xs
xsm
sm
md
lg

SMEsเหนือทรุดหนักยอดฮวบกว่า50 %แนะยึดธุรกิจหลักประคองตัวถึงสิ้นปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อาคม ศุภางค์เผ่า
เชียงใหม่- ผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดย่อมภาคเหนือเจอมรสุมเศรษฐกิจจนทรุดหนัก ยอดขายหดหายไปกว่า 50 % แม้แต่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวซบเซามากสุดรอบ 10 ปี ระบุหากธุรกิจที่ทำไม่ถนัดควรเลิกกิจการให้หันสนใจธุรกิจหลักที่มีความถนัดแทน เผยหากสถานการณ์ปลายปี 52 ยังไม่ดีขึ้นแม้ธุรกิจหลักอาจต้องเลิกในที่สุด

นายอาคม ศุภางค์เผ่า นายกสมาคมส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) สาขา เชียงใหม่-ลำพูน เปิดเผยถึงสถานการณ์ของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ว่า ขณะนี้กำลังประสบปัญหาเกี่ยวกับยอดขายที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันมียอดขายลดลงเกือบ 50% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ประกอบการส่งออกสินค้าประเภทสินค้าฟุ่มเฟือยและอัญมณี โดยคาดว่าเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา กำลังซื้อของประชาชนที่ลดลง รวมทั้งค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นทำให้สินค้ามีราคาสูงขึ้นจึงชะลอซื้อสินค้าจากลูกค้าต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกาและยุโรป ซึ่งเป็นตลาดหลักของสินค้าประเภทอัญมณี

นอกจากนี้ สถานการณ์การเมืองของประเทศไทยที่เกิดความขัดแย้ง ทำให้รัฐบาลไม่มีเสถียรภาพส่งผลกระทบต่อการลงทุน และการท่องเที่ยว ซึ่งภาคเหนือมีรายได้หลักมาจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ดังนั้น เมื่อสถานการณ์การเมืองไม่นิ่งทำให้เกิดการชะลอการเดินทางจึงส่งผลกระทบอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้จากภาวะการท่องเที่ยวซึ่งแม้แต่ในวงการธุรกิจโรงแรมเองต่างพากันออกมาแสดงความคิดเห็น และให้ข้อมูลในทิศทางเดียวกันว่า จากสาเหตุการเมืองเป็นหลักที่ส่งผลให้ภาวะการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่โดยปีนี้ถือเป็นปีแรกในรอบ 10 ปีก็ว่าได้ที่ภาวะการท่องเที่ยวโดยยอดจองห้องพักลดลงในช่วงสงกรานต์มากกว่า 50 %

“ผู้ประกอบการ SMEs ในภาคเหนือส่วนใหญ่จะพึ่งพาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการส่งออก ซึ่งปัจจุบันยอดขายลดลงกว่า 50% ลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศหายไปเกือบหมด เนื่องจากเศรษฐกิจโลกและการเมืองไทยไม่นิ่ง อย่างไรก็ตามพบว่าสินค้าเกษตรแปรรูปจากภาคเหนือยังพอประคองตัวอยู่ได้ เนื่องจากยังมีความต้องการจากในประเทศและต่างประเทศอยู่” นายอาคม กล่าว

นายอาคม กล่าวต่ออีกว่า สำหรับการปรับตัวของผู้ประกอบการ SMEs ส่วนใหญ่จะพยายามประคองตัวให้ธุรกิจดำเนินกิจการต่อไปได้ เช่น การลดขนาดของโรงงานให้เล็กลง การลดต้นทุน การลดเวลาการทำงานของพนักงาน ลดเงินเดือนของผู้บริหาร และไม่รับพนักงานเพิ่ม

ทั้งนี้พบว่ามีการปิดกิจการของผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือประมาณ 50% โดยส่วนใหญ่ที่ต้องปิดกิจการเนื่องจากขาดทุน รวมทั้งปิดกิจการที่ไม่ถนัด แต่ยังคงธุรกิจหลักที่มีความถนัดไว้มากกว่า และสามารถประคองตัวต่อได้ในสถานการณ์เศรษฐกิจชะลอตัว

“ผู้ประกอบการจำนวนมากส่วนใหญ่ทำธุรกิจหลายประเภท ทำให้ต้องปิดกิจการในธุรกิจที่ตนเองไม่ถนัดเกือบทั้งหมดเพื่อกลับมาทำธุรกิจที่ตนเองถนัดมากกว่า เช่น ถนัดขายวัสดุก่อสร้าง แต่สนใจทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งไม่ถนัดและชำนาญ จึงต้องจำใจปิดและเลิกโครงการเนื่องจากไม่มีคนซื้อ แต่ยังคงดำเนินธุรกิจหลักต่อไป” นายอาคม กล่าว

นายอาคม กล่าวต่ออีกว่า อยากเสนอแนะให้รัฐบาลสนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการเพื่อเพิ่มสภาพคล่องด้วย เนื่องจากปัจจุบันจากการที่ บรรษัทสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดเล็กและขนาดย่อมหรือ บสย. สนับสนุนวงเงินค้ำประกัน 20% ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการ 80% ถือว่าเป็นผลดีเพราะจะช่วยแบ่งเบาภาระและลด NPL ของผู้ประกอบการ

“เมื่อเทียบกับวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 พบว่าไม่แตกต่างกับปีนี้แตกต่างเพียงการปล่อยสินเชื่อของธนาคารเท่านั้น ซึ่งผู้ประกอบการ SMEs ในภาคเหนือยังพอประคองตัวอยู่ได้จนถึงปลายปีนี้ ซึ่งต้องมาดูอีกทีว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป” นายอาคม กล่าว

นายอาคม กล่าวต่ออีกว่า เพื่อเป็นการส่งเสริมยอดขายและช่วยให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเป็นการเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายไปด้วยโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนของผู้ประกอบการระดับ SMEs ทางสมาคมจึงเตรียมจัดงานมหกรรมแสดงสินค้า SMEs Fair 2009 ขึ้นระหว่างวันที่ 1-10 พฤษภาคม 2552 ที่ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 จ.เชียงใหม่

ทั้งนี้ คาดว่าจะมีผู้ประกอบการมาร่วมออกบูทไม่ต่ำกว่า 300 ราย คาดว่าจะมีเงินสะพัดตลอดการจัดงานประมาณ 20 ล้านบาท และมีประชาชนมาร่วมงานไม่ต่ำกว่า 5,000 คนต่อวัน ซึ่งจะมีสินค้าราคาถูกจากโรงงาน และผู้ประกอบการหลายรายมาให้เลือกซื้อ เป็นการกระตุ้นการใช้จ่ายและเพิ่มยอดขายอีกทางหนึ่ง ทั้งนี้จะมีสินค้าหลากหลายประเภท เช่น อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ มือถือ สินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งสินค้าทุกอย่างเน้นที่ราคาถูกจากโรงงานโดยตรงแทบทั้งสิ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น