xs
xsm
sm
md
lg

ประธานเฟดเสนอกรอบโครงแผน มุ่งแก้วิกฤตภาคการเงิน‘ระยะยาว’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วอลล์สตรีทเจอร์นัล/เอเยนซีส์ – ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) เบน เบอร์นันกี เมื่อวันอังคาร(10)เปิดเผยกรอบโครงของขั้นตอนต่างๆ ที่เขาคิดว่าจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตทางการเงินขึ้นอีกในอนาคต โดยกล่าวด้วยว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องมาหารือถกเถียงกันในเรื่องระยะยาวดังกล่าวนี้

ในการแสดงปาฐกถาต่อ สภาว่าด้วยความสัมพันธ์กับต่างประเทศ (Council on Foreign Relations) คราวนี้ เบอร์นันกียังกล่าวยอมรับกลายๆ ว่า สหรัฐฯและพวกประเทศเจ้าของเศรษฐกิจใหญ่ๆ อื่นๆ อีกบางราย ได้กระทำความผิดที่นำไปสู่วิกฤตการเงินทั่วโลกในปัจจุบัน นั่นก็คือ การที่สหรัฐฯและประเทศเหล่านี้บกพร่องล้มเหลว ไม่ได้นำเอาบรรดาเงินทุนซึ่งไหลทะลักเข้ามาตั้งแต่เมื่อกว่าสิบปีก่อน มาลงทุนอย่าง “สุขุมรอบคอบ”

จากความล้มเหลวในเรื่องนี้ของสหรัฐฯตลอดจนประเทศเศรษฐกิจใหญ่อื่นๆ “ทำให้เกิดการกลับตาลปัตรอย่างทรงพลังยิ่ง ในเรื่องอารมณ์ความรู้สึกของนักลงทุน และการเข้ายึดครองอำนาจของพวกตลาดสินเชื่อ” เขาบอก

“ในช่วงระยะใกล้ รัฐบาลต่างๆ ทั่วโลกจะต้องต่อเนื่องดำเนินปฏิบัติการอย่างมีพลัง และถ้าหากมีความเหมาะสมก็ควรที่จะมีการร่วมมือประสานงานกันด้วย เพื่อฟื้นฟูให้ตลาดการเงินกลับสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ และฟื้นฟูการไหลเวียนของสินเชื่อ” เบอร์นันกีกล่าว โดยที่ในสหรัฐฯนั้น เจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ กำลังมีความมุ่งมั่น “ที่จะให้แน่ใจว่า พวกสถาบันการเงินที่ทรงความสำคัญต่อระบบ จะต้องสามารถทำตามพันธะผูกพันของพวกเขาได้ต่อไป” เขาระบุ

“ตราบใดที่เรายังไม่สามารถทำให้ระบบการเงินมีเสถียรภาพได้ การฟื้นตัวอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจก็จะยังเป็นสิ่งที่เราไม่อาจก้าวถึงได้”

เบอร์นันกีพูดว่า ถ้าระบบการธนาคารของสหรัฐฯกลับมีเสถียรภาพ ภาวะเศรษฐกิจถดถอยก็ควรจะยุติลงในช่วงต่อไปของปีนี้ และปี 2010 ก็จะกลับมีอัตราเติบโตอันค่อนข้างแข็งแกร่ง

ในช่วงตอบคำถามจากผู้ฟัง เบอร์นันกีกล่าวยอมรับว่า เศรษฐกิจถดถอยคราวนี้มีความรุนแรงอย่างน่าประหลาดใจ กระนั้น เขาก็เชื่อว่าเศรษฐกิจจะต้องฟื้นตัวได้ในที่สุด เมื่อพิจารณาจากบรรดาปัจจัยความเข้มแข็งที่รองรับอยู่ข้างใต้ โดยที่ความไม่แน่นอนสำคัญที่ยังดำรงอยู่ ก็คือเรื่องระยะเวลาที่จะมีการฟื้นตัว

แต่ถึงแม้เบอร์นันกีและบุคคลอื่นๆ จะมุ่งโฟกัสไปที่การพยายามทำให้ตลาดกลับมีเสถียรภาพให้ได้ในระยะสั้น ทว่าเขาก็ส่งสัญญาณว่ามันไม่เป็นการเร็วเกินการณ์หรอกที่จะพิจารณาเรื่องการปฏิรูปต่างๆ ในระยะยาวไปด้วย

เขาวาดกรอบโครงของด้านต่างๆ 4 ด้านที่จำเป็นจะต้องแก้ไข เพื่อทำให้เกิดความเสถียรภาพในระยะยาว อันได้แก่ กิจการที่มีความสำคัญต่อระบบและเป็นกิจการมีความเชื่อมโยงเกี่ยวพันกว้างขวาง, โครงสร้างพื้นฐานด้านการเงิน, กฎระเบียบ, และการให้ผู้ทรงอำนาจเพียงรายเดียวเป็นผู้รับผิดชอบในการรับมือกับความเสี่ยงเชิงระบบทั้งหลาย

ในเรื่องกิจการที่มีความเชื่อมโยงเกี่ยวพันกว้างขวาง หรือที่รู้จักกันในวลีว่า “พวกที่โตเกินกว่าจะปล่อยให้ล้มได้” เบอร์นันกีบอกว่า “กิจการใดก็ตามที่การล้มครืนของมันจะก่อให้เกิดความเสี่ยงเชิงระบบ กิจการนั้นก็จะต้องได้รับการกำกับตรวจสอบอย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษ ในเรื่องการดำเนินการที่มีความเสี่ยง, การบริหารความเสี่ยง, และเงื่อนไขทางการเงิน อีกทั้งจะต้องกำหนดให้มีมาตรฐานด้านเงินทุนและด้านสภาพคล่องในระดับสูง”

ประธานเฟดยังเสนอแนะวิธีการที่จะแก้ไข “ความอ่อนเปราะที่อาจจะเกิดขึ้นได้” ของพวกกองทุนร่วมตลาดเงิน (money-market mutual fund) โดยเขาบอกว่า วิธีหนึ่งคือการเพิ่มขีดจำกัดของเครื่องมือทางการเงินซึ่งกองทุนร่วมตลาดเงินจะสามารถลงทุนได้, อาจจะกำหนดให้มีระยะเวลาไถ่ถอนสั้นลง, และเพิ่มสภาพคล่องให้มากขึ้น ส่วนอีกวิธีหนึ่งคือการพัฒนาระบบการประกันอย่างจำกัดให้แก่พวกกองทุนร่วมตลาดเงิน ทั้งนี้สำหรับกองทุนร่วมที่ต้องการพยุงมูลค่าสินทรัพย์สุทธิของตนให้มีความมั่นคง

เกี่ยวกับการให้ผู้ทรงอำนาจเพียงรายเดียวเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องความเสี่ยงของระบบโดยรวมนั้น เบอร์นันกีกล่าวว่า มีบางคนเสนอให้เฟดรับหน้าที่นี้ ขณะที่บางคนค้านเพราะเห็นว่าจะทำให้เฟดมีภาระมากเกินไป เขาเองเห็นว่าถึงอย่างไรเฟดก็ต้องเกี่ยวข้องกับผู้รับผิดชอบเรื่องนี้อยู่ดี ไม่ว่าจะเข้าเป็นผู้นำเสียเองหรือไม่ก็ตาม อย่างไรก็ดี เรื่องนี้ย่อมต้องขึ้นอยู่กับรัฐสภาว่าจะเอาอย่างไร
กำลังโหลดความคิดเห็น