xs
xsm
sm
md
lg

ประพันธ์อัดตร.ตั้งข้อกล่าวหาเท็จ ลั่นต้องฟ้องเรียกความยุติธรรมคืน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

--ประเด็นที่ตำรวจได้กล่าวหาพันธมิตรทั้ง 21 คน ข้อกล่าวหาหรือข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ในวันที่พันธมิตรไปชุมนุมหน้ารัฐสภา
ข้อกล่าวหาที่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจกล่าวหาพันธมิตรฯมีอยู่ 3 ข้อ ซึ่งข้อที่ 1 เป็นไปตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 116 โดยอ้างว่าพันธมิตรฯแสดงความคิดเห็น หรือแสดงข้อความให้ปรากฏต่อประชาชนโดยมิได้เป็นไปในตามความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ ไม่เป็นไปตามการแสดงสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ โดยมีความมุ่งหมายที่จะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงกฏหมายในบ้านเมือง เปลี่ยนแปลงการปกครองในรัฐบาล ข้อหาที่ 2 กล่าวหาว่า พันธมิตรฯ มั่วสุมชุมนุมกันเกินกว่า 10 คนขึ้นไป โดยมุ่งหมายที่จะให้เกิดจลาจล วุ่นวาย ในบ้านเมือง และข้อหาที่ 3 ว่าพันธมิตรฯ กักขังหน่วงเหนี่ยวผู้อื่นให้ปราศจากเสรีภาพ ซึ่งทั้ง 3 ข้อกล่าวหา เป็นความเท็จทั้งสิ้น และตามข้อเท็จจริงที่ทางตำรวจยกมาเป็นข้อกล่าวหาพันธมิตรฯ แทบไม่มีพฤติกรรมแสดงออกเลยว่า การชุมนุมมันเป็นการชุมนุมที่ไม่อยู่ภายใต้ความมุ่งหมายตามรัฐธรรมนูญอย่างไร เพราะการชุมนุมของประชาชนที่วิพากษ์วิจารณ์การบริหารราชการของแผ่นดิน คัดค้านนายกรัฐมนตรี ที่มาโดยความไม่ชอบ และกระทำผิดกฏหมายรัฐธรรมนูญ หรือคัดค้านรัฐบาลที่มุ่งจะแก้กฏหมายเพื่อฟอกความผิดให้กับระบอบทักษิณ หรือทักษิณ คัดค้านการที่รัฐบาลไปลงนามแถลงการณ์ร่วม ทั้งหลายทั้งปวงที่ก่อให้เกิดความเสียหายของประเทศ คัดค้านการที่รัฐบาลทักษิณพยายามจะล้มล้างขบวนการยุติธรรม ในคดีที่ตนเองเกี่ยวข้อง และรัฐบาลก็สนับสนุนอยู่ด้วย เห็นได้ชัดคือ การเข้าไปแทรกแซงปลด นายสุนัย มโนมัยอุดม อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นการติดสินบนเจ้าหน้าที่ศาล ซึ่งการชุมนุมที่ผ่านมาเป็นการแสดงออกในสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ไม่ได้เป็นการกระทำโดยผิดกฏหมาย หรือเพื่อมุ่งหมายที่จะใช้กำลังที่จะเปลี่ยนแปลงรัฐบาลและยึดอำนาจรัฐมาเป็นของตัวเอง ฉะนั้นข้อกล่าวหาตามมาตราที่กล่าวหา มันไม่ใช่องค์ประกอบ การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลไม่ได้เกิดขึ้นจากการใช้กำลัง ชุมนุมแบบข่มขู่คุกคาม ใช้การก่อจลาจลของประชาชน
อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงนายกรัฐมนตรีทั้ง 2 ครั้ง เกิดขึ้นตามกระบวนการยุติธรรม กรณีนายสมัคร สุนทรเวช พ้นตำแหน่งไป เพราะมีผลประโยชน์ทับซ้อน เรื่องที่ไปรับจ้างบริษัทเอกชน และจึงมาถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดกฏหมายรัฐธรรมนูญ ส่วนนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ พ้นตำแหน่งไปเพราะศาลรัฐธรรมนูญ สั่งให้ยุบพรรคพลังประชาชน กรณีที่กรรมการบริหารพรรค นายยงยุทธ ติยะไพรัช ทำผิดกฏหมาย จนถูกเพิกถอนสิทธิ์ในการเลือกตั้ง จะเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลไม่ได้อยู่ที่การใช้กำลัง ข่มขู่คุกคาม โดยการชุมนุมของประชาชน
ดังนั้นการชุมนุมของพันธมิตรฯ นั้นไม่ได้แตกต่างจากการชุมนุมทางการเมืองโดยทั่วไป ฉะนั้นประเด็นนี้ จึงเป็นความเท็จที่มากล่าวหาพันธมิตรฯ ส่วนข้อที่ 2 ที่กล่าวหาว่าชุมนุมเกินกว่า 10 คน นั้นทางพันธมิตรฯ มีคนมาร่วมชุมนุมเป็นแสนคน ไม่ได้เป็นการมั่วสุม และการจะเคลื่อนขบวนก็ทำโดยเปิดเผยต่อสังคม ต่อประชาชน มีการถ่ายทอดทางโทรทัศน์อย่างสุจริต ฉะนั้นมันไม่ใช่การชุมนุมโดยมั่วสุม ส่วนข้อที่ 3 กักขังหน่วงเหนี่ยว ปฏิเสธไปได้เลยว่าไม่มีพฤติกรรมในการกักขังหน่วงเหนี่ยวแต่อย่างใด อย่างการไปชุมนุมหน้ารัฐสภา อีกทั้งทำเนียบรัฐบาล ไม่ได้มีการกักขัง ข่มขู่ บังคับเรียกร้อง เจ้าหน้าที่คนใดเพื่อประโยชน์ของตัวเอง อย่างที่หน้ารัฐสภา ประชาชนชุมนุมอยู่และเกิดเหตุเมื่อเวลา05 .30 น. ที่ตำรวจใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมของประชาชน ทำให้ประชาชนบาดเจ็บล้มตาย เพื่อเปิดทางให้รัฐบาลเข้าไปประชุม จนแถลงนโยบายเสร็จก็ยังมีการถล่มยิงประชาชนอีกรอบหนึ่ง จะเห็นว่าไม่มีการกักขังหน่วงเหนี่ยวเจ้าหน้าที่ผู้ใดเลย ฉะนั้นข้อเท็จจริงที่กล่าวหามาทั้ง 3 ข้อ จึงเป็นความเท็จทั้งสิ้น

--การกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ผ่านมา เหมือนมีวัตถุประสงค์ที่จะเป็นการกลั่นแกล้งพันธมิตรฯ เพื่ออะไร
การตั้งข้อกล่าวหาของพนักงานสอบสวน เป็นการตั้งข้อกล่าวหาที่มุ่งประสงค์จะฟอกความผิดให้ตัวเอง ที่ได้ลงมือสังหารประชาชน มีการวางแผนและไตร่ตรองไว้ก่อน ซึ่งขณะนี้กำลังถูกป.ป.ช. กำลังชี้มูลความผิด ซึ่งผู้กล่าวหา คือ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว เป็นผู้บัญชาการ และรับผิดชอบในสนามปฏิบัติการโดยตรงในเหตุการณ์วันที่ 7 ต.ค. เป็นจำเลยที่สำคัญในคดีฐานฆ่าผู้อื่น โดยไตร่ตรองไว้ก่อนแล้ว และปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบการตั้งข้อหาแกนนำพันธมิตรฯ ก็เพื่อที่จะเบี่ยงเบนประเด็นว่าพันธมิตรฯ ทำผิด อย่างไรก็ตาม ตำรวจก็ไม่มีสิทธิ์ ไม่มีอำนาจที่จะใช้กำลังเข้าเข่นฆ่าประชาชน รวมไปถึงการละเลยที่จะดำเนินคดีพรรคพวกของตัวเองคือ กลุ่มคนเสื้อแดง ทั้งที่เห็นชัดแจ้งว่า กระทำผิดตามกฏหมาย เห็นได้ว่าตำรวจไม่ได้ยึดมั่นตามหลักกฏหมายและหลักความยุติธรรม แต่มีเจตนาที่จะกลั่นแกล้ง ก่อให้ผู้อื่นได้รับโทษทางอาญา โดยการแจ้งและกล่าวข้อความอันเป็นเท็จต่อพนักงานถือว่าเข้าข่ายการกระทำผิดตามกฏหมายอาญา และเราจะดำเนินการฟ้องร้องตอบโต้คืนอย่างแน่นอน

--คิดไว้ว่าจะดำเนินการตอบโต้ เพื่อขอความเป็นธรรมอย่างไร
ในส่วนของทีมทนายทำไว้อยู่ถึง 2-3 ส่วน คือ เรากำลังรวบรวมรายชื่อพนักงานสอบสวนว่า มีผู้ใดบ้างและพนักงานสอบสวนมีส่วนเกี่ยวที่กระทำความผิดซึ่งเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างไร ซึ่งเราจะได้ยื่นคัดค้านต่อไป อันที่สองคือ ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่เจ้าพนักงานนำมากล่าวหาเรานั้น เราจะทำ การโต้แย้ง ทุกเรื่อง ทุกประเด็น เราจึงพร้อมที่จะนำหลักฐานมาหักล้างในชั้นสอบสวน ส่วนที่สามผมก็เตรียมให้ทนายความร่างคำฟ้องสำนวนเพื่อที่จะฟ้องกลับทางผู้กล่าวหา และพนักงานสอบสวนชุดนี้ด้วย ในส่วนที่ถือว่าแจ้งความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานสอบสวน เพื่อที่จะกลั่นแกล้งผู้อื่นให้ได้รับโทษทางอาญา
อีกส่วนคือ ในส่วนของพนักงานสอบสวนที่เป็นผู้ที่เกี่ยวข้อง และมีความผิดในเรื่องนี้ แต่มาเป็นผู้สอบสวนเสียเองนั้น ถือว่ามีเจตนาที่จะปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อที่ปกป้องฟอกความผิดให้กับตัวเอง และยัดเยียดข้อกล่าวหาให้กับประชาชน ซึ่งส่วนนี้มีความพยายามที่จะปั้นสำนวนตั้งข้อกล่าวหาขึ้นมา

--ก่อนหน้านี้พันธมิตรฯ เคยเรียกร้องให้รัฐบาลเปลี่ยนพนักงานสอบสวน แต่ก็ยังเงียบไป ซึ่งเรื่องนี้คิดว่ารัฐบาลควรจะดำเนินการอย่างไร
ในประเด็นนี้ รัฐบาลหรือนายกรัฐมนตรีก็ดี ซึ่งกำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่พยายามพูดเสมอว่าฝ่ายบริหารไม่ต้องการที่จะเข้าไปแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม ซึ่งการดำเนินการของพนักงานสอบสวน ในชั้นแจ้งข้อกล่าวหาจับกุมนั้น เป็นการดำเนินการในหน้าที่ฝ่ายบริหาร ตรงนี้ถ้าพบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่โดยไม่เป็นธรรม และมีส่วนได้เสียกับเรื่องที่เกี่ยวข้อง จึงเป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหาร ที่จะต้องดุแลในการให้ การสอบสวนเป็นไปอย่างยุติธรรม และให้ความมั่นใจกับประชาชน ฉะนั้นการที่นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีเข้ามาดูแลตรงส่วนนี้ ถือเป็นสิทธิ์โดยชอบธรรม แต่ถ้าคดีมันไปถึงชั้นศาลแล้ว อันนั้นถือว่าฝ่ายบริหารหมดอำนาจ ฉะนั้นในกระบวนการตำรวจ กรมราชทัณฑ์ หรือพนักงานอัยการ ยังถือว่า เป็นส่วนที่ฝ่ายบริหารยังดูแลอยู่ ถ้านายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีไม่ให้ความใส่ใจในเรื่องนี้ ประชาชนมีสิทธิ์ที่จะดำเนินการรับฝ่ายปกครอง หรือฝ่ายบริหารได้ เพราะถือว่าละเลยการดำเนินการของฝ่ายบริหารให้ปราศจากความยุติธรรม ตรงนี้ถือว่านายกรัฐมนตรี ที่ดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติโดยตรงจะต้องให้ยุติธรรมแก่ประชาชน ฉะนั้นประชาชนก็มีสิทธิ์ที่จะฟ้องร้องดำเนินคดีดังกล่าวได้เช่นกัน ข้อเท็จจริงเรื่องนี้มันชัดแจ้ง เพราะว่ามีทั้ง VCD ภาพบันทึกเหตุการณ์ อีกทั้งผลสอบของคณะกรรมการสิทธิฯ ที่สำคัญคือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ณ ขณะนั้น ดำรงตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน เป็นผู้ขอให้สอบและเมื่อผลสอบออกมามันมีผู้กระทำผิดจริง และนายอภิสิทธิ์ ขณะนี้อยู่ในฐานะฝ่ายบริหาร จะมาบอกว่าไม่ใช่ หน้าที่ของตัวเองไม่ได้ ตรงนี้จึงชัดเจน ถึงการจะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น