xs
xsm
sm
md
lg

ร่วมคิด-ชวนคุย กับ ก.ล.ต. :รู้จัก"ทางเลือก"ในการเลือกตั้งกรรมการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปีของบริษัทจดทะเบียน จะมีวาระเลือกตั้งกรรมการเพื่อเข้าไปบริหารกิจการของบริษัท โดยเบื้องต้นบริษัทจดทะเบียนจะทำหน้าที่กรองรายชื่อผู้เหมาะสม เพื่อเสนอให้ผู้ถือหุ้นเลือกตั้งเป็นกรรมการ ทั้งนี้ หาก ผู้ถือหุ้นรายย่อยไม่ถูกใจในรายชื่อกรรมการที่เสนอมา หรือคิดว่ามีตัวเลือกอื่นที่ดีกว่า ก็สามารถรวมตัวกันให้ได้เป็นสัดส่วนการถือหุ้นไม่น้อยกว่า 5% ของหุ้นที่มีสิทธิออกเสียง ทั้งหมดของบริษัท เพื่อเสนอชื่อผู้ที่สมควรรับเลือกตั้งเป็นกรรมการเพิ่มเติม

นอกจากนี้ ยังมีทางเลือกอีกวิธีหนึ่งที่ผู้ถือหุ้นรายย่อยจะมีโอกาสเลือกตั้งคนที่ตนพอใจเข้าไปเป็นกรรมการบริษัทได้ นั่นก็คือ การเลือกตั้งกรรมการด้วยวิธี Cumulative Voting

‘ หลักการของ Cumulative Voting

Cumulative Voting จะใช้สำหรับวาระเลือกตั้งกรรมการเท่านั้น โดยหลักการก็เพื่อเป็นช่องทางให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยได้มีโอกาสเลือกกรรมการที่ตนเห็นสมควรเข้าไปนั่งบริหารบริษัท เพราะหากใช้วิธีเลือกกรรมการแต่ละรายด้วยการโหวตเสียงข้างมากแบบโหวต 1 หุ้น : 1 เสียงนั้น หากผู้ถือหุ้นรายย่อยเห็นต่างจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ก็จะเป็นไปได้ยากที่จะสามารถเลือกกรรมการที่ตนพอใจเข้าไปนั่งในคณะกรรมการบริษัทได้

สำหรับการนับคะแนนด้วยวิธี Cumulative Voting นั้น จะกำหนดให้ ผู้ถือหุ้นหนึ่งรายมีคะแนนเสียงเท่ากับจำนวนหุ้นที่ตนมี คูณด้วยจำนวนกรรมการที่จะมีการเลือกตั้งทั้งคณะ เช่น คุณถือหุ้นทั้งหมด 500 หุ้น จำนวนกรรมการของบริษัททั้งคณะ มี 7 คน เท่ากับคุณจะมีคะแนนเสียงทั้งหมดในวาระเลือกตั้งกรรมการ 3,500 คะแนน (500 หุ้นของคุณ x กรรมการ 7 คน) ซึ่ง 3,500 คะแนนที่ว่า คุณจะใช้ทั้งหมดทุ่มเพื่อเลือกกรรมการคนใดคนหนึ่งก็ได้ หรือจะแบ่งคะแนนออกมาแยกโหวตเลือกกรรมการ กี่รายก็ได้แล้วแต่ที่คุณจะพอใจ โดยวิธีนี้กรรมการที่จะได้รับเลือกตั้งจะเป็นผู้ได้คะแนนเสียงสูงสุด และรองลงมาตามลำดับ ตามจำนวนเก้าอี้กรรมการที่มีการเลือกตั้ง ด้วยวิธี Cumulative Voting นี่เอง หากผู้ถือหุ้นรายย่อยสามารถรวมคะแนนเสียงกัน แล้วทุ่มโหวตเลือกกรรมการรายเดียวกัน จะทำให้กรรมการที่ตนเองต้องการเลือกมีโอกาสชนะได้

‘ ตัวอย่างการใช้ Cumulative Voting

บมจ. ABC จะมีการเลือกคณะกรรมการบริษัททั้งคณะจำนวน 7 คน โดยมีผู้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการทั้งสิ้น 8 ราย โดยคณะกรรมการสรรหาของบริษัทเสนอชื่อกรรมการ 1-7 และผู้ถือหุ้นรายย่อยรวมตัวกันเสนอชื่อกรรมการ 8 ขณะที่นาย ก. ถือหุ้น 3,000 หุ้น (3,000 x 7 = มีสิทธิลงคะแนนเสียง 21,000 คะแนน) นาง ข. ถือหุ้น 300 หุ้น (300 x 7 = 2,100 คะแนน) นางสาว ค. ถือหุ้น 700 หุ้น (700 x 7 = 4,900 คะแนน) (ตารางประกอบ)

ดังนั้น ผู้ที่ได้รับเลือกเป็นกรรมการเรียงลำดับจากคะแนนสูงสุดลงมา คือ กก. 8, กก. 5, กก. 4, และคะแนนเท่ากัน 3 ท่าน คือ กก. 1 กก. 2 กก. 3, โดยผู้ที่ได้คะแนนลำดับ 7 คือ กก. 6 ส่วน กก. 7 ได้รับคะแนนน้อยสุด จึงไม่ได้รับการเลือกตั้งในครั้งนี้

ทั้งนี้ ผู้ถือหุ้นที่สนใจและเห็นว่าวิธี Cumulative Voting จะทำให้เกิดความเท่าเทียมกันระหว่างผู้ถือหุ้นรายย่อยและรายใหญ่ ก็สามารถช่วยกันผลักดันให้เกิดขึ้นได้ โดยอาจแจ้งให้บริษัทมีการแก้ไขข้อบังคับบริษัทในเรื่อง การกำหนดวิธีเลือกตั้งกรรมการให้เป็นวิธี Cumulative Voting และที่สำคัญ คือ การที่ผู้ถือหุ้นรายย่อย ได้มีโอกาสรวมตัวกันเสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสมเพื่อรับเลือกตั้งเป็นกรรมการเพิ่มเติมจากชื่อที่บริษัทเสนอมา ก็จะยิ่งทำให้การใช้วิธี Cumulative Voting มีประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้นรายย่อยอย่างชัดเจน

สำหรับฤดูกาลแห่งการประชุมผู้ถือหุ้นที่กำลังจะสิ้นสุดลงในเดือนนี้ อยากฝาก ถึงทุกท่านว่า แม้บริษัทจดทะเบียนหลายแห่งจะมีการเตรียมจัดประชุมเป็นอย่างดีทั้ง ในด้านสถานที่ อาหาร รวมถึงบางบริษัทอาจมีการจัดเตรียมของที่ระลึกให้ด้วย ซึ่งก็ ถือเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ถือหุ้นที่มาประชุม อย่างไรก็ตาม ผู้ถือหุ้นยังควร ให้ความสำคัญกับเนื้อหาสาระของการประชุมเป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องของ ผลการดำเนินงานในปีที่ผ่านมา เพื่อใช้สิทธิของความเป็นเจ้าของกิจการในการตรวจสอบการบริหารของคณะกรรมการบริษัท อันจะเป็นประโยชน์สูงสุดในการดูแลเงินลงทุนของท่าน

                "ประชุมผู้ถือหุ้น : มีสิทธิควรไปใช้ ไปไม่ได้...มอบอำนาจ"

ก.ล.ต. สนับสนุนผู้ลงทุนใช้สิทธิเข้าร่วมประชุม หรือมอบอำนาจให้ผู้อื่นเข้าประชุมแทน

                      ในการประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปี 2552

กำลังโหลดความคิดเห็น