xs
xsm
sm
md
lg

"อภิสิทธิ์"เลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินเอาจริงหากยังยุยง-จาบจ้วง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"มาร์ค"สั่งเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่คงกำลังทหาร ไว้เป็นผู้ช่วยตำรวจ ย้ำการชุมนุมตามเจตนารมย์รัฐธรรมนูญทำได้ แต่ต้องไม่จาบจ้วงเบื้องสูง ยุยงให้เกิดความรุนแรง หรือทำผิดกฎหมาย หากมีการฝ่าฝืนจัดการขั้นเด็ดขาด เสนอตั้งกก.3 ฝ่ายตรวจสอบการสลายการชุมนุม ยันไม่ซื้อเวลาแก้รธน. เตรียมเสนอถอนพาสปอร์ต "เจ๊เพ็ญ" ด้าน"ซากแดงถ่อย" นัดชุมนุมทันที หลังเลิกพ.ร.ก. ศาลให้ประกัน 3 หัวโจก"วีระ-ณัฐวุฒิ-เหวง" แต่ห้ามปลุกระดม หรือออกนอกประเทศ


เมื่อเวลา11.30 น. วานนี้(24เม.ย.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แถลงยกเลิกการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑลว่า ในการสรุปอภิปรายการประชุมร่วมรัฐสภา ตนได้ยืนยันว่าจะยกเลิกประกาศภาวะฉุกเฉินร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพ และปริมณฑล ซึ่งประกาศมาตั้งแต่วันที่ 12 เม.ย. โดยจะให้มีผล ตั้งแต่เวลา 12.00น. (24เม.ย.) เป็นต้นไป
ทั้งนี้ ได้สอบถามหน่วยงานฝ่ายความมั่นคง ถึงความเป็นไปได้ในการยกเลิกภาวะฉุกเฉินโดยเร็วที่สุด โดยให้ฝ่ายความมั่นคง สามารถใช้มาตรการต่างๆเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า สภาพของการรักษากฎหมาย และความสงบเรียบร้อยจะสามารถดำรงอยู่ได้เมื่อมีการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งฝ่ายความมั่นคงยืนยันว่าสามารถดำเนินการได้
ฉะนั้น อำนาจต่างๆที่ใช้ตาม พ.ร.ก.จะสิ้นสุดลงไปด้วย แต่ไม่ได้หมายความว่า การดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย โดยเฉพาะจุดที่อาจจะยังมีความหวั่นวิตกของพี่น้องประชาชน เราจะไม่ทำอะไร ได้มีการประสานงานกัน ระหว่างหน่วยงานความมั่นคง ว่าจะมีจุดไหนอย่างไรสามารถดำเนินการได้ โดยอาศัยกฎหมายตามปกติ
"ขอให้มั่นใจว่า ตรงนี้จะเป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยต่อไป และการยกเลิกครั้งนี้ เป็นการส่งสัญญาณไปยังทั่วโลกว่า เราได้นำบ้านเมืองกลับเข้าสู่ภาวะปกติ"
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่าใครที่ถูกควบคุมตัวโดยอาศัยอำนาจของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็ต้องปล่อย แต่หากมีความผิดก็ดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมต่อไป ตามปกติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพียงแต่ไปใช้อำนาจการควบคุมตามพ.ร.ก.ไม่ได้
"ยืนยันว่า จะไม่มีการไล่ล่า เพราะที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ มีการชุมนุมอาจจะมีปิดถนนบ้าง และมีผู้นำบางส่วนขึ้นไปพูดจาปราศรัย เพื่อให้ประชาชนทำผิดกฎหมาย นโยบายชัดเจน เฉพาะผู้ไปชุมนุมเฉยๆ ไม่มีการดำเนินการ แต่ถ้าผู้ขึ้นไปปราศรัย มีการยุยง ให้ทำผิดกฎหมาย ก็ต้องดำเนินการ อะไรที่เป็นปัญหา และคิดว่าอยู่ในโครงสร้างของกฎหมาย ฝ่ายนิติบัญญัติจะมีกระบวนการที่ วิป 3 ฝ่าย จะเดินหน้าแก้ไขในเชิงโครงสร้างต่อไป ส่วนการดำเนินการ ที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายบริหาร เช่น การดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมในขั้นตอนของตำรวจ จะเดินหน้า เร่งรัดให้เกิดความชัดเจนว่ามีมาตรฐานเดียว" นายกรัฐมนตรี กล่าว
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ขณะเดียวกันต้องขอความร่วมมือจากทุกฝ่าย เพราะไม่ใช่เฉพาะในสภาหรือการให้สัมภาษณ์ แต่รวมไปถึงการทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย ว่าการดำเนินการของรัฐบาลที่ผ่านมา มีความมุ่งหวังอย่างเดียว คือ การนำความสงบกลับคืนมา
ส่วนปัญหาความค้างคาใจต่อเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเมื่อทางสมาชิกได้สะท้อนต่อสภาแล้ว และอาจมีความไม่มั่นใจว่า กลไกของฝ่ายบริหาร จะติดตามเรื่องนี้ เราได้ให้ฝ่ายนิติบัญญัติ 3 ฝ่าย ไปดูแล ดังนั้นตรงนั้นจะเป็นจุดที่สามารถรับเรื่องราวต่างๆ ที่ยังเป็นปัญหา ความค้างคาใจ ข้อสงสัยต่างๆ เพื่อคลี่คลาย และเชิญชวนสื่อมวลชน ประชาชน ในระหว่างที่ฝ่ายนิติบัญญัติทำงานด้านนี้ ฝ่ายบริหารจะขอทำงานเพื่อช่วยแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบ และเตรียมการสร้างความเชื่อมั่น ให้กับประเทศ ในการจัดประชุมอาเซียนต่อไป
เมื่อถามว่าต่างประเทศจะเข้าใจสถานการณ์ในไทยหรือไม่ เพราะแม้จะยกเลิก พ.ร.ก.แต่ยังคงกำลังทหารไว้ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เขาจะทราบว่าก่อนหน้าประกาศ พ.ร.ก.เจ้าหน้าที่ทหาร อยู่ในสถานะของผู้ช่วยเจ้าพนักงาน แน่นอนที่สุดเมื่อรัฐบาล ยืนยันว่าการปฏิบัติงานในทุกขั้นตอน ทุกระยะ จะต้องเป็นไปตามกฎหมาย เจ้าหน้าที่เหล่านี้จะไม่สามารถใช้อำนาจพิเศษ ที่อยู่ในพ.ร.ก.ได้ คิดว่าต่างประเทศเข้าใจ เพราะเขาได้ติดตามสถานการณ์การ การชุมนุมต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง และเหตุผลที่ต้องคงเจ้าหน้าที่ทหารไว้ เพราะเป็นความจำเป็นที่เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องมีคนมาสนับสนุน ช่วยงาน โดยเฉพาะในบางพื้มที่ ซึ่งประชาชนยังมีความวิตกกังวล เช่น จุดเกิดเหตุของวันที่ 13 เม.ย. ที่ผ่านมา เพื่อให้เกิดความอุ่นใจของพี่น้องประชาชน จะมีการคงกำลังไว้ตรงนั้นส่วนหนึ่ง
เมื่อถามว่า ตำรวจไม่มีศักยภาพหรืออย่างไร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถทำได้ระดับหนึ่ง แต่มีข้อจำกัดในหลายๆ ด้าน และต้องยอมรับว่าการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ มีข้อจำกัดจากหลายสิ่งอย่างที่เกิดขึ้น ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ฉะนั้นจำเป็นต้องอาศัยการผสมผสานระหว่างหลายฝ่าย เพื่อให้สามารถทำงานตรงนี้ได้ ต่อไปจะดูในเรื่องกฎหมายดูแลการชุมนุม ซึ่งจะต้องไม่เป็นกฎหมายจำกัดสิทธิ แต่เป็นเชิงการบริหารจัดการเรื่องการชุมนุมให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตามเมื่อทุกอย่างกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และคลี่คลายเรื่องต่างๆ จะมาทบทวนดูสิ่งที่จำเป็นปรับปรุงแก้ไข
ส่วนระบบรักษาความปลอดภัยในประเทศก็ได้รับข้อสังเกตมาเยอะ และกำลังปรับปรุงอยู่ แต่การปรับเปลี่ยนคณะรัฐมนตรีนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง และการตั้งกรรมการ 3 ฝ่ายขึ้นมา นายอภิสิทธิ์ ก็หวังว่าจะเป็นที่ยอมรับ เพราะได้พยายามฟังเสียงของทุกฝ่าย ในช่วงการประชุมร่วม2 สภา และเห็นว่าถ้ามีความไม่มั่นใจ ฝ่ายบริหารก็เอาฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้าไปมีส่วนร่วม ในการกำหนดแนวทาง ส่วนเรื่องกรอบเวลา ทั้ง 3 ฝ่าย จะคุยกันเอง
สำหรับแนวทางการปฏิรูปการเมือง ขอให้ทุกฝ่ายมีความเห็นพ้องต้องกัน ถึงจะเดินไปได้ หากมีการกำหนดจากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด และมีการคัดค้านขึ้นมา กระบวนการจะเดินไม่ได้
ผู้สื่อข่าวถามถึงเนื้อหาสาระของกฎหมายการชุมนุมที่มีแนวคิดจะออกมาดูแลการชุมนุมเป็นอย่างไร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า จะดูตามแนวมาตรฐานสากล ส่วนที่มีข่าวว่าจะกำหนดพื้นที่ชุมนุมให้ห่างจากทำเนียบฯและรัฐสภา 1 กม.นั้น เรายังไม่ได้ลงถึงรายละเอียดอย่างนั้น
อย่างไรก็ตาม เคยมีกฎหมายลักษณะนี้เสนอในสภา แต่มีข้อท้วงติงว่าไม่น่าจะสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ฉะนั้นตอนนี้เราต้องแยกลักษณะการชุมนุมที่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ กับลักษณะการชุมนุมซึ่งเปลี่ยนแปลงไปเป็นเรื่องความรุนแรง ขัดขวาง กระทบชีวิตความเป็นอยู่ประจำวันของประชาชน เพื่อให้เจ้าหน้าที่มีหลักอ้างอิงในการปฏิบัติ เป็นการให้อำนาจเจ้าหน้าที่ และมีบทลงโทษ
เมื่อถามว่ากฎหมายความมั่นคงที่ประกาศใช้ไปแล้ว ใช้ไม่ได้หรือ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า อันนี้จะเป็นอีกส่วนหนึ่ง ที่จะถูกนำเข้ามา เพราะสถานการณ์ที่เราดูแลอยู่ขณะนี้ ถ้าตามเจตนารมณ์ของกฎหมายความมั่นคงใหม่ คือสถานการณ์ไม่รุนแรงถึงขั้นต้องประกาศพ.ร.ก.
"เชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่ที่มาชุมนุม ไม่ต้องการทำอะไรที่ผิดกฎหมาย ยืนยันว่าข้อเรียกร้อง กำลังได้รับการสะสางโดยกระบวนการนิติบัญญัติ ส่วนคนที่อาจจะมีความคิดเป็นอย่างอื่น ผมมั่นใจว่าคนส่วนใหญ่ ในประเทศนี้ไม่สนับสนุน และไม่ต้องการให้มีบทบาท เพราะมันไม่ใช่เรื่องการทำร้ายฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ทำร้ายประเทศ" นายกรัฐมนตรีกล่าว
นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวถึงการแก้ปัญหาความแตกแยกทางความคิดว่า ได้พยายามใช้หลายวิธี แต่ไม่สามารถคืบหน้าได้ อาจเป็นเพราะความหวาดระแวงสงสัย เรื่องผลประโยชน์ทางการเมือง แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่รุนแรง เหมือนเป็นการปลุกให้ทุกฝ่ายตื่นตัวมากขึ้น ขณะนี้คงไม่ใช่เรื่องที่จะปล่อยนผ่านไปได้แล้ว และไม่ใช่เรื่องของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เป็นเรื่องของทุกคนจริงๆ ที่จะต้องช่วยให้เดินหน้าไปได้ ซึ่งฝ่ายนิติบัญญัติต้องทำหน้าที่ส่วนหนึ่ง และฝ่ายบริหารจะต้องใช้กลไกต่างๆให้เป็นประโยชน์การเอื้อต่อกระบวนการนี้
"ทุกฝ่ายต้องช่วยกันทำ การที่บอกว่าให้ฝ่ายนิติบัญญัติทำเรื่องนี้ ไม่ใช่ว่าฝ่ายบริหารเพิกเฉย งอมืองอเท้า ไม่ทำอะไร แต่เพื่อที่จะสร้างกระบวนการปรองดองให้เกิดขึ้น เราก็ต้องทำ เพียงแต่ประเด็นหลักที่เป็นต้นเหตุ ที่มีความกังวลว่ามีผลประโยชน์ทางการเมือง ก็ต้องเอากระบวนการที่ทุกฝ่ายมาร่วมได้ จุดร่วมที่ทำได้ขณะนี้คือ ฝ่ายนิติบัญญัติ แต่ฝ่ายนิติบัญญัติก็ได้แนะไปว่า ทำตามลำพังไม่ได้ ต้องให้ทุกภาคส่วนเข้ามาร่วม" นายกรัฐมนตรีกล่าว
นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวถึงการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ประชาธิปไตยสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ว่าเรื่องนี้เป็นคำตอบสำคัญคำตอบหนึ่ง สำหรับคนที่เรียกร้องประชาธิปไตย ส่วนการจะทำให้สมบูรณ์ขึ้นรายละเอียดมีอย่างไร อยู่ในระหว่างการรวบรวมข้อมูล ซึ่งรัฐบาลไม่จำเป็นต้องซื้อเวลาอะไร เพราะ ต้องการเปิดทางออกให้กับสังคม และให้บ้านเมืองเดินต่อไปได้

ยุบสภาไม่ใช่ทางออกของปัญหา

ส่วนการยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชนนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้อธิบายชัดเจนถึงเหตุผลหลักๆ ที่คิดว่าการคืนอำนาจในขณะนี้จะเป็นปัญหา เพราะเราเห็นมาแล้วจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น และการแสดงออก
"ถ้าเลือกตั้งวันนี้ ก็มีคนที่ไม่ยอมรับว่ากติกาที่นำไปใช้ไม่เหมาะอีก แล้วเกิดมีปัญหาขึ้น มีคดีซื้อเสียง เกิดยุบพรรคกันอีก ไม่วิกฤตหนักขึ้นไปอีกหรือครับ เพราะฉะนั้นก็ต้องเอากติกาที่ทุกคนยอมรับก่อนลงไปเล่น ใช้เวลาไม่นาน หาข้อยุติกันตรงนี้ และเราไม่ควรไปเลือกตั้งในสภาวะที่มีการประกาศว่า ถ้ามีการรณรงค์หาเสียงเกิดมีการมาห้ามใช้ความรุนแรง อันนั้นจะซ้ำเติมประชาธิปไตย ผมพูดละเอียดมากตรงนี้ และฝ่ายค้านก็อยู่ด้วย ถ้าแก้กฎหมายให้เป็นธรรมแล้ว ก็จะเป็นหนทางนำไปสู่ความปรองดองได้อย่างชัดเจนอยู่แล้ว" นายอภิสิทธิ์กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า คิดว่ารัฐบาลจะอยู่พ้นปีนี้ไหม นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนทำหน้าที่อย่างดีที่สุด และคิดว่า สังคมคงอยากเห็นบ้านเมืองเดินไปข้างหน้า แต่เราไปกำหนดล่วงหน้าว่ารัฐบาลต้องอยู่ หรือไม่อยู่ คิดว่าไม่เหมาะสม เป็นเรื่องของกลไกตามระบอบประชาธิปไตย เมื่อถามว่า แสดงว่าไม่มั่นใจกับสถานการณ์ นายกฯกล่าวว่า ไม่ใช่ไม่มั่นใจ แต่ถ้าให้มานั่งประกาศ มันเป็นจุดของการสร้างเงื่อนไขความขัดแย้งขึ้นมาว่าต้องอยู่หรือไม่อยู่ มันไม่ใช่อะไรที่มันดีสำหรับประเทศเรา
ผู้สื่อข่าวถามว่า แนวโน้มที่จะไปมากกว่าอยู่ใช่ไหม นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนไม่วิเคราะห์ หากวิเคราะห์จะถูกหยิบยกมาเป็นเงื่อนไขให้เกิดความขัดแย้งได้ เวลาที่คนไปสื่อสารกัน เมื่อถามว่า ยังมั่นใจอยู่ใช่หรือไม่ว่ารัฐบาลจะทำงานต่อไปได้ นายกฯ กล่าวว่า ขณะนี้เลิกประชุมตีสอง ตีสาม ก็ยังมาทำงานตั้งแต่เช้า ช่วงบ่ายก็มีประชุมต่อ งานสำคัญๆ เดินต่อเนื่องไม่มีหยุด
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่นายสุจิต บุญบงการ ถอนตัวออกจากการเป็นประธานคณะกรรมการปฏิรูปการเมือง นายกฯ กล่าวว่าสถาบันพระปกเกล้าฯยังยืนยัน ส่วนตัวนายสุจิต ถือเป็นสิทธิของเขา
เมื่อถามว่า นายกฯได้เรียกร้องให้ทุกฝ่ายปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ และขอไม่ให้เกิดความรุนแรง คิดว่าจะได้รับความร่วมมือหรือเปล่า นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ยังเชื่ออย่างนั้น "ผมเชื่อว่าคนไทยเกือบทุกคน จะมีน้อยคนมากที่ไม่เห็นด้วยกับสองเรื่องนี้ ต้องพิสูจน์ด้วยการกระทำต่อไปนี้" นายอภิสิทธิ์กล่าว

ห้ามละเมิดสถาบันฯ-ก่อเหตุรุนแรง

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ดูแลด้านความมั่นคง กล่าวถึงการยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินว่า นายกฯได้แสดงความตั้งใจไว้อยู่แล้วว่า ต้องรีบทำงานให้เสร็จโดยเร็ว เพื่อจะได้ยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตนในฐานะผู้รับผิดชอบ เมื่อเห็นว่าสถานการณ์คลี่คลาย จึงแจ้งให้นายกฯทราบ จนมีการยกเลิกในที่สุด ส่วนที่ต้องให้ทหารมาช่วยดูแลสถานที่ราชการอยู่ เพราะทหารยังคงเป็นผู้ช่วยของเจ้าหน้าที่ และที่ทำเนียบรัฐบาล ก็ยังคงต้องมีไว้บ้างเท่าที่จำเป็น
เมื่อถามว่าหากยังคงมีความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงอีก ภาครัฐจะติดตามดูแลอย่างไร นายสุเทพ กล่าวว่า ก็จะทำไปตามหน้าที่ เมื่อถามว่าจะใช้กฎหมายอะไรมาดูแลเป็นพิเศษหรือไม่ นายสุเทพ กล่าวว่า นายกฯพูดไปแล้วว่าประชาชนมีสิทธิแสดงความคิดเห็นทางการเมืองได้ แต่ต้องอยู่ในกรอบของกฎหมาย ซึ่งเราทุกคนก็ต้องช่วยกันดู
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่นายกฯได้พูดสรุปในช่วงท้ายของการประชุมรัฐสภานั้น เป็นสิ่งที่มีคุณค่าที่สุด จึงอยากให้ทุกฝ่ายได้พิจารณา ซึ่งจะชัดเจน โดยเฉพาะข้อเสนอ 2 ข้อที่นายกฯพูดคือการชุมนุมต้องไม่กล่าวพาดพิง จาบจ้วงสถาบันเบื้องสูง และต้องไม่ยุยงให้เกิดความรุนแรง คิดว่าประชาชนทั่วประเทศเห็นด้วย ซึ่งก็น่าจะเป็นแรงกดดันให้ทุกฝ่ายเข้ามาร่วมมือกัน

เร่งสานต่อ4 ภาระกิจฟื้นประเทศ

นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า พรรคประชาธิปัตย์มองว่าขณะนี้สังคมมีภาระกิจร่วมกัน 4 เรื่อง ที่จำเป็นต้องสานต่อ เพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรมทุกฝ่าย คือ 1. นายกฯได้ขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคมให้ช่วยกันทำทุกวิถีทางเพื่อรักษาสถาบันสูงสุดของประเทศ ไม่ให้ฝ่ายใดจาบจ้วง หรือดึงเข้ามาสู่วังวนความขัดแย้งทางการเมือง ไม่ว่าจากภายในหรือภายนอกประเทศ
2. การสร้างความสมานฉันท์ทั้งการรักษาเยียวยา และให้ความเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ชุมนุม
3. ทุกภาคส่วนจะต้องแก้ตัวร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนอีกครั้งอย่างสงบ เพราะถือเป็นโอกาสสำคัญที่ประเทศจะได้แก้ตัวอีกครั้งในสายตาประชาคมโลก
4. ช่วยกันแก้ไขวิกฤติเศรษฐกิจที่มีผลต่อประเทศชาติขณะนี้

เล็งถอนพาสปอร์ต “จักรภพ”

นพ.บุรณัชย์ กล่าวว่า พรรครับทราบว่า ขณะนี้มีการเคลื่อนไหวนอกประเทศ ที่แสดงสัญญาณชัดเจนว่า มีองค์กรและบุคคลที่ไม่ต้องการให้ความสงบเกิดขึ้นในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการส่งสัญญาณจากพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และนายจักรภพ เพ็ญแข ที่ให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศต่อเนื่อง ไม่ว่าส่งสัญญาณเตรียมใช้ความรุนแรงล้มล้างรัฐบาล ก่อความไม่สงบ ซึ่งการกระทำดังกล่าวไม่ได้เป็นเพียงเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาล แต่ถือเป็นการประกาศตัวเป็นศัตรูกับประเทศไทย โดยการแสดงความไม่หวังดีกับบ้านเมือง
นอกจากนี้ รูปแบบการเดินทางของ พ.ต.ท.ทักษิณ มีแนวโน้มที่จะไปอยู่ในประเทศที่มีความสัมพันธ์กับประเทศไทยน้อยลง ล่าสุดไปอยู่ที่ไลบีเรีย แม้จะมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศไทย แต่ในส่วนของทางการไทย ต้องประสานงานผ่านสถานทูตไทยในประเทศเซเนกัล ส่วนไลบีเรียหากจะประสานมายังประเทศไทย ก็ต้องผ่านสถานทูตไลบีเรียในประเทศญี่ปุ่น
ขณะเดียวกันประเทศที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เดินทางไปไม่ได้เป็นประเทศที่ ยึดโยงอุดมการณ์เสรีประชาธิปไตย ซึ่งประเทศไลบีเรีย มีประวัติเกิดสงครามการเมืองมานาน และกลุ่มประเทศในแอฟริกา หรืออเมริกากลาง เป็นที่รับทราบในวงการสากลว่าเป็นที่ที่ใช้เป็นเส้นทางผ่านในการลำเลียงอาวุธ และเส้นทางเงิน เพื่อสนับสนุนการก่อความไม่สงบในประเทศต่างๆทั่วโลก
จากการเคลื่อนไหวต่างๆ เพื่อสั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาลและบิดเบือนข้อเท็จจริงนั้น ทางพรรคมีความเห็นว่า จะสนับสนุนให้รัฐบาลโดยเฉพาะกระทรวงการต่างประเทศเร่งดำเนินการประสานงานระหว่างมิตรประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อจำกัดการเดินทางและติดตามตัวพ.ต.ท.ทักษิณ และนายจักรภพ เข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรม โดยเบื้องต้นหากนายจักรภพ พยายามที่จะเดินทางไปอยู่ประเทศใดก็ตาม พรรคเห็นว่าจะหารือกับ นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศทันทีที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ เรื่องการขอถอนพาสปอร์ต ตามระเบียบกระทรวงการต่างประเทศ หากผู้ที่ถือหนังสือเดินทางคงอยู่ในต่างประเทศต่อไป อาจทำให้เกิดความเสียหายต่อประเทศไทยได้

40 ส.ว.หนุนตั้งกก.สอบสลายชุมนุม

นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา กลุ่ม40 ส.ว. กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบเหตุสลายการชุมนุม ของกลุ่มเสื้อแดง ช่วงวันที่ 12-14 เม.ย.ว่า เห็นด้วยอย่างยิ่ง และเห็นว่า รัฐบาลควรตั้งคณะกรรมการขึ้นมาอีกชุด จาก 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และวุฒิสภา เพื่อตรวจสอบไปด้วย ขณะเดียวกันในส่วนของวุฒิสภา ทางคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนฯ คณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล และคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข ได้ตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบเหตุสลายการชุมนุม เมื่อวันที่ 7 ตุลาฯ อยู่แล้ว ก็จะได้เดินหน้าตรวจสอบเหตุสลายการชุมนุม12-14 เม.ย.ต่อไป และจะศึกษาไปถึงเหตุลอบสังหารบุคคลสำคัญอย่าง องคมนตรี การบุกรุกการประชุมอาเซียน ที่พัทยาด้วย ว่ามีการล้ำเส้นเกินกว่าเหตุ จนทำให้การประชุมล้มหรือไม่ เป็นการตรวจสอบคู่ขนานกันไป
นายสมชาย ยังกล่าวถึง กรณีที่รัฐบาลจะปฏิรูปการเมือง โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่านายกฯต้องแยก 2 ประเด็นนี้ออกจากกัน เพราะเรื่องรัฐธรรมนูญเป็นเพียงปัจจัยหนึ่ง ที่ถูกนำมาเป็นแพะรับบาปเท่านั้น แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นของใหม่ ที่สร้างบรรทัดฐานใหม่ขึ้นมา คนไทยอาจไม่คุ้น เลยมีการต่อต้าน เราควรอดทนใช้ไปอีกระยะก่อน เนื่องจากเมืองไทยเหมือนเป็นโรคร้าย เป็นมะเร็ง จึงจำเป็นต้องใช้ยาแรง แต่ก็มีผลเอฟเฟก ตามมา การแก้ไขทำได้แต่ต้องชัดเจนว่าทำเพื่อใคร ไม่ใช่เพื่อบุคคล หรือกลุ่มบุคคลเท่านั้น รวมถึงเรื่องระยะเวลาด้วย การแก้ไขต้องอยู่บนเงื่อนไขความสมานฉันท์ปรองดอง ไม่ใช่ด้วยจิตที่เต็มไปด้วย โมหะจริต จะห้ำหั่นฆ่ากันให้ตายอย่างนี้ จึงควรตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาศึกษาประเด็นที่จะแก้ไขก่อน

"ซากนปช."นัดชุมนุมสนามหลวง

เมื่อเวลา 13.00 น. วันเดียวกันนี้ หลังจากที่นายกรัฐมนตรีประกาศยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และนายสรรเสริญ ศรีอุ่นเรือน แกนนำนปช. ก็เปิดแถลงข่าว ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ นัดชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดง ที่สนามหลวง ในวันนี้ (25 เม.ย.) เวลา 17.00 น. ถึง 23.00 น. พร้อมยืนยันว่า จะชุมนุมอย่างสันติ ปราศจากอาวุธ และไม่ยืดเยื้อ คาดว่าจะมีผู้มาร่วมชุมนุม 5 พันคน
"การรวมพลังของมวลชนครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเคลื่อนไหวครั้งใหม่ และสานต่อภารกิจหลังจากเหตุการณ์ 13 เม.ย. โดยมีเป้าหมายเฉพาะหน้าคือ เรียกร้องให้ปล่อยตัวแกนนำนปช. ทุกคน ยุติการคุกคามแกนนำทุกรูปแบบ และยกเลิกการออกหมายจับ ให้นำรัฐธรรมนูญปี 40 กลับมาใช้อีกครั้ง" นายสมยศ กล่าว
ด้านนายสรรเสริญ กล่าวว่า ในการชุมนุมครั้งนี้ ตนจะประสานไปยังนายจตุพร พรหมพันธุ์ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา และนายสุนัย จุลพงศธร มาขึ้นเวทีด้วย ส่วนจะมีการติดต่อให้พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โฟนอินเข้ามาหรือไม่ ต้องพิจารณากันอีกครั้ง และหลังจากนั้น กลุ่ม นปช. จะจัดเดินสายชุมนุมไปทั่วประเทศ โดยจะเริ่มที่ จ.เชียงใหม่ จ.อุดรธานี จ.พัทลุง เป็นต้น
เรืออากาศโทอิราวัสส์ ปัทมะสุคนธ์ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม. กล่าวว่า ยังไม่ได้รัรับหนังสือการขออนุญาตใช้สถานที่บริเวณท้องสนามหลวง จากกลุ่มคนเสื้อแดงแต่อย่างใด ซึ่งที่ผ่านมากลุ่มคนเสื้อแดงก็มีหนังสือขอใช้สถานที่มาตลอด แต่จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีการยื่นหนังสือมา แต่กทม. ก็คงไม่สามารถห้ามกลุ่มคนเสื้อแดงได้ และถ้ามีการขอรถสุขาเคลื่อนที่ ก็คงต้องอำนวยความสะดวกให้ตามหน้าที่

ศาลให้ประกัน3หัวโจกแดงถ่อย

วานนี้(24 เม.ย.)เวลา 13.45 น.ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รอง ผบช.น. ได้ยื่นคำร้องขอฝากขังครั้งแรก นายวีระ มุสิกพงศ์ อายุ 60 ปี นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อายุ 33 ปี และนพ.เหวง โตจิราการ 58 ปี แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตย ต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ( นปช.) ผู้ต้องหาที่ 1-3 คดีปลุกระดมมวลชนเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน และมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง ซึ่งศาลอาญาได้อนุมัติออกหมายจับพร้อมกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และพวกรวม 14 คน ตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา หลังจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ประกาศยุติสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในพื้นที่กทม.และปริมณฑล
ด้านนายคารม พลทะกลาง ทนายความนปช. กล่าวว่าตนได้ยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขังของพนักงานสอบสวน เนื่องจากนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้ว และที่ผ่านมาได้พ้นระยะเวลาการควบคุมตัว 48 ชั่วโมงตั้งแต่วันที่ 16 เม.ย.แล้ว และยืนยันว่า ผู้ต้องหาทั้งสาม ไม่ได้มีพฤติการณ์ที่จะหลบหนี หรือยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน ขณะเดียวกันตนก็ยื่นคำร้องขอประกันตัว 3 แกนนำด้วย ซึ่งเตรียมหลักทรัพย์ทั้งเงินสดคนละ 5 แสนบาท และตำแหน่ง ส.ส. ต่อศาล รวมทั้งตำแหน่ง ส.ส. ของนายการุณ โหสกุล และนายประเกียรติ นาสิมมา ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย
ต่อมาเวลา 17.30 น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังนายวีระ มุสิกพงศ์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และนพ.เหวง โตจิราการ 3 แกนนำนปช. เป็นเวลา 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 24 เม.ย. – 5 พ.ค.นี้ และอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยตีราคาประกันคนละ 500,000 บาท โดยมีเงื่อนไข
ทั้งนี้ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ผู้ต้องหาทั้งสาม เป็นผู้ต้องหาตามหมายจับที่ออกเมื่อวันที่ 14 เม.ย. ซึ่งปรากฏว่า ผู้ต้องหาได้เข้ามอบตัวในวันเดียวกัน ต่อมาเมื่อวันที่ 16 เม.ย. พนักงานสอบสวนนำตัวผู้ต้องหามาฝากขัง ตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน และกำหนดให้ควบคุมตัวตามพ.ร.ก.จำนวน 7 วัน หลังครบกำหนด พนักงานสอบสวน นำตัวมาขอขยายเวลาควบคุมตามพ.ร.ก. อีก 7 วัน กระทั่งวันที่ 24 เม.ย. นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจควบคุมตัวเกินกว่า 48 ชั่วโมง ตามกฎหมายกำหนด ผู้ต้องหาทั้งสาม คัดค้านว่า หลังยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจควบคุมตัว จึงขอให้ศาลปล่อยตัว
ศาลเห็นว่า การควบคุมตัวผู้ต้องหาตั้งแต่วันที่ 16 เม.ย. พนักงานสอบสวนทำโดยชอบด้วยกฎหมาย ประกอบกับเห็นว่า คำร้องฝากขัง พนักงานสอบสวนอ้างว่า ต้องมีการสอบสวนพยานเพิ่มเติมอีก 20 ปาก และต้องรอผลตรวจประวัติอาชญากร จาก สตช. จึงมีเหตุจำเป็นให้ต้องคุมขังต่อไป จึงอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาตามคำร้องตั้งแต่วันที่ 24 เม.ย.- 5 พ.ค. คำคัดค้านของผู้ต้องหา ฟังไม่ขึ้น

ห้ามปลุกระดม-ออกนอกประเทศ

ส่วนคำร้องผู้ต้องหาขอประกันตัว ศาลเห็นว่า ข้อหาที่ผู้ต้องหาทั้งสามถูกออกหมายจับ มีอัตราโทษไม่สูง ประกอบกับมีการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน สถานการณ์มีความคลี่คลายลงแล้ว จึงอนุญาตให้ปล่อยตัวเป็นการชั่วคราว โดยตีราคาหลักทรัพย์คนละ 5 แสนบาท และห้ามผู้ต้องหา ออกนอกราชอาณาจักร โดยให้แจ้ง สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง( สตม.) ทราบด้วย และวางเงื่อนไขห้ามผู้ต้องหา กระทำการปลุกระดม หรือกระทำการใดๆ อันก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง และห้ามมิให้กระทำการใดๆ ที่มีผลกระทบต่อการสอบสวนของพนักงานสอบสวน มิฉะนั้น ศาลจะถอดประกัน

"วีระ"ขอปรึกษาทนายก่อนขึ้นเวที

ภายหลังศาลมีคำสั่งปล่อยตัว นายวีระ ,นายณัฐวุฒิ และนพ.เหวง เดินลงมาจากห้องพิจารณาคดี พบกับกลุ่มผู้สนับสนุนที่เฝ้ารอให้กำลังใจประมาณ 100 คน พร้อมกล่าวขอบคุณกลุ่มผู้สนับสนุน โดยนายวีระ กล่าวว่า ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณศาลที่ให้ประกันตัว ซึ่งถือเป็นการมองเห็นถึงสิทธิของประชาชนตาม รธน. ส่วนที่กลุ่ม นปช.นัดชุมนุมกันในวันนี้ ( 25 เม.ย.) ที่สนามหลวง พวกตนจะเดินทางไปร่วมได้หรือไม่ ต้องรอปรึกษาทีมทนายความก่อน ว่าจะเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดของศาลในการปล่อยตัวชั่วคราวหรือไม่

“พัชรวาท”เน้นเจรจาเสื้อแดง

พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร. กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มเสื้อแดงนัดชุมนุมที่สนามหลวงในช่วงเย็นวันนี้ (25 เม.ย.) หลังมีการประกาศยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินว่า การดูแลกลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดง ตำรวจก็ยังคงใช้มาตรฐานเดิม โดยเน้นการเจรจากับแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุม ถึงข้อเรียกร้อง และจะพยายามให้การชุมนุมอยู่ในระเบียบ ไม่เคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่
ส่วนการประเมินจำนวนผู้ชุมนุม คงประเมินได้ยากว่าจะมีจำนวนมากเท่าใด แต่จากรายงานข่าวพบว่า มีกลุ่มเดียว คือ มาจากจ.สมุทรสาคร ซึ่งตำรวจได้เจรจาทำความเข้าใจต่อผู้ชุมนุมบางส่วนแล้ว ซึ่งสถานการณ์การชุมนุมไม่น่าจะมีความวุ่นวาย เนื่องจากตำรวจไม่ได้คัดค้านการขอประกันตัวแกนนำครั้งล่าสุด

ใช้แผน"นครบาล 50" คุม
ด้านพล.ต.ต.พงษ์สันต์ เจียมอ่อน รอง ผบช.น. กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้วางกำลังเพื่อดูแลความสงบเรียบร้อย โดยใช้แผนนครบาล 50 ขณะเดียวกัน ได้มีการสั่งการให้เจ้าหน้าที่ออกสืบสวนหาข่าวในพื้นที่ นอกจากนี้ พล.ต.ท.วรพงษ์ ชิวปรีชา ผบช.น.ได้มีการเรียกประชุมนายตำรวจระดับผู้กำกับการ จำนวน 88 สน. เพื่อกำหนดพื้นที่เฝ้าระวัง ภายหลังมีการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยมีการเน้น 3 พื้นที่ คือ 1.พื้นที่เฝ้าระวังเป็นพิเศษอย่างยิ่ง ได้แก่ พระราชวัง สถานทูตต่างๆ 2. พื้นที่เฝ้าระวังพิเศษได้แก่ สถานที่ราชการต่างๆ 3.พื้นที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ ร้านทอง ธนาคาร ในส่วนบ้านของนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรฯ นั้น ทางเจ้าหน้าที่ได้มีการจัดกำลังดูแลอยู่แล้ว และจัดอยู่ในพื้นที่เฝ้าระวัง
กำลังโหลดความคิดเห็น