็นวันวิสาขะ และวันวิสาขบูชาคือการบูชาเนื่องในวันวิสาขะนั้น

ชาวพุทธโดยทั่วไปถือกันว่าวันวิสาขะคือวันของพระพุทธเจ้า เพราะเป็นวันที่ตรงกับวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ในขณะที่ถือกันว่าวันอาสาฬหบูชาคือวันของพระธรรม เพราะเป็นวันที่พระบรมศาสดาประกาศพระธรรมเป็นครั้งแรกในโลก และถือกันว่าวันมาฆบูชาคือวันของพระสงฆ์ เพราะเป็นวันที่พระบรมศาสดาทรงประชุมพระอรหันตสาวกครั้งใหญ่ในโพธิกาล และประกาศโอวาทปาติโมกข์ตามประเพณีของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

ทุกปีย่อมมีวันวิสาขบูชาเวียนมาถึง ชาวพุทธต่างก็ทำบุญ ทำการกุศล มีการให้ทาน ทำบุญตักบาตร ถือศีลและปฏิบัติธรรม รวมทั้งการทำบุญตามประเพณี มีการเวียนเทียน เป็นต้น ซึ่งถือว่าเป็นพิธีกรรมตามแบบปฏิบัติที่ถือกันมาแล้วก็ถือกันไป

แต่อย่างน้อยที่สุดพิธีกรรมเช่นนั้นก็มีส่วนช่วยในการทำให้คนละบาป ห่างไกลจากบาป และถือศีลฟังธรรม ซึ่งถือว่าเป็นมงคลอย่างหนึ่งของชีวิต ที่ย่อมยังประโยชน์แก่ผู้ประพฤติปฏิบัติโดยไม่เลือกหน้า

แท้จริงแล้ว วันวิสาขบูชาซึ่งเป็นวันของพระพุทธเจ้านั้น ได้บอกอะไรอีกหลายอย่างที่เราท่านมองข้ามกันไป ดังนั้นในมหามงคลสมัยนี้ จึงสมควรที่จะได้ตั้งใจสดับถึงความสำคัญที่วันวิสาขบูชาหรือวันของพระพุทธเจ้าที่ได้ป่าวประกาศบอกกล่าวแก่ชาวโลกสักครั้งหนึ่ง

วันของพระพุทธเจ้าได้บอกกล่าวอะไรแก่ชาวโลกบ้าง ที่สำคัญๆ เห็นจะมีดังต่อไปนี้

ประการแรก เป็นการประกาศแบบอย่างของความเสียสละที่ยิ่งใหญ่ของมนุษย์ ซึ่งถือกำเนิดมาในขัตติยะตระกูล เป็นมกุฎราชกุมารที่มีโอกาสเสวยราชย์ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ในศากยวงศ์แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ ที่ถือว่าเป็นสุดยอดของความเป็นปุถุชนผู้ยังคราคร่ำอยู่ด้วยกิเลส แต่พระตถาคตเจ้าผู้ทรงเห็นภัยอันยิ่งใหญ่ของมวลมนุษย์คือความทุกข์ และปรารภที่จะช่วยมวลมนุษย์ให้พ้นจากภัยอันยิ่งใหญ่นั้น จึงทรงสละทุกสิ่งทุกอย่าง มีราชบัลลังก์ เป็นต้น เพื่อแสวงหาโมกข์ธรรม อันจะช่วยให้มวลมนุษย์ล่วงพ้นจากความทุกข์ได้อย่างสิ้นเชิง

แล้วมนุษย์รุ่นหลังอย่างเราท่านซึ่งเป็นแค่ลูกหลานชาวบ้าน ไฉนเล่าจึงไม่ดำเนินตามรอยพระบาทแห่งพระบรมศาสดา ปรารภความเสียสละเพื่อประโยชน์และความสุขของชนหมู่มากในโลก ซึ่งจะเป็นหนทางสร้างสันติและความเจริญรุ่งเรืองของมนุษยชาติ ซ้ำร้ายผู้คนจำนวนหนึ่งไม่เพียงแต่ไม่น้อมนำความเสียสละให้บังเกิดในตน กลับแสวงหากอบโกยเอาจากบ้านเกิดเมืองนอนและเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เหมือนกับคนบ้าหอบฟางที่ได้มากมีมากเท่าใดไม่รู้จักพอฉะนั้น

ประการที่สอง เป็นการประกาศต่อชาวโลกตั้งแต่อดีตจวบปัจจุบันและอนาคตว่า สรรพสิ่งหาจีรังยั่งยืนไม่ ย่อมผันแปรเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่หยุดยั้ง มีความเกิดขึ้นแล้ว ย่อมมีความเสื่อมและความดับไปเป็นธรรมดา ไม่มีใครจะหลีกหนีล่วงพ้นกฎเกณฑ์นี้ไปได้เลย ไม่ว่าจะเป็นยาจกเข็ญใจ หรือฐานะสูงส่งประการใด แม้กระทั่งพระผู้เป็นศาสดาเอกของโลก ก็ย่อมอยู่ภายใต้สัจจะนี้ด้วยกันทั้งสิ้น

ตลอดพระชนมชีพของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ทรงตรัสสอนเป็นอันมากว่าสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และไม่ใช่ตัวตน สิ่งทั้งหลายมีความเกิดแล้ว มีความเสื่อมไปและมีความดับเป็นที่สุดด้วยกันทั้งสิ้น แม้พระองค์เองก็ทรงเป็นประจักษ์พยานแห่งธรรมสัจจะนี้ว่าแม้ทรงกำเนิดเป็นมกุฎราชกุมารอันสูงส่ง ทรงตรัสรู้บรมธรรมอันประเสริฐของโลก ในที่สุดก็ทรงเสด็จดับขันธปรินิพพาน เช่นเดียวกับทุกสิ่งและทุกชีวิต

เมื่อเป็นเช่นนี้ ความจริงของโลกก็คือสรรพสิ่งไม่ใช่สิ่งอันควรยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวกู ของกู ล้วนแต่มีความเป็นไปตามธรรมดาธรรมชาติของมันทั้งสิ้น เมื่อเป็นดังนี้ก็จะเห็นถึงการสละละวางทำให้เกิดความเบาความสบาย และถึงซึ่งความเป็นอิสระสูงสุด

ประการที่สาม เป็นการประกาศธรรมสัจจะต่อชาวโลกว่า สิ่งที่ทุกชีวิตหรือมนุษย์พึงปรารถนา อันมีชื่อสมมติว่าสุขหรือความสุขนั้น แท้จริงแล้วเป็นแค่สมมติ ไม่มีความสุขที่แท้จริงอยู่เลย สิ่งที่มีอยู่จริงก็คือความทุกข์ แล้วทำอย่างไรมนุษย์จึงจะล่วงพ้นความทุกข์ได้เล่า

ความตรัสรู้ของพระองค์ได้ประกาศต่อชาวโลกว่าความจริงอันยิ่งมี 4 ประการ คือทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ ความดับทุกข์ และหนทางแห่งความดับทุกข์ หรือหากกล่าวโดยย่อก็คือเรื่องทุกข์และความดับทุกข์นั่นเอง

ความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสิ่งที่รักเป็นทุกข์ ความประสบกับสิ่งที่ไม่รักเป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ ความโศกเศร้าอาดูรเหี่ยวแห้งใจก็เป็นทุกข์ โดยรวมก็คือขันธ์ 5 อันประกอบด้วยกายกับจิตนี้แหละเป็นตัวทุกข์หรือเป็นกองทุกข์

เมื่อจะล่วงพ้นทุกข์หรือดับทุกข์เสียให้สนิทสิ้นเชิงก็ต้องดับที่ขันธ์ 5 นั่นแหละ นั่นคือดับที่ความปล่อยปละละวางจากความยึดมั่นถือมั่นทั้งปวงอย่างสิ้นเชิง ก็จะถึงซึ่งความอิสระเสรีอย่างสมบูรณ์แบบที่สุด

หนทางแห่งความดับทุกข์สิ้นเชิงย่อมมีมรรควิถีดังที่ทรงประกาศแล้ว คือความเห็นอันไกลจากกิเลส ความตั้งใจที่ไกลออกไปจากกิเลส การพูดจาที่ไกลจากกิเลส การกระทำที่ไกลจากกิเลส การดำรงชีพที่ไกลจากกิเลส ความพยายามเพื่อไกลจากกิเลส การมีสติที่ว่างจากกิเลส และการมีจิตที่ตั้งมั่นโดยปราศจากกิเลส

อริยมรรคอันมีองค์ 8 ซึ่งขึ้นต้นด้วยคำว่า “สัมมา” และนิยมแปลกันว่า “ชอบ” นั้น ในที่นี้ขอแปลโดยความหมายว่า “ไกลจากกิเลส” ตามที่ศิษย์เอกของพระอาจารย์ชารูปหนึ่งได้แปลไว้ เพราะเห็นว่าจะช่วยให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจนได้ง่ายขึ้น ขอท่านผู้เคร่งครัดอยู่ในถ้อยคำภาษาได้กรุณายกโทษให้ด้วย

ประการที่สี่ เป็นการประกาศแบบอย่างของการตายอย่างมีสติสมบูรณ์ที่สุดต่อชาวโลก เป็นการตายอย่างสงบ อย่างมีการวางแผนและอย่างควบคุมได้โดยสมบูรณ์ ไม่ใช่การตายแบบทุรนทุราย แบบวุ่นวายกระสับกระส่าย หรือประกาศความทุกข์ทรมานที่ทำให้คนอื่นเป็นทุกข์ตามไปด้วย

ความตายของพระตถาคตเจ้าหรือที่เรียกว่าปรินิพพานนั้น ทรงกำหนดวันเวลาและสถานที่ล่วงหน้า ทรงกำหนดการต่างๆ ไว้ล่วงหน้า เป็นการตายอย่างเรียบง่ายที่สุด และเป็นธรรมชาติมากที่สุด คือบนผืนดิน ใต้ต้นไม้ ในที่อันไม่มีการประดับประดาใดๆ

เป็นความตายที่เกิดขึ้นหลังจากภารกิจทั้งหลายหมดจดสิ้นเชิงแล้ว ทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต พุทธกิจที่ทรงอุบัติมาเป็นอันเสร็จสมบูรณ์แล้ว พระธรรมคำสอนทรงประกาศบริสุทธิ์ บริบูรณ์แล้ว พระธรรมวินัยทรงสถิตสถาพรแล้ว และทรงประกาศให้พระธรรมวินัยเป็นศาสดาแทนพระองค์ หลังจากทรงปรินิพพานแล้ว

ทรงทิ้งมรดกอันล้ำค่าไว้แก่มวลมนุษย์ด้วยปัจฉิมโอวาทว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วย่อมเสื่อมและดับไปเป็นธรรมดา พวกเธอจงถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด.
กำลังโหลดความคิดเห็น