xs
xsm
sm
md
lg

ยากูซาปรับตัวตามเศรษฐกิจโลก ธุรกิจมืดปลดคน-ปรับโครงสร้าง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี - เผยแก๊งมาเฟียยากูซาในญี่ปุ่นพลอยฟ้าพลอยฝน เผชิญพิษวิกฤตเศรษฐกิจไม่แพ้ธุรกิจในระบบ สืบเนื่องจากในอดีตรายได้หลักของพวกนอกกฎหมายกลุ่มนี้มาจากการค้าประเวณี ยาเสพติด และการพนัน แต่เมื่อกำไรจากธุรกิจมืดได้ทรุดดิ่งอย่างถึงที่สุดในรอบหลายทศวรรษ จึงเกิดการปรับโครงสร้างมาหากินกับธุรกิจถูกกฎหมายมากขึ้น
"ยากูซาได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ทางการเงินคราวนี้ เพราะพวกเขาเข้าไปลงทุนในตลาดหุ้นด้วย" เป็นการเปิดเผยของ ทาโร ฮิรามัตสึ นามแฝงของอดีตผู้นำเบอร์สองของยากูซาแก๊งหนึ่ง ที่เพิ่งออกจากแก๊งมาเมื่อปีที่แล้ว
"ทุกวันนี้ เงินซื้อได้หมดทุกอย่าง แม้แต่ตำแหน่งระดับสูงของยากูซา" ฮิรามัตสึในวัยห้าสิบเศษบอก "ในอดีต คุณจะได้ตำแหน่งก็ต่อเมื่อแสดงให้เห็นความกล้าหาญและเสียสละ รวมทั้งต้องพร้อมที่จะตายเพื่อยากูซา"
ฮิรามัตสึบอกว่าอาชีพของเขาต้องสะดุดลงเมื่อเงินสดขาดมือ และเขาไม่อาจจะหาเงินส่งให้แก๊งได้ถึงเดือนละ 30,000 ดอลลาร์อีกต่อไป นอกจากนั้นพวกหัวหน้าระดับกลางราวหนึ่งในสามก็ต้องตกงานเหมือนกัน บางคนถึงขั้นเหลือสมบัติติดตัวเพียงอย่างเดียวคือรอยสักเครื่องหมายของยากูซาบนหน้าอก ซึ่งไม่สามารถลบออกได้
"นับเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่แก๊งอาชาญากรรมเหล่านี้ใช้โอกาสในช่วงเศรษฐกิจทรุดมาปรับลดตำแหน่งต่างๆ ในแก๊ง" เจค อาเดลสไตน์ อดีตผู้สื่อข่าวอาชญากรรมของหนังสือพิมพ์โยมิอูริ และเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องยากูซา ระบุและว่า "ไม่เคยมีใครได้ยินหรอกว่าแก๊งยากูวามีการปลดคนด้วย"
ปัจจุบันฮิรามัตสึพักอยู่ในโตเกียว เขาทำงานเป็นคนขับรถบรรทุก ส่วนในเวลาว่างก็เรียนคอมพิวเตอร์และเล่นกีตาร์ เขาไม่อยากพูดถึงเรื่องราวในอดีตมากนัก และบอกว่าเขาเป็นพวกหัวเก่า แผ่นหลังของฮิรามัตสึมีรอยสักรูปซามูไรถือดาบ ส่วนที่แขนของเขามีรอยสักรูปดอกซากุระสีแดงเข้ม ซึ่งเป็นสัญลักษณ์เก่าแก่ของญี่ปุ่น
"ผมคิดว่าคนในแก๊งยากูซาส่วนใหญ่กำลังคิดกันว่าควรจะโยนทิ้งค่านิยมแบบเก่าแล้วหันไปรับเอารูปแบบค่านิยมของระบบทุนนิยมมาใช้ดีหรือไม่" เขาวิเคราะห์และเสริมว่า "จิตวิญญาณแบบบูชิโด ซึ่งเป็นจิตวิญญาณของซามูไรที่ยากูซารับมาใช้ปฏิบัติหายสาบสูญไปหมดแล้ว และมันไม่เพียงส่งผลร้ายต่อยากูซาเท่านั้น แต่ยังกระทบถึงญี่ปุ่นโดยรวมอีกด้วย"
อย่างไรก็ตาม เมื่อการส่งออกและราคาหุ้นในญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะทรุดดิ่ง อีกทั้งกิจการธุรกิจขนาดใหญ่ทั้งหลายต่างติดตัวแดงกันถ้วนหน้า ฮิรามัตสึบอกว่าเป็นจังหวะที่พวกกลุ่มอันธพาลทั้งหลายจะต้องปัดฝุ่นกลับไปยึดถือหลักจริยธรรมดั้งเดิมของพวกเขา

**วาณิชธนกรผู้ถือปืน**

ยากูซานั้นมีรากฐานแนวคิดสืบทอดมาจากพวกซามูไรในญี่ปุ่น แต่เริ่มบิดผันแนวทางไปสู่การทำผิดกฎหมายตั้งแต่ในยุคเอโดะในศตวรรษที่ 17 โดยหาเงินหล่อเลี้ยงกลุ่มจากการพนัน การค้าประเวณี การปล่อยกู้นอกระบบและเรียกดอกเบี้ยสูงลิ่ว รวมทั้งตั้งตัวเป็นอันธพาลขู่กรรโชกเงินจากเหยื่อ
ยากูซาดำเนินการอย่างค่อนข้างเปิดเผย และมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพวกนักการเมืองและกลุ่มนักล็อบบี้ โดยที่ตำรวจก็จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวตราบใดที่พวกเขาดำเนินงานอยู่ภายในแวดวงของตนเองและไม่ก่ออาชญากรรมบนท้องถนนมากมายนัก
แม้ว่าจะมีบางครั้งที่ตำรวจต้องออกไล่ล่าสมาชิกบางคนของยากูซาบ้าง แต่แก๊งเหล่านี้ก็ไม่ถือว่าเป็นพวกนอกกฎหมาย หนำซ้ำยังมีการเปิดสำนักงานหลายแห่งอย่างเปิดเผย และมีผู้ที่คลั่งไคล้พวกยากูซามากจนมีการนำเรื่องราวไปเขียนเป็นการ์ตูนและมีการจัดตั้งแฟนคลับในนิตยสารบางฉบับอีกด้วย
สำนักงานตำรวจแห่งชาติของญี่ปุ่นระบุว่า ปัจจุบันสมาชิกในสังกัดองค์กรอาชญากรรมในญี่ปุ่นมีจำนวนราว 82,600 ราย โดยเกือบครึ่งหนึ่งเป็นคนของแก๊งยามากูชิ-กูมิในเมืองโกเบ โดยแก๊งดังกล่าวนี้ได้ชื่อว่าเป็น "วอลมาร์ตแห่งวงการอาชญากรรม" ด้วย
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไปในปี 1992 เมื่อรัฐบาลญี่ปุ่นประกาศใช้กฎหมายใหม่จัดการกับแก๊งอิทธิพลเหล่านี้ โดยจับกุมเหล่าหัวหน้าแก๊งที่ปล่อยให้ลูกน้องก่อเหตุผิดกฎหมาย
ส่วนยากูซาก็ปรับเปลี่ยนมาประกอบอาชญากรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น โดยหันไปจับธุรกิจฟอกเงิน อาชญากรรมในโลกไซเบอร์ และการขู่เรียกเงินก้อนมหาศาลจากบริษัทธุรกิจระดับบลูชิพในตลาดหุ้น เป็นต้น
พวกผู้เชี่ยวชาญด้านองค์กรอาชญากรรมของญี่ปุ่นบอกว่า หลังจากนั้นยากูซาก็นำเงินกำไรกลับไปลงทุนในตลาดหุ้น ธุรกิจก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ ตลอดจนภาคธุรกิจใหม่ๆ อย่างธุรกิจบันเทิงและสื่อ รวมถึงการออกไปลงทุนในต่างประเทศอีกด้วย
แต่เมื่อญี่ปุ่นมีการผ่อนคลายข้อกำหนดด้านการเงินภายหลังเกิดปรากฏการณ์ฟองสบู่แตกในในช่วงต้นทศวรรษ 1990 และญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ยากูซาก็ได้จัดตั้งบริษัทขึ้นมาบังหน้าและทำธุรกิจอย่างเป็นทางการจนดูเหมือนบริษัทธุรกิจที่เห็นกันทั่วๆ ไป
"คนเคยคิดว่ายากูซาคือพวกมือถือดาบมีรอยสักเต็มตัวและนิ้วขาด" อาเดลสไตน์บอก "แต่ตอนนี้คุณต้องมองเสียใหม่เพราะยากูซาสมัยใหม่ก็คือพวกโกลด์แมนแซคส์ที่มีปืนนั่นเอง"
ยิ่งกว่านั้นยากูซายังเป็นนักลงทุนในตลาดหุ้นรายใหญ่ที่สุด มีปริมาณเงินสดหมุนเวียนที่เพียงพอให้พวกเขา "ทำอะไรก็ได้ที่ต้องการ"
อาเดลสไตน์คาดว่ารายได้รวมของแก๊งยากูซาน่าจะสูงถึง 10,000 ล้านดอลลาร์ เขาบอกอีกว่า "พวกนี้เก่งเรื่องการพนันอยู่แล้ว ตลาดหุ้นญี่ปุ่นก็เหมือนกับกาสิโนใหญ่ๆ เสียด้วย แถมยังมีบริษัทหลักทรัพย์ และบริษัทสอบบัญชีเป็นของตัวเอง พอเงินเข้ามา ก็เอาไปลงทุนต่อ พวกเขามีแต่ได้กับได้"
โทโมฮิโกะ ซูซูกิ อดีตผู้สื่อข่าวที่ติดตามเรื่องราวของยากูซาอีกคนหนึ่งบอกว่า บริษัทหน้าฉากของแก๊งเหล่านี้ มีอยู่ราว 50 แห่งด้วยกันที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของญี่ปุ่นและตลาดหุ้นแนสแดค ส่วนอีกราว 1,000 แห่งเป็นบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหุ้น แต่มีธุรกิจครอบคลุมตั้งแต่ธุรกิจจัดงานศพไปจนถึงธุรกิจจัดงานแต่งงาน
อาเดลสไตน์บอกว่าความสำเร็จดังกล่าวทำให้มีผู้นำไปเขียนเป็นหนังสือด้านการบริหารหลายเล่มด้วยกัน เล่มหนึ่งเขียนโดยอดีตหัวหน้าแก๊งยามากูชิ-กูมิ ซึ่งติดคุกอยู่ในขณะนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น