xs
xsm
sm
md
lg

รื้อโครงสร้างภาษีจากซานติกาถึงชา-กาแฟ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หลังจากที่เกิดกรณีไฟไหม้ซานติก้าผับจนเกิดการถกเถียงในสังคมว่าควรเก็บภาษีจากสถานบันเทิงแห่งนี้หรือไม่ ซึ่ง ณ วันนี้กรณีดังกล่าวกำลังอยู่ระหว่างการตัดสินใจของ นพ.พฤฒิชัย ดำรงรัตน์ รมช.คลัง หลังจากที่คณะกรรมการชุดนายสถิตย์ ลิ่มพงษ์พันธุ์ รองปลัดกระทรวงการคลัง ได้ดำเนินการสอบสวนเสร็จสิ้นแล้วและส่งผลการสอบสวนให้นพ.พฤฒิชัยพิจารณาก่อนที่นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลังจะเป็นผู้ตัดสินใจขั้นสุดท้าย
และหลังจากเรื่องนี้ไม่นานนักก็มีการเปิดประเด็นใหม่ขึ้นมาโดยรมช.คลังผู้นี้ที่มีแนวคิดจะจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากเครื่องดื่มประเภทชา กาแฟ และเครื่องดื่มบำรุงกำลังสำเร็จรูปที่ถือว่าเป็นสินค้าประเภททำลายสุขภาพ จนทำให้เกิดความปั่นป่วนขึ้นอีกครั้งทั้งจากเกษตรกรชาวไร่ชา กาแฟที่หวั่นวิตกว่าจะได้รับผลกระทบรวมทั้งบรรดาผู้ประกอบการซึ่งแน่นอนว่าไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับมาตรการนี้
ซึ่งความสับสนต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ต้นปีนั้น นพ.พฤฒิชัย ได้พูดคุยเปิดอกกับ "ASTVผู้จัดการรายวัน" ให้ทราบถึงที่มาที่ไปที่จะมีการจัดเก็บภาษีจากทั้งสถานบริการและเครื่องดื่ม ชา กาแฟ สำเร็จรูปว่าแนวคิดดังกล่าวเกิดขึ้นได้อย่างไรและจะส่งผลอย่างไรบ้างตามรายละเอียดดังต่อไปนี้

**อธิบายแนวคิดการจัดเก็บภาษีที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในขณะนี้?**
เรื่องภาษีสรรพสามิตที่ผมเป็นผู้ดูแลนี้ได้ดูว่ามีส่วนไหนที่มีความจำเป็นต้องจัดเก็บเพิ่มเติมบ้างเพราะที่ผ่านมาการทำงานมันมีหลายมาตรฐานที่บางครั้งจะอ้างในเรื่องหลักการในการจัดเก็บแล้วในที่สุดก็เกิดปัญหาหลายมาตรฐานขึ้นมา อีกทั้งต้องดูการบังคับใช้กฎหมายทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกหรือไม่จึงน่าจะต้องมีการสังคายนาระบบการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตใหม่อีกครั้งเพื่อให้เป็นธรรมกับทุกฝ่าย
ซึ่งสิ่งที่เป็นอยู่ในขณะนี้สินค้าแต่ละประเภท แต่ละยี่ห้อมีการจัดเก็บไม่เหมือนกันเกิดความลักลั่นในการจัดเก็บขึ้นมาและบางครั้งสินค้าที่ออกจำหน่ายคนละช่วงเวลาก็จะใช้หลักการในการจัดเก็บที่ไม่เหมือนกัน โดยในเดือนหน้าคณะทำงานของรองปลัดกระทรวงการคลัง(นส.สุภา ปิยจิตติ) จะออกมาแล้วจะได้หารือกับคุณกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลังว่าจะดำเนินการในเรื่องนี้อย่างไรต่อไป

**ภาษีชา กาแฟ ที่จะจัดเก็บจะมีปัญหาหรือไม่?**
เรื่องที่เกษตรกรออกมาร้องเรียนนั้นอาจเป็นการสื่อสารออกไปที่ผิดพลาด เพราะหลักการที่สั่งให้ศึกษาคือการจัดเก็บภาษีจากเครื่องดื่มชา กาแฟ สำเร็จรูปซึ่งจะไม่มีผลกระทบต่อเกษตรกรที่ปลูกชา กาแฟแต่อย่างใด ซึ่งเรื่องนี้ได้ทำความเข้าใจกับเกษตรกรที่มาร้องเรียนเป็นที่เรียบร้อยแล้วและแนวนโยบายก็จะเก็บภาษีเฉพาะพร้อมดื่มเท่านั้นซึ่งถือเป็นเครื่องดื่มทางเลือก โดยประเด็นที่จะมีการจัดเก็บนั้นก็ไม่ได้เกิดจากการรังเกียจชากาแฟแต่อย่างใด เพียงแค่ต้องการทำให้ทุกอย่างเข้าสู่ระบบอย่างถูกต้อง หากสามารถดำเนินการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตทั้งระบบได้ก็จะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 3 หมื่นล้านบาทสามารถชดเชยรายได้ที่รัฐสูญเสียไปอันเกิดจากผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจได้

**ภาษีสถานบันเทิงจะมีข้อสรุปอย่างไร? **
สำหรับสถานบริการนั้นปัญหาในเรื่องการจัดเก็บภาษีอาจอยู่ 2 ประเด็นหลักคือกฎหมายระบุว่าต้องเป็นดิสโก้เทค ไนท์คลับ ประเภทที่มีฟลอร์สำหรับเต้นรำเป็นการเฉพาะ แต่ความเป็นจริงในปัจจุบันสถานบันเทิงที่เปิดให้เต้นรำไม่จำเป็นต้องมีฟลอร์เต้นรำสามารถเต้นรำได้ที่โต๊ะและไม่ใช้คำว่า ดิสโก้เทค ไนท์คลับแล้ว เป็นผับ เป็นบาร์ซึ่งการเปลี่ยนชื่อในรูปแบบนี้มีพัฒนาการที่เปลี่ยนไปจะต้องทำให้กฎหมายมีความทันสมัยทันต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
และอีกประเด็นคือเรื่องของการจัดเก็บที่ระบุว่าให้เจ้าหน้าที่ของกรมจัดเก็บภาษีโดยใช้ดุลยพินิจ เมื่อสถานที่เที่ยวและรูปแบบของสถานบริการเปลี่ยนไปการตีความของเจ้าหน้าที่กรมสรรพสามิตจึงเห็นว่าไม่ใช่สถานบริการที่เข้าข่ายเสียภาษี ซึ่งเรื่องดุลยพินิจจะต้องมีมาตรฐานที่ชัดเจนและอาจไม่จำเป็นที่จะต้องไปแก้กฎหมายก็ได้ ส่วนเรื่องของซานติก้าผับนั้นผลการสอบสวนจากรองปลัดกระทรวงการคลัง(นายสถิตย์ ลิ่มพงษ์พันธุ์) ฉบับสมบูรณ์เสร็จสิ้นก็คงจะรู้ผลเร็วๆ นี้ว่าจะเก็บหรือไม่เก็บภาษี

**มองว่ายังมีสินค้าบริการใดที่ต้องจัดเก็บเพิ่มเติม?**
ตอนนี้ให้เจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบดูว่าในรอบ 5 ปี 10 ปี ตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 มีภาษีตัวใดบ้างที่เคยจัดเก็บแล้วลดหย่อนให้ในช่วงเกิดวิกฤตเพื่อบรรเทาภาระของผู้ประกอบการและยังไม่กลับไปจัดเก็บอีกหรือยังไม่จัดเก็บในอัตราเดิมจะมองดูความเหมาะสมในการจัดเก็บส่วนนี้ประกอบ ซึ่งต้องไปดูว่าเหตุผลอะไรที่ลดภาษีประเภทนั้นๆ ในช่วงเวลาดังกล่าวและในปัจจุบันมีความจำเป็นที่จะต้องลดภาษีประเภทนั้นอยู่อีกหรือไม่
ส่วนใหญ่ที่มอบนโยบายไปจะให้ในเชิงหลักการเพื่อศึกษาความเป็นไปได้และความเหมาะสมและตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษารายละเอียดทั้งหมดก่อนหาข้อสรุปและดำเนินการโดยให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ไม่มีฝ่ายใดได้เปรียบหรือเสียเปรียบ

**การปรับปรุงโครงสร้างภาษีครั้งนี้จะสร้างความเป็นธรรมเพียงใด?**
ที่เคยพูดอยู่เสมอว่าการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตนั้นเพื่อต้องการให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบทั้งหมด เป็นการขยายฐานผู้ประกอบการ สร้างความตระหนักให้ประชาชนทราบถึงความสูญเสียของรัฐที่จะนำเงินภาษีมาพัฒนาประเทศ ซึ่งการนำผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบภาษีอย่างถูกต้องนั้นทางกรมสรรพสามิตก็จำเป็นต้องคุ้มครองผู้ประกอบการเหล่านี้ที่อาจสูญเสียโอกาสจากสินค้าเถื่อนหรือสินค้าหนีภาษีไปพร้อมๆ กันด้วย
ซึ่งในปีงบประมาณ 2553 รัฐบาลได้เพิ่มงบประมาณเข้าไปในเรื่องของการปราบปรามให้มากขึ้นเพื่อรณรงค์ให้ประชาชนหันมาใช้สินค้าที่เสียภาษีถูกต้องตามกฎหมาย เพราะเมื่อเราจะเก็บภาษีจากผู้ประกอบการก็ต้องทำให้เขาอยู่รอดและไม่สูญเสียผลประโยชน์ด้วย ตามหลักการที่ให้นโยบายไว้คือผู้ที่เสียภาษีให้กับรัฐบาลอย่างถูกต้องตามกฎหมายจะได้รับความคุ้มครองที่เป็นธรรมจากรัฐบาลด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น