xs
xsm
sm
md
lg

"มาร์ค"หารือทวิภาคี4ชาติ ยก"โรฮิงยา"ปัญหาภูมิภาค

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"อภิสิทธิ์" หารือทวิภาคีกับนายกฯพม่า กัมพูชา มาเลเซียและรมช.ต่างประเทศอังกฤษ เผยไทยยังคงบทบาทช่วยฟื้นฟูพม่าจากพายุนาร์กีสต่อไป พร้อมเดินทางไปเยือนช่วงกลางปี ส่วนปัญหาชายแดนกัมพูชา ยังยึดกรอบ เจบีซี ส่วนเรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล และพลังงานต้องตั้งคณะทำงานพิจารณารายละเอียดและเทคนิก เห็นพ้องยก"โรฮิงยา"เป็นปัญหาระดับภูมิภาคที่ต้องช่วยกันแก้ไข ช่วงเย็นออกเดินตลาดเช็กเรตติ้ง กรี๊ดทั้งตลาดหัวหิน

ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 14 หรือ อาเซียนซัมมิท ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพได้เริ่มขึ้นแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางด้วยรถยนต์ประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ยี่ห้อบีเอ็มดับเบิ้ลยูซีรีย์ 7 เลขทะเบียน ศฮ 9201 กรุงเทพมหานคร ถึงด้านหน้าโรงแรงดุสิตธานีหัวหิน อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ซึ่งเป็นสถานที่การจัดประชุม เมื่อเวลา 14.00น.วานนี้
โดยนายอภิสิทธิ์ ลงจากรถด้วยสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส พร้อมทักทายผู้สื่อข่าวสั้นๆว่า การเดินทางเรียบร้อยดี ไม่มีปัญหาอะไร จากนั้น นายอภิสิทธิ์ ก็เดินทางขึ้นไปประชุม ทวิภาคีกับผู้นำประเทศอาเซียน ทั้ง สมเด็จฮุนเซ็น นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา พล.อ.เต็งเส่ง นายกรัฐมนตรี แห่งสหภาพพม่า และนายอับดุลเลาะห์ อาหมัด บาดาวี นายกรัฐมนตรี ประเทศมาเลเซีย นอกจากนี้ยังเข้าหารือกับ รมช.ต่างประเทศ จากสหราชอาณาจักร เพื่อพูดคุยถึงการเตรียมความพร้อมก่อนการประชุมกลุ่มประเทศ G 20 ด้วย

มาร์คมีแผนเยือนทุกประเทศอาเซียน
ภายหลังการหารือเวลา17.40 น. นายอภิสิทธิ์ ได้แถลงที่ห้องแถลงข่าว ศูนย์สื่อมวลชน รร.ดุสิตธานีฯ ว่าได้หารือแบบทวิภาคีกับนายกฯทั้ง 3 ประเทศ โดยในส่วนของพม่า ได้มีการแลกเปลี่ยนในการที่ต้องร่วมแก้ปัญหาหลายปัญหา ซึ่งเรื่องปกติของชาติที่มีพรมแดนติดกัน อาทิ เรื่องยาเสพติด ปัญหาแรงงาน ทั้งนี้ประเทศไทยจะยังมีบทบาทสนับสนุนการฟื้นฟูพม่า หลังเกิดภัยพิบัติพายุนากิสต่อไป และสิ่งที่สำคัญในเรื่องการทำงานของคณะทำงาน 3 ฝ่าย ที่จะหมดอายุลง ก็คาดว่าจะมีการต่ออายุไปเพื่อยืนยันการมีส่วนร่วมกัน
สำหรับเรื่องภายในของพม่า นายกฯ พม่าก็พูดเรื่องการเดินหน้าเลือกตั้งในปีหน้า ซึ่งไทยต้องการให้เดินไปตามเจตนารมณ์ ต้องการให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมให้มากที่สุด
โดยช่วงหนึ่งผู้สื่อข่าวได้ถามนายอภิสิทธิ์ว่า จะเดินทางไปเยือนพม่าหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า จะเดินทางเยือนทุกประเทศให้ครบ แต่ทราบดีว่าในช่วงที่ผ่านมา สถานการณ์ของไทยตนจะต้องใช้เวลาช่วงแรกอยู่ประเทศเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ แต่ตอนนี้การเมืองมีเสถียรภาพ มาตรการเศรษฐกิจก็ผลักดันให้ผ่านสภาแล้ว ดังนั้นมั่นใจว่ากลางปีจะเยือนอาเซียนได้ครบรวมทั้งพม่าด้วย
ในส่วนการหารือกับ นายกรัฐมนตรี กัมพูชา นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่ามีการพูดถึงความร่วมมือต่างๆ แม้จะมีความกระทบกระทั่งเรื่องชายแดน ก็ยังเห็นตรงกันว่าจะยังยึดกรอบ เจบีซี ที่จะให้กรอบเดินหน้าต่อไป และสิ่งที่พูดมากขึ้นคือ เรื่องของความเป็นไปได้เรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล เรื่องของพลังงาน ซึ่งไม่มีปัญหาเรื่องความคิดเห็น แต่เป็นเรื่องของเทคนิค ที่จะต้องดูต่อไปว่าจะเดินหน้าเรื่องนี้อย่างไร นอกจากนั้น ก็หารือเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน ถนนหนทาง การท่องเที่ยว การพัฒนาสามเหลี่ยมมรกต ที่จะมีการใช้วีซ่าใบเดียว
"เราถือว่ากลไกที่มียังทำงานได้ แน่นอนว่าทั้งสองฝ่ายยั่งยืนยันว่าจะไม่ให้การกระทบกระทั่งไม่ให้เป็นอุปสรรคการทำงานด้านอื่นๆ แต่เรื่องพลังงาน ยังไม่ได้ลงรายละเอียด เพราะต้องมีคณะทำงาน แต่ทางเทคนิก จะตกลงกันได้เมื่อไรก็ต้องให้เขาหรือกันก่อน แต่ความมั่นคง เรื่องพลังงานเป็นส่วนสำคัญของทั้งสองประเทศ" นายกรัฐมนตรีกล่าว
ส่วนการหารือกับนายกรัฐมนตรีของมาเลเซียนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า นายกมาเลเซีย ยืนยันความสัมพันธ์ ซึ่งตนก็ได้เรียนให้ทราบถึงแนวนโยบายแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เน้นการพัฒนามากขึ้น โดยจะผลักดันเรื่องการศึกษา การสร้างโอกาส การสร้างงานและธุรกิจในพื้นที่
และสุดท้ายในการหารือกับทางอังกฤษ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า มีการพูดถึงการประชุมจี 20 ที่ประธานอาเซียนจะมีบทบาท โดยมีการพูดถึงวาระของการประชุมซึ่งจำเป็นที่จะต้องครอบคลุมปัญหาในเรื่องของการรักษาการหดตัวของเศรษฐกิจ ที่ต้องมีการดูระยะยาวด้วย เพื่อป้องกันไมให้เกิดวิกฤติอีก

ยก"โรฮิงยา"ปัญหาภูมิภาค
นายอภิสิทธิ์ กล่าวถึงการหารือเพื่อแก้ปัญหาโรฮิงยาว่า ปัญหาโรฮิงยาทุกคนเห็นตรงกันว่า จะต้องแก้ที่ภูมิภาค เพื่อจะปัญหาได้ยั่งยืน และทุกฝ่ายจะได้มีความมั่นใจในการรักษาความมั่นคงของประเทศและรักษาสิทธิมนุษยชนด้วย
ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ชาวโรฮิงญาจากจ.ระนอง ไทยจะรับไว้ชั่วคราวหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ทราบว่าหลักการไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าพิสูจน์ว่ามีที่มาจากที่ใด จะส่งไปได้เรียบร้อยในประเทศต้นทาง ทั้งนี้เมื่อเรานำทุกประเทศที่เกี่ยวข้อง 5-6 ประเทศ ก็น่าจะแก้ปัญหาได้ โดยเราจะให้ยูเอ็นเอชซีอาร์ เข้ามาเกี่ยวข้อง
ผู้สื่อข่าวถามว่าชาวโรฮิงยา 78 คน สุดท้ายจะทำอย่าง นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า คิดจะส่งตัวกลับได้สำเร็จ และเชื่อว่ามีการดำเนินการ และจะส่งไปที่ประเทศต้นทางที่เขาเข้ามา
นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงการตั้งกลไกสิทธิมนุษยชนอาเซียนด้วยว่า จะเสร็จเรียบร้อยในการหารือกันช่วง ต.ค. ซึ่งจะเป็นกลไกที่น่าเชื่อถือ และปฏิบัติได้ในความหลากหลายของภูมิภาค โดยในวันที่ 28 ก.พ. ตนจะได้พบภาคประชาสังคม ซึ่งความเห็นของเขาอาจจะไม่ตรงกับร่างที่ทำมาขณะนี้ ซึ่งอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงตลอด 6-7 เดือนที่จะถึงนี้ก็ได้

ย้ำอาเซียนมั่นคง ปลอดภัย
ทั้งนี้ก่อนหน้านี้เวลา 17.00 น. นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน กล่าวถึงผลการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน ที่เมืองพัทยาว่า รมต.กลาโหม ได้หารือในการประสานงานความร่วมมือเพื่อให้แน่ใจว่าอาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีความปลอดภัย มีความมั่นคง โดยทุกชาติได้ตกลงเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรทางการทหาร สำหรับช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมกับชาติสมาชิกทีเกิดภัยพิบัติ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของสร้างความมั่นใจ และใช้ประโยชน์ของยุทโธปกรณ์ที่มีในยามมีภัยธรรมชาติ จึงถือว่ากลุ่ม รมต.กลาโหมไปไกลแล้วในเรื่องนี้ ตนก็ขอขอบคุณ
นายสุรินทร์ กล่าวถึงบรรยากาศการหารือแก้ปัญหาโรฮิงยา ว่า พวกเขาได้หารืออย่างเปิดเผย สำหรับตนอดีตเป็นรมว.ต่างประเทศ ก็ไม่เคยเห็นว่ามีการหารือแบบเปิดเผยเช่นนั้น โดยพวกเขาได้ตัดสินใจว่า ประเด็นโรฮิงยานั้นเป็นประเด็นระดับภูมิภาคที่ต้องหารือกัน ต้องพิจารณาในกระบวนการระดับภูมิภาค
"พวกเรามองรอบๆตัว และเห็นว่ากระบวนการบาหลี เป็นกระบวนการจัดการที่ดีที่สุด โดยการหารือชั้นต้น จะมีการหารือที่บาหลีในวันที่ 14-15 เม.ย.โดยจะมีการหารือทั้งเรื่องของบาหลี เรื่องโรงฮิงยา แต่เพื่อยกระดับการหารือก่อนที่จะไปถึงบาหลี เพราะนั้นการประชุมครั้งนี้เป็นมากกว่าอาเซียน เพราะจะได้นิยามประเด็นและได้ความคิดในชั้นต้นว่าจะดำเนินการเรื่องนี้อย่างไรในกรอบของอาเซียน" นายสุรินทร์ กล่าว และว่าตนได้รับการมอบหมายให้เป็นผู้ประสานการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมตั้งแต่นี้เป็นต้นไป โดยจะเป็นตัวประสานหลักของอาเซียน
ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีการจัดประชุมระดับภูมิภาค มากกว่าบาหลีหรือไม่ นายสุรินทร์ กล่าวว่า จะหารือกันอย่างเข้มข้น รวมทั้งสำนักเลขาธิการอาเซียน ก็จะกำหนดประเด็นในการหารือก่อนที่จะไปถึงการหารือที่บาหลี
ทั้งนี้ แต่ละชาติจะแลกเปลี่ยนข้อมูลกันว่าแต่ละประเทศมีชาวโรฮิงยากี่คน เพราะเป็นเรื่องที่ซับซ้อน และจากนั้นจะตัดสินใจในวงที่กว้างที่บาหลี และหวังว่าจะให้ความชัดเจนเรื่องนี้ได้ที่บาหลี
นายสุรินทร์ กล่าวถึงบทบาทของเลขาธิการอาเซียนในเรื่องนี้ว่า ตนต้องทำงานภายใต้กรอบที่เขาให้มา แต่ทั้งนี้การประสานงานชั้นต้นจะนำไปสู่การประนีประนอมกันเพื่อให้เข้าใจในประเด็น จะได้มีความมั่นใจว่า มีคนประเภทไหนบ้าง ที่เรียกว่า โรงฮิงยา หรือพื้นเพเบงกาลี ที่เป็นคนของพม่า ดังนั้นเราต้องดำเนินการทีละประเด็น แม้เป็นประการบวนการที่ซับซ้อนยุ่งยาก แต่เราต้องทำงานร่วมกัน เรียนรู้กัน ประนีประนอม และเข้าใจร่วมกัน

"มาร์ค"ชมตลาดเช็กเรตติ้ง
ต่อมาเวลา 18.20 น. นายอภิสิทธิ์ ได้เดินทางไปพบปะประชาชนที่ตลาดโต้รุ่งหัวหิน อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยนายกฯได้แวะทักทายพ่อค้า แม่ค้า นักท่องเที่ยว และประชาชนที่กำลังจับจ่ายสินค้า ซึ่งบางคนกรี๊ดกร๊าด ขอหอมแก้ม ขอเข้ามาถ่ายรูป ขอลายเซ็น มอบดอกกุหลาบ แม่ค้าบางร้านนำขนมที่ร้านตัวเองจำหน่ายมามอบให้นายกฯ กลับไปรับประทาน บางคนกล่าวให้กำลังใจขอให้นายกฯ สู้ๆ บางคนบอกว่านายกฯ หล่อมาก หล่อกว่าที่เห็นในทีวี อีก อย่างไรก็ตามแม้ประชาชนจะมาห้อมล้อมแต่ รปภ.ของนายกฯ ก็ยังคุ้มกันอย่างเข้มงวดตามปกติ
อย่างไรก็ตาม ในขณะที่นายอภิสิทธิ์ กำลังเดินอยู่นั้น ก็มีชาวบ้านเข้ามาร้องเรียนในเรื่องเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ โดยขอให้นายกฯ รับปากว่าจะให้คนชราทุกคนได้เงินภายในเดือนเม.ย. นอกจากนี้ ก็มีแม่ค้าขายลอตเตอร์รี่ เข้ามาร้องเรียนนายกฯเรื่องราคาลอตเตอร์รี่ที่สูงเกินไป ขอให้นายกฯช่วยควบคุมราคาให้ถูกกว่านี้ เนื่องจากขายไม่ได้ ซึ่งนายกฯก็รับจะไปดำเนินการ
จากนั้นนายอภิสิทธิ์ ได้เข้าไปรับประทานอาหารที่ร้านอาหารหัวหิน“โกทิ” ซึ่งเป็นร้านเก่าแก่ของตลาดโต้รุ่งแห่งนี้ ซึ่งนายอภิสิทธิ์ เคยมารับประทาน โดยบรรยากาศรอบร้านคึกคักเป็นพิเศษ เพราะมีประชาชนมามุงดูนายอภิสิทธิ์ รับประทานอาหารเป็นจำนวนมาก โดยนายอภิสิทธิ์ใช้เวลาในการรับประทานประมาณ 1 ชั่วโมง

ที่จัดเลี้ยงกาลาดินเนอร์พร้อม
จากนั้นนายอภิสิทธิ์ เดินทางไปตรวจเยี่ยมความเรียบร้อยการกตกแต่งพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ซึ่งจะใช้เป็นสถานที่ในการจัดงานกาลาดินเนอร์ เลี้ยงอาหารค่ำแก่ผู้นำชาติสมาชิกอาเซียนและคู่สมรส
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการดูจากสายตา พบว่ามีความพร้อมสมบูรณ์100% มีการประดับประดาด้วยต้นไม้ ดอกไม้ ไฟหลากสี ตั้งแต่ทางเข้าจนถึงภายใน โดยมีท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ รองราชเลขาธิการ สำนักราชเลขาธิการ เดินบรรยายแต่ละจุดให้นายกฯ รับทราบ นอกจากนั้นยังมีการนำวงดนตรีไทยที่จะใช้ในวันจริง คือค่ำวันที่ 28 ก.พ. มาซ้อมมาแสดงโชว์ให้นายกฯ ได้ชมด้วย

"มาร์ค"โชว์วิชั่นเปิดประชุมวันนี้
นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงถึงประเด็นที่นายกรัฐมนตรี จะนำมากล่าวสุนทรพจน์ในการเปิดประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 14 ในเวลา 14.30 น. ของวันนี้ (28 ก.พ.) โดยนายกฯจะเริ่มจากการทบทวนประวัติศาสตร์ความเป็นมาของอาเซียน ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนมาถึงปัจจุบัน นอกจากนี้จะพูดถึงอุปสรรคที่อาเซียนพบ และจุดแข็งรวมถึงความท้าทายใหม่ๆ ของอาเซียนในอนาคต โดยใช้เวลาในการพูดประมาณ 15 นาที และในการประชุมอาเซียนครั้งนี้ จะมีการพูดถึงความร่วมมือ 3 ด้าน ทั้งด้านมั่นคง การค้า และสังคมวัฒนธรรม โดยในเรื่องของเศรษฐกิจจะเน้นให้เป็นตลาดเดียวกัน เพื่อดึงดูดการลงทุน โดยเอาประชาชนเป็นฐานสำคัญ
อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือของอาเซียนวันนี้ ยังมีคู่สนทนาที่เป็นเพื่อนอาเซียนเข้ามาร่วมด้วยเพื่อขยายความร่วมมือ โดยจะเน้นไปถึงประเด็นการนำกฎบัตรอาเซียนมาบังคับใช้ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม
ส่วนการกล่าวปิดประชุมอาเซียนซัมมิทในวันที่ 1 มี.ค. นายกรัฐมนตรีจะนำผลการหารือของที่ประชุมอาเซียนมารายงานให้สาธารณะทราบ โดยนายกรัฐมนตรีจะกระตุ้นให้ประเทศอาเซียนทั้ง 10 หันมาร่วมมือกันเพื่อฟันฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน

เผยผลถกรมต.ต่างประเทศอาเซียน
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านั้น นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ แถลงถึงการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ที่ประชุมได้รับทราบผลการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน ที่พัทยา ซึ่งจะช่วยกระชับความร่วมมือของอาเซียนด้านมนุษยธรรม กรณีเหตุการณ์พิบัติภัย เช่น สึนามิ โดยจะประสานงานอย่างใกล้ชิดระหว่างอาเซียนกับภาคประชาสังคม นอกจากนี้ยังจะร่วมมือกันด้านความมั่นคง ไม่เฉพาะสงคราม หรือก่อการร้าย ทั้งนี้ ที่ประชุมยังจะเชิญรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนเข้าร่วมการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก (เออาร์เอฟ) ในครั้งต่อไปด้วย
นายกษิตกล่าวว่า ที่ประชุมยินดีที่ประเทศพม่า ตัดสินใจรับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากอาเซียน กรณีเหตุการณ์ภัยพิบัติพายุไซโคลนนาร์กีส เพิ่มขึ้นอีก 1 ปี เนื่องจากในปีหน้าพม่าจะจัดการเลือกตั้งทั่วไป ดังนั้น รัฐบาลปัจจุบัน จึงไม่อยากตัดสินใจแทนรัฐบาลใหม่ เมื่อถึงเวลานั้นรัฐบาลใหม่ของพม่าจะพิจารณาแผนการฟื้นฟูจากเหตุการณ์ไซโคลนนาร์กีสอีกครั้ง
นายกษิต กล่าวว่า ในส่วนการบริหารกิจการภายในอาเซียนนั้น ที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบงบประมาณ ปี 2552 โดยให้ขึ้นเงินเดือนของเลขาธิการอาเซียน และรองเลขาธิการอาเซียน เพราะเงินที่ได้รับต่ำกว่ามาตรฐาน และมีสภาวะเงินเฟ้อ นอกจากนี้ที่ประชุมก็รับทราบว่าจะมีการจัดประชุมอาเซียนบวก3(จีน ญี่ปุ่น เกาหลี) และอาเซียนบวก6(อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์) ในวันที่ 10-12 เมษายนนี้ โดยรัฐบาลไทยจะกำหนดสถานที่และเสนอต่อที่ประชุมอาเซียนอีกครั้ง
นายกษิต ได้กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังได้รับทราบผลการเยือนของนางฮิลรารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ว่า นางฮิลรารีอยากกลับมาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอยากสร้างความร่วมมือระหว่างสหรัฐกับอาเซียน
กำลังโหลดความคิดเห็น