xs
xsm
sm
md
lg

ยังเติร์ก

เผยแพร่:   โดย: ชัยอนันต์ สมุทวณิช

เห็นข่าว พล.อ.พัลลภ แล้วก็นึกถึงทหารที่เรียกกันว่า “ยังเติร์ก” เมื่อ 30 ปีมาแล้ว ขณะนั้นพล.อ.พัลลภ เป็นพันเอก ได้เข้าร่วมทำการรัฐประหาร 1 เมษายน 2524 ด้วย กลุ่มยังเติร์กมีกำลังเป็นผู้บังคับการ และผู้บังคับกองพันหลักๆ แต่ก็ทำการรัฐประหารไม่สำเร็จ

ผมทำการศึกษากลุ่มยังเติร์ก โดยไม่รู้จักใครเป็นการส่วนตัว ครั้งแรกผมเขียนบทความโดยอาศัยข้อมูลจากหนังสือรุ่นโรงเรียนนายร้อย ต่อมาผมไปเขียนหนังสือเป็นภาษาอังกฤษชื่อ “The Thai Young Turks” หนังสือเล่มนี้ขายดีมาก นอกจากนั้นยังได้เขียนหนังสือยังเติร์กกับทหารประชาธิปไตยอีกด้วย

นักวิชาการที่รู้จักกับกลุ่มยังเติร์กคือ ดร.ทินพันธุ์ นาคะตะ ดร.แสง สงวนเรือง และดร.ลิขิต ธีรเวคิน ดร.ทินพันธุ์ เป็นนายทหารรุ่น 5 เหล่าปืนใหญ่ เป็นรุ่นพล.อ.สุจินดา คราประยูร ผู้นำกลุ่มยังเติร์กเป็นนายทหารรุ่น 7 อาจารย์ทั้งสามมีบทบาทสำคัญที่ทำความเข้าใจกับกลุ่มยังเติร์กให้การสนับสนุนนิสิต นักศึกษาที่เข้าป่าไปกลับเข้าเมืองได้

ผมได้พบกลุ่มยังเติร์กเป็นครั้งแรกที่ ม.พัน 4 ด้วยความอยากรู้และอยากทำวิจัย เพราะเวลานั้นมีกลุ่มทหารประชาธิปไตยที่ไม่ได้คุมกำลัง ส่วนมากเป็นฝ่ายเสนาธิการ มีแนวความคิดทางการเมืองปรากฏออกมาบ่อยๆ ผ่านนิตยสารอาทิตย์รายสัปดาห์ ส่วนกลุ่มยังเติร์กปิดตัวเงียบ มีแต่พ.อ.ประจักษ์ สว่างจิตร ที่เคยออกมาให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์

มีข่าวเล็ดลอดมาว่า ผู้นำยังเติร์กคือ พ.อ.มนูญ รูปขจร ผู้บังคับการกรมทหารม้าที่ 4 คือ ผู้คุมรถถังนั่นเอง พ.อ.มนูญไม่เคยให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์เลย

เมื่อผมพบพวกยังเติร์กนั้น เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางการเมือง พ.อ.พัลลภ นั่งเงียบๆ ถือปืนไว้ด้วย ผมเป็นฝ่ายพูด กลุ่มยังเติร์กไม่ออกความเห็นได้แต่ถาม

จากนั้นมาผมก็ไม่ได้พบกับพวกนี้อีก จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ 1 เมษายน ผมจำได้ดีเพราะเวลานั้นผมเป็นที่ปรึกษาพล.อ.เปรม แม่ผมตายและจัดงานศพวันที่ 31 มีนาคม 2524 คณะที่ปรึกษานายกฯ จองเป็นเจ้าภาพสวดศพคืนวันที่ 31 มีนา แต่ไม่มีใครมาเลย รวมทั้งตัวประธานคณะที่ปรึกษาฯ พล.อ.สันต์ จิตรปฏิมา ด้วย ผมสงสัยว่าจะมีรัฐประหารแน่ๆ วันที่ 1 เมษา ก็เกิดขึ้นจริงๆ

ที่ปรึกษานายกฯ หลายคนเข้าไปร่างแถลงการณ์ และมีการแปลเป็นภาษาอังกฤษด้วย ผมไม่ได้เข้าไปนับว่าโชคดี หลังจากนั้นสองสามวัน ที่ปรึกษาฯ ก็หลบออกมาหมด พล.อ.สัณห์โทรศัพท์มาหาผมขอให้ผมเข้าไปช่วย แต่ผมเรียนท่านว่าให้ผมอยู่ข้างนอกจะดีกว่า ผมจึงไปบ้านท่านอาจารย์สัญญา และโทรศัพท์ให้ท่านพูดกับพล.อ.สัณห์ เพราะขณะนั้นมีความเข้าใจผิดว่า พวกทำรัฐประหารต้องการเปลี่ยนระบอบการปกครอง

เมื่อกลุ่มยังเติร์กถูกออกจากราชการ ผมจึงได้มีโอกาสเข้าไปคลุกคลีกับนายทหารหลายคน โดยเฉพาะพ.อ.มนูญ รูปขจร ซึ่งผมมักแวะไปคุยตอนค่ำๆ ทานข้าวที่บ้านซอยภาวนา และปรึกษาหารือกันเรื่องกลับเข้ารับราชการ พ.อ.มนูญเป็นคนสุภาพ เอาจริงเอาจังกับปัญหาของบ้านเมือง มีลักษณะเป็นผู้นำ มีลูกน้องแยะ ทุกวันจะต้องมีรายงานข่าวเข้ามาเสมอ เวลาใครไปหาและจะกลับบ้านก็จะเดินออกมาส่งถึงหน้าบ้าน

กลุ่มยังเติร์กถูกเพ่งเล็งเพราะแม้จะออกจากราชการแล้ว ก็ยังมีลูกน้องแยะ และยังมีอาวุธสะสมไว้ด้วย ผมได้พบกับนายทหารทั้งรุ่น 7 และรุ่นหลังๆ หลายคนเป็นเวลาหลายปี ได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง เช่น ความผูกพันกับนายทหารที่อยู่เหล่าเดียวกัน และการสนิทสนมกันภายในกลุ่มเป็นคู่ๆ เช่น พ.อ.พัลลภ จะสนิทกับ พ.อ.จำลอง มากกว่า พ.อ.มนูญ เป็นต้น

ในที่สุดกลุ่มยังเติร์กก็ได้กลับเข้ารับราชการผู้ซึ่งคอยวิ่งเต้นประสานงานก็คือ พ.ท.สุรพล ชินะจิตร นายทหารเหล่าปืนใหญ่ที่สนิทกับ พล.อ.วิโรจน์ แสงสนิท ต่อมาได้เป็น พล.อ. (อัตราจอมพล) พ.ท.สุรพลมีเพื่อนสนิทสองคนคือ พ.ท.รณชัย ศรีสุวรนันทน์ กับพ.ท.สัญชัย บุณฑรักสวัสดิ์

นายทหารยังเติร์กเป็นรุ่นที่เกิดสงครามเวียดนามพอดี หลายคนผ่านสงครามเวียดนาม และที่ลาว จึงเกิดความรู้สึกเป็นห่วงประเทศว่าจะเป็นเหมือนเวียดนาม พวกเขาเห็นว่า คอร์รัปชันเป็นปัญหาสำคัญ จึงรังเกียจนักการเมืองที่ฉ้อฉล

ในจำนวนยังเติร์กมี พ.อ.มนูญที่ได้เข้าร่วมทางการเมือง และได้เป็นถึงประธานวุฒิสภา และพล.ต.จำลอง ศรีเมือง ซึ่งมีบทบาททางการเมืองอย่างต่อเนื่อง ส่วนคนอื่นๆ โดยเฉพาะพล.อ.พัลลภนั้น เมื่อกลับเข้ารับราชการแล้วก็อยู่เงียบๆ

นายทหารพวกนี้มีคุณภาพ มีความตั้งใจสูง พล.อ.พัลลภเป็นคนที่ไม่ทะเยอทะยาน มีความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวผู้คนจึงเกรงขาม

เวลานี้พวกยังเติร์กอายุ 70 กว่าแล้ว ส่วนรุ่นหลังๆ เช่น พล.อ.สุรพล ชินะจิตร ก็เกษียณแล้วเหลือไว้เพียงตำนานเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น