xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมชาติรังสรรค์แมงมุมยิ้มร่า ทูตสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ของฮาวาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใสของแมงมุมพันธุ์นี้ที่พบได้ในฮาวาย อาจทำให้ริมฝีปากหลายคนฉีกกว้างเกือบถึงใบหู
นักวิจัยเชื่อว่า แมงมุมยิ้มที่มีขนาดลำตัวแค่ไม่กี่มิลลิเมตรพันธุ์นี้ เกิดจากวิวัฒนาการเพื่อป้องกันตัวเองจากผู้ล่า
กล่าวคือมาร์กกิ้งบนตัวที่มองแล้วคล้ายใบหน้าที่กำลังยิ้มอยู่นี้ ทำให้แมงมุมตัวจ้อยซึ่งไม่เป็นอันตรายสำหรับคน มีเวลาหลบลี้หนีจากภัยร้ายเฉพาะหน้า
แต่ที่ขำไม่ออกก็คือ เจ้าแมงมุมน้อยมีรายชื่ออยู่ในบัญชีสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ โดยบ้านของมันคือป่าฝนบนเกาะฮาวาย
ดร.เจฟฟ์ ออกซ์ฟอร์ด ผู้เชี่ยวชาญด้านแมงมุมและพันธุกรรมวัย 62 ปี จากมหาวิทยาลัยยอร์ก อังกฤษ บอกว่ามีความสุขกับการศึกษาแมงมุมยิ้ม
“ผมสารภาพว่าตอนที่พลิกใบไม้ขึ้นมาและเห็นเจ้าแมงมุมน้อยพันธุ์นี้ครั้งแรก ผมอดยิ้มให้มันไม่ได้
“มีทฤษฎีมากมายที่อธิบายว่าทำไมมันจึงพัฒนามาร์กกิ้งคล้ายรูปรอยยิ้มขึ้นมา หนึ่งในนั้นคือเพื่อสร้างความสับสนให้ผู้ล่า
“เมื่อนกหรือนักล่าสายพันธุ์อื่นเห็นเจ้าแมงมุมยิ้มครั้งแรก อาจมีจังหวะที่ผู้ล่านิ่งไปเพื่อตัดสินใจว่าจะกินหรือไม่กินเหยื่อตรงหน้าดี และเจ้าแมงมุมอาจฉวยจังหวะนั้นหนีเอาตัวรอด
“ผมไม่คิดว่าแค่มาร์กกิ้งรูปรอยยิ้มจะทำให้พวกมันหนีกรงเล็บของนกได้ แต่คิดแบบนี้ก็ขำๆ ดี นอกจากนั้น แมงมุมยิ้มยังไม่ได้มีมาร์กกิ้งแบบนี้เหมือนกันหมด บางตัวสีส้มหรือน้ำเงินเกือบทั้งตัว”
ดร.ออกซ์ฟอร์ดที่ศึกษาเรื่องแมงมุมมาตั้งแต่ปี 1993 สำทับว่ามาร์กกิ้งประหลาดแกมน่ารักของแมงมุมพันธุ์นี้ ทำให้มันถูกเลือกให้เป็นทูตสำหรับสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ของฮาวายโดยปริยาย
“พวกมันเป็นตัวแทนของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง แมลงและแมงมุมที่ใกล้สูญพันธุ์ของฮาวาย เวลาไปไหนมาไหนบนเกาะนี้จึงแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่เห็นเจ้าแมงมุมยิ้มเกาะอยู่บนทีเชิ้ต หมวกเบสบอล และโปสการ์ด”
นอกจากแมงมุมน้อยยิ้มสดใส ทูนาฮาวายเป็นอีกสายพันธุ์ที่กำลังถูกคุกคามจากสัตว์และพืชสายพันธุ์ต่างๆ ที่มนุษย์นำเข้ามายังฮาวาย จนทำให้ปัจจุบันพืชและสัตว์ของเกาะนี้ส่วนใหญ่ไม่ใช่พันธุ์พื้นเมืองอีกต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น