xs
xsm
sm
md
lg

ชำเลืองชม"ต้นกล้าอาชีพ"ญี่ปุ่น ฝึกคนงานรถยนต์ไปดูแลคนชรา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รอยเตอร์ - การเปลี่ยนกางเกงให้ผู้สูงอายุที่มีปัญหากลั้นปัสสาวะไม่อยู่ นับเป็นงานท้าทายอย่างแรกสำหรับนาโอยา คาโดฮารา อดีตช่างซ่อมแอร์ ซึ่งเปลี่ยนมาทำงานเป็นผู้ดูแลคนสูงอายุเมื่อหลายปีก่อน
"แรกๆ ก็ยากหน่อย ผมไม่รู้จักคำศัพท์ต่างๆ ที่เขาใช้กัน ตอนที่เขาบอกผมให้ช่วยเปลี่ยน "แพมเพอร์ส" ผมไม่รู้เลยว่าต้องทำยังไง" คาโดฮาราเล่า
คงจะมีคนตกงานชาวญี่ปุ่นอีกมากทีเดียว ที่จะต้องเผชิญเรื่องช็อกทำนองเดียวกันนี้ หากรัฐบาลประสบความสำเร็จในการสับเปลี่ยนโยกย้ายคนตกงานในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกขณะ ไปเติมช่องว่างในตลาดแรงงานผู้ดูแลคนชราซึ่งกำลังขาดแคลนอย่างหนัก
หน่วยงานภาคอุตสาหกรรมแห่งหนึ่งคาดการณ์ว่าคนงานประเภทงานเหมาที่ถือเป็นคนงานชั่วคราว ในราว 400,000 รายทีเดียวจะถูกปลดออกจากงานภายในหกเดือนหลังของปีการเงินที่สิ้นสุด 31 มีนาคม 2009 โดยภาคอุตสาหกรรมการผลิตได้รับผลกระทบหนักที่สุดเนื่องจากยอดการส่งออกไปยังตลาดโลกทรุดดิ่งลงมาก
ทว่าในขณะเดียวกัน ญี่ปุ่นก็เป็นประเทศที่กำลังมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นในอัตรารวดเร็วที่สุดในโลก ทำให้ภาคธุรกิจดูแลคนชราต้องการกำลังคนเพิ่มมากขึ้นกว่า 120,000 คนในช่วงสองปีข้างหน้า
แต่การสอนคนงานอุตสาหกรรมรถยนต์และผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตสาขาต่างๆ ให้เป็นผู้ดูแลคนชราก็ไม่ง่ายอย่างที่คิด แม้ว่านายกรัฐมนตรีทาโร อาโซะ จะประกาศให้เงินถึง 2 ล้านล้านเยนช่วยลดปัญหาการว่างงานลง โดยจัดสรรเงินส่วนใหญ่ให้กับรัฐบาลท้องถิ่นเพื่อสนับสนุนการฝึกอาชีพดูแลคนชราให้กับผู้ว่างงาน
"มันให้ผลต่อเนื่องกันได้โดยตรงเลย หากคุณสามารถนำเอาทั้งสองข้างเข้ามาอยู่ในสมการเดียวกันได้ นั่นคือ จำนวนคนตกงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิต กับความต้องการแรงงานในภาคการดูแลสุขภาพ" มาร์ติน ชูลซ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของสถาบันวิจัยฟูจิตสึแห่งโตเกียวบอก "ปัญหาก็คือทั้งสองข้างไปด้วยกันไม่ได้เอาเลย"
เขายังกล่าวอีกว่า ในยุโรปก็เคยมีการพยายามโยกย้ายแรงงานจากภาคธุรกิจหนึ่งไปสู่อีกภาคหนึ่งในลักษณะเดียวกันนี้เช่นกัน แต่ปรากฏว่าแทบไม่ประสบความสำเร็จ
ทั้งนี้ ธุรกิจดูแลคนชราในโตเกียวนั้นกำลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก โดยผู้สมัครงานคนหนึ่งมีโอกาสเลือกงานได้ถึง 3.24 ตำแหน่ง ดังนั้นรัฐบาลท้องถิ่นของโตเกียวจึงจัดทำโครงการใหม่ขึ้นมา คือ โครงการฝึกอบรมผู้ดูแลคนชราขั้นพื้นฐาน ซึ่งมีการจ่ายค่าตอบแทนให้กับผู้เข้าร่วมโครงการ และยังให้กู้ยืมเงินแบบปลอดดอกเบี้ยแก่ผู้ที่ต้องการเปลี่ยนมาทำงานในสายอาชีพนี้ เพื่อช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนอาชีพ เช่น การย้ายที่อยู่ และเสื้อผ้าด้วย
คาโดฮารา ช่างซ่อมแอร์ ก็เป็นหนึ่งในผู้สมัครที่ต้องการเปลี่ยนงานและขอคำแนะนำด้านอาชีพจากศูนย์อาชีพผู้ดูแลคนชราที่ว่านี้เช่นกัน

**ต้องมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น**

ผู้ที่อยู่ในภาคธุรกิจดูแลคนชราในญี่ปุ่นหลายๆ คนบอกว่า การฝึกเรื่องเทคนิคการดูแลคนชราจากโครงการเหล่านี้ อาจไม่ได้ทำให้ผู้ที่เคยชินกับการทำงานในโรงงานเกิดมีคุณสมบัติทางด้านภาวะอารมณ์ ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว คุณสมบัติเช่นนี้ต่างหากเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการทำงานกับผู้สูงอายุที่ดูแลตัวเองไม่ได้
"มันไม่ใช่เรื่องยากเย็น แต่ถ้าคุณไม่รู้สึกเห็นอกเห็นใจคนชรา การจะทำงานนี้ได้นานก็คงเป็นเรื่องยาก" ทากาโกะ ฟูรูโน วัย 26 ปี บอก "คนชราเขาจะรู้ว่าคุณไม่ได้เห็นอกเห็นใจเขา" เธออธิบายหลังจากที่ช่วยดูแลกลุ่มคนชรากลุ่มหนึ่งรับประทานของว่างและกาแฟยามบ่ายแล้ว
ฟูรูโนทำงานในอาชีพผู้ดูแลอยู่บ้านพักคนชราในโตเกียวมาได้ห้าปีแล้ว และเธอตั้งใจจะประกอบอาชีพนี้มาตั้งแต่ครั้งวัยรุ่นเลยทีเดียว
ยิ่งกว่านั้น ความแตกต่างกันของอายุขัยเฉลี่ย ก็ยังทำให้ผู้ที่อยู่ในบ้านพักคนชราส่วนใหญ่ของญี่ปุ่นเป็นผู้หญิง และคนชราเหล่านี้ก็ต้องการผู้ดูแลเพศเดียวกันมากกว่า จึงทำให้หนุ่มโรงงานทั้งหลายมีโอกาสได้งานส่วนนี้น้อยลงไปอีก
ส่วนพวกสหภาพแรงงานก็ไม่กระตือรือร้นหรือสนใจงานลักษณะนี้สักเท่าไร
"เหตุผลที่คนจำนวนมากเข้าไปทำงานด้านดูแลคนชราได้พักหนึ่งแล้วก็ต้องลาออกมา เป็นเพราะสภาพการทำงานแย่มากๆ" มาโกโตะ คาวาโซเอะ จากสหภาพแรงงานเซเนนบอก "ค่าตอบแทนต่ำมาก แต่งานหนักสุดๆ"
ทั้งนี้ค่าแรงของผู้ดูแลตามบ้านพักคนชราโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ราวเดือนละ 190,000 เยน เปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยรายได้ของแรงงานในทุกภาคธุรกิจที่ราวเดือนละ 300,000 เยน รัฐบาลจึงมีแผนการที่จะเพิ่มอัตราค่าจ้างของผู้ดูแลคนชราขึ้นอีก 3 เปอร์เซ็นต์ แต่กระนั้นก็ยังไม่สามารถดึงดูดให้คนหันไปสนใจประกอบอาชีพนี้เพิ่มมากนัก
"ดิฉันเป็นผู้หญิงโสดจึงพอดูแลตัวเองได้ด้วยรายได้เท่านี้" ฟูรูโนบอก "แต่คิดว่าผู้ชายที่จะต้องดูแลครอบครัวคงลำบากมากทีเดียว"
อันที่จริง พวกคนงานจ้างเหมาชั่วคราว ที่ถูกปลดจากภาคอุตสาหกรรมการผลิตนั้น มีแนวโน้มที่จะได้งานระดับเดียวกับงานเดิมของพวกเขาในตลาดแรงงานผู้ดูแลคนชรา โดยหากโชคดีพวกเขาก็จะได้งานถาวรและได้รับค่าจ้างในอัตราเหมาะสม ซึ่งจะทำให้พวกเขาทำงานได้นานขึ้น แต่คนงานส่วนที่ทำงานแบบไม่ประจำซึ่งมีราว 60 เปอร์เซ็นต์นั้นเป็นกลุ่มที่ได้รับค่าจ้างต่ำกว่ามาก
"คงจะดีกว่า ถ้าทุกคนได้ทำงานประจำ แต่เราไม่สามารถจะทำให้เป้าหมายสอดคล้องกับวิธีการเสียที" คาซุโอมิ ชิมะ หัวหน้าหน่วยสวัสดิการสังคมอิเคกามิ โชจุเอ็น ซึ่งบริหารศูนย์ดูแลคนชราหลายแห่งในโตเกียวกล่าว
นอกจากนั้น ในระดับย่อยลงไปอีก ญี่ปุ่นยังพยายามกระตุ้นผู้ตกงานให้หันไปหางานในภาคเกษตรกรรม ประมง และป่าไม้กันมากขึ้น เนื่องจากเป็นภาคที่แรงงานส่วนใหญ่มีแนวโน้มเป็นผู้สูงวัยมากขึ้น จึงเป็นอุปสรรคที่ทำให้รัฐบาลไม่สามารถเพิ่มปริมาณของอาหารที่ผลิตภายในประเทศได้ตามที่วางไว้
แต่สื่อมวลชนญี่ปุ่นก็รายงานว่าพบปัญหาแบบเดียวกับงานอาชีพผู้ดูแลคือ มีผู้สนใจงานสาขานี้น้อยและมีอัตราการลาออกสูง
ชูลซ์บอกว่าที่จริงแล้วยังพอมีช่องทางที่จะการฝึกคนงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิต ให้ไปอยู่ในภาคอย่างเช่น ลอจิสติกส์ และธุรกิจเช่าซื้ออุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งน่าจะสอดคล้องกับความเป็นจริงมากกว่า
เขาบอกอีกว่า "ถ้าหากคุณพยายามผลักคนหนุ่มสาวในเมืองออกไปสู่ชนบทกันหมด ก็ถือเป็นเรื่องที่แย่พอๆ กับการโยนคนงานโรงงานที่กำลังโกรธเกรี้ยวไปอยู่ข้างเตียงคนแก่นั่นแหละ มันไม่ได้ผลหรอก"
กำลังโหลดความคิดเห็น