xs
xsm
sm
md
lg

ผุดศูนย์รัฐ-เอกชน 2.4 หมื่นแห่งฝึกอบรมงานทั่ว ปท.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เปิดแผนฝึกอบรมช่วยเหลือแรงงาน ฉบับ"โอบามาร์ค" ผุดศูนย์รัฐ-เอกชน 2.4 หมื่นแห่งทั่วประเทศ รองรับคนว่างงาน 2.4 แสนคน มีทั้งอัดฉีดเบี้ยเลี้ยง-ค่าประกอบอาชีพเพียบ

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า วันนี้ (16 มี.ค.)นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการบริหารโครงการเพิ่มศักยภาพ ผู้ว่างงานเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมในชุมชน จะเป็นประธานการประชุมและแถลงเปิดตัวหลักสูตรในการฝึกอบรม งบประมาณ 6.9 หมื่นล้านบาท ที่แต่ละกระทรวงเสนอ พร้อมทั้งจะมีการพิจารณาโครงการฝึกอบรมของโรงงาน ที่เข้าร่วมโครงการด้วย

สำหรับการฝึกอบรมดังกล่าวจะเน้นสถานประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (SME) ที่มีลูกจ้างไม่เกิน 200 คน และยอดการสั่งซื้อลดลง โดยเงื่อนไขว่าโรงงาน ที่ได้รับการพิจารณาจะต้องไม่ปลดคนงานในระยะเวลา 1 ปี สำหรับโครงการการฝึกอบรมครั้งนี้ จะมีความสอดคล้องกับตำแหน่งงานว่าง 128,000 อัตรา ตามฐานข้อมูลกรมการจัดหางาน

ทั้งนี้พบว่า โครงการช่วยเหลือแรงงานในปี 2552 ของกระทรวงอุตสาหกรรม ประกอบด้วยการฝึกอบรมเพื่อการจ้างงานใหม่ 406 หลักสูตร 72,140 คน เน้นสิ่งทอ เครื่องหนัง รองเท้า เครื่องปรับอากาศ ผู้ประกอบการแฟรนไชส์และบริการทาง โลจิสติกส์ ขณะที่โครงการรักษาสภาพการจ้างงานมี 15 หลักสูตร ฝึกอบรมพนักงาน 3.5 หมื่นคน เน้นหลักสูตรยานยนต์ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ชิ้นส่วนยานยนต์

นอกจากนี้พบว่า หลังการประชุมชี้แจงแนวทางของกระทรวงแรงงาน ให้สถานประกอบกิจการ เพื่อป้องกันและบรรเทาปัญหาการเลิกจ้าง ให้กับแรงงานจังหวัด ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดและจัดหางานจังหวัด ที่ทำหน้าที่ในการรับลงทะเบียน ในโครงการเพิ่มศักยภาพผู้ว่างงานเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมในชุมชนของรัฐบาล ซึ่งจะเปิดให้ผู้ว่างงานลงทะเบียนรับการฝึกทักษะด้านต่างๆ จำนวน 390 หลักสูตร เริ่มตั้งแต่วันที่18-24 มีนาคมนี้ ทั้งนี้ ยังมีโครงการฝึกอบรม ของสถาบันการศึกษาต่างๆทั่วประเทศ การฝึกงานของกองทัพ ที่จะรายงานให้คณะกรรมการชุดนี้ได้รับทราบด้วย

ทั้งนี้ยอดผู้ว่างงานล่าสุด ตั้งแต่1 ต.ค.2551-6 มี.ค.2552 ที่ลงทะเบียนไว้กับกรมการจัดหางานประมาณ 300,000คน เฉพาะเดือน ก.พ.สูงถึง100,000 คนนับเป็นอัตราที่สูงหากเทียบกับช่วงปกติที่ไม่เกิดภาวะวิกฤติเศรษฐกิจเฉลี่ย 30,000 คน

รายงานแจ้งว่า โครงการนี้จะช่วยเหลือ ใน 4 กลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย ผู้ว่างงานและประชาชนทั่วไปที่สนใจในการฝึกอาชีพ , กลุ่มผู้ถูกเลิกจ้างที่ต้องการพัฒนาฝีมือแรงงาน , กลุ่มผู้ที่สำเร็จการศึกษาใหม่ , ผู้ที่อยู่ในแนวโน้มการถูกเลิกจ้าง โดยตั้งเป้าหมายการฝึกอบรมไว้ 240,000 คน โดยผู้ที่ฝึกอบรมจะได้ค่าตอบแทนใ นการฝึกอบรม เดือนละ 4,800 บาทต่อคนต่อหลักสูตร และจะได้ค่าเบี้ยเลี้ยงเป็นระยะเวลาอีก 3 เดือน โดยมีเงื่อนไขว่า 3 กลุ่มแรกจะต้องกลับไปประกอบอาชีพยังภูมิลำเนาเดิม ซึ่งได้ตั้งกลุ่มเป้าหมายในการฝึกอบรมไว้ที่ 220,000 คน

สำหรับขั้นตอน วิธีการ และ อัตราค่าใช้จ่ายตามโครงการ สำหรับหลักสูตรและกรอบวงเงินงบประมาณให้สถาบันจัดฝึกอบรม (Service Provider) จะให้สถาบันจัดฝึกอบรมที่ได้ลงทะเบียนไว้แล้ว ทั้งมหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษา ได้แก่ มหาวิทยาลัยของรัฐ มหาวิทยาลัยราชภัฏ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล และสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการอาชีวะศึกษา และ กลุ่มเครือข่ายภาคประชาสังคม เช่น เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้าน สถาบันองค์กรพัฒนาชุมชน มูลนิธิเอกชนที่ไม่หวังผลกำไร กลุ่มส่วนราชการอื่น ที่มีกิจกรรมด้านการฝึกอบรม เช่น กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรมส่งเสริมการเกษตร เป็นต้น

โดยมีหน่วยงานในทุกจังหวัดที่พร้อมจะตั้งหน่วยฝึกอบรมตามโครงการเพิ่มศักยภาพให้กับผู้ว่างงานในทุกแขนงที่ต้องการกลับภูมิลำเนา นักศึกษาจบใหม่ ฯลฯ กว่า 24,000 แห่งทั่วประเทศ

ทั้งนี้เมื่อมีการอนุมัติให้สถาบันจัดฝึกอบรม หลักสูตรหนึ่งหลักสูตรใดแล้ว ให้สถาบันจัดฝึกอบรมนั้นๆ จัดทำแผนการดำเนินงาน แผนการใช้จ่ายงบประมาณ รายละเอียดวงเงินค่าใช้จ่าย ส่งให้สำนักงบประมาณโดยตรงเพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณ โดยไม่ต้องผ่านสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้ ได้กำหนดค่าใช้จ่ายในการจัดฝึกอบรม ประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมไม่เกิน 5,000 บาท/คน/เดือน โดยเฉลี่ย ซึ่งเป็นอัตราสูงสุด กำหนดจ่ายให้สถาบันจัดฝึกอบรม เช่น ส่วนราชการ สถาบันการศึกษามหาวิทยาลัย และในส่วนภาคเอกชน เช่น สภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ภาคประชาสังคม มูลนิธิ สมาคม ซึ่งเสนอโครงการผ่านส่วนราชการ เป็นต้น เพื่อเป็นค่าวิทยากร ค่าวัสดุอุปกรณ์ ค่าสาธารณูปโภค ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา และค่าอาหารกลางวัน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ (กำหนดเวลาแล้วแต่โครงการที่เปิดฝึกอบรม)

ค่าเบี้ยเลี้ยง ระหว่างการอบรม 4,800 บาท/คน/เดือน โดยเฉลี่ยจ่ายตามวันที่เข้าอบรมจริง จำนวน 160 บาท/คน/วัน โดยผู้เข้าอบรมแต่ละคนต้องแสดงหลักฐานการรับเงินรายบุคคล ค่าพาหนะเดินทางเหมาจ่ายระหว่างการอบรม 720 บาท/คน/เดือน จ่ายตามวันที่เข้าอบรมจริง จำนวน 30 บาท/คน/วัน โดยผู้เข้าอบรมแต่ละคนต้องแสดงหลักฐานการรับเงินรายบุคคล

ค่าพาหนะเดินทางที่ฝึกอบรม เหมาจ่าย ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด 1-500 ม.เหมาจ่าย 500 บาท 501-1,000 กม. เหมาจ่าย 1,000 บาท และ 1,001 กม.ขึ้นไป เหมาจ่าย 1,500 บาท โดยผู้เข้าอบรมแต่ละคนต้องแสดงหลักฐานการรับเงินรายบุคคล กรณีที่สถาบันจัดฝึกอบรม เมื่อได้รับเงินค่าใข้จ่ายในการฝึกอบรมจำนวน 5,000 บาท/คน/เดือน ต้องปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการ เว้นแต่ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าพาหนะ และค่าเดินทางสำหรับผู้เข้ารับการอบรม ให้ถือปฏิบัติตามที่คณะกรรมการบริหารฯกำหนด

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า สำหรับหลักเกณฑ์ค่าใช้จ่ายในกรณีผ่านการอบรมแล้ว ผู้เข้าการฝึกอบรมประสงค์จะกลับไปประกอบอาชีพในภูมิลำเนา กรณีผ่านการ ฝึกอบรมแล้วและประสงค์จะกลับภูมิลำเนา สามารถขอรับเงินอุดหนุนเพื่อการประกอบอาชีพจากโครงการฯ ประกอบด้วย เงินอุดหนุนเพื่อการประกอบอาชีพจำนวน 4,800 บาท/คน/เดือน เป็นเวลาไม่เกิน 3 เดือน

ค่าเดินทางกลับภูมิลำเนา เหมาจ่าย ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด1-500 ม.เหมาจ่าย 500 บาท 501-1,000 กม. เหมาจ่าย 1,000 บาท และ 1,001 กม.ขึ้นไป เหมาจ่าย 1,500 บาท สำหรับผู้ผ่านการฝึกอบรมแล้ว ประสงค์จะเดินทางกลับภูมิลำเนา เพื่อดำเนินการเกี่ยวกับการประกอบอาชีพในชุมชนภูมิลำเนา ทั้งนี้ ต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริหารฯ และจะได้รับเงินค่าเดินทาง พร้อมกับเงินอุดหนุนเพื่อการประกอบอาชีพเดือนแรก โดยการรับรองการกลับไปทำงานในภูมิลำเนาจากฝ่ายปกครองในพื้นที่
กำลังโหลดความคิดเห็น