xs
xsm
sm
md
lg

นักวิจัยเร่งพัฒนา ‘ครัวดิจิตอล’ เพื่อชีวิตอิสระผู้ป่วยอัลไซเมอร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หน้าตาครัวในภาพอาจไม่แตกต่างจากห้องที่บ้านเรือนทั่วไปใช้ปรุงอาหาร ผิดแต่ว่าภายในตู้ไม้ พื้นผิวเฟอร์นิเจอร์ หรือแม้แต่อุปกรณ์ใช้งาน เช่น มีด กระทั่งพื้น ล้วนติดตั้งเซนเซอร์ โปรเจ็กเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ทำหน้าที่ติดตามความเคลื่อนไหว และแจ้งเตือนเมื่อเกิดความผิดปกติเพื่อให้ผู้ป่วยอัลไซเมอร์สามารถใช้ชีวิตอยู่ตามลำพัง
เซนเซอร์ที่ว่าจะซ่อนอยู่ในประตูตู้ทุกบาน รวมถึงอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อแจ้งกับคอมพิวเตอร์ส่วนกลางว่าผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมกำลังทำอะไรอยู่ ณ ขณะนั้น
หากครัวคิดว่าผู้ป่วยเริ่มมีอาการสับสน ระบบจะฉายข้อความเตือนสิ่งที่ต้องทำต่อไปให้ผู้ป่วยเห็นบนผนัง
ต้นแบบ ‘ครัวแห่งอนาคต’ นี้พัฒนาโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิลของอังกฤษ ภายใต้โครงการมูลค่า 36 ล้านปอนด์ที่มุ่งหมายค้นหาประโยชน์ใหม่ในการใช้งานเทคโนโลยีดิจิตอล โดยนักวิจัยเชื่อว่าภายใน 5 ปีโครงการนี้จะสัมฤทธิ์ผลและติดตั้งภายในบ้านได้จริง
ศาสตราจารย์พอล วัตสัน ผู้พัฒนาครัวแห่งอนาคต กล่าวว่านวัตกรรมนี้นำเสนอความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตตามลำพังให้แก่ผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม
“เทคโนโลยีนี้พัฒนาขึ้นสำหรับผู้ที่เริ่มเป็นอัลไซเมอร์ ที่อาจนึกอยากทำอาหารกินหรือชงชาดื่มสักแก้ว แต่พอไปถึงครัวแล้วกลับลืมว่าตัวเองกำลังจะทำอะไร
“เราติดตั้งเซนเซอร์ไว้ในเครื่องใช้ต่างๆ และบนพื้น เพื่อให้รู้ว่าผู้ป่วยอาจกำลังหั่นผักหรือใช้กาต้มน้ำอยู่
“เทคโนโลยีของเราออกแบบมาเพื่อเรียนรู้พฤติกรรมของมนุษย์ รับรู้และแจ้งเตือนเมื่อมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น
“ไอเดียคือเพื่อนำไปติดตั้งในบ้านโดยมีค่าใช้จ่ายเพียงไม่กี่ร้อยปอนด์”
ทั้งนี้ อุปกรณ์และเฟอร์นิเจอร์ทุกชิ้นภายในครัวจะติดตั้งเซนเซอร์เช่นเดียวกับอุปกรณ์ตรวจจับความเคลื่อนไหวในเครื่องเล่นเกมนินเทนโด วี โดยเซนเซอร์อาจซ่อนอยู่ในที่จับพลาสติกที่สามารถนำไปติดกับมีด เขียง เครื่องปั่น กาต้มน้ำ ประตูตู้เย็นและตู้ และภาชนะใส่อาหาร
แผ่นจับการกดใต้พื้นจะบอกว่าผู้ป่วยยืนอยู่ที่ใดและกำลังจะเดินไปทางไหน
ข้อมูลจากเซนเซอร์จะถูกส่งด้วยระบบไร้สายไปยังคอมพิวเตอร์ที่ซ่อนอยู่ในตู้
“เรายังติดตั้งแท็กที่ใช้คลื่นความถี่วิทยุในตำราอาหาร เพื่อให้ครัวรู้ว่าผู้ป่วยกำลังมองหาสูตรทำอาหารใดและให้ความช่วยเหลือได้ทันที”
นอกจากนี้ ยังสามารถตั้งโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อให้แจ้งเตือนเพื่อนบ้านหรือสมาชิกครอบครัว กรณีที่ผู้ป่วยไม่ได้เข้าไปใช้ครัวนานผิดปกติ ทั้งยังสามารถเรียนรู้พฤติกรรมเฉพาะของผู้ป่วย และระบุได้เมื่อพบความผิดปกติเพื่อแจ้งเตือน
ครัวแห่งอนาคตเป็นเพียงหนึ่งในโครงการที่ศูนย์วิจัยสามแห่งซุ่มพัฒนา เพื่อค้นหาแนวทางใหม่ในการใช้เทคโนโลยีดิจิตอลช่วยเหลือผู้สูงวัย ผู้พิการและคนยากจน
ศูนย์เหล่านี้ซึ่งเป็นของมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล, อะเบอร์ดีนในสก็อตแลนด์ และนอตติ้งแฮมในอังกฤษ ได้รับทุนสนับสนุนจากสภาวิจัยแห่งสหราชอาณาจักร
ศูนย์แห่งหนึ่งในจำนวนนี้กำลังพัฒนาอุปกรณ์ตรวจจับการเต้นของหัวใจ อุณหภูมิและชีพจรของผู้ป่วย เพื่อส่งข้อมูลผ่านระบบไร้สายไปให้แพทย์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในชนบทและเป็นโรคเรื้อรัง หรือผู้ที่กำลังพักฟื้นจากการผ่าตัด
กำลังโหลดความคิดเห็น