xs
xsm
sm
md
lg

ชงรีดภาษีเหล้า-บุหรี่4หมื่นล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน – “กรณ์” รับลูก “อภิสิทธิ์” จ้องรีดภาษีเหล้า-บุหรีเพิ่ม ศูนย์วิจัยปัญหาสุราชงคลังขึ้นภาษีเบียร์-เหล้าขาว เต็มเพดานวันนี้ ชี้รัฐได้ 2-3หมื่นล้าน เช่นเดียวกับ “หมอหทัย” ที่เตรียมเสนอหั้ปรับฐานการคิดภาษีบุหรี่เป็นราคาขายปลีกต่อซอง เผยรัฐได้เงินอีก 2 หมื่นล้าน ด้าน “ชาเขียว -กาแฟสำเร็จรูป –เครื่องดื่มชูกำลัง” ครวญซ้ำเติมตลาดขาลง ชี้วิกฤตเศรษฐกิจ เข็นตลาดไม่ขึ้นต่อเนื่อง 3 ปี โออิชิเตรียมขึ้นราคา 3-5 บาท กาแฟจ้องเพิ่มอีก 2-5 บาท ส่วนกระทิงแดงรับยอดขายตกจากกลุ่มลูกค้าหลักที่ตกงาน

"กรณ์" เก็บภาษีเพิ่มหากรัฐเก็บรายได้ไม่พอ

นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี มีแนวคิดจะเก็บเพิ่มภาษีเหล้าและบุหรี่เพิ่มว่า หากรายได้จากการเก็บภาษีไม่เพียงพอ ก็ต้องหาแนวทางขยายฐานภาษีและเก็บภาษีต่างๆ เพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม หากเก็บภาษีสินค้ากลุ่มใดเพิ่มก็ต้องรอสรุปรายละเอียดเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อีกครั้ง

ทั้งนี้ ในช่วงที่ปัญหาเศรษฐกิจถดถอยหลายฝ่ายเริ่มเข้าใจแล้วว่ารัฐบาลต้องหาแนวทางใช้เงินผ่านงบประมาณในการแก้ปัญหา เพราะปัญหาเศรษฐกิจขณะนี้อาจจะยืดเยื้อ ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีสถาบันการเงินที่เข้มแข็ง แต่ก็มีจุดอ่อนภาคการส่งออกที่เคยเป็นรายได้หลักที่สำคัญหดตัวลง ประกอบกับผู้ประกอบการเสียภาษีน้อยลง เพราะกำไรลดลง จึงกระทบต่อรายได้ของรัฐบาลลดลงเช่นกัน

"ขณะนี้รัฐบาลอยู่ระหว่างการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2553 ดังนั้น ขอส่งสัญญาณถึงหน่วยงานต่าง ๆ ในการเสนอของบประมาณ เพราะต้องการให้ใช้งบประมาณในโครงการที่จำเป็น หากโครงการใดสามารถชะลอได้ก็ให้ชะลอออกไปก่อน เพราะต้องคำนึงว่ารัฐบาลมีรายได้จากการเก็บภาษีลดลง" รมว.คลังกล่าวเมื่อวานนี้ (8 มี.ค.)

ชง.คลังรีดภาษีเหล้าขาว-เบียร์2หมื่นล.

นพ.บัณฑิต ศรไพศาล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) กล่าวว่า ในวันที่ 9 มีนาคม นายพฤติชัย ดำรงรัตน์ รมช.คลัง เรียกประชุมชี้แจงข้อมูลเพื่อพิจารณาการขึ้นภาษีบาป (Sin tax) โดยศวส.จะเสนอให้ขึ้นภาษีเบียร์และเหล้าขาว เพราะขณะนี้ยังไม่เต็มเพดาน ซึ่งนอกจากรัฐบาลจะสามารถเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นแล้ว ยังเป็นการช่วยลดการบริโภค ซึ่งเบียร์เป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและมีเยาวชนเป็นนักดื่มหน้าใหม่นิยมดื่มกันอย่างมาก กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการดื่มเหล้า ส่วนการขึ้นภาษีเหล้าขาว จะเป็นการสกัดนักดื่มหน้าเก่าที่ติดสุราอีกด้วย

“หากจะขึ้นภาษีแทนที่จะเก็บภาษีชา กาแฟ รัฐควรเก็บภาษีในส่วนที่ควรขึ้นก่อน โดยเฉพาะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพราะทุกวันนี้เหล้ายังถูกอยู่ การขึ้นภาษีหลายๆ ตัว ประชาชนอาจเดือนร้อนอย่างภาษีน้ำมัน แต่ภาษีเหล้ากลับไม่ขึ้น ทั้งที่ๆ ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหล้าเป็นผู้ดื่ม 40 %ส่วนคนที่ไม่ดื่มได้รับผลกระทบจากอุบัติเหตุเสียชีวิต 60%”นพ.บัณฑิตกล่าว

นพ.บัณฑิต กล่าวต่อว่า การขึ้นภาษีเต็มเพดานสำหรับเบียร์ควรขึ้นภาษีตามมูลค่าเบียร์จาก 55% เป็น 60% ภาษีสุราขาว สุราแช่ และสุรากลั่นชุมชน จาก 110 ต่อลิตรแอลกอฮอล์บริสุทธิ์เป็น 200 บาทต่อลิตรแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ ในปีที่ 2 ขึ้นเป็น 300 บาทต่อลิตรแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ และปีสุดท้ายจึงขึ้นเต็มเพดาน 400 บาทต่อลิตรแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ นอกจากนี้ยังมีสุราผสม เช่น เหล้าจีน เซี่ยงชุน สามารถเก็บเพิ่มจาก 240 บาทเป็น 400 บาทต่อลิตร และขึ้นภาษีตามมูลค่าบรั่นดีจาก 45% เป็น 50% ทั้งนี้กระทรวงการคลังสามารถดำเนินการได้ทันที ไม่ต้องไปแก้ไข พ.ร.บ.สุรา พ.ศ.2493 เพียงแต่ออกกฎกระทรวงขึ้นภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภทเต็มเพดานอัตราภาษี เสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็ประกาศใช้ได้ทันที

“คำนวณแล้วเพียงแค่เก็บภาษีเบียร์และเหล้าขาวในอัตรา 200 บาทต่อลิตรแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ รัฐบาลจะสามารถจัดเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้านบาทต่อปี จากเดิมที่สามารถเก็บได้ 7 หมื่นล้านบาทต่อปี แต่รัฐบาลจะต้องมีความกล้าเพราะกำลังชนกับธุรกิจเบียร์และสุรายักษ์ใหญ่ ซึ่งอาจส่งผลต่อการเมือง แต่จากสภาวะเศรษฐกิจที่มีแต่รายจ่ายไม่มีรายรับ การจัดเก็บภาษีเหล้าจึงอาจเป็นทางเลือกหนึ่ง”นพ.บัณฑิตกล่าว

ผอ.ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา กล่าวต่อว่า นอกจากนี้จะเสนอให้รัฐบาลคงโครงสร้างภาษีเดิมไว้ เนื่องจากบริษัทเหล้าข้ามชาติมีความพยายามที่จะเสนอการเปลี่ยนระบบภาษีเป็นการจัดเก็บตามปริมาณแอลกอฮอล์เพียงอย่างเดียว ซึ่งปกติแล้วกรมสรรพสามิตจะมีการคิดภาษีขั้นต่ำตามปริมาณแอลกอฮอล์อยู่แล้วคือ มีปริมาณแอลกอฮอล์มากจะคิดภาษีมาก และมีการคิดภาษีตามมูลค่าราคาคือ หากขายแพงก็จะเสียภาษีมาก แต่หากมีการเปลี่ยนโครงสร้างภาษีโดยเก็บแต่ตามปริมารแอลกอฮอล์โดยอ้างเรื่องสุขภาพนั้น จะทำให้เบียร์จะเสียภาษีลดลง ขณะที่เหล้าต่างประเทศจะเสียภาษีเท่ากับเหล้าที่ผลิตในประเทศ รวมถึงให้มีการปรับขึ้นภาษีตามอัตราภาษีเงินเฟ้อด้วย

ส่วนประเด็นอื่นๆ จะเสนอให้มีการปรับเพิ่มค่าธรรมเนียมใบอนุญาตขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งปัจจุบันค่าธรรมเนียมถูกอย่างมาก หากเป็นเหล้าในประเทศจะเสียค่าธรรมเนียมเพียงปีละ 100 บาท หรือวันละ 30 สตางค์ ส่วนเหล้าต่างประเทศเสียค่าธรรมเนียมปีละ 1,500 บาท หรือ 4 บาทต่อวัน ทำให้สามารถเปิดร้านจำหน่ายได้ง่ายและร้านที่จำหน่ายขยายจำนวนมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีใบอนุญาตจำหน่ายทั้งเหล้าในประเทศและต่างประเทศรวมกันกว่า 6 แสนใบ ซึ่งตามหลักการแล้วการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ควรจะเป็นขายน้อยแต่ได้ภาษีเข้ารัฐมากไม่ใช่ขายได้มากแต่ได้ภาษีเข้ารัฐน้อย แต่ทุกวันนี้สรรพสามิตไม่ยอมขึ้นค่าธรรมเนียมแต่ใช้วิธีขายได้ในราคาถูกแล้วหาเงินเข้ารัฐโดยจำหน่ายสุราให้ได้มากๆ

เสนอคำนวณภาษีบุหรี่ตามราคาขายปลีก

นพ.หทัย ชิตานนท์ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย และประธานภาคีประเทศสมาชิกกรอบอนุสัญญาควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก กล่าวว่า ในฐานะเป็นตัวแทนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้เตรียมยื่นข้อเสนอต่อรมช.คลัง ในการประชุมรับฟังความคิดเห็นโดยเสนอให้กรมสรรพสามิตจัดคำนวณภาษีบุหรี่ตามฐานราคาขายปลีกของบุหรี่ และเพิ่มภาษีบุหรี่ซึ่งขณะนี้ขยายเพดานอยู่ที่ 90%แล้ว

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา หากเป็นบุหรี่ไทยจะมีการคำนวณโดยใช้ฐานราคาหน้าโรงงาน ซึ่งราคาอยู่ที่ประมาณ 26 บาท ส่วนบุหรี่ต่างประเทศเป็นการคำนวณโดยฐานราคาที่นำเข้ามาในประเทศ ซึ่งสำแดงราคาอยู่ที่ 7 บาท แม้จะเก็บภาษีสูงถึง 80% แต่ก็เก็บภาษีก็ไม่เป็นไปตามความเป็นจริง ขณะที่ราคาขายในตลาดบุหรี่ต่างประเทศราคา 65-70 บาท ส่วนบุหรี่ในประเทศ 35 บาท ซึ่งทำให้บุหรี่ไทยเสียเปรียบ นอกจากนี้บุหรี่นอกที่ส่งผ่านมาทางร้านปลอดภาษีที่ท่าอากาศยานฯ แจ้งราคานำเข้าประมาณ 20-30 บาท แต่ผ่านด่านศุลกากรเพียง 7 บาท เป็นไปได้อย่างไร

“ทั่วโลกก็มีการคำนวณภาษีตามราคาขายปลีกอยู่แล้ว จึงจะยุติธรรม เพราะหากเป็นการคำนวณตามราคาที่สำแดงนำเข้า สามารถบอกราคาที่ไม่เป็นจริงเพื่อเสียภาษีในอัตราที่ไม่แพง เนื่องจากไม่มีใครทราบต้นทุนราคาที่แท้จริง ดังนั้น กรมสรรพสามิตจึงต้องมีการแก้ไขเลิกใช้วิธีเก็บภาษีทีทำให้ไทยเสียเปรียบ บุหรี่ต่างชาติเสียภาษีน้อย เห็นชัดๆ ว่าถูกบริษัทบุหรี่โกง 2 -3 หมื่นล้าน จึงต้องเอาเงินก้อนนี้คืนมา ซึ่งหากคิดตามราคาขายปลีก ก็หลอกไม่ได้ โกงกันไม่ได้”นพ.หทัยกล่าว

นพ.หทัย กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้กรมสรรพสามิตควรจัดเก็บภาษีบุหรี่ม้วนเอง หรือ ยาตั้ง ยาเส้น ด้วย ซึ่งปัจจุบันพบว่า มีการจัดเก็บภาษีน้อยมาก และไม่มีตัวเลขที่ชัดเจน เพราะกรมสรรพสามิตไม่มีระบบฐานข้อมูลการผลิตยาเส้น จึงไม่สามารถจัดระบบได้ ไม่ทราบว่าใครผลิตเท่าไหร่อย่างไร เพราะเป็นการผลิตในครัวเรือนภาคอีสาน อย่างไรก็ตามปัจจุบันคนจนในต่างจังหวัดหันไปสูบบุหรี่มวนเองเพิ่มขึ้น ขณะนี้มีผู้สูบมวนเองกว่า 50% แต่รัฐบาลไม่เคยเก็บภาษีส่วนนี้มาเป็นกอบเป็นกำเลย จึงเป็นหน้าที่กระทรวงคลังจัดระเบียนใหม่ โดยให้ผู้ที่ผลิตมาขึ้นทะเบียนและต้องเสียภาษี

ด้าน ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ไม่ทราบข้อมูลว่ากาเฟอีนทำลายสุขภาพจริงหรือไม่ เพราะไม่ชัดเจนเหมือนกับเหล้าและบุหรี่ที่มีโทษชัดเจน อีกทั้งในประเทศไทยแม้จะมีการดื่มเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีนมานานแต่การศึกษาเรื่องนี้ไม่แน่ใจว่าเพียงพอหรือไม่ เพราะเครื่องดื่มประเภทดังกล่าวอาจมีทั้งคุณและโทษ ขึ้นอยู่กับการบริโภค เหมือนกับอาหารที่ทุกชนิดมีทั้งประโยชน์ละโทษ ไขมัน หรือน้ำตาลก็มีทั้งประโยชน์และโทษ หากพิสูจน์ได้ว่าชา กาแฟมีโทษ มีน้ำหนักชัดเจน ก็ควรเก็บ ภาษี

รัฐรีดภาษีชาเขียวสู่จุดวิกฤตตลาด

นายตัน ภาสกรนที กรรมการผู้จัดการ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายชาเขียวโออิชิ กล่าวว่า แนวทางการปรับภาษีชาเขียวพร้อมดื่มขึ้น ทำให้ต้นทุนสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 3 บาทต่อขวด มีผลต่อราคาสินค้าต้องปรับขึ้น 4-5 บาท หรือเพิ่มเป็น 24-25 บาท จากปัจจุบันชาเขียวขนาด 500 มล.ราคา 20บาท  ดังนั้นการขึ้นราคาจากการปรับภาษีเพิ่มขึ้น เป็นวิกฤตครั้งร้ายแรงสำหรับตลาดชาเขียว เพราะตลาดคงไม่มีการเติบโต หรือถึงขั้นเลวร้ายตลาดเริ่มหดตัวลง

วิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นครั้งนี้ เจ้าพ่อชาเขียวโออิชิ ถึงกระทั่งถอดใจไปหลายเฮือก และกล่าวว่า จากที่ประกาศว่าจะลงทุน 1,400 ล้านบาท เพื่อขยายกำลังผลิตชาเชียว คงต้องชะลอไปก่อนเพื่อรอดูทิศทางลม และขณะเดียวกันอาจดับฝันที่ชาเขียวโออิชิจะโกอินเตอร์ เพราะต้นทุนจากทางภาษีที่สูง สินค้าไม่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้ในตลาดต่างประเทศ

วิบากกรรมตลาดกาแฟสำเร็จรูป

กาแฟสำเร็จรูปจัดเป็นตลาดที่ใหญ่และมีมูลค่ากว่า 27,500 ล้านบาท จึงนับว่าเป็นอีกตลาดหนึ่งที่ภาครัฐจะเพ่งเล็งหากมีการจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้น นั่นย่อมหมายถึงเม็ดเงินที่ได้จากภาษีจะเต็มเม็ดเต็มหน่วย ขณะเดียวกันผู้ประกอบการกาแฟสำเร็จรูป เตรียมรวมตัวกันเพื่อยื่นหนังสือต่อสภาอุตสาหกรรม ส่งต่อกรมสรรพสามิตพิจารณาถึงแนวทางการเก็บภาษีใหม่อีกครั้ง

ตลาดกาแฟพร้อมดื่มน่าจะเป็นตลาดที่ต้องเจอกับวิกฤตในครั้งนี้หนักหน่วง หากมีการจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นจริง เมื่อเทียบกับตลาดกาแฟทรีอินวันมูลค่า12,000 ล้านบาท หรือกาแฟอินสแตนต์ 6,000 ล้านบาท เพราะด้วยสภาพตลาดกาแฟพร้อมดื่มมูลค่า 9,500 ล้านบาท มีการขยายตัวลดลง ส่วนหนึ่งเพราะลูกค้าหลักเป็นกลุ่มผู้ใช้แรงงาน จึงไม่สามารถขยายกลุ่มลูกค้าใหม่ได้ แม้ว่าผู้ประกอบการสร้างเซกเมนต์กาแฟพร้อมดื่มพรีเมียม แต่ก็ไม่สามารถเข็นตลาดได้ ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจหากกาแฟพร้อมดื่มต้องปรับราคาขึ้น นั้นย่อมหมายถึง การเดินทางมาสู่ทางตัน

ในปีที่ผ่านมาตลาดกาแฟยังโดนมรสุม ต้นทุนวัตถุดิบปรับราคาขึ้น โดยเม็ดกาแฟจาก 52 บาทต่อกิโลกรัม ปี2550 เพิ่มขึ้นอีก 15 บาท เป็น 67 บาท ต่อกิโลกรัมในปี 2551 กระทั่งผู้ประกอบการอย่างเนสกาแฟ สุดอั้นต้องปรับราคาขึ้น โดยเนสกาแฟทรีอินวัน ขึ้น 3% หรือ 2-3 บาท ส่วนกาแฟอินสแตนท์ ซึ่งถือว่าเป็นสินค้าควบคุม ได้ปรับขึ้น 2.8% หรือ 2-3 บาท โดยเพิ่มเป็น 100-101 บาท จากปัจจุบันขนาด 200 กรัม ราคา 98 บาท ซึ่งนับว่าเป็นการปรับราคาขึ้นที่เต็มเพดาน คือ 6-7%

แม้การปรับราคาสินค้าขึ้นของกาแฟสำเร็จรูปทรีอินวันและอินสแตนท์ 2-3 บาท ในปีที่ผ่านจะไม่กระทบต่อยอดขาย แต่หากมีการปรับภาษีเพิ่มขึ้น ต้องยอมรับว่ามีผลต่อราคาที่ต้องปรับเพิ่มขึ้น แต่นั่นก็ทำให้คนไทยโดยเฉพาะคอกาแฟต้องจ่ายเงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้น 2-3 บาท ในภาวะที่เศรษฐกิจไม่ดีอย่างนี้ ซึ่งเท่ากับว่าเพียงช่วงเวลาไม่ถึง 2 ปี ผู้บริโภคต้องจ่ายเงินเพิ่มเกือบ 6 บาท ผลกระทบดังกล่าวยังไม่รวมถึงเกษตรกรปลูกกาแฟ หากผู้บริโภคลดการดื่มกาแฟลง ก็ต้องลดปริมาณผลิตกาแฟและเม็ดกาแฟโดยปริยาย

วิกฤตชูกำลังระลอกใหม่

เครื่องดื่มชูกำลัง นับว่าเป็นสินค้าที่ผจญกับกฎเหล็กการทำตลาดรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็น ถูกควบคุมอย่างเข้มงวดเกี่ยวกับส่วนผสมของเครื่องดื่มชูกำลังที่จะมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนโดย "สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา"(อย.) ห้ามทำแคมเปญใต้ฝา ตามด้วยการทำโฆษณาได้เฉพาะในเชิงสร้างสรรค์สังคมหรือในเชิงภาพลักษณ์องค์กรเท่านั้น โดยห้ามโฆษณาประชาสัมพันธ์เชิงสรรพคุณ กฎเหล็กดังกล่าวทำให้ตลาดเครื่องดื่มชูกำลังเริ่มชะลอตัวลง ประกอบกับการอิ่มตัวของตลาด ทำให้ช่วง 3 ปีที่ผ่านมาตลาดโต 1% เท่านั้น

นายสานิต หวังวิชา ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท เครื่องดื่มกระทิงแดง จำกัด กล่าวว่า ปีนี้เชื่อว่าตลาดเครื่องดื่มชูกำลังมีการเติบโตเพียง 1% เช่นกัน ส่วนหนึ่งเกิดจากสภาพเศรษฐกิจถดถอย โดยในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา พบว่ายอดขายของกระทิงแดงตกลง เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน เนื่องจากมองว่าปีนี้มีเรื่องของคนตกงาน ซึ่งกลุ่มใช้แรงงานดังกล่าวถือเป็นฐานลูกค้าหลักของกระทิงแดง จึงทำให้ยอดขายลดลง

ปัจจุบันเครื่องดื่มชูกำลังจำหน่าย 10 บาท แน่นอนว่าการขึ้นราคาย่อมส่งผลกระทบ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้แรงงาน และด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ไม่ได้สร้างงานหรือสร้างคนเท่าไรนัก เชื่อว่าอย่างน้อยความถี่การดื่มที่มีน้อยอยู่แล้ว คือ ห้ามดื่มเกินวันละ 2 ขวด จะก็ยิ่งลดลงไปหรือกระทั่งไม่ดื่มเลย

สำหรับเครื่องดื่มชูกำลังคงต้องรอลุ้นการเก็บภาษีอีกครั้ง เนื่องจากปัจจุบันเป็นเครื่องดื่มที่เสียภาษีให้กับกรมสรรพสามิต 20% ของยอดขายหน้าโรงงาน และอีก 2% ให้กับมหาดไทย รวมแล้วเสียภาษีถึง 22% จึงไม่แน่ใจว่าจะถูกเรียกเข้าไปด้วยหรือไม่ และคงต้องรอการตีความคำจำกัดเครื่องดื่ม”บำรุงกำลัง” หมายถึงเครื่องดื่มชูกำลังด้วยหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น