xs
xsm
sm
md
lg

ฝรั่งเศส-เยอรมนียืนยันซัมมิตG20 ต้องสร้างระเบียบการเงินโลกใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี - ฝรั่งเศสและเยอรมนีประกาศยืนยันในคืนวันพุธ (2)ว่า จะร่วมมือกันกดดันให้เกิดระเบียบทางการเงินใหม่ทั่วโลก โดยถือเป็นเรื่องที่ "ต่อรองไม่ได้" ณ การประชุมสุดยอดจี 20 กรุงลอนดอน ซึ่งกำลังอึมครึมด้วยความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับยุโรป จากการมีความเห็นต่างกันในเรื่องวิธีการแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลก
ประธานาธิบดีนิโกลาส์ ซาร์โกซีแห่งฝรั่งเศสและแองเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีแห่งเยอรมนี ได้เน้นย้ำถึงความเห็นที่สอดคล้องกันของทั้งสองฝ่าย ระหว่างการแถลงข่าวร่วมกันก่อนหน้าที่การประชุมผู้นำ จี 20 จะมีขึ้นตามกำหนดการเมื่อวานนี้ (2)
"หากปราศจากการวางระเบียบการเงินใหม่ก็จะไม่มีความเชื่อมั่นเกิดขึ้น และหากปราศจากความเชื่อมั่นเราก็ไม่มีทางฟื้นฟูเศรษฐกิจขึ้นมาได้ นี่เป็นเป้าหมายหลัก ซึ่งจะต่อรองไม่ได้" ซาร์โกซีบอก แต่คราวนี้เขาไม่ได้ย้ำคำขู่ว่าจะวอล์กเอาท์จากที่ประชุมอีก
ส่วนแมร์เคิลก็กล่าวว่า ในขณะที่ผู้นำทั้งหลายพยายามหาทางยุติข้อขัดแย้งในเรื่องวิธีรับมือกับวิกฤตการณ์เศรษฐกิจโลกกันอยู่ แต่มหาอำนาจของโลกก็ไม่สามารถรอเวลาจนกระทั่งถึงการประชุมคราวต่อไป จึงจะลงมือดำเนินการวางระเบียบกฎเกณฑ์ทางการเงินของโลกฉบับใหม่ได้
"สิ่งสำคัญตอนนี้ก็คือเราจะต้องวางโครงสร้างใหม่ให้กับระบบการเงินโลก" เธอบอกและเสริมว่า "เราจะต้องไม่ยินยอมให้มีเพียงแค่การพูดแบบคลุมๆ เท่านั้น " ซึ่งเธอหมายถึงสิ่งที่จะบรรจุไว้ในแถลงการณ์สรุปสุดท้ายของพวกผู้นำในการประชุมสุดยอดครั้งนี้
ทั้งนี้ ในขณะที่ฝรั่งเศสและเยอรมนีกำลังผลักดันให้มีการวางระเบียบการเงินโลกใหม่ แต่ฟากของสหรัฐฯ กับประเทศผู้นำทางเศรษฐกิจอื่นๆ กลับอยากให้ที่ประชุมจี 20 วางกรอบแนวทางสำหรับการปฏิรูปในระดับประเทศมากกว่า
อย่างไรก็ตาม ซาร์โกซีบอกว่าเยอรมนีและฝรั่งเศสไม่ได้กำหนด "เส้นตาย" เด็ดขาดมาบังคับผู้นำทั้งหลาย และได้เรียกร้องให้ดำเนินการแก้ปัญหาพวกดินแดนที่กลายเป็นแหล่งหลบภาษี รวมทั้งให้เพิ่มการกำกับดูแลกองทุนเฮดจ์ฟันด์ให้เข้มงวดขึ้น
"ผู้นำทั้ง 20 ประเทศจะต้องบอกกล่าวกับทั่วโลกว่า พวกเขาพร้อมจะหยุดแหล่งหลบภาษีเหล่านั้นหรือไม่ หรือว่าจะยังคงไว้ต่อไป" ซาร์โกซีกล่าว
"แน่นอนว่ารายชื่อสถานที่พวกนี้เรามีกันอยู่แล้ว แต่สิ่งที่จะต้องเจรจากันก็คือว่าจะเผยแพร่รายชื่อดังกล่าวทันทีหรือว่ารออีกสองสามวัน นอกจากนั้นเรายังต้องการให้มีการขึ้นทะเบียนและกำกับดูแลเฮดจ์ฟันด์ด้วย หลักการก็คือ ต้องไม่มีสถาบันการเงินใดๆ ดำเนินการโดยไม่มีการกำกับดูแล"
ส่วนแมร์เคิลเรียกร้องให้จัดทำมาตรฐานระบบบัญชีระหว่างประเทศเสียใหม่และกำหนดกรอบเค้าโครงสำหรับการรับเงินในภาคธุรกิจการเงิน และยุติระบบการจ่ายโบนัสที่กลายเป็นการตอบแทนให้การดำเนินงานที่มีความสุ่มเสี่ยง
"เราต้องไม่ลืมว่าเราเจอกับวิกฤตการณ์ครั้งนี้ได้อย่างไร" เธอบอก
ซาร์โกซียังปฏิเสธเสียงวิจารณ์จากนายกรัฐมนตรีทาโร อาโซะ แห่งญี่ปุ่นเมื่อเร็วๆ นี้ที่ว่าเยอรมนีและฝรั่งเศสแทบไม่ได้ทำอะไรในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจครั้งนี้ แต่ซาร์โกซี "แสดงความมั่นใจ" ว่าประธานาธิบดีบารัค โอบามาซึ่งเพิ่งเข้าร่วมการประชุมกับผู้นำโลกเป็นครั้งแรก จะเข้ามาร่วมมือในการสร้างกรอบเค้าโครงด้านระเบียบทางการเงินให้เข้มแข็งขึ้นเพื่อรองรับการดำเนินธุรกิจทั่วโลก
"ผมมั่นใจว่าเขาจะช่วยเรา และผมเชื่อว่าเขาเข้าใจเราดี" ซาร์โกซีกล่าวและว่า "แต่ถ้ารอให้ถึงวันมะรืนก็จะช้าไปเสียแล้ว กำหนดเวลาที่จะต้องตัดสินใจเรื่องนี้คือวันนี้และวันพรุ่งนี้"
ส่วนแมร์เคิลก็ส่งสัญญาณให้การสนับสนุนการเพิ่มเงินให้กับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เพื่อนำไปช่วยเหลือประเทศยากจนที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย
เธอบอกว่า "วิกฤตการณ์ครั้งนี้ทำให้คนตกเป็นเหยื่อมากมาย ทั้งๆ ที่พวกเขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเลย ดังนั้นเราจึงต้องมั่นใจว่าจะมีแผนกระตุ้นเศรษฐกิจสำหรับคนที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาด้วยตัวเองได้"
กำลังโหลดความคิดเห็น