xs
xsm
sm
md
lg

รัฐ-เอกชนปั้นสารพัดโปรเจกต์ดัน “นครแม่สอด”รับEWEC

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เขตเศรษฐกิจพิเศษเมียวดี ของพม่า มีการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง
ศูนย์ข่าวภาคเหนือ – รัฐ/เอกชนเมืองตากเร่งปลุกปั้นโปรเจกต์ยักษ์ ดันแม่สอดรับ EWEC เดินหน้าปลุกปั้นเขตปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ “นครแม่สอด” ผุดสะพานเชื่อมพม่าแห่งที่ 2 พร้อมขยายรันเวย์สนามบิน รองรับการพัฒนาระบบลอจิสติกส์

ขณะที่พม่าเดินหน้าพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนเมียวดี ตรงข้าม อ.แม่สอด จ.ตาก อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้การเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคม การค้า การลงทุนตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East – West Economic Corridor ; EWEC) สมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยใช้พื้นที่สองฝั่งถนนเมียวดี-กอกะเร็ก-ย่างกุ้ง เนื้อที่รวมประมาณ 600-700 เอเคอร์ หรือประมาณ 1,500 – 1,750 ไร่ ล่าสุดการก่อสร้างอาคารต่าง ๆ ทั้งในส่วนอาคารพาณิชย์ – สถานที่ราชการ ฯลฯ เสร็จสมบูรณ์มากขึ้นเรื่อย ๆ และต่อไปจะมีการโยกย้ายส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้า – ส่งออกทั้งหมดมารวมศูนย์เป็น One Stop Service ด้วยนั้น

ในส่วนของ อ.แม่สอด จ.ตาก ที่แม้ว่าหลายปีก่อนหน้านี้จะมีการผลักดันให้รัฐบาลประกาศตั้งเป็นเขตเศรษฐกิจชายแดนตาก รองรับยุทธศาสตร์การพัฒนาดังกล่าวด้วย แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าเป็นรูปธรรมออกมาเท่าใด จนถึงวันนี้ยังคงมีแต่มติ ครม.ในแผ่นกระดาษนั้น ล่าสุดหน่วยงานภาครัฐ-เอกชน ในพื้นที่ได้พยายามผลักดันแผนพัฒนาขึ้นมาหลายโครงการเพื่อตามให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

สำนักงานโยธาธิการและผังเมือง ได้นำเสนอข้อมูลและเหตุผลถึงความจำเป็นในการดำเนินโครงการสะพานมิตรภาพไทย-พม่า แห่งที่ 2 เพื่อเป็นยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจชายแดนรวมทั้งเพื่อพัฒนาทางหลวงเลี่ยงเมืองเชื่อมแม่สอดและเขตเศรษฐกิจเมียวดี ตามแนวเขตถนนสายเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก ตามผังระบบคมนาคมและการขนส่งเมืองแม่สอด ซึ่งจะเป็น “อาเซียนแลนด์บริดจ์” ประตูหน้าด่านการค้าช่วงสุดท้ายในกลุ่มประเทศเอเชียใต้

ทั้งนี้ เชื่อว่า สะพานมิตรภาพไทย-พม่า แห่งที่ 2 จะเพิ่มขีดความสามารถรองรับปริมาณการจราจรและการขนส่งสินค้าที่จะเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 8,000 คัน/วันตามบทบาทของความเป็นศูนย์กลางจุดเปลี่ยนผ่านของการคมนาคมและขนส่งเชื่อมโยงอนุภูมิภาคของอาเซียนแลนด์บริดจ์ ในอีก 20 ปีข้างหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย

นายพงศ์เทพ บัวทรัพย์ นายด่านศุลกากรแม่สอด จ.ตาก ให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า เห็นด้วยอย่างยิ่งกับโครงการนี้และควรเร่งดำเนินการทันที เพราะสะพานมิตรภาพฯแห่งแรก ปัจจุบัน รถบรรทุกน้ำหนักเกิน 12.5 ตันไม่สามารถวิ่งผ่านได้ ต้องมีการขนถ่ายสินค้าใส่รถบรรทุกเล็กทำให้เสียเวลา-เพิ่มค่าใช้จ่ายและต้นทุน สะพานมิตรภาพฯแห่งที่ 2 จะเป็นการเพิ่มจำนวนสินค้าส่งออกและนำเข้า ประกอบกับเป็นการพัฒนาเส้นทางเศรษฐกิจสายใหม่บริเวณจุดที่คาดว่าจะสร้างสะพานมิตรภาพฯ เนื่องจากพม่าเองได้มีการพัฒนาบริเวณจุดดังกล่าวเป็นเขตเศรษฐกิจและย่านการค้าแห่งใหม่รองรับไว้แล้ว

อย่างไรก็ตาม หากมีการก่อสร้างจริง สะพานมิตรภาพฯแห่งที่ 2 จะใช้เป็นการขนส่งสินค้า ส่วนสะพานแห่งแรกนั้นใช้เป็นเส้นทางการท่องเที่ยวและการติดต่อระหว่างประชาชนกับส่วนราชการ

นายคมสัน เอกชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก กล่าวว่า เห็นด้วยและสนับสนุน หากรัฐบาลจะดำเนินโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-พม่า แห่งที่ 2 ที่บริเวณบ้านวังตะเคียน หมู่ 4 ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก โดยขณะนี้กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ใช้งบประมาณ 25 ล้านบาท ในการสำรวจ เป็นการพัฒนาสะพานนานาชาติ (International Bridge) เชื่อมโยงแม่สอด-เมียวดี (ไทย-พม่า) และเป็นการเพิ่มความสะดวกในการขนส่งสินค้าข้ามแดนและพิธีการต่างๆทางศุลกากร ลดปัญหาการจราจรผ่านเมือง ที่เคยใช้สะพานมิตรภาพไทย-พม่า แห่งที่ 1 โดยเขาจะเสนอเรื่องนี้ต่อรัฐบาลอีกแนวทางหนึ่ง

ผู้ว่าฯตาก ย้ำว่า ปัจจุบันการค้าชายแดนไทย-พม่า ผ่านด่านแม่สอด-เมียวดี (อ.แม่สอด จ.ตาก กับเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนเมียวดี) มีมูลค่าส่งออกในปี 2551 ที่ผ่านมา มากกว่า 17,000 ล้านบาท สะพานมิตรภาพฯแห่งแรก ได้ใช้มาหลายปีและชำรุด บางครั้งสินค้าที่บรรทุกน้ำหนักมากไม่สามารถผ่านได้ ต้องมีการถ่ายสินค้า ทำให้เสียเวลาและค่าใช้จ่าย ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องสร้างสะพานมิตรภาพฯแห่งที่ 2 ที่มีมาตรฐาน และประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น
แม่สอด ประตูการค้าของภาคเหนือที่สำคัญ แต่ละปีมีมูลค่าการค้าชายแดนจำนวนมหาศาล
นอกจากนี้ยังมีโครงการขนาดใหญ่ที่ฝ่ายปกครองกำลังจะพัฒนาคือการสร้างถนน 4 เลน ตาก-แม่สอด , การขยายสนามบินแม่สอดเป็นสนามบินนานาชาติยุทธศาสตร์ระบบลอจิสติกส์เพื่อเป็นนครศูนย์กลางชายแดนตะวันตก-ตะวันออก ฯลฯ

ขณะเดียวกันด้วยความที่ อ.แม่สอด จ.ตาก เป็นเมืองลักษณะพิเศษชายแดนไทย-พม่า ที่มีการค้าชายแดนตัวเลขส่งออกนำเข้าสินค้ามากกว่าเดือนละ 1,500-1,700 ล้านบาท อีกทั้งยังเป็นเมืองที่มีความเป็นพิเศษหลากหลาย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ภายใต้การนำของนาย เทอดเกียรติ ชินสรนันท์ นายกเทศมนตรีเมืองแม่สอด ได้ชูธงผลักดันเทศบาลเมืองแม่สอด-เทศบาลตำบลท่าสายลวดและองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)แม่ปะ เพื่อเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองให้สอดคล้องกับความเป็นจริงในพื้นที่ คือการยกฐานะแม่สอดเป็นเขตปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ “นครแม่สอด” และล่าสุดเกิดเป็นรูปธรรมแล้ว

คณะกรรมาธิการปกครองสภาผู้แทนราษฎร ได้เชิญนายเทอดเกียรติ ชินสรนันท์ หรือนายกฝอ นายกเทศมนตรีเมืองแม่สอด เข้าร่วมประชุมและให้ข้อมูลของเมืองต่างๆที่มีความสำคัญและเหมาะสมที่จะยกฐานะเป็นการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ และเทศบาลเมืองแม่สอด เป็นหนึ่งในท้องถิ่นไม่กี่แห่งที่จะเป็นเมืองนำร่อง ท้องถิ่นพิเศษ ตามนโยบายรัฐบาลแล้วเมื่อต้นเดือนเมษายน 2552 ที่ผ่านมา

นายกเทศมนตรีเมืองแม่สอด อ.แม่สอด จ.ตาก พร้อมคณะผู้บริหารและสมาชิกสภาเทศบาล ที่เข้าประชุมชี้แจงต่อการขอยกฐานะเทศบาลเมืองแม่สอดเป็นเขตปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ “นครแม่สอด” ต่อนาย วิรัช ร่มเย็น ประธานคณะกรรมาธิการการปกครองส่วนท้องถิ่น สภาผู้แทนราษฎร และนายถวิล ไพรสณฑ์ ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการฯ และคณะกรรมาธิการ ล่าสุด ที่ห้องประชุมคณะกรรมาธิการปกครองส่วนท้องถิ่นสภาผู้แทนราษฎร รัฐสภา

เบื้องต้นที่ประชุมคณะกรรมาธิการจะได้นำเสนอ เข้าสู่ ร่าง พ.ร.บ.นครแม่สอด ต่อไป โดยตอนแรกนั้นจะใช้คำว่าเขต ปค.ท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ เมืองแม่สอด แต่ที่ประชุมเห็นควรให้ใช้คำว่า “นครแม่สอด” เพราะเห็นว่าเป็นเมืองใหญ่อยู่ในระดับนคร

นายวิรัช ร่มเย็น ประธานคณะกรรมาธิการการปกครองส่วนท้องถิ่น สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ยอมรับว่าผู้บริหารเทศบาลเมืองแม่สอด ได้ทำงานด้านนี้ก้าวหน้าไปมาก และตนเองเห็นด้วยที่จะให้แม่สอด ซึ่งเป็นเมืองที่มีความพร้อมในการยกฐานะเป็นท้องถิ่นพิเศษ “นครแม่สอด” โดยจะต้องมีการประชุมกันอีกหลายครั้ง ซึ่งจะให้ทางนายถวิล ไพรสณฑ์ ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการปกครองส่วนท้องถิ่น ส.ส. ได้ร่างกฎหมาย พ.ร.บ.นครแม่สอด ก่อนที่จะนำเสนอให้กรรมาธิการเพื่อนำข้อมูลเสนอต่อที่ประชุม ส.ส.ต่อไป

ขณะนี้เทศบาลเมืองแม่สอดเป็นท้องถิ่นที่ดูจากรายงาน-ศึกษาข้อมูลและเอกสารที่ได้รับมานั้น มีความเป็นไปได้สูงที่จะเป็นท้องถิ่นนำร่องขึ้นฐานะเป็นท้องถิ่นพิเศษ ที่มีพื้นที่ติดต่อกับชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน(ชายแดนไทย-พม่า)

รายงานข่าวแจ้งว่าที่ประชุมชี้แจงคณะกรรมาธิการปกครองส่วนท้องถิ่น ได้สอบถามถึงความเห็นของประชาชนโดยภาพรวมทั้งหมดว่าเห็นด้วยกับการยกฐานะแม่สอดเป็นท้องถิ่นพิเศษมหานครแม่สอดมากน้อยแค่ไหน ซึ่งผู้บริหารเทศบาลเมืองแม่สอด ได้นำข้อมูลเชิงลึกพร้อมเอกสารชี้แจงว่าประชาชนร้อยละ 84-85 % เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงเทศบาลเมืองแม่สอดเป็นเขตปกครองพิเศษ “นครแม่สอด”

คณะกรรมาธิการฯ ยังเห็นว่าการยกฐานะเขตปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ “นครแม่สอด” ยังสอดคล้องกับการพัฒนาเมืองแม่สอด ในด้านต่างๆทั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน-เขตนิคมอุตสาหกรรม-เขตพัฒนาการค้าชายแดนที่ติดต่อกับจังหวัดเมียวดีประเทศพม่า ที่มีการยกระดับฐานเมืองเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนเมียวดีไปแล้ว การยกฐานะนครแม่สอดจึงเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้การติดต่อเจรจาทั้งการค้า-ธุรกิจ-การพัฒนา ระหว่างผู้นำท้องถิ่นของทั้ง 2ประเทศ

นายถวิล ไพรสณฑ์ ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการปกครองส่วนท้องถิ่น สภาผู้แทนราษฎร ส.ส.กรุงเทพฯ เขต 10 พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตนเองและ ส.ส.ตาก จะร่วมกันเสนอร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเขตปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ”นครแม่สอด” พ.ศ.................ให้แก่พรรคเพื่อนำเสนอสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในการประชุมครั้งหน้าราวเดือนกันยายน 2552 เพราะจากการศึกษาข้อมูลเบื้องต้นแล้ว เป็นไปตามรัฐธรรมนูญทุกประการ สำหรับร่าง พ.ร.บ.จะต้องสร้างรายได้ให้นครแม่สอด เช่น ภาษีด่านศุลกากร-ภาษีจากทรัพยากรธรรมชาติ ต้องเป็นรายได้ของท้องถิ่นพิเศษ รายได้ของท้องถิ่นพิเศษจะต้องมีที่มาชัดเจนเพื่อนำรายได้จากภาษีมาพัฒนาท้องถิ่นพิเศษนครแม่สอด ให้มากที่สุด

“จากสภาพพื้นที่ ท้องถิ่นแม่สอด กว่า 236 ตารางกิโลเมตรเป็นพื้นที่กว้าง ดังนั้นจะต้องจัดรูปการบริหาร 2 ชั้น มีสภานครและสภาเขต โดยหลังจากร่าง พ.ร.บ.นครแม่สอด แล้ว นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ ส.ส.ตาก และตนเองจะร่วมกันเสนอให้พรรคและสภาผู้แทนราษฎรต่อไป”

รายงานข่าวแจ้งว่า การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองเทศบาลเมืองแม่สอด หากประสบผลสำเร็จ ก็ยังมีโอกาสยกฐานะขึ้นเป็นจังหวัดแม่สอด ด้วยศักยภาพของเมืองดังที่กล่าวมา
กำลังโหลดความคิดเห็น