xs
xsm
sm
md
lg

เปิดแผน รปภ.อาเซียนซัมมิต ระดม ตร.-ทหารอารักขาเข้ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 14 ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ – 1 มีนาคม 2552 ที่ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี และอ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยมีผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน พร้อมคู่สมรส และผู้ติดตาม 10 ประเทศ คือ สิงคโปร์ เวียดนาม กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย พม่า บรูไน และไทย

ประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียน และเป็นเจ้าภาพการประชุมในครั้งนี้ ได้มีการเตรียมพร้อมทั้งในด้านสถานที่ และความปลอดภัยอย่างเต็มที่ โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบในด้านการถวายความปลอดภัย และภารกิจรักษาความปลอดภัย การอำนวยความสะดวกด้านการจราจร และการอำนวยความสะดวกด้านพิธีการเข้าเมืองแก่ผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน และผู้ติดตาม ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และมีประสิทธิภาพ เพื่อไม่ให้เสียชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือจากนานาประเทศ

**หวั่นผู้ไม่หวังดีป่วน

ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 14 นี้ ได้มีการตั้งสมมติฐานกรณีเหตุร้ายจากกลุ่มบุคคลดังนี้ คือ

1.บุคคล กลุ่มบุคคล หรือขบวนการที่ไม่หวังดี ซึ่งอาจเป็นคนไทยเอง หรือต่างชาติ มุ่งประทุษร้ายต่อผู้เข้าร่วมประชุม ผู้เกี่ยวข้อง หรือสื่อมวลชน ที่เข้าร่วมในกิจกรรมการประชุม โดยผู้ไม่หวังดีสามารถขัดขวาง หรือก่อให้เกิดความไม่สงบต่อการประชุมได้

2.ผู้ประสงค์ร้าย มีขีดความสามารถในการขัดขวาง หรือก่อความไม่สงบต่อการประชุมฯตั้งแต่ระดับต่ำ เช่น สร้างความวุ่นวาย ตื่นตระหนก จนถึงขั้นก่อความไม่สงบหรือการก่อการร้าย การก่อวินาศกรรมต่อสถานที่ ยานพาหนะ ตลอดจนทำอันตรายต่อบุคคลได้

3.กลุ่มมวลชน หรือกลุ่มผลประโยชน์ และองค์กรประชาชนต่างๆ ที่ยังมีความขัดแย้งกับการดำเนินงานโครงการต่างๆ ของรัฐบาล อาจใช้โอกาสนี้แสดงความคิดเห็นต่อสาธารณะในขณะที่มีการประชุม ด้วยการแสดงความคิดเห็น ชุมนุมประท้วง หรือ เสนอข้อเรียกร้องต่างๆ โดยเฉพาะในกิจกรรมที่มีการร่วมทุน หรือสนับสนุนจากประเทศที่เกี่ยวข้อง

ซึ่งทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้กำหนดแผนรักษาความปลอดภัยอย่างเต็มที่เพื่อให้การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 เป็นไปอย่างราบรื่น เรียบร้อย และปลอดภัย

**ตั้งศูนย์เฉพาะกิจ รปภ.

ในการกำหนดแผนรักษาความปลอดภัย และอำนวยความสะดวกการจราจรการจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน เพื่อให้การประสานงานระหว่างหน่วยปฏิบัติการทั้งในและนอกสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นไปอย่างราบรื่น พล.ต.อ.วิโรจน์ พหลเวชช์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (งานความมั่นคงและกิจการพิเศษ) ในฐานะผู้อำนวยการ ควบคุม และสั่งการปฏิบัติการ ได้มีคำสั่งให้จัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจการรักษาความปลอดภัยและการจราจรการจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน (ศสอ.) และจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการตำรวจภูธรภาค 7 (ศปก.ภ.7) ขึ้นที่ตำรวจภูธรภาค 7 เพื่อควบคุม อำนวยการและสั่งการปฏิบัติในการรักษาความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกด้านการจราจร โดยมีผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 เป็นผู้อำนวยการรับผิดชอบ

สำหรับบริเวณโรงแรมที่พัก สถานที่จัดเลี้ยง และสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับการประชุมที่สำคัญ จะมีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้า (ศปก.สน.) รักษาความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกด้านการจราจรเฉพาะแต่ละพื้นที่ โดยมีนายตำรวจระดับรองผู้บังคับการ เป็นหัวหน้าเพื่อควบคุม สั่งการ และประสานการปฏิบัติกับกำลังทั้งหมดที่ร่วมปฏิบัติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ มีพล.ต.อ. ปานศิริ ประภาวัต ที่ปรึกษา (สบ 10) ปฏิบัติหน้าที่ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (งานความมั่นคงและกิจการพิเศษ 1) เป็นรองผู้อำนวยการ และมี พล.ต.ท.ปรัชญา สุทธปรีดา ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (งานความมั่นคงและกิจการพิเศษ 4) เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการ ทำหน้าที่ควบคุมการปฏิบัติงาน

**ตรึงตำรวจอารักขาเข้ม

ในการวางมาตรการรักษาความปลอดภัยครั้งนี้ จะใช้ตำรวจจากหน่วยงานในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประกอบด้วย ตำรวจสันติบาล หน่วยปฏิบัติพิเศษพลร่มค่ายนเรศวร (นเรศวร 261) เจ้าหน้าที่หน่วยแพทย์พยาบาลโรงพยาบาลตำรวจ และตำรวจกองบัญชาการภูธรภาค 7 ทั้งสิ้นจำนวน 5,000 นาย โดยมีแนวทางการปฏิบัติหน้าที่ในด้านรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ แบ่งเป็นระดับผู้นำประเทศ จะมีทีมรักษาความปลอดภัย ซึ่งเป็นตำรวจสันติบาลชุดเดียวกับที่เคยมีประสบการณ์ ในการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หรือ เอเปก มาก่อน

โดยผู้นำ 1 คน จะมีตำรวจดูแลความปลอดภัย 4 คน และระดับรัฐมนตรี คู่สมรสผู้นำประเทศ รวมทั้งเลขาธิการอาเซียน 1 คน จะมีตำรวจดูแลความปลอดภัย 1 คน ตลอดระยะเวลาตั้งแต่เดินทางมาถึงประเทศไทย จนกระทั่งเดินทางกลับ รวมทั้งกรณีกำหนดแยกการประชุม

ส่วนการดูแลความปลอดภัยด้านสถานที่ จะมีการจัดกำลังดูแลในพื้นที่จัดประชุมที่โรงแรมดุสิตธานี หัวหิน ส่วนที่โรงแรม 7 แห่ง ซึ่งผู้นำประเทศ และผู้ติดตามเข้าพัก จะมีกำลังตำรวจสันติบาลดูแลภายใน และตำรวจ บช.ภ.7 ดูแลภายนอกโรงแรมละ 100 นาย รวมทั้งการดูแลอำนวยความสะดวกการจราจร

ในบริเวณท่าอากาศยานหัวหิน จะมีการตรวจเข้มทั้งการตรวจอาวุธ วัตถุระเบิดต่างๆ มีทั้งตำรวจ ทหาร ตำรวจตระเวนชายแดน ในส่วนการรักษาความปลอดภัยใช้กำลังเจ้าหน้าที่ประมาณ 100 นาย ผู้ที่จะเข้ามาภายในท่าอากาศยานหัวหิน จะต้องมีบัตรที่กระทรวงการต่างประเทศกำหนดไว้เท่านั้น ขณะที่สื่อมวลชนจะมีกรมสารนิเทศเป็นผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด

สำหรับคณะผู้นำประเทศต่างๆ จะนำเครื่องบินมาลงที่สนามบินหัวหิน ยกเว้นคณะของกษัตริย์บรูไนจะลงที่สนามบินสุวรรณภูมิ เนื่องจากเครื่องบินโบอิ้ง 767 ไม่สามารถลงจอดที่สนามบินหัวหินได้ จากนั้นจึงต้องต่อเครื่องแอร์บัส 320 มาลงที่หัวหิน ก็จะมีการเตรียมอำนวยความสะดวกด้านการตรวจคนเข้าเมืองโดยจัดเจ้าหน้าที่จากสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมืองดูแล

ขณะที่ด้านการข่าว มีการตั้งศูนย์ปฏิบัติการสืบสวนด้านการข่าวที่กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ค่ายพระราม 6) เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ข่าวและรายงานเพื่อประเมินสถานการณ์ทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งเป็นศูนย์สั่งการทั้งหมด

**ตั้ง 5 จุดสกัดม็อบ

กรณีเกิดการชุมนุมประท้วง ได้มีการเตรียมพร้อมรับมือโดยมีการวางกำลังตั้งจุดสกัดรอบพื้นที่ในการประชุม จำนวน 5 จุด โดยใช้กำลังตำรวจภูธรภาค 7 เพื่อสกัดกั้นกลุ่มผู้ชุมนุมห้ามเข้าโดยเด็ดขาด เพราะนอกจากจะเป็นพื้นที่การประชุมสุดยอดผู้นำแล้ว ยังเป็นพื้นที่เขตพระราชฐาน แต่หากมีการปลอมตัว เล็ดลอดด่านสกัดเพื่อมารวมตัวชุมนุมในพื้นที่ ก็จะมีการจัดเตรียมแผนแก้ปัญหาเฉพาะหน้าโดยจัดพื้นที่พิเศษสำหรับยื่นเรื่องร้องเรียน

และหากเหตุการณ์ยกระดับความรุนแรง ก็ได้เตรียมกำลังหน่วยปฏิบัติพิเศษพลร่มค่ายนเรศวรจำนวน 8 กองร้อย รับมือสถานการณ์ทุกระดับตามแบบแผนการปฏิบัติในการควบคุมฝูงชน โดยมีการเตรียมแผนรักษาความสงบ (กรกฏ/48) กรณีเกิดปัญหาก่อความไม่สงบ และแผนแก้ไขปัญหาการก่อการร้ายสากล (สันติรัฐ 48) ไว้รองรับเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ในกรณีจำเป็นด้วย.

กำลังโหลดความคิดเห็น